บทความนี้ อาจจะมีเนื้อหาที่ค่อนข้างจะสร้างความงุนงง กับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมการค้าการขายสินค้าทางออนไลน์ ที่ทำธุรกรรม การรับ-จ่าย -โอนเงิน ผ่านผู้ให้บริการทางการเงินออนไลน์ หรือเรียกอีกอย่างว่า เพย์เมนท์ เกตเวย์ ที่เป็นช่องทางการชำระเงินที่มีความสำคัญกับร้านค้าออนไลน์ และ PAYPAL นี่เอง ที่เป็นหนึ่งในหลายๆ ผู้ให้บริการ Payment Gateway เก่าแก่ ที่หลายๆ แพลทฟอร์ม อี-มาร์เก็ตเพลส ต่างๆ เช่น ETSY หรือ Patreon เลือกใช้เป็นสื่อกลางในการรับ-ส่ง เงิน ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
ดราม่า Paypal กับปัญหาที่สร้างความน่าปวดหัวให้กับผู้ขายของออนไลน์
ตอนนี้ เชื่อว่า หลายคนน่าจะรู้จัก Paypal (เพย์พาล) กันแล้ว สรุปอีกทีแบบเข้าใจง่ายๆ เพย์พาล คือ แอปพลิเคชันที่เปรียบเสมือนธนาคารออนไลน์ ทำหน้าที่รับ–ส่งเงินผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นหนึ่งในหลายๆ เพย์เมนท์ เกตเวย์ นั่นเอง
ประเด็นดราม่า เพย์ “พาล” กับปัญหา KYC มันอยู่ตรงไหน ?
หากจะสรุปสาเหตุของปัญหาให้ชัดในวรรคแรกเลย นั่นก็คือ นโยบายใหม่ของ paypal ส่งผลให้ลูกค้า ซึ่งก็คือผู้ประกอบการรายย่อย ที่ค้าขายออนไลน์ และจำเป็นต้องใช้ เพย์เมนท์ เกตเวย์ paypal เพื่อรับชำระเงิน โดย แพลทฟอร์ม มาร์เก็ตเพลส นั้นๆกำหนดใช้ paypal เท่านั้น
ซึ่งปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ ผู้ประกอบการพ่อค้าแม่ขาย ออนไลน์ รายย่อย ที่เปิดร้านออนไลน์ ขายสินค้าใน Etsy และ Patreon จะไม่สามารถเปิดร้านดำเนินการขายของต่อไปได้ !! เพราะทาง paypal ได้ออกนโยบายใหม่ คือ การเปิดบัญชี paypal ใหม่ จะต้องเป็น นิติบุคคล เท่านั้น ( นิติบุคคล คือ การจดทะเบียนบริษัทฯ ) และสถานะบัญชีเดิม จะต้องถูกปิดไป หรือ จะต้องดำเนินการจดทะเบียนนิติบุคคฯ เท่านั้น ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2565
กล่าวคือ …. ถ้านโยบาย ออกมาแนวนี้ พ่อค้าแม่ขายรายย่อย ก็ต้องร้อง อห. กันดังๆ ซิครับ ( อห. ที่ไม่ได้แปลว่า โอ้โห นะครับ ส่วนจะแปลว่าอะไร ก็เชิญบัญญัติกันตามใจชอบ ) รายย่อย คือ รายเล็ก รายได้ คือ น้อยนิด จะต้องไปจดทะเบียนเปิดบริษัทฯ เสียเงินเสียทองค่าดำเนินการ โน้นนี่นั่น ก็ดูจะไม่สอดคล้องกับรายไดั และขนาดธุรกิจสักเท่าไหร่ ว่ามั้ยครับ ?
…. จนเรื่องราวบานปลายใหญ่โต พ่อค้าแม่ขายออนไลน์ กรนด่า ( แต่โดยมาก ไม่กรนด่า เพย์ พาล น่ะครับ แต่กลับไปกรนด่า ภาครัฐ ? 555 ตลกดี ) นั่นเพราะอะไร ? อาจเพราะ ทุกๆถ้อยแถลงการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ paypal ได้หยิบยก ตัวบทกฎหมายของประเทศไทย ขึ้นมา นั่นเอง หรืออาจจะมีอคติอะไรสักอย่างบดบังใจ หรืออยากจะเชื่อในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเชื่อ ก็เป็นได้
… ซึ่งหากพ่อค้าแม่ขายออนไลน์ จะตั้งสติ และคิดอย่างรอบคอบ สักหน่อย อาจจะลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วทำไม Payment Gateway เจ้าอื่นๆ ที่ยังเปิดให้บริการกับบุคคลธรรมดา ในประเทศไทยได้ โดยที่ไม่ต้องให้ลูกค้าไปจดทะเบียนบริษัทฯ ล่ะ ??? ทำไมยังเปิดให้บริการได้ เยอะแยะเลยครับ เช่น LINE PAY , SHOPEE PAY และอื่นๆอีกมากมาย นั่นเป็นเพราะอะไรกัน ทำไมผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆทำได้ แต่ paypal ทำไม่ได้ ? หรือ ไม่ทำ หรือ ทำไม่ทันตามกำหนดเวลา ??
เรื่องราวดราม่า กันไปต่างๆนาๆ สุดท้าย ก็เลยมาโป๊ะแตก ด้วยถ้อยแถลงของ ธนาคารแห่งประเทศไทย นี่แหละครับ
ข่าวจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย
ตามคำแถลง จากลิงค์ข่าว ด้านบน ของ ธปท. ในข้อที่ 2 นั้น บอกได้ชัดเจน…
“ Paypal Thailand มีการสื่อสารให้ ลูกค้า ดำเนินการโดยมีความเข้าใจ “คลาดเคลื่อน” กับหลักเกณฑ์ของทางการที่ต้องถือปฏิบัติ กรณีบุคคลที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจแม้จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์แล้ว ยังถือเป็นบุคคลธรรมดาตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและก่อการร้ายฯ ของสำนักงาน ปปง. ที่ บริษัท paypal ต้องจัดให้ลูกค้าแสดงตนด้วยข้อมูลตามหลักเกณฑ์ KYC ที่สำนักงาน ปปง. กำหนด เช่น ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด เลขบัตรประชาชน ที่อยู่ ข้อมูลการติดต่อ เป็นต้น และตรวจสอบความถูกต้องกับแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น ตรวจสอบกับชิปในบัตรประชาชน หรือฐานข้อมูลกรมการปกครอง รวมถึงตรวจสอบด้วยว่า บุคคลที่เปิดบัญชีเป็นบุคคลเดียวกับบุคคลในเอกสารหลักฐานการแสดงตน เพื่อป้องกันการสวมรอยเป็นลูกค้าเปิดบัญชีปลอม โดยบริษัท paypal อยู่ระหว่างปรับระบบให้รองรับการจัดเก็บข้อมูลและตรวจสอบพิสูจน์ตัวตนลูกค้าตามแนวทางดังกล่าว
มาถึงตรงนี้ ก็พอจะลำดับเหตุการณ์ ความเป็นมาเป็นไป ของประเด็นได้แล้วนะครับ ว่า มาจากสาเหตุอะไร ? แต่สาเหตุว่า ทำไม ? อาจจะด้วย paypal ดำเนินการไม่ทัน หรือ ไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย ? แต่กลับเลือกที่จะวิธีใช้ “ลูกค้า”เป็นตัวประกัน เพื่อใช้ต่อลอง เพื่อ “แหกกฎ” KYC ก็ไม่อาจจะล่วงรู้ได้ ?
เมื่อเอ่ยถึง KYC หลายคนอาจจะสงสัยว่า มันคืออะไร ? แล้วมันมีประโยชน์ และจำเป็นอย่างไร แอดมินจะอธิบายแบบสั้น ให้ได้รู้จักกันครับ
KYC คืออะไร ?
KYC ย่อมาจาก Know Your Customer ซึ่งถ้าจะแปลกันซื่อๆ เป็นภาษาไทย ก็แปลได้ความว่า “ทำความรู้จักลูกค้าของคุณ” นั่นก็คือ วิธี หรือกระบวนการ พิสูจน์ทราบตัวตน คือการพิสูจน์ตัวตนว่ามีอยู่จริงๆ ไม่ใช่ “ม้า” ในทุกกิจกรรมหรือการทำธุรกรรมบางอย่าง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงิน ที่มีการ รับเงินจ่ายเงิน นั่นเอง เพื่อป้องกันการทุจริตจากการปลอมแปลงหรือใช้ข้อมูลบุคคลอื่นในการทาธุรกรรมและเพื่อป้องกัน การฟอกเงิน นั่นเอง …
หากจะให้ยกตัวอย่างที่เห็นภาพง่ายๆ เกี่ยวกับการ พิสูจน์ทราบตัวตน ให้เห็นชัดๆ นั่นก็คือ การเปิดบัญชีธนาคาร เพื่อใช้บริการต่างๆ เช่น ฝากเงิน โอนเงิน ถอนเงิน ออมเงิน ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีนั่นแหละ ซึ่งการกระบวนการยืนยันตัวตนมาตรฐาน โดยใช้ “บัตรประจำตัวประชาชน” เป็นส่วนหนึ่งของ KYC แต่….. การยกตัวอย่างนี้ ก็ดูจะเรียบง่ายเกินไป การใช้หลักฐานบัตรประชาชนยืนยันตัวตน ก็มีทำกันมานานแล้ว ทำไมจึงเพิ่งมากำหนดกระบวนการ KYC ใหม่ ให้ยุ่งยากล่ะ ? คำตอบของคำถามนี้ คือ การทำธุรกรรมทางการเงิน ในยุคสมัยปัจจุบัน มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงจากยุคสมัยก่อน ที่มีเพียงแค่ เคานท์เตอร์ธนาคาร กับผู้ใช้บริการ เท่านั้น
KYC มีความสำคัญอย่างไร ?
ระบบ KYC (Know Your Customer) จะช่วยป้องกัน และลดการกระทำที่ผิดกฎหมายทางการเงิน อาทิ การคอรัปชัน , ติดสินบน ในหน่วยงาน หรือการฟอกเงิน รวมไปถึงช่วยให้ทั้งตัวเราเอง ผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการทุกคนในระบบนั้นปลอดภัยมากขึ้นด้วย ลองคิดว่าถ้าธนาคารให้ใครก็ได้มาเปิดบัญชีโดยไม่ตรวจสอบ แล้วคนนั้นดันกลายเป็นพ่อค้ายาเสพติด ที่ใช้ชื่อเราเปิดบัญชี ได้ง่ายๆ , ธนาคารก็เสียความเชื่อมั่น แถมเราก็อาจจะต้องถูกจับดำเนินคดี โดยที่ไม่ได้ทำความผิดอะไรเลยก็ได้ ดังนั้นถ้าหากผู้ให้บริการไม่มี KYC ที่เข้มแข็ง หรือไม่มีเลย …. เราทุกคนก็คงไม่ไว้วางใจที่จะฝากเงินของเราไว้กับธนาคารนั้น จริงมั้ยครับ ?
KYC มันยุ่งยากมากนักหรือ ?
การดำเนินการระบบ KYC ก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลยครับ โดยกระบวนการทำงาน KYC จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ช่องทางในการปฎิบัติ ยืนยัน พิสูจน์ทราบตัวตน คือ ทาง ออฟไลน์ เช่น การเปิดบัญชีกับธนาคารพาณิชย์ที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ซึ่งต้องใช้บัตรประชาชน และผู้เปิดบัญชีได้เทียบใบหน้าว่าเป็นบุคคลเดียวกัน และ ทางออนไลน์ ( E-KYC) ขั้นตอนแรกมักจะเริ่มต้นด้วยการเก็บข้อมูลของลูกค้า เช่น ชื่อ เลขประจำตัวประชาชน วันเกิด หรือที่อยู่ โดยมีระดับความเข้มข้นของการทำ KYC นั้นก็มีหลายรูปแบบ แล้วแต่บริบทของธุรกิจนั้น ๆ ซึ่งหากใครได้ผ่านการสมัครใช้ LINE PAY หรือ SHOPEE PAY มาแล้ว ก็นั่นแหละครับ ขั้นตอนการ E-KYC ในระดับหนึ่งนั่นเอง
ก็แปลกใจ และไม่เข้าใจ ที่ Paypal มีเหตุผลอะไรที่ไม่ทำ หรือ ทำไมทัน หรือ …. อย่างไร ก็ต้องรอหาทางออก และติดตามกันต่อไปครับ แต่เชื่อว่า ถ้าอยู่ในกฎในเกณฑ์ อยู่ในกติกา ที่รายอื่นๆก็ปฎิบัติได้ ไม่มีปัญหาอะไร เรื่องราว ก็จะจบลงด้วยดี และคงต้องติดตามการดำเนินการของ Paypal กันต่อไปครับ
ขอบคุณ แหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์
- KYC คืออะไร? เข้าใจง่าย ครบถ้วน อัปเดตล่าสุด โดย : https://zipmex.com
- รายชื่อผู้ประกอบธุรกิจระบบการชำระเงินภายใต้การกำกับและบริการการชำระเงินภายใต้การกำกับ ธปท.
- ข่าว ธปท. ฉบับที่ 8/2565
เรื่อง ธปท. เร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือรายย่อย
แก้ปัญหาหยุดการให้บริการชั่วคราวของ Paypal ประเทศไทย - กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อลดความซ้าซ้อนในการปฏิบัติตาม. หลักเกณฑ์ทางการ สาหรับส่วนของการพิสูจน์ตัวตนลูกค้า (Verification)