Thai Book Review แนะนำหนังสือ, Uncategorized

กะดีจีน เพชรเม็ดงามแห่งการผสมผสานทางวัฒนธรรม ตอนที่ ๑

            ชุมชนย่าน กะดีจีน หรือ กุฎีจีน หากเอ่ยขึ้นมาเฉยๆ หลายคน อาจจะเคยคุ้นหู หรือเป็นไปได้ว่า อาจจะไม่รู้จักว่าย่านนี้อยู่ที่แห่งหนตำบลใด ก็เป็นได้ ย่านกะดีจีน ในที่นี้ขอเรียกว่า กุฎีจีน ตามคำที่คุ้นเคยกันค่ะ

ย่านเก่า กะดีจีน

       เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมเยือน เดินทอดน่องท่องชุมชน และวัดในย่านนี้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ไม่ได้ไปเยือนมานานหลายปี ในครั้งนี้เป็นการจัดงาน รฦกธนบุรี เนื่องในโอกาสที่ปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ เป็นปีที่ ครบรอบ ๒๕๐ ปี ของการเริ่มตั้งกรุงธนบุรี มีการจัดกิจกรรมเรียนรู้พื้นที่ ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกแห่ง ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งธนบุรี นั่นคือ พื้นที่ย่านกุฎีจีนแห่งนี้ ค่ะ

รฦกธนบุรี

 

ความสำคัญของย่านนี้ มีทั้งแง่มุมทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ความเชื่อ และวิถีชีวิต ที่น่าสนใจยิ่ง ชุมชนหลากหลายทางวัฒนธรรมในกรุงเทพมหานคร มีเพียงไม่กี่แห่งที่ยังคงเอกลักษณ์ อีกทั้งชาวบ้านในชุมชนเอง ทุกท่านยังมีความเข้มแข็ง ร่วมมือกันสืบสานเรื่องราวทางวัฒนธรรม ศาสนา และจัดกิจกรรมน่าสนใจ นับจากอดีตเมื่อครั้งตั้งกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร ๒๕๐ ปีที่แล้ว สู่ปัจจุบัน กรุงรัตนโกสินทร์ปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้อย่างน่าชื่นชม ย่านกะดีจีน หรือ กุฎีจีน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก และฝั่งซ้ายติดกับคลองบางหลวง เป็นย่านเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ยังถูกอ้างอิงในนวนิยายเชิงประวัติศาสตร์ ที่กล่าวถึง ถิ่นที่อยู่อาศัยขอ แม่พลอยจาก วรรณกรรมสี่แผ่นดิน

รฦกธนบุรี กะดีจีน

    ย่านกุฎีจีน หรือ กะดีจีน  มีทั้งโบสถ์ซางตาครู๊ส หรือชาวบ้านเรียกว่า วัดซางตาครู๊สของชาวไทยที่นับถือคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิค คำว่า ซางตาครู๊ส

Santa crus

ซางตาครู๊ส  มีความหมายว่า กางเขนอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายสำคัญของชาวคริสต์ทั่วโลก โบสถ์แห่งนี้มีความเป็นมาที่ยาวนานมากตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงพระราชทานที่ดิน ใกล้กับพระราชวังเดิมที่ประทับ เพื่อตอบแทนน้ำใจกับชาวโปรดุเกสที่ร่วมทำศึกสู้รบกับพม่าจนได้รับชัยชนะ

       ดังนั้นโดยบริเวณรอบๆ ของวัดแห่งนี้ จึงเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก เชื้อสายโปรตุเกส ที่อพยพมากรุงศรีอยุธยาหลังการล่มสลายในปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ รวมกับกลุ่มชาวโปรตุเกสที่อาศัยอยู่ในเมืองบางกอกมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

วัดซางตาครู๊ส


 

       นอกเหนือจากชาวโปรตุเกสแล้ว ยังมีชาวญวนเข้ารีตที่ติดตามบาทหลวงกอร์มาจากเมืองเขมร ได้มาร่วมอาศัยอยู่ด้วย จึงจัดเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่ครั้งนั้นมา ในบรรดาชาวโปรตุเกส ซึ่งมีกลุ่มนักบวชด้วย จึงมีความคิดในการใช้พื้นที่พระราชทานส่วนนี้สร้างโบสถ์ขึ้นเพื่อใช้ในการปฏิบัติภารกิจ ทำพิธีสวดมนต์และเผยแพร่ศาสนา เหล่านักบวชชาวโปรตุเกสจึงได้ร่วมใจกันสร้างโบสถ์ขึ้นมาในปีพุทธศักราช ๒๓๑๓ ซึ่งอาคารของโบสถ์หลังแรกเป็นอาคารไม้ แต่ต่อมาถูกเพลิงไหม้ จึงได้มีการรื้อและสร้างใหม่ทั้งหมด เป็นรูปแบบอาคารรูปแบบอิฐถือปูน ในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยบาทหลวงปาเลอกัวซ์ และบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ล่าสุดเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๙ ซึ่งก็คือ รูปแบบอาคารโบสถ์ที่เห็นเช่นในปัจจุบัน โบสถ์ซางตาครู๊สหลังนึ้จึงฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี ไปเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา

 

ย่านเก่า กะดีจีน

การิย็องระฆังแห่งความสุข

ความพิเศษของวัดซางตาครู๊ส คือ ระฆังการิย็อง ที่นี่มีหอระฆังที่ไม่เหมือนที่อื่นใด โดยทั่วไปในโบสถ์แต่ละแห่ง จะมีระฆังเพียง ๑ ใบเท่านั้น แต่ที่วัดซางตาครู๊ส มีระฆังถึง ๑๖ ใบ โดยแต่ละใบ ยังจะมีชื่อนักบุญแต่ละองค์จารึกไว้เป็นภาษาละตินบนระฆังด้วย และที่น่าสนใจ ระฆังเหล่านี้ยังสามารถบรรเลงเป็นเพลงที่ไพเราะให้ฟังได้อีกด้วยค่ะ

ประชาสัมพันธ์

เครื่องดื่มชาหมัก kombucha by scoby do it

https://www.youtube.com/watch?v=2FzJu-636ms

 

ฟรานซิส จิตร
ภายโดย ; wikipedia

ฟรานซิส จิตร ( หลวงอัคนีนฤมิตร เจ้ากรมหุงลมประทีปในสมัยรัชกาลที่ ๕ ) บุคคลสำคัญที่เราจำเป็นต้องรู้จัก เนื่องจากผลงานทางประวัติศาสตร์ของท่าน เป็นสิ่งที่บอกเล่าความเป็นไปในอดีตได้อย่างน่าทึ่ง และหลายๆท่าน อาจรู้จักท่านในนามของ ช่างภาพฝีมือแห่งสยาม ในเวลานั้น ฟรานซิส จิตร หรือ ชื่อพระราชทานอย่างเต็มยศว่า หลวงอัคนีนฤมิตร เจ้ากรมหุงลมประทีปในสมัยรัชกาลที่ ๕ ใครเลยจะรู้ว่า เรามี ร้านถ่ายรูปแห่งแรกในสยาม เป็นห้องภาพที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นร้านถ่ายรูปหลวงประจำราชสำนัก ได้รับพระราชทานตราตั้งและลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ จดหมายเหตุสยาม บางกอกไตมส์ ฯลฯ และร้านถ่ายภาพก็ตั้งอยู่ที่นี่นั่นเอง

Francis chit

 

ห้างหันแตร ห้างสรรพสินค้าแรกแห่งสยาม

ห้างหันแตร

    นอกจากนี้ในพื้นที่กุฎีจีนแห่งนี้ ยังเคยเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ห้างแรกแห่งสยาม นั่นคือ ห้างหันแตร หรือ ห้างสรรพสินค้าของนาย โรเบริ์ต ฮันเตอร์ จำหน่ายสินค้าประเภทผ้าทอ ทั้งผ้าแขก ยาฝรั่งที่หายากในสมัยนั้น เช่นยาประเภทควินิน เป็นต้น นายฮันเตอร์ ที่คนไทยเรียกเพี้ยนไปมาว่า นายหันแตร เขาเป็นพ่อค้าชาวอังกฤษ เชื้อสายสก๊อต ที่เข้ามาในสยามช่วงเวลานั้น

   นายหันแตร ได้ถวายปืนคาบศิลาจำนวน ๑๐๐๐ กระบอก แก่สยาม ขณะที่มีกรณีพิพาทกับเจ้าอนุวงศ์ แห่งเวียงจันทร์ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ว่า “หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช” นายหันแตร มีความเกี่ยวข้องผูกพันธ์กับชุมชนย่านนี้ เพราะแต่งงานกับ หญิงสาวชาวไทย เชื้อสายโปรตุเกส ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ ๔ ของพระยาวิชาเยนทร์ ห้างสรรพสินค้าของนายหันแตร ในเวลานั้น อยู่ในตึกสูงที่ตั้งอยู่หน้าวัดประยูรวงศาวาส ซึ่งเป็นของสมเด็จพระยามหาประยูรวงศ์ นับเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรก ของสยามที่ตั้งอยู่บนพื้นที่กุฎีจีน หรือ กะดีจีน

นอกจากวัฒนธรรม และศาสนาทางตะวันตกแล้ว ในพื้นที่กุฎีจีนยังมีศาลเจ้า ของชาวไทย เชื้อสายจีน และวัดสำคัญของพุทธศาสนิกชนอีกด้วย เป็นความมหัศจรรย์ทางวัฒนธรรมในพื้นที่เล็กๆ ที่น่าสนใจมากๆ ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าให้ฟังในตอนต่อไปนะคะ โปรดติดตามค่ะ ^^

 

เรียบเรียง โดย : เอกชฎา ศรีสุวรรณ์

ข้อมูลอ้างอิง
-วิกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/wiki/ศาลเจ้าเกียนอันเกง
-มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี
http://dit.dru.ac.th/home/kudeejeen/?menu=mn_search_detail&data_search=&data_search_point=PNT6
https://www.facebook.com/…/ศาลเจ้าเกียนอันเกง-ชุมชนกุฎีจีน
-ไทยสามก๊ก www.thaisamkok.com/ศาลเจ้าเกียนอันเกง/


Cultures of Fermented 
by Scoby Doit
Previous ArticleNext Article