Thai Book Review แนะนำหนังสือ, Uncategorized

ซามูไร ยามาดะ จากคนหามเกี้ยวโชกุน สู่ ออกญาเสนาภิมุข

       ยามาดะ ซามูไร แห่งอโยธยา จากคนหามเกี้ยวโชกุน มาสู่ ออกญาเสนาภิมุข ผู้อยู่เบื้องหลัง และเบื้องหน้า แห่งการผลัดเปลี่ยนราชบัลลังค์ กษัตริย์สยาม ราชวงศ์สุโขทัย ถึงราชวงศ์ปราสาททอง

หากจะกล่าวถึง บุคคลต่างชาติ ผู้เคยได้เข้ามาสร้าง วีรกรรม ในแง่มุม ทั้งทางดีและทางร้าย เอาไว้มากมายใน แผ่นดินสยามโดยเฉพาะ ในช่วง ยุคสมัย กรุงศรีอยุธยา ( อโยธยา )  ในอันดับต้นๆที่เรามักจะนึกถึง ก็คือ คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ พระยาวิไชเยนทร์ นักผจญภัยชาวเวนิส ผู้กลายมาเป็น สมุนหนายก ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเชื่อว่า หลายท่านก็พอจะรู้จักกันมาบ้างแล้วไม่มาก็น้อย แต่วันนี้ เราจะกล่าวถึงอีกท่านหนึ่ง คือ ยามาดะ ซามูไร แห่งอโยธยา นักผจญโชค ชาวญี่ปุ่น นามของท่านผู้นี้ คือ ยามาดะ นางามาสะ 山田長政, Yamada Nagamasa ซึ่งประวัติเส้นทางชีวิตจะเป็นอย่างไร เรามาติดตามกันครับ

ยามาดะ นางามาสะ คือใคร ?

ประวัติวัยเยาว์ของ ยามาดะ นางามาสะ ปรากฏในเอกสารซุรุงะชิเรียว หรือจดหมายเหตุของแคว้นซุรุงะ ระบุว่าเขาเกิดในปีเท็นโชที่ 18 หรือ ค.ศ. 1590 (พ.ศ. 2133)

cider vinegar แครนเบอร์รี่

ยามาดะ นางามาสะ 山田長政, Yamada Nagamasa เป็นชาวญี่ปุ่น เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2133 ( บางบันทึก 2113 ) ใน นูมาซุ จังหวัดชิซูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เอกสาร “อิคโคคุ นิกกิ” (異国日記) ตามบันทึกประวัติของนางามาสะ ก่อนหน้าที่ ยามาดะ จะเดินทางไปสยาม เขาเคยเป็น “โรกุชากุ” หรือคนหามเกี้ยวให้ โอคุโบะ จิเอมง ทาดาสึเกะ ไดเมียวแห่งแคว้นนุมาซุ

ตำแหน่ง “โรกุชากุ” ของนางามาสะถือเป็นคนรับใช้ตระกูลซามูไร (武家奉公人) มีหน้าที่แบกเกี้ยวของชนชั้นสูงที่เรียกว่าโนริโมโนะ (乗物)

*** ข้อมูลใน วิกีพีเดียไทย เกิด พ.ศ. 2113

ตามบันทึกที่ระบุค่อนข้างตรงกันหลายฉบับ ……….. 

     ยามาดะ นางามาสะ  ได้มีโอกาสเดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา ในยุคสมัย พระเจ้าทรงธรรม ( ครองราชย์ระหว่างปี พ.. 2153 – 2171) โดยมา พร้อมคณะทูตของพระเจ้าทรงธรรมที่ส่งไป เมืองเอโดะ ประเทศญี่ปุ่น  และ ก็ตามสูตรสำเร็จทั่วไปนั่นล่ะ ครับ เหตุผลเดียวกับ คอนสแตนติน ฟอลคอน นักผจญภัยชาวเวนิส นั่นก็คือ มาเพื่อแสวงหา สภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีกว่า นั่นเอง

     นับได้ว่า ยามาดะ นางามาสะ เป็นบุคคลที่มีความสามารถ เก่งกาจ เป็นอย่างมากครับ ในวัยเพียง 31 ปี เป็นชาวต่างชาติ ที่เริ่มได้เข้ามาในสยามประเทศ และด้วยเพียงระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น เข้ามารับราชการในสยาม ตำแหน่งเริ่มต้นจากการเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ใน กรมอาสาญี่ปุ่น และไต่เต้าเรื่อยมา จนถึงตำแหน่ง เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ในเวลาต่อมา ก็ได้รับตำแหน่ง เป็น ออกญาเสนาภิมุข (ตำแหน่ง ออกญา เทียบเท่า พระยา) และได้รับบำเหน็จพิเศษ ได้ดำรงค์ตำแหน่งเป็น เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช (ออกญานคร) ซึ่งตำแหน่งนี้ ไม่ก็ธรรมดาเช่นกัน เนื่องจาก เมืองนครศรีธรรมราช นับว่าเป็นเมืองใหญ่ไม่น้อยในเวลานั้น จะกล่าวได้ว่า เป็น เมืองกษัตริย์องค์หนึ่ง ก็ว่าได้ …

        เรื่องราวของเส้นทางชีวิต ยามาดะ นางามาสะ “นักผจญโชค (และภัย) ” จากต่างแดนสู่สยาม มิได้สรุปสั้นแต่เพียงเท่านี้ แต่ยังมีเรื่องราวที่สนใจ ทั้งเหตุการณ์ก่อน และการมาถึงของ ยามาดะ นางามาสะ ที่เกี่ยวข้องกัน

    เรามาย้อนเวลา   กลับไป ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ กันสักหน่อยครับ ว่า ญี่ปุ่น นั้นมีความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรสยาม เริ่มมาแต่ช่วงใดนั้น ซึ่งก็ยังไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัดครับ หากแต่อ้างอิงจากพงศาวดาร ก็จะมีการกล่าวถึงมาแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งมีบันทึกว่า มี กองกำลังทหารอาสาญี่ปุ่น กลุ่มหนึ่ง ได้เข้าร่วมรบด้วยกับ กองทัพสยาม สู้รบกับพม่าหลายต่อหลายครั้ง แต่จะมีช่วงเวลาหนึ่ง ที่ไม่ค่อยจะมีเห็นและปรากฎในบันทึกมากนัก ในพงศาวดารของไทย ในกรณี คนญี่ปุ่นก่อการจลาจล ขึ้น ถึงขั้นกระทำการอุกอาจบุกพระราชวัง หวังจับกุมองค์กษัตริย์สยาม ถึง 2 ครั้ง !!!

ครั้งหนึ่ง ในสมัยสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์

ครั้งสอง ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม

*ช่วงเหตุการณ์นี้ มีข้อมูลบันทึกในพงศวาดารไว้น้อยมาก โดยส่วนใหญ่ จะได้มาจากการบันทึกของพ่อค้าชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายในสยามในช่วงเวลานั้น

    คนญี่ปุ่น ในกรุงศรีอยุธยานั้น เริ่มมีขึ้นราวสมัย สมเด็จพระมหาธรรมราชา หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 1 (ครองราชย์ พ.ศ. 2112 – พ.ศ. 2133) ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 โดยเริ่มต้นมาจาก ชุมชนเล็กๆ มีพ่อค้าเรือสำเภา ซึ่งภายในหมู่บ้านนั้นสันนิษฐานว่า มีชาวญี่ปุ่นอาศัย อยู่ 3 กลุ่ม คือ พ่อค้า ,โรนินหรือ นักรบญี่ปุ่น ที่เข้ามาเป็น ทหารอาสาญี่ปุ่นในอยุธยา และชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ โดย ทหารอาสาญี่ปุ่น นี่เอง ที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อย ที่เกี่ยวข้องกับ ร่วมรบด้วย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช กองทัพสยาม สู้รบกับพม่าหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงการติดต่อทางทูตระหว่าง สยามและญี่ปุ่น อย่างเป็นทางการ ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ นับได้ว่า ช่วงเวลานี้เอง ทำให้ชาวญี่ปุ่นในสยาม เริ่มมีบทบาทสำคัญในหลายมิติ ด้วยความสัมพันธ์ทางการค้าและการทูต การเข้ามามีบทบาทในราชสำนัก และความแข็งแกร่งของกองกำลังทหาร (นักรบ)

ช่วงการ ผลัดแผ่นดิน มักเกิดความวุ่นวายเสมอ …

“ หลังจาก สมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2153 ก็เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายขึ้น ”

    ทว่า เหตุความวุ่นวายนี้ ไม่ใช่เกิดจากการแย่งชิงราชสมบัติกันเองในหมู่วงศาคณาญาติ ประการใด แต่เป็นมูลเหตุ จากแผนการก่อกบฎโดย ออกญากรมนายไวย  (Jockrommewaye ในเอกสารของปีเตอร์ ฟลอริส , (Ochi Chronowi ตามเอกสารของสปรินเกล ชาวฮอลันดา ) คิดคดทรยศ ( ออกญากรมนายไวย ผู้นี้ ไม่ปรากฎชัดว่าเป็นผู้ใด สันนิษฐานว่าอาจเป็น จมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก ซึ่งเป็นข้าราชการใกล้ชิดสามารถเพ็ดทูลพระเจ้าแผ่นดินได้ง่าย ขุนนางคนโปรดของสมเด็จพระเอกาทศรถ )  วางแผนเตรียมการ โดยใช้กองกำลังญี่ปุ่น กว่า 500 คน ปลอมตัวเป็นพ่อค้าชาวญี่ปุ่น เพื่อดำเนินแผน สำเร็จโทษพระเจ้าแผ่นดินหมายชิงราชสมบัติ และตั้งตนเป็นกษัตริย์แทน แต่ความลับรั่วไหล ถูกล่วงรู้ไปถึงเจ้าฟ้าสุทัศน์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นพระมหาอุปราช เจ้าฟ้าสุทัศน์ได้กราบทูลต่อ พระเอกาทศรถ จะขอกรุณา “พิจารณาคนออก” พระเอกาทศรถ ตรัสตอบ แบบตั้งคำถามกลับไป ว่า “จะเป็นขบถหรือ”

เท่านั้นเอง … เจ้าฟ้าสุทัศน์ ซึ่งมีความเกรงกลัวพระราชบิดาเป็นกำลัง และด้วยอาจน้อยเนื้อต่ำใจ เจ้าฟ้าสุทัศน์ เมื่อเสร็จจากเข้าเฝ้า ในค่ำวันเดียวกันนั้น ก็เสวยยาพิษ สิ้นพระชนม์ ….

หลังจากเจ้าฟ้าสุทัศน์สิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเอกาทศรถ ก็มิได้ ทรงสถาปนาพระมหาอุปราชองค์ใหม่ จนกระทั่ง ทรงเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2153 (ค.ศ. 1610)

สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์
ภาพโดย wikiimg

พระศรีเสาวภาคย์ (พระอนุชาของเจ้าฟ้าสุทัศน์ ) จึงได้รับราชสมบัติแทน ขึ้นเป็น พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 20 ( ครองราชย์ พ.ศ. 2153-2154 ) รวม ระยะ 1 ปี 2 เดือนในการครองราชย์ เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆนี้เอง ความวุ่นวาย ได้เริ่มต้นขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง ตามบันทึกของพ่อค้าชาวต่างชาติ บันทึกไว้ว่า

คนญี่ปุ่น ๒๘๐ คน ก่อการจลาจล ขึ้น ถึงขั้นกระทำการอุกอาจบุกพระราชวัง จับกุมองค์กษัตริย์สยาม สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ และออกวาจาบังคับด้วยว่า ให้ส่งตัว 4 ขุนนาง ที่เป็นผู้ประหาร ออกญากรมนายไวย มาให้พวกทหารญี่ปุ่นสังหารเป็นการทดแทน และบังคับให้ทรงปฏิญาณสัญญาว่า …. 

    “โดยที่พระองค์จะไม่ทำอันตรายต่อพวกญี่ปุ่น พระองค์จะไม่ทรงแค้น พระองค์จะทรงรับพวกญี่ปุ่นเข้าทำราชการในฐานะเป็นทหาร เป็นราชองครักษ์ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์..”

มูลเหตุที่เกิดความวุ่นวายครั้งนี้ขึ้น ไม่ปรากฎชัดในพงศาวดาร แต่มีบันทึกของพ่อค้าต่างชาติ กล่าวว่า หลังจากที่ เจ้าฟ้าสุทัศน์สิ้นพระชนม์  พระศรีเสาวภาคย์ (พระอนุชาของเจ้าฟ้าสุทัศน์) จึงได้รับราชสมบัติ ในนาม สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 4 นับแต่ช่วงเวลานี้หากพิจารณาจากบันทึกของพ่อค้าต่างชาติ ล้วนบันทึกไว้ทิศทางเดียวกัน นั่นก็คือ เหตุการณ์ คนญี่ปุ่นก่อการจลาจล บุกพระราชวัง …. โดยมี บันทึกของ นายสปรินค์ เกล และนายฟอริส มีความน่าสนใจมากที่สุด กล่าวคือ สาเหตุในการบุกพระราชวังในครั้งนี้ เกิดมาจาก สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ ได้สั่งให้ขุนนาง ประหารชีวิต ออกญากรมนายไวย เหตุเพราะมีพฤติกรรมคิดคดกบฎชิงราชสมบัติ และด้วยพวกกองกำลังญี่ปุ่น ที่เกรงกลัวว่าจะมีภัย จึงก่อจลาจลและยื่นข้อเสนอต่อรอง …… แล้วก็สำเร็จ !!! ??

ถึงตรงนี้ หากวิเคราะห์จากเรื่องราวที่ได้กล่าวมาจากบันทึกต่างๆ จึงพอจะเข้าใจได้ว่า ออกญากรมนายไวย นั่นมีตัวตนจริง (แต่ไม่ปรากฎชื่อชัดว่าเป็นใคร) และ ออกญากรมนายไวย ได้มีพฤติกรรมจากที่กล่าวไว้ จริง ต่อเนื่องจาก มูลเหตุการสิ้นพระชนม์ของ เจ้าฟ้าสุทัศน์ ที่กราบทูล กรุณาขอ “พิจารณาคนออก” ต่อ พระเอกาทศรถ และ เหตุการณ์คำสั่งประหารชีวิต ออกญากรมนายไวย จนเป็นเหตุให้ คนญี่ปุ่นก่อการจลาจล (อ้างเพราะโกรธแค้น ขุนนางประหารชีวิตเจ้านาย แต่จริงๆ คงกลัวความผิดฐานมีความเกี่ยวข้องด้วย ) บุกพระราชวังและยื่นขอเสนอ ดังที่กล่าวมา ซึ่งในยุคนั้น ทำให้เข้าใจได้ว่า อิทธพลของคนญี่ปุ่น ในช่วงเวลานี้ มีไม่น้อยเลย จากบันทึกของพ่อค้าชาวฮอลันดา กล่าวไว้ว่า “ ยามนั้นอาณาประชาราษฎรต่างขวัญเสีย ด้วยไม่รู้จะทำอย่างไร กับพวกญี่ปุ่นที่เหิมเกริมมาก เหล่าบรรดาขุนนาง ข้าราชการ มิอาจตอบโต้กับพฤติกรรมนี้ได้เลย

เมื่อแผ่นดินเป็นทุรยศ ก็เกิดกบฎขึ้นอีกครั้ง …

    ลุศักราช ๙๖๔ หรือปี พ.ศ. ๒๑๔๕ ได้มี พระภิกษุสมณฐานันดร รูปหนึ่ง นามว่า พระพิมลธรรมอนันตปรีชา คิดการใหญ่ ร่วมด้วย จมื่นศรีสรรักษ์ นัดประชุมพล ณ ปรางค์วัดพระรัตนมหาธาตุ ได้นำไพร่พลบุกพระราชวัง จับกุมองค์สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ นำไป สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์ และนำพระศพไปฝังที่ วัดโคกพระยา ( องค์สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ อยู่ในพระราชสมบัติ เพียง ๑ ปี กับ ๒ เดือน ) จากนั้น พระพิมลธรรมอนันตปรีชา ก็ปราบดาภิเษก ขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนาม “สมเด็จพระบรมราชาที่ ๑ หรือ สมเด็จบรมไตรโลกนาถทรงธรรม ถ้าจะให้เข้าใจกันตามชื่อเรียกสั้นๆ ว่า “สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม” เป็นกษัตริย์ลำดับที่ 21 แห่งกรุงศรีอยุธยา และเป็นองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์สุโขทัย. ราษฎรทั้งปวงเรียกว่า “พระเจ้าทรงธรรมอันมหาประเสริฐ”

พระพิมลธรรมอนันตปรีชา ผู้นี้ คือใคร พระอินทรราชา หรือ พระศรีศิลป์ ?

         ตามบันทึก พระพิมลธรรมอนันตปรีชา เดิมมีชื่อว่า “พระอินทรราชา” มีบันทึกบางฉบับระบุไว้ว่า เป็น โอรสนอกราชสมบัติ ใน สมเด็จพระเอกาทศรถ กับพระสนม ชาวบางปะอิน และได้บวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดระฆัง มีความรอบรู้ทางด้านพระไตรปิฎกมาก จนได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระพิมลธรรมอนันตปรีชา มีผู้นิยมมาก

       ตรงจุดนี้ มีการบันทึกที่หลากหลาย และซับซ้อนมากครับ สำหรับตัวตนของบุคคลนี้ พระเจ้าทรงธรรม คือ พระอินทรราชา หรือ พระศรีศิลป์ กันแน่ ? เกิดความถามขึ้นมาว่า ? ทั้ง 2 คือ บุคคลเดียวกัน หรือ ไม่ใช่ ? มีบันทึกโต้แย้งกันหลายฉบับ อ่านแล้วมึนงง( ฮ่าาา ) บางฉบับอ้างว่าเป็นโอรสใน สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (หนักเข้าไปอีก) แต่หากดูจากบันทึกของฝรั่ง โดยส่วนใหญ่ ยืนยันว่า พระเจ้าทรงธรรม คือ “พระอินทรราชา” ส่วนพระศรีศิลป์ นั้นก็มีอยู่จริง แต่เป็นพระอนุชาของพระอินทราชา และในบันทึกของ วัน วลิตยังระบุไว้อย่างถูกต้องด้วยว่าขณะนั้นทรงผนวชอยู่ ?? ก็เลย งง เข้าไปกันใหญ่

  • >> ก็เลยขอปักหมุดตรงนี้ไว้ก่อนนะครับ ว่า พระศรีศิลป์ กับ พระอินทรราชา ใครคือ พระเจ้าทรงธรรม กันแน่ …

 

กลับมาเข้าเรื่องของ ยามาดะ ซามูไร แห่งอโยธยา ตามหัวเรื่องของบทความนี้ กันครับ

จากที่ได้ย้อนเรื่องราว ที่เชื่อว่าเป็นเหตุการณ์ก่อนที่ ยามาดะ จะเข้ามาในสยาม ตามบันทึกที่อ้างไว้ เพื่อดำเนินเรื่องและเท้าความกันก่อน อันที่เกี่ยวข้องกับ ความสัมพันธ์ระหว่าง ญี่ปุ่น-สยาม ทำให้ผู้เรียบเรียง สงสัยว่า ยามาดะ นางามาสะ อาจไม่ได้เดินทางเข้ามา พร้อมกับคณะทูตของพระเจ้าทรงธรรม ครั้งที่ส่งไป เมืองเอโดะ ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2164 ??

ยามาดะ วิกีพีเดีย
วิกีพีเดีย

ยามาดะ นางามาสะ เริ่มเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา ช่วงใดกัน ?

ซึ่ง หากคำนวณอายุจากปีเกิดของยามาดะ ที่ปรากฎใน วิกีพีเดียไทย คือ ปี พ.ศ. 2113 นั้น ผู้เรียบเรียง คิดเห็นว่า ไม่น่าจะถูกต้อง ซึ่งก็เท่ากับว่า ยามาดะเดินทางเข้ามาในสยาม ในวัย 51 ปีแล้ว …… หากยามาดะ เกิดปีนี้จริง ผู้เรียบเรียงคิดว่า ยามาดะ  น่าจะเข้ามาในสยามก่อนหน้านั้นแล้ว จะสมเหตุสมผลมากกว่า ?? คือ อาจจะเข้ามาในช่วงสมัย ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งมีบันทึกว่า มี กองกำลังทหารอาสาญี่ปุ่น กลุ่มหนึ่ง ได้เข้าร่วมรบด้วยกับ กองทัพสยาม สู้รบกับพม่าหลายต่อหลายครั้ง ยามาดะ นางามาสะ อาจจะเป็น หนึ่งใน กองกำลังอาสาญี่ปุ่น หรือมาก่อนหน้านี้เพียงเล็กน้อย และได้เริ่มสร้างผลงาน ไต่เต้า จากความสามารถในการรบ และได้มีตำแหน่งแห่งหนสูงขึ้น จึงเริ่มมามีบทบาทสำคัญ ในยุคสมัย พระเจ้าทรงธรรม ??

 

山田長政, Yamada Nagamasa
วิกีพีเดีย ในภาษาญี่ปุ่น

เมื่อผู้เรียบเรียง สืบค้นเพิ่มเติม จากในบันทึกของชาวญี่ปุ่น พบว่า ยามาดะ เกิดในปี พ.ศ. 2133 หรือ ค.ศ. 1950 ก็ยังพอจะเป็นไปได้ ที่ยามาดะ จะเข้ามาสยาม ในวัย 31 ปี  >>

  • หากยึดหลักปีเกิด 2133 คือ ยามาดะ อายุ 31 ปี มาพร้อมกับคณะทูตของพระเจ้าทรงธรรม
  • หากยึดหลักปีเกิด 2113 คือ ยามาดะ อายุ 51 ปี ก็มีความเป็นได้น้อยมาก ที่จะเข้ามาพร้อมกับคณะทูตของพระเจ้าทรงธรรม ในวัยนี้ น่าจะเข้ามาก่อนหน้านี้แล้ว อย่างน้อยๆ ก็น่าจะช่วง ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นอย่างน้อย

ซามูไร ยามาดะ เข้ามารับราชการในแผ่นดินสยาม ตำแหน่งเริ่มต้นจากการเป็น ข้าราชการชั้นผู้น้อย ใน กรมอาสาญี่ปุ่น และไต่เต้าเรื่อยมา จนถึงตำแหน่ง เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ในเวลาต่อมา ก็ได้รับตำแหน่ง เป็น ออกญาเสนาภิมุข (ตำแหน่ง ออกญา เทียบเท่า พระยา) และ น่ามีบทบาทไม่มากก็น้อย ในเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ ช่วงเหตุความวุ่นวาย การก่อจลาจลของคนญี่ปุ่น ที่ขึ้นในสมัย พระศรีเสาวภาคย์ แต่ทว่า ยามาดะ จะอยู่หรือไม่ได้อยู่ มีบทบาทเกี่ยวข้องใดๆ กับกลุ่มคนญี่ปุ่นที่ก่อการกบฎในครั้งนี้ หรือไม่ ? 

 

ภาพสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
ภาพสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ จินตนาการจากกฎมณเฑียรบาล โดย ธีรพันธ์ ลอไพบูลย์

ช่วงการ ผลัดแผ่นดิน มักเกิดความวุ่นวายเสมอ … ( อีกแล้ว )

   หลังจากที่ สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ ลงจากราชสมบัติ ด้วยท่อนไม้จันทร์ โดย “สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม” ปราบดาภิเษก ขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาที่ ๑ หรือ สมเด็จบรมไตรโลกนาถทรงธรรม เป็นกษัตริย์ลำดับที่ 21 แห่งกรุงศรีอยุธยา และเป็นองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์สุโขทัย ราษฎรทั้งปวง เรียกว่า “พระเจ้าทรงธรรมอันมหาประเสริฐ”

       คนญี่ปุ่นกลุ่มที่เคยเรืองอำนาจ จากการ บุกวัง ก่อจลาจล ในสมัย สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ (และกระทำการได้สำเร็จ) เกิดไม่พอใจ ในการ ขึ้นครองราชสมบัติ ของ “สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม” และน่าจะเกรงกลัวว่าภัยจะมาถึงพวกตน และโดน “เช็คบิล” ก็เลยรวบรวมกำลังคน บุกเข้ามาถึงวังหลวง อีกครั้ง (ลงมือก่อนได้เปรียบ และหวังจะได้ผลอย่างเช่นเคย )

ตามบันทึก พงศาวดารของไทยเล่าเอาไว้ว่า..

“ญี่ปุ่นคุมคนกันได้ ประมาณห้าร้อย ยกเข้ามาในท้องสนามหลวง คอยจะกุมเอาพระเจ้าอยู่หัวอันเสด็จออกมาฟังพระสงฆ์บอกหนังสือ ณ พระที่นั่งจอมทองสามหลัง ขณะนั้น พอพระสงฆ์วัดประดู่โรงธรรม เข้ามาแปดรูป พาเอาพระองค์เสด็จออกมาต่อหน้าญี่ปุ่น ครั้นพระสงฆ์พาเสด็จไปแล้ว ญี่ปุ่นร้องอื้ออึงขึ้นว่า “จะกุมเอาพระองค์แล้ว เป็นอย่างไรจึงนิ่งเสียเล่า” ญี่ปุ่นทุ่มเถียงเป็นโกลาหล !!! ฝ่ายพระมหาอำมาตย์ คุมพลได้ ก็ไล่รบญี่ปุ่นล้มตายเป็นอันมาก ญี่ปุ่นแตกไปจากพระราชวัง ลงสำเภาหนีไป”

หากพิจาณาจากบันทึก จำนวนผู้ก่อคนญี่ปุ่นในคราวนี้ มากกว่าครั้งแรกในสมัย สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ ถึงเท่าตัว แต่กลับทำการไม่สำเร็จ เหตุด้วยเพราะ ความลังเลของทหารญี่ปุ่น “ส่วนหนึ่ง” หรือการเตรียมการป้องกันไว้เป็นอย่างดี ของ ฝ่ายพระมหาอำมาตย์ มิทราบได้  ผู้เรียบเรียงเชื่อว่า มีกลุ่มคนญี่ปุ่นจำนวน “ไม่น้อย” ที่ไม่เห็นด้วย และไม่ร่วมมือกับการกบฎในครั้งนี้ และน่าจะมีผล “ไม่น้อย” เช่นกัน ที่ทำให้แผนการกบฎของคนญี่ปุ่นในครั้งนี้ ผิดพลาด และไม่สำเร็จ … 

ยามาดะ นางามาสะ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ มากน้อยเพียงใด ไม่ปรากฎชัด …. แต่ที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือ

พระมหาอำมาตย์ ที่เป็นผู้กวาดล้างกบฎญี่ปุ่น ในครั้งนี้ คือ “ออกญาศรีวรวงศ์” และได้รับแต่งตั้งเป็น “เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์” และต่อมาได้ขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 24 แห่งอาณาจักรอยุธยา และทรงเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ปราสาททอง

….. ออกญาศรีวรวงศ์ ผู้นี้ นี่เอง เป็นเพื่อนร่วมขุนนาง กับ ยามาดะ นางามาสะ

ยามาดะ นางามาสะ เริ่มมีบทบาทมากในราชสำนัก

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม หรือ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงธรรมอันมหาประเสริฐ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 21 แห่งกรุงศรีอยุธยา และเป็นพระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์สุโขทัย ( ครองราชย์ 2154–2171 )

ยามาดะ นางามาซะ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ออกญาเสนาภิมุข

ช่วงเวลานี้เอง ถือเป็นช่วงรุ่งโรจน์ ช่วงหนึ่ง อันที่เกี่ยวกับ ความเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับบรรดาประเทศต่างๆ ที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับสยาม กรุงศรีอยุธยาฯ เป็นเมืองท่าที่สำคัญในภูมิภาคแถบนี้ของโลก ชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะฮอลันดา อังกฤษ และญี่ปุ่น ที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับสยาม ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ พระองค์ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดิน บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ริมคลองปลากด เหนือเมืองสมุทรปราการ ให้ชาวฮอลันดาตั้งคลังสินค้า และส่วนชาวญี่ปุ่น ปรากฏว่ามีชาวญี่ปุ่นสมัครเข้ารับราชการที่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก จนได้มีการ จัดตั้ง กรมอาสาญี่ปุ่น ขึ้นมาช่วยราชการกรุงศรีอยุธยา ชาวญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญในวงการเมืองในรัชสมัยของพระองค์ คือ ยามาดะ นางามาซะ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ออกญาเสนาภิมุข

สองขุนนางคู่พระทัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

     ยามาดะ นางามาสะ ( ออกญาเสนาภิมุข ) และ ออกญาศรีวรวงศ์ ซึ่งภายหลังจาก มีความดีความชอบจากผลงาน การปราบกบฏญี่ปุ่น จึงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ทั้งสองขุนนาง ออกญาเสนาภิมุข และ ออกญาศรีวรวงศ์ ถือว่าเป็นขุนนางคู่พระทัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ทรงไว้วางใจ อย่างมาก

แม้ว่า ยามาดะ จะไม่ได้ควบคุมกองทัพ อย่างเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ แต่ก็ถือได้ว่า ยามาดะ มีอำนาจและบทบาททางการเมือง ด้วยผลงานในการติดต่อเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับรัฐบาลเอโดะ และทางการทหาร ด้วยเป็นถึง เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น และที่มีอำนาจในราชสำนักและเป็นที่ย้ำเกรง ของบรรดาขุนนางอื่นๆ และทหารอยุธยา เป็นอย่างมาก ไม่แพ้เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์แม้แต่น้อย ”

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

ทรงครองราชย์ เป็นเวลา 17 ปี ( .. 2154–2171 )

      ขณะที่ พระเจ้าทรงธรรมประชวรหนัก พระองค์มีพระราชประสงค์ จะมอบราชสมบัติให้ พระราชโอรสองค์ใหญ่ คือ พระเชษฐาธิราชกุมาร โดยทรงมอบหมายให้ ออกญาศรีวรวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ที่ไว้วางพระทัยเป็นผู้ดูแล พระเชษฐาธิราชจนกว่าจะได้ครองราชย์ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมครองราย์ได้ 17 ปี จึงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2171 ซึ่งเป็นวันที่ชาวฮอลันดาได้บันทึกไว้

  ตามบันทึกของ นายเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremais van Vliet) ชาวฮอลันดา เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2183 โดยใช้ชื่อหนังสือว่า “The historical account of the war of Succession following the death of King Pra Interajasia, 22nd King of Ayuthian Dynasty” ระบุได้ใจความว่า ...

      “สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ได้ทรงมอบเวนราชสมบัติ แก่ พระเชษฐาธิราช ( เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ) แทนที่ จะยกมอบให้แก่พระอนุชา ที่ทรงตั้งไว้เป็นพระมหาอุปราช … โดยมอบหมายให้ ออกญากลาโหม ( ออกญาศรีวรวงศ์) และ ยามาดะ นางามาสะ ( ออกญาเสนาภิมุข )ช่วยเป็นธุระจัดการให้เป็นไปตามราชประสงค์ ทั้งสองออกญา จึงร่วมปรึกษาด้วยในกลุ่มมุขขุนนางทั้งหลายทั้งปวง แต่มีขุนนางบางคน ไม่เห็นด้วย เนื่องด้วยเป็นการฝืนกฎมณเฑียรบาล ซึ่งตามธรรมเนียมปฎิบัติแล้ว ราชสมบัติจะต้องตกไปสู่ พระมหาอุปราช นั่นก็คือ พระอนุชา คือ พระพันปีศรีสิน แต่เหล่าขุนนางบางคน ก็ไม่สามารถแย้งอันใดได้

    พระราชปิตุลาพระมหาอุปราช ไม่พอพระทัย จึงรวบรวมไพร่กำลังพล ออกจากพระราชวัง แล้วไปผนวช (บวช) ที่เมืองพริบพรี หมายซ่องสุมกำลังเพื่อ ยกทัพกลับมาแย่งชิงบัลลังก์

>> ขอเลี้ยวพักคิดสักหน่อย จากที่เคยปักหมุด คำถามก่อนหน้านี้ว่า …

พระศรีศิลป์ กับ พระอินทรราชา ใครคือ พระเจ้าทรงธรรม กันแน่ ???

… มาถึงตรงนี้ ก็ปรากฎชัดแล้วว่า พระเจ้าทรงธรรม คือ พระอินทรราชา และ พระศรีศิลป์ หรือ พระพันปีศรีสิน คือ พระอนุชา ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพระมหาอุปราช นั่นเอง เพราะหากจะยึดว่า พระพันปีศรีสิน คือ โอรสองค์ที่สองของ พระเจ้าทรงธรรม (ตามในวิกีพีเดีย หรือบันทึกอื่นๆ นั่นคงจะดูเป็นไปได้ยาก เนื่องเพราะ พระเชษฐาธิราช ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ในขณะขึ้นครองราช ในวัยเพียง 16 ปี เท่านั้น และหาก พระพันปีศรีสิน คือ พระโอรสองค์รอง อาจจะอายุ 15 ปี ? หรือ 14 ปี ? นั่นก็ดูแปลกๆ ไม่น้อยครับ

      ส่วนบางบันทึก บ้างก็ว่า พระพันปีศรีสิน ที่เป็นพระมหาอุปราช ไม่ใช่ทั้งพระอนุชา และไม่ใช่โอรสองค์รองของพระเจ้าทรงธรรม แต่เป็น บุตรบุญธรรม ของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเมื่อครั้งยังผนวชมีสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรมอนันตปรีชา ( พระเจ้าทรงธรรม) และได้ร่วมสมคบคิดในการชิงพระราชบัลลังก์จากสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ โดยได้ร่วมมือกับผู้เลื่อมใสในพระพิมลธรรมอนันตปรีชา นำกำลังเข้าสู่พระราชวัง และจับตัวสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์นำไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ นั่นก็คือ จมื่นศรีเสารักษ์

สมเด็จพระเชษฐาธิราช
ภาพโดย วิกีพีเดีย

พระเชษฐาธิราช ขึ้นครองราชย์ มีนามว่า

สมเด็จพระเชษฐาธิราช หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 2

ครองราชย์ พ.ศ. 2171 – 2172 ( 1 ปี 7 เดือน)

      ภายหลังจากที่ สมเด็จพระเชษฐาธิราช ขึ้นครองราชย์ ไม่นาน ทรงเป็นพระวิตก ด้วยพระราชปิตุลามหาอุปราช ที่ยังมีชีวิตอยู่ และอาจเป็นเสี้ยนหนามในภายหน้า จึงรับสั่งให้ ออกญากลาโหมสุริยวงศ์ หาทางสำเร็จโทษ พระราชปิตุลา เสีย … ออกญากลาโหมสุริยวงศ์ จึงปรึกษากับ ยามาดะ นางามาสะ ( ออกญาเสนาภิมุข ) ให้ดำเนินการในเรื่องนี้

บันทึกของ เยราเมียน วัน วลิต ระบุว่า : ยามาดะ พร้อมกองทหารอาสาญี่ปุ่น ได้เดินทางไป เมืองพริบพรี (เพชรบุรี) เพื่อเชิญตัวพระราชปิตุลา เสด็จกลับมาที่พระราชวัง ด้วย ยามาดะ ออกอุบายว่า ตน และพวกทหารอาสาญี่ปุ่น พร้อมจะสนับสนุนให้พระราชปิตุลาขึ้นครองราชย์ เนื่องด้วยสมเด็จพระเชษฐาธิราช ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นกษัตริย์ ปกครองบ้านเมือง จึงขอทูลเชิญพระราชปิตุลา เสด็จกลับพระราชวัง … แม้เหล่าภิกษุและขุนนางบริวาร ของ พระราชปิตุลา จะทักท้วงห้ามปราบไว้ แต่ก็ทรงไม่ฟัง พระราชปิตุลาจึงยอมเสด็จกลับพระราชวังพร้อมกับ ยามาดะ ทั้งที่ยังครองพระเหลืองอยู่….

ครั้นเมื่อกลับมาถึงพระราชวังแล้ว ยามาดะ จึงกราบทูลขอให้สละสมณเพศ เปลื้องผ้าเหลืองออก ยามาดะ จึงให้ทหารนำพระราชปิตุลา ไปเข้าเฝ้า … สมเด็จพระเชษฐาธิราชโปรดให้สำเร็จโทษ โดยให้จำขังไว้ และให้ทุกข์ทรมารสิ้นพระชนม์เอง ….

เหล่าภิกษุและขุนนางบริวาร ของ พระราชปิตุลา นำโดย ออกหลวงมงคล ได้รวบรวมกำลัง ลักลอบเข้าช่วยเหลือ พระราชปิตุลา ออกมาได้ และพาเดินทางกลับไปเมืองเพชรบุรี (พริบพรี) เพื่อรวบรวมไพร่พลตั้งเป็นกองทัพ ครั้นเมื่อ สมเด็จพระเชษฐาธิราช ทรงทราบเรื่อง จึงโปรดให้ ยามาดะ นางามาสะ ( ออกญาเสนาภิมุข ) คุมกองกำลังทหารอาสาญี่ปุ่น ออกไปปราบปราม

สมเด็จพระเชษฐาธิราช ทรงแต่งคณะทูต เดินทางไปยังญี่ปุ่น ในราวเดือนตุลาคม พ.ศ. 2172 ตามคำแนะนำของ ยามาดะ เพื่อเชิญ พระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการ ถวายแด่ โชกุนอิเยมิสุ และแจ้งว่า กรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ โดยสมเด็จพระเชษฐาธิราชขึ้นครองราชสมบัติ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฎิบัติ และเป็นหน้าที่หลักของ ยามาดะ นางามาสะ ที่ปฎิบัติมาตลอดในสมัยพระเจ้าทรงธรรม

ซามูไร ยามาดะ จากคนหามเกี้ยวโชกุน สู่ ออกญาเสนาภิมุข

ไม่นาน ก็เกิดเหตุความวุ่ยวายอีกครั้ง

       ด้วย สมเด็จพระเชษฐาธิราช ทรงหวาดระแวง ออกญากลาโหมสุริยวงศ์ ซึ่งมีหน้าที่ว่าราชการแทนพระองค์ 

ออกญากลาโหมสุริยวงศ์ ในขณะนั้น มีอิทธิพล และมีอำนาจมาก ทั้งเหล่าขุนนางทั้งหลายทั้งปวง ถึงข้าราชการ ต่างก็นิยม ยกย่อง และ “เกรงกลัว” เป็นอันมาก จึงทำให้ สมเด็จพระเชษฐาธิราช เกิดหวาดระแวง ว่านานไป อาจจะทำให้เกิดอุปสรรค์ได้ในภายภาคหน้า จึงหาทางคิดหาวิธีกำจัด ประจวบเหมาะด้วยเหล่าข้าหลวงคนสนิท ได้ยุยงส่งเสริมเข้าไปอีก…

จนมาถึงฉนวนเหตุสำคัญ ของความวุ่นวาย …  มารดาของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ถึงแก่กรรม (บางบันทึกว่าเป็นน้อง) ออกญากลาโหมสุริยวงศ์ ได้จัดงานศพอย่างใหญ่โต มี ขุนนางทั้งหลายทั้งปวง ต่างไปร่วมช่วย ร่วมงานกันมาก บางคนถึงกับไปนอนค้างคืนกันเลยทีเดียว เมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราช ออกว่าราชการ ทรงเห็นว่ามี ข้าราชการหายไปจำนวนมาก จึงพิโรธมาก ฝ่ายข้าหลวงจึงทูลยุยงซ้ำเข้าไปอีก ด้วยว่า “ออกญากลาโหมสุริยวงศ์ คิดการใหญ่ เป็นแน่ ทำการงานศพบังไว้ หมายซ่องสุมประทุษร้ายพระองค์เป็นมั่นคง …”    เมื่อมีใจหวาดระแวงเป็นทุนเดิม ประจวบเหมาะกับการยุยงของข้าหลวง และเหตุการข้าราชการไม่มาราชการ ก็ยิ่งทำให้สนับสนุนความเชื่อย้ำเข้าไปอีก สมเด็จพระเชษฐาธิราช จึงรับสั่งให้เตรียมทหารตั้งป้อมล้อมวัง และให้ขุนมหามนตรี ออกไปหาตัว ออกญากลาโหมสุริยวงศ์ นำเข้ามา ….

ความนี้ได้ไปล่วงรู้ไปถึง ออกญากลาโหมสุริยวงศ์ จึงได้กล่าวต่อหน้า บรรดาขุนนางทั้งหลายว่า ….

“เราทำราชการกตัญญูแต่ครั้งพระพุทธเจ้าหลวงมา ท่านทั้งปวงก็แจ้งอยู่สิ้น แลเมื่อ พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว ถ้าเรารักซึ่งราชสมบัติท่านทั้งหลายเห็นจะพ้นเราเจียวหรือ”

“บัดนี้พระเจ้าแผ่นดิน ว่าเราทำการประชุมขุนนางพร้อมมูลทั้งนี้คิดเป็นกบฏ ก็ท่านทั้งปวงซึ่งมาช่วยโดยสุจริตนั้น จะมิพลอยเป็นกบฏด้วยหรือ”

ท้ายที่สุดแล้ว ออกญากลาโหมสุริยวงศ์ ก็นำกำลังบุกเข้าพระราชวัง และ สำเร็จโทษพระสมเด็จพระเชษฐาธิราช และ ยก สมเด็จพระเจ้าอาทิตยวงศ์ ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 9 พรรษาขึ้นแทน

( *** ภายหลัง เหล่ามุขมนตรี เห็นว่าทรงพระเยาว์ จะเสียการแผ่นดินจึงจำยก สมเด็จพระเจ้าอาทิตยวงศ์ลงจากราชสมบัติ และถวายแก่ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ เป็น สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ พ.ศ. 2173 – 2199 )

หลังจาก เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ได้ สำเร็จโทษ สมเด็จพระเชษฐาธิราช เหล่าขุนนางมุขมนตรีต่างๆ ก็ยกให้ สมเด็จพระเจ้าอาทิตยวงศ์ ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 9 พรรษาขึ้นแทน โดยมี เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จว่าราชการแทน …. เพียง ไม่นาน ภายหลังเหล่ามุขมนตรีเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าอาทิตยวงศ์ ทรงพระเยาว์ นัก จะเสียการแผ่นดิน จึงยกสมเด็จพระเจ้าอาทิตยวงศ์ ลงจากราชสมบัติ และถวายแก่ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ในนาม สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ในปี พ.ศ. 2173 ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ปราสาททอง พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 24 แห่งอาณาจักรอยุธยา

แผนการ กำจัด ซามูไร ยามาดะ นางามาสะ ให้พ้นทาง !!

เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ มีประสงค์ที่จะกำจัดอุปสรรค์ในการครองราชย์ หลังจากที่ได้ทำการ ประหารขุนนางแลออกญาในพระราชสำนัก ฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วย รวมถึง ข้าหลวงเดิมในพระสมเด็จพระเชษฐาธิราช อย่างโหดเหี้ยม แต่ทว่า การกำจัด ยามาดะ นางามาสะ ( ออกญาเสนาภิมุข) นั้นไม่ง่ายนัก จำต้องดำเนินการอย่างเปิดเผยไม่ได้

ความตอนหนึ่งของ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ครั้นเมื่อก่อนจะทำการบุกพระราชวัง และได้ กล่าวต่อหน้า บรรดาขุนนางทั้งหลาย ….  “เราทำการครั้งนี้จะชิงราชสมบัติหามิได้ เพราะภัยมาถึงตัวแล้วก็จำเป็น พระอาทิตยวงศ์ซึ่งเป็นราชบุตรพระมหากษัตริย์นั้นยังมีอยู่ ควรจะยกพระอาทิตยวงศ์ขึ้นผ่านสมบัติโดยราชประเพณีจึงจะชอบ”

     อาจเป็นแผนการที่แยบยลของ พระเจ้าปราสาททอง ที่หากจะสำเร็จโทษ ผู้น้อง ( สมเด็จพระเจ้าอาทิตยวงศ์) ในทันที อาจจะดูโหดเหี้ยม เกินไป ครั้น จึงรั้งเวลาไว้ ให้เหมาะสม …. ด้วยเพราะ ยามาดะ (ออกญาเสนาภิมุข) เคยแสดงออก อย่างชัดเจน ถึงความจงรักภักดีต่อพระราชวงศ์สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มากเพียงใด นอกจากนี้ ออกญาเสนาภิมุข ยังเคยแสดงความเสียใจต่อการสำเร็จโทษสมเด็จพระเชษฐาธิราช ต่อหน้า เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ( อย่างไม่เกรง !!!  )

เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ รู้จัก ยามาดะ เป็นอย่างดี ด้วยเป็นเพื่อนร่วมขุนนาง ที่มีความสนิทสนมกันมาก โดยเฉพาะความจงรักภักดีของยามาดะ ต่อพระเจ้าทรงธรรม .. เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ จึงพยายามเกลี้ยงกลอม ยามาดะ (ออกญาเสนาภิมุข) ด้วยวาทศิลป์ชั้นเลิศ ประกอบด้วยการแสดงออกอย่างจริงใจ ทำให้ ยามาดะ ยอมกลับมารับราชการ ในราชสำนักเช่นเดิม

แม้ว่า ลึกๆ แล้ว การกระทำและแนวคิด ของ ออกญาเสนาภิมุข จะทำให้ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ รู้สึกไม่พอใจ และมีความระแวง ยามาดะ ไม่น้อย แต่ด้วยเพราะ ยามาดะ (ออกญาเสนาภิมุข) มีอำนาจมาก และมีกำลังทหารอาสาญี่ปุ่นที่แข็งแกร่ง หากตั้งตนเป็นศัตรูด้วยในตอนนี้ อาจจะไม่ส่งผลดีต่อ การขึ้นครองราชย์ของตนในภายหน้า …..

 

[[ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ดำเนินแผนการอันแยบยล ]]

 

จาก ออกญาเสนาภิมุข เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น

“ออกญานคร” ( เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช )

  เมืองนครศรีธรรมราช นั้น มีสถานะเป็นเมืองพญามหานคร และหัวเมือง ฝ่ายใต้ ชั้นเอก จะกล่าวได้ว่า เป็น เมืองกษัตริย์องค์หนึ่ง ก็ว่าได้ …

เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ในขณะที่เป็นผู้สำเร็จราชการ ก็ กุเรื่องขึ้นด้วยว่า ภายใน เมืองนครศรีธรรมราช “อาจมีผู้คิดการก่อกบฏ” และประจวบเหมาะ ที่ ออกญานครเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช (คนเก่า) ไม่สามารถเดินทางขึ้นมาที่กรุงศรีอยุทธยาเพื่อร่วมพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ได้ (ตามกฎมณเฑียรบาล การไม่ยอมถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยามีโทษตายเสมอกบฏ) เนื่องจากกำลังมีศึกติดพันกับเมืองปัตตานี และปัญหาภายในเมืองนครศรีธรรมราชเองก็มีผู้คิดการก่อกบฏอยู่ ( จริง )  เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ก็ทราบเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว …. แต่ ก็ผูกเรื่องโยงใย กุเรื่องมัดความเข้าด้วยกัน และโยนผิดให้ออกญานครเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช (คนเก่า) จึงถูกตั้งข้อหาเป็นกบฏ    และ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ เสนอต่อที่ ประชุมขุนนาง ให้แต่งตั้ง ยามาดะ ( ออกญาเสนาภิมุข) เป็น “ออกญานคร” เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เพราะไม่มีผู้ใดเหมาะสมที่จะจัดการความไม่สงบในเมืองนครศรีธรรมราช นี้ได้ และจะทำให้ชาวปัตตานีเกรงกลัวได้ ด้วยเพราะความแข็งแกร่งของ กองกำลัง ทหารอาสาญี่ปุ่น …..

สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ ( ที่เป็นเพียงหุ่นเชิด วัย 9 ปี  ) และขุนนางในราชสำนัก ต่างเห็นชอบ !!!

และนี่เอง คือ แผนการกำจัด ออกญาเสนาภิมุข พร้อมด้วย ทหารอาสาญี่ปุ่น ให้ออกไปจากกรุงศรีอยุทธยา เพื่อแผนการในขั้นต่อไป การในขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าปราสาททอง

ยามาดะ ก็เริ่มออกเดินทางทันที แม้ตนจะรู้ดีว่า ภายในราชสำนักกรุงศรีฯ นั้นมีเรื่องยุ่งวุ่นวายอยู่มาก และ มีเรื่องที่ไม่ถูกต้องบางอย่างเกิดขึ้น หรือ “กำลังจะเกิดขึ้น” ??!!  แต่เพราะเห็นแก่กิจการราชการ จึงต้องเดินทางตามภาระหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมาย และแน่นอน ยามาดะ ยังได้รับคำสั่งให้ นำ กองกำลังทหารอาสาญี่ปุ่น ที่อยู่ในกรุงศรีอยุธยาทั้งหมด ติดตามไปด้วย

เมื่อกองทัพ ยามาดะ ออกเดินทัพ พ้นจากกรุงศรีอยุธยา ไปไม่นาน แผนการขั้นต่อไปก็ดำเนินขึ้น

   หลังจากที่ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ปล่อยให้ สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ นั่งเป็นหุ่นเชิด ว่าราชการไป วิ่งเล่นไป ตามประสาเด็ก มีมหาดเล็กวิ่งตามป้อนข้าวป้อนน้ำได้เพียง ๓๖ วัน ขุนนางข้าราชการก็ทนดูไม่ไหว จึงร่วมกันนำเครื่องราชกกุธภัณฑ์ มาถวายแด่ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ขอให้เห็นแก่ประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์และสมณชีพราหมณ์เถิด เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จึงยอมขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าปราสาททอง ในปี พ.ศ. 2173

ไม่มีอะไรในก่อไผ่ ที่เมืองนครศรีธรรมราช ….

เมื่อ ยามาดะ นางามาสะ พร้อมกองกำลัง ทหารอาสาญี่ปุ่น เดินทางถึงเมืองนครศรีธรรมราช ในฐานะออกญานคร (คนใหม่) ก็ดำเนินการกวาดล้างทันที ด้วยคิดเสมอว่า มีผู้ก่อการคิดกบฎบ้านเมือง จึงทำการสังหาร และยึดทรัพย์ ข้าราชการขุนนางข้าหลวงที่รักษาหน้าที่ตำแหน่งต่างๆ ยามาดะ นางามาสะ สามารถจัดตั้งการปกครองและนำบ้านเมืองกลับสู่ความสงบได้อย่างรวดเร็ว ในส่วนของ ออกญานคร (คนเก่า) พบว่า ไม่ได้มีพฤติกรรมคิดการกบฏ ตามที่ถูกกล่าวหา แต่อย่างใด ยามาดะ นางามาสะ จึงแต่งตั้งเป็น หัวหน้าที่ปรึกษาของตน ยามาดะ ได้ทำหนังสือข้อราชการ รายงานขึ้นไปที่กรุงศรีอยุทธยา ( โดยที่ยังเข้าใจว่า ยังเป็นแผ่นดินของยุวกษัตริย์ สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ ) โดยหารู้ไม่ว่า เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ที่เคยเป็นเพื่อนร่วมขุนนางด้วย ขณะนี้ เป็น สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ไปแล้ว ….

    สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อได้รับรายงานราชการจาก ยามาดะ ก็ทำเป็นแสร้งยินดีด้วยยามาดะ ต่อหน้าบรรดาขุนนาง และทรงมีรับสั่ง โปรดให้มีการ แห่หญิงงาม รวมด้วยของกำนัลมากมาย ส่งไปยังเมืองนครศรีธรรมราช 

     ในขณะที่มีหนังสือยินดีต่อยามาดะ อีกด้านหนึ่ง พระเจ้าปราสาททอง ก็ทรงโปรดมีรับสั่งให้ออกญาพระคลังมีหนังสือไปถึง ออกญานคร ( เจ้าเมืองนครคนเก่า ) ที่ซึ่งถูกปลดจากเจ้าเมืองนครฯ ความว่า ……

“หากสามารถกำจัดเจ้าเมืองชาวญี่ปุ่นได้ และทำให้บ้านเมืองรอดพ้นจากความหยาบคาย โอหังของชนชาตินั้นได้แล้ว จะได้รับบำเหน็จรางวัลอย่างงาม ทั้งจะโปรดให้กลับไปรับตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชใหม่ (อีกครั้ง)”

ในขณะเดียวกันนี้ ก็มีข่าวว่า ทางเมืองปัตตานีเกิดกบฎ เหตุการณ์ช่วงนี้มีการบันทึกในจดหมายเหตุตรงกันหลายฉบับ ด้วยเพราะยามนั้น เมืองปัตตานี เป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของสยาม

ยามาดะ จึงได้เกณฑ์กำลังทหารทั้งในส่วนของเมืองนคร และกองทหารอาสาญี่ปุ่น ยกไปสู้รบที่เมืองปัตตานี และช่วงเวลานี้เอง ที่ทำให้ยามาดะ ได้ทราบความเป็นไป ในพระราชสำนัก ถึงการครองราชย์ ของ พระเจ้าปราสาททอง ก็เกิดความรู้สึกว่าไม่ถูกต้อง ด้วยคนญี่ปุ่น ถือและเคร่งครัดมากในเรื่องนี้ หากไม่ได้สืบเชื้อสายกษัตริย์ จะยอมไม่ได้ ที่จะให้ครองครองบัลลังก์ ปกครองบ้านเมือง แต่ด้วยสถานะของ ยามาดะ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนักในตอนนี้ จำต้องเตรียมการทัพเพื่อสู้รบกับเมืองปัตตานีก่อน

นับแต่นั้นมา ด้วยสถานการณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นใน ราชสำนัก จึงทำให้  ซามูไร ยามาดะ ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น และไม่ไว้ใจผู้ใดเลย แม้กระทั่ง หัวหน้าที่ปรึกษาของตน คือ ออกญานคร (คนเก่า) ก็ถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าพบ

เมื่อ ยามาดา เดินทางกลับจากการรบที่เมืองปัตตานี และได้รับบาดเจ็บที่ขา แม้บาดแผลจะไม่หนักหนาอะไรมากนัก แต่ก็จำเป็นต้องรักษาให้หายเร็วที่สุด เพื่อจะได้เข้าพิธีแต่งงานกับสาวงาม ที่พระเจ้าปราสาททองพระราชทานมาให้ ยามาดะ จึงยอมให้ พระมะริด ( น้องชายของเจ้าเมืองนครคนเก่า) มารักษาพยาบาลบาดแผลให้ จนในเวลาต่อมา ยามาดะ นางามาสะ ก็เสียชีวิตลง ด้วยยาพิษ ที่มาในส่วนผสมของยารักษาบาดแผล  นั่นเอง

ยาพิษ ถูกส่งมาจากผู้ใด

      1  ยาพิษถูกส่งมาจาก พระเจ้าปราสาททอง พระราชทานมาให้ ยามาดะ ? ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะ ยามาดะ ระแวดระวังตัวมาก หลังจากที่ได้รู้ข่าวความเป็นไปในราชสำนัก และการขึ้นครองราชย์ที่ไม่ถูกต้องของพระเจ้าปราสาททอง หากพระราชทานมาตรงๆ เชื่อว่า ยามาดะ จะไม่ยอมใช้ยานั่นรักษาแน่นอน

2  ยาพิษถูกส่งมาจาก พระเจ้าประสาททอง แต่ไม่ได้ พระราชทานมาให้ตรงๆ แต่กลับส่งให้ เจ้าเมืองนคร (คนเก่า) เพื่อส่งต่อให้ พระมะริด ( น้องชาย เจ้าเมืองนคร คนเก่า) นำไปรักษาแผลที่ขา ยามาดะ เพราะเป็นผู้เดียวที่เข้าถึงตัวยามาดะ ได้ และยามาดะ ให้ความไว้วางคนใยการรักษาพยาบาล

ประชาสัมพันธ์

สาเหตุการเสียชีวิตตามที่ ฟาน ฟลีต บันทึกไว้คือ ออกพระมะริดเป็นผู้วางยาพิษในยาที่ใส่แผลของนางามาสะ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าปราสาททอง

ปิดฉากตำนาน ยามาดะ ซามูไร แห่งอโยธยา

[ ยามาดะ นางามาสะ 山田長政, Yamada Nagamasa ]

เส้นทางชีวิต จากคนหามเกี้ยวโชกุน มาสู่ ออกญาเสนาภิมุข และจบลง ด้วย ออกญานคร เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ที่มีสถานะเป็น เมืองพญามหานคร และหัวเมืองฝ่ายใต้ ชั้นเอก จะกล่าวได้ว่า เป็น เมืองกษัตริย์องค์หนึ่ง ก็ว่าได้

เกินที่ใครจะคาดคิดว่า ชาวต่างชาติผู้หนึ่งที่รอนแรมมาแสนไกลจากญี่ปุ่น จะก้าวมายืนในจุดนี้ได้ในเวลาไม่กี่ปี 

ความตายของ ยามาดะ ซามูไร แห่งอโยธยา สร้างความตระหนกและเสียใจแกบรรดาทหารอาสาญี่ปุ่น เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ ออกขุนเสนาภิมุข หรือ อาจิน ( บางฉบับเรียก “โออิน” ) บุตรชายของยามาดะ ที่ไม่เชื่อว่าบิดาตนเอง จะเสียชีวิตเพราะบาดแผล เพียงเล็กน้อย ….

ในบทความต่อไป จะกล่าวถึง ออกขุนเสนาภิมุข กันนะครับ แต่ขอเวลารวบรวมข้อมูลอีกสักหน่อย เรื่องราวต่อจากนี้ไป จะสร้างความวุ่นวายให้กับ เมืองนครศรีธรรมราช และพระราชสำนัก ในแผ่นดิน พระเจ้าปราสาททอง มากน้อยอย่างไร …. โปรดติดตาม ตอนต่อไป

 

 

 

  • พงศาวดารคำให้การชาวกรุงเก่า
    พงศาวดารคำให้การขุนหลวงหาวัด
  • หนังสือ ญี่ปุ่น-สยาม / เกริกฤทธิ์ เชื้อมงคล
  • จดหมายเหตุวัน วลิต เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias Van Vliet)
  • เอกสารของปีเตอร์ ฟลอริส
  • เอกสารของสปรินเกล ชาวฮอลันดา


Cultures of Fermented 
by Scoby Doit
Previous ArticleNext Article