พิพิธภัณฑ์ ตวลสเลง หรือ คุกตวลสเลง เป็นพิพิธภัณฑ์ ที่ไม่ว่า ใครก็ตาม ได้เข้าไปเยือนแล้ว เมื่อเดินกลับออกมา ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่จะมีรอยยิ้มบนใบหน้า เฉกเช่นไปเยือนพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ตวลสเลง หรือ S-21 เดิมทีเป็นโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่มีชื่อว่า Tuol Svay Pray
หากคุณเคยได้ศึกษาเรียนรู้ หรือได้ยินประวัติศาสตร์ของ เขมรแดง ในห้วงเวลาหนึ่ง คุณอาจจะยังไม่สามารถเข้าใจได้ถึงการสูญสิ้นของ “อิสรภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ” … ตามหัวข้อเรื่อง จนกว่าคุณจะได้ไปเยือน Security Office 21 (S-21) หรือ พิพิธภัณฑ์ตวลสเลง ( Tuol Sleng Genocide Museum ) สถานที่จองจำ , สอบสวน , ทรมาน และบีบคั้นผู้บริสุทธิ์นับหมื่นชีวิต
เมื่อราว ๑๕ ปีก่อน (ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ) ฉันได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยว ณ ประเทศกัมพูชา ประเทศเพื่อนบ้านของไทยเรา การเลือกไปเที่ยวครั้งนี้ ฉันตั้งใจอย่างแรกคือ ไปดู โบราณสถาน ของอาณาจักรแห่งนครวัด จากประวัติศาสตร์ นครธมที่ยิ่งใหญ่ และเป็นการพิสูจน์ด้วยตาเนื้อของตนเองว่า ที่ มิสเตอร์ Arnold Joseph Toynbee นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีชาวอังกฤษ ได้เคยกล่าวเอาไว้ หลังจากที่ได้ไปเยือน และเห็นความยิ่งใหญ่และสิ่งมหัศจรรย์ของที่นี่ว่า “See Angkor and Die” นั้นจริงแท้แค่ไหน แน่นอนว่า ฉันได้พิสูจน์ด้วยตาเนื้อและสัมผัสกับความมหัศจรรย์ของนคราโบราณแห่งนี้ และเห็นด้วยกับสิ่งที่ Toynbee ได้บอกเอาไว้ นคราแห่งนี้สมกับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่างแท้จริง
แต่นอกเหนือจากนคราอันยิ่งใหญ่ ยังมีอีกสถานที่แห่งหนึ่ง ที่วันนี้ฉันอยากแนะนำและบอกเล่าให้ผู้อ่านได้รู้จัก ทำความเข้าใจ เห็นใจ และรับรู้ในชะตากรรมของ ประชาชนชาวกัมพูชา ในช่วง เขมรแดงเรืองอำนาจ สถานที่แห่งนี้ คือ พิพิธภัณฑ์ตวลสเลง หรือ คุกตวลสเลง เป็นพิพิธภัณฑ์ ที่ไม่ว่า ใครก็ตาม ได้เข้าไปเยือนแล้ว เมื่อเดินกลับออกมา ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่จะมีรอยยิ้มบนใบหน้า เฉกเช่นไปเยือนพิพิธภัณฑ์อื่นๆ
Tuol Sleng Security Office 21
ในการรับรู้ของฉัน จากการอ่านประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของโลกนี้ นอกเหนือจากที่เราจะรู้จักถึงความโหดร้ายของการ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคของนาซี แล้ว ความจริงนั้น เราไม่ต้องมองไปไกลถึงประวัติศาสตร์ของซีกโลกตะวันตกเลย ใกล้กันเพียงแค่ชายแดนขวางกั้น เราก็สามารถที่จะไปเรียนรู้ถึงความโหดร้าย ไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์
ณ ที่นี่ “พิพิธภัณฑ์ตวลสเลง” ๑ ในสถานที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนชาติเดียวกัน !!!
ตวลสเลง หรือ S-21เดิมทีเป็นโรงเรียนแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า Tuol Svay Pray
ลักษณะอาคารเมื่อแรกเห็น ก็สามารถรับรู้ได้ทันทีว่า นี่คือโรงเรียน ภายในโรงเรียนแห่งนี้มีอาคารทั้งหมด ๔ หลัง และอาคารทุกหลัง ถูกใช้เป็น สถานที่ทรมานและจองจำผู้เห็นต่าง สถานะความเป็นสถานศึกษาของโรงเรียนแห่งนี้หมดสิ้นไปตั้งแต่ปี ๑๙๗๕ เป็นต้นมา จากสถานศึกษาของเด็กๆ ได้เปลี่ยนรูปแบบไปอย่างสิ้นเชิงอย่างไม่มีวันหวนคืนอีก
การไปเยือน พิพิธภัณฑ์ตวลสเลง ในครั้งนี้ ไกด์ท้องถิ่น ซึ่งปกติจะพาฉัน นำชมและบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาทุกที่ ยกเว้นที่พิพิธภัณฑ์ตวลสเลง หรือ คุก S-21 แห่งนี้ ที่ไกด์ถึงกับขอร้องว่า “เขาจะไม่สามารถพาฉันเข้าไปชมและอธิบายเรื่องราวต่างๆได้ ด้วยเหตุผล เรื่องความรู้สึก สลด หดหู่ทุกครั้ง ที่ต้องบรรยายเรื่องนี้ ให้นักท่องเที่ยวฟังในอดีต จนไม่สามารถที่จะเก็บความสลดไว้อย่างเงียบๆ ได้อีก ฉันพอจะเข้าใจและยอมรับเหตุผลของความรู้สึกนี้ได้ เพราะก็พอจะรับรู้มาบ้างว่า สิ่งที่ปรากฎอยู่ในคุก S-21 ที่ฉันกำลังจะได้พบเห็นและเคยอ่านเรื่องราวนับจากวินาทีที่ก้าวเข้าไป จะเป็นเช่นไร ….
นับจากก้าวแรกของการเข้ามาในพื้นที่ของ พิพิธภัณฑ์ตวลสเลง ภาพแรกที่ปรากฎให้เห็นคือ แนวลวดหนามที่พาดอยู่ตามอาคารเรียนทุกอาคาร จนชวนให้นึกไปถึงว่า แม้แต่หนูตัวเล็กๆ สักตัวก็คงไม่สามารถที่จะฝ่าดงหนามที่กางตลอดทั่วอาคารได้ นับประสาอะไรกับคนที่ถูกจองจำอยู่ข้างใน คงไม่มีทางและไม่มีวันจะหนีไปไหนได้แน่นอน
กฎเหล็ก ๑๐ ข้อ
ก่อนเข้าสู่ตัวอาคารเรียนนั้น ด้านหน้ามี กฎเหล็กอยู่ ๑๐ ข้อ ที่ทุกคนต้องอ่าน ไม่มีใครที่เดินผ่านกฎเหล็กทั้ง ๑๐ ข้อนี้ไปได้ กฎระเบียบที่ว่านี้เป็นกฎข้อบังคับที่ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ซึ่งถูกจับมาทรมานในปี ๑๙๗๖ ซึ่งมีชาวเขมร พลเมืองของประเทศเป็นส่วนใหญ่ และยังรวมถึงคนชาติอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง จะต้องทำตาม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ลองมาดูกันค่ะว่า กฎเหล็กที่ว่ามีอะไรบ้าง
กฎระเบียบข้อบังคับ S-21 ทั้ง ๑๐ ข้อ (The Security of Regulation)
ข้อที่ ๑ คุณต้องตอบคำถามทุกๆคำถาม ห้ามปฏิเสธ
ข้อที่ ๒ ห้ามโกหก หรือปิดบังข้อเท็จจริง และห้ามโต้เถียง
ข้อที่ ๓ อย่าทำตัวโง่ เพราะเท่ากับว่าคุณพยายามที่จะต่อต้านพวกเรา
ข้อที่ ๔ คุณต้องตอบคำถามทันทีเมื่อถูกถาม อย่าเสียเวลาคิดหาคำตอบ
ข้อที่ ๕ ห้ามแสดงความคิดเห็นที่ทำให้เกิดการต่อต้านใดๆ
ข้อที่ ๖ ระหว่างถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยน หรือช้อตด้วยไฟฟ้า ห้ามร้องไห้โดยเด็ดขาด
ข้อที่ ๗ ถ้าไม่มีคำสั่งใด ให้นั่งเงียบๆ รอจนกว่าจะมีคำสั่ง และเมื่อมีคำสั่งต้องทำทันทีโดยไม่มีข้อสงสัย และข้อโต้แย้ง
ข้อที่ ๘ อย่าพยายามปกปิด หรือเสแสร้ง เพื่อซ่อนความรู้สึกในการต่อต้านพวกเรา
ข้อที่ ๙ หากปฏิเสธที่จะทำตามระเบียบทุกข้อที่กำหนดไว้ จะถูกช็อตด้วยไฟฟ้า
ข้อที่ ๑๐ ถ้าไม่เชื่อฟัง หรือฝ่าฝืนข้อใดข้อหนึ่ง จะถูกเฆี่ยน ๑๐ ครั้ง หรือถูกช็อตด้วยไฟฟ้า ๕ ครั้ง
กฎทั้ง ๑๐ ข้อ เปรียบเสมือน ระเบียบที่ต้องปฎิบัติ เพื่อเตรียมตัวที่จะจบชีวิต มากกว่าจะมีความหวังว่าจะรอด หากทำตาม … กฎที่กำหนดไว้ เพียงแค่ ๑๐ ข้อที่ฉันอ่านจบ ก็รู้สึกได้ทันทีว่า เหยื่อผู้บริสุทธิ์ ที่ถูกนำมาจองจำและทรมาน ที่นี่ นอกจากพวกเขาจะต้องเจ็บปวดจากการทรมานทางร่างกายแล้ว ในทางด้านของจิตใจนั้นสาหัสเกินเยียวยากว่ายิ่งนัก ความเจ็บปวดทางจิตใจที่พวกเขามี มันไม่สามารถจะอธิบายความรู้สึกของฉันได้เลย นอกเสียจากจะชมพิพิธภัณฑ์ไปและแผ่เมตตาให้พวกเขาในฐานะเพื่อนร่วมโลกเท่านั้น
ก่อนที่เราจะเข้าไปในตัวอาคาร เพื่อดูสัจธรรมของชีวิตในคุกแห่งนี้ด้วยตาเนื้อตนเอง ใกล้ๆกับกฎข้อบังคับทั้งสิบ จะมีคานไม้ความสูงราว ๓ เมตร และตะขอที่เกี่ยวอยู่ประมาณ ๓ ตัว ฉันได้ยินไกด์ของกรุ๊ปทัวร์หนึ่งบอกว่า นั่นคือ ที่แขวนคอสำหรับผู้ที่ละเมิดกฎ รวมถึงผู้ที่ต้องการจะหลบหนี เพียงแค่บริเวณภายนอก ก็ชวนให้หดหู่และน่าสังเวชใจยิ่งนัก ฉันต้องตั้งสติและเตรียมใจอยู่ครู่หนึ่งก่อนที่จะเข้าไปดูความจริงอันแสนโหดร้ายภายในพื้นที่จองจำ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าอดีตของสถานที่แห่งนี้คือสถานศึกษา
พิพิธภัณฑ์ตวลเสลง ประกอบ ไปด้วยอาคารทั้งหมด ๔ อาคาร แต่ฉันขอสารภาพว่าจำไม่ได้เลยว่าอาคารใดจัดแสดงอะไรบ้าง จำได้แต่เพียงว่า ทุกอาคารที่ชมมีแต่ความทุกข์ที่สามารถสัมผัสได้ทั้งสิ้น สำหรับอาคารแรกที่ฉันเข้าไป เป็นพื้นที่คุมขัง ซึ่งก็คือห้องเรียน ที่มีโต๊ะที่นั่งสำหรับนักเรียน ประมาร ๓๐-๔๐ คน แต่ภายในห้องมีแต่ความว่างเปล่า ดูเก่า ทรุดโทรม และมีเพียงเตียงเหล็ก ๑ เตียง หมอน ๑ ใบ โซ่ตรวน ๑ เส้นที่ล็อคไว้กับเตียง เสื่อเก่าๆ ชแลงเหล็กขึ้นสนิมเขรอะ ๑ ด้าม และกล่องเหล็กสำหรับใส่อุจจาระ/ปัสสาวะอีก ๑ ใบ เพราะคุกคุมขังทุกห้องไม่มีห้องน้ำ ทั้งหมด คือ สิ่งที่ยังติดตาฉันอยู่จนถึงทุกวันนี้
เตียงเหล็กที่ฉันเห็น คือ เหล็กที่ถูกสนิมกัดกร่อน ไม่มีแม้แต่ร่องรอยของผ้า เศษผ้าปู หรือฟูกใดๆ เหยื่อที่ถูกจับมาขังและทรมานในห้องนี้ ล้วนเป็นนักโทษชั้นเลว ระดับนักโทษคนสำคัญที่ทางเขมรแดงได้หมายหัวเอาไว้ ไม่ว่าเหยื่อรายนี้จะทำจริงหรือไม่ก็ตาม แต่พวกเขาไม่มีสิทธิปฏิเสธกับสิ่งที่ทางการได้ยัดเยียดไว้ให้ เพราะหากเพียงแค่คิดว่าจะปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆ พวกเขาก็ทำผิดกฎข้อที่ ๑ แล้ว
ในส่วนของหมอน ก็เป็นเพียงหมอนบางๆ เก่าแก่ใบหนึ่ง บางห้องไม่มีแม้แต่หมอน บางห้องมีภาพของเหยื่อที่ถูกทรมานติดอยู่ข้างฝาผนัง บางห้องมีภาพของเหยื่อที่ถูกทรมานจนตาย นอนเดียวดายท่ามกลางเลือดที่ท่วมกายและพื้น บางห้องยังปรากฎคราบเลือดของเหยื่อที่ถูกทรมานอยู่บนพื้นบ้าง บนฝาผนังบ้าง หรือแม้แต่บนเพดาน ก็มีให้เห็นเป็นหยดเลือดที่แห้งซึมไปกับฝ้าเพดานแล้ว
มันเป็นภาพที่ติดตาและติดตรึงอยู่ในความรู้สึกจนฉันพูดไม่ออก บรรยายไม่ถูก ไม่รู้ว่าเหยื่อเหล่านี้ทนกับความเจ็บปวดอยู่นานแค่ไหน ถึงจะได้ตายอย่างสมใจ มีเหยื่อจำนวนมากที่ไม่สามารถทนกับความทรมานของการคุมขังที่นี่ได้ พยายามที่จะฆ่าตัวตายเพื่อให้รอดพ้นจากความเจ็บปวดทรมานใจ แต่ก็ยังไม่สามารถกระทำได้ เพราะชีวิตของเหยื่อเหล่านี้ถูกกำหนดไว้แล้วว่าจะให้ตายวันใด
นอกจากห้องขังเดี่ยวแล้ว ยังมีห้องขังรวม ซึ่งก็คือห้องเรียนขนาดเดียวกัน เพียงแต่นอนอยู่กันร่วม ๓๐-๔๐ คน แออัดกันทุกตารางนิ้วภายในห้อง มีโซ่ตรวนขนาดใหญ่ที่ล็อครวมกัน เหยื่อแต่ละคนแทบจะขยับตัวไม่ค่อยได้ และประเภทห้องขังอีกแบบ คือ ขังเดี่ยว แต่เป็นห้องที่ถูกซอยจนถี่ ๑ ห้อง ต่อเหยื่อ ๑ ราย ขนาดความกว้างยาวเพียงแค่คนหนึ่งคนนอนลงไป ตะแคงซ้ายหรือตะแคงขวาได้เพียงเล็กน้อย ก็แทบจะติดผนังแล้ว ดูแล้วแทบไม่มีพื้นที่แม้แต่จะหายใจ
ห้องขังทุกห้องในคุกแห่งนี้จะแบ่งเด็ก ผู้ใหญ่หญิง/ชาย ออกจากกัน โดยห้องขังชายจะอยู่ชั้นล่าง และห้องขังหญิงจะอยู่ชั้น ๒ ส่วนของเด็กจะอยู่รวมกันอีกอาคารหนึ่ง
จากคำบอกเล่า เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอด ในพิพิธภัณฑ์ตวลสเลง เหยื่อที่ถูกจับทั้งหมด เมื่อถูกนำมาที่นี่ จะถูกบันทึกภาพ และให้หมายเลขกำกับไว้ทุกคน ไม่เว้นแม้แต่เด็ก หากเหยื่อรายใดดูลักษณะ ”คล้าย” เป็นปัญญาชน ไม่ว่าเขาจะเป็นจริงๆหรือไม่ก็ตาม กล่าวคือ ยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ เช่น เพียงแค่สวมแว่นตา เท่านั้น ก็สามารถดูเป็นผู้มีความรู้ เหยื่อรายดังกล่าวก็จะถูกหมายหัวเอาไว้แล้ว ว่าเป็น ผู้ก่อการ หรือ อาจจะมีส่วนที่จะเป็นภัยกับทางการได้
อาหารการกินในคุกแห่งนี้ มีเพียงข้าวที่ไม่มีกับข้าว เพียง ๓ ช้อนชาต่อวัน เท่านั้น น้ำดื่มไม่มี การชำระล้างทำความสะอาดร่างกาย ทำได้เพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และแต่ละครั้ง จะให้เวลา ชำระล้างร่างกายได้เพียงไม่ถึง ๑ นาที การชำระล้างร่างกายที่ว่าหรือการอาบน้ำนี้ จะมีผู้คุมขังนำสายยางขนาดใหญ่ เหมือนสายฉีดดับเพลิงมาฉีดใส่เหยื่อที่นั่งรอล้างตัวทำความสะอาดอยู่ในห้องราว ๕๐-๖๐ คน
คงไม่ต้องจินตนาการต่อว่า ความสะอาดนั้นหาได้หรือไม่ …ที่คุมขังแห่งนี้จึงเป็นเสมือนแหล่งเพาะเชื้อโรคไปในตัว
ฉันเดินออกจากในส่วนของอาคารห้องขัง เพื่อไปสู่อีกอาคารหนึ่ง ที่เป็นสถานที่ทรมานอีกแห่ง ซึ่งรู้สึก อเนจอนาถไม่แพ้กัน อยากยกตัวอย่างการทรมานเพื่อบีบคั้นให้เหยื่อสารภาพ ไม่ว่าเหยื่อรายนั้นจะมีส่วนรู้เห็นหรือไม่รู้เห็นใดๆ ก็ตาม แต่คำตอบที่เหยื่อต้องตอบ จะต้องเป็นไปในทิศทางของคำตอบที่ผู้คุมขังต้องการ
ภาพจำลอง รวมถึง สถานที่ทรมานของจริงที่ฉันได้เห็น
…. เช่น การจับเหยื่อกด/ถ่วงลงไปในน้ำด้วยการมัดตรงข้อเท้าแล้วปล่อยหัวลงน้ำ การใช้แมงป่อง ตะขาบ สัตว์มีพิษกัด เพื่อให้เหยื่อได้รับความทรมานจนต้องสารภาพ การใช้เครื่องช็อตไฟฟ้า การเฆี่ยนตีด้วยด้ามไม้/ เหล็ก การถอดเล็บ/ ตอกเล็บ ซึ่งมันเป็นโทษประหารหนึ่งของไทยในสมัยโบราณผ่านมาหลายร้อยปีแล้ว แต่กลับได้มาเห็นร่องรอยของการทรมานด้วยวิธีนี้ ณ คุกตวลสเลง ทั้งๆที่เหตุการณ์เพิ่งผ่านมาเพียงราว ๔๕ ปี เท่านั้น
ส่งท้ายบทความ คุกตวลสเลง S-21 ประตูสู่ความหลุดพ้น ตอนที่ ๑
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คุณผู้อ่าน พอจะจินตนาการถึงชีวิตของเหยื่อก่อนจะหลุดพ้นถึงความเจ็บปวดจากการทรมานกันได้หรือไม่คะ? สิ่งที่เราสัมผัสผ่านตาเนื้อของเรา เทียบกับความทุกข์ทรมานใจของเหยื่อเหล่านี้ไม่ได้เลยแม้แต่น้อยนิด ยิ่งถ้าได้ไปสัมผัสกับสถานที่จริงอย่างที่ฉันได้ไปเยือนมา ฉันยังยืนยันเสียงเดิมอย่างหนักแน่นว่า อาการของคนที่พูดไม่ออก แต่มันจุกอยู่ในลำคอหลังการชมพิพิธภัณฑ์ตวลสเลง หรือ S-21 มันเป็นเช่นใด
เพราะเพียงแค่การรับรู้ว่า ผู้เคราะห์ร้ายปรารถนาที่จะกำจัดชีวิตตนเองเพื่อให้หลุดพ้นจากการบีบบังคับและทรมาน … พวกเขายังไม่มีสิทธิที่จะได้เลือกทำเลย
ในตอนต่อไป…..
จะขอเล่าถึงเรื่องราวของผู้รอดชีวิตจากคุกแห่งนี้ ซึ่งมีทั้งผู้เคราะห์ร้าย รวมถึงอดีตผู้คุมขังบางท่านที่บอกเล่าประสบการณ์ของนรกบนดินให้ได้เห็นภาพความโหดร้าย และอีกอาคารที่จะทำให้เราได้เห็นและทำความรู้จักกับเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายซึ่งจากไปไม่มีวันกลับ…. ติดตามตอนหน้าค่ะ
แนะนำหนังสือ ที่เกี่ยวกับ ตวลสเลง S-21 และทุ่งสังหาร
รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับ อาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
หนังสือ เกี่ยวกับ เขมร ทั้งหมด คลิ๊ก
หนังสือ ประวัติศาสตร์เลือด เขมรล้านศพ
หนังสือ : เพชฌฆาตแห่งตวลสเล็ง
เรื่องราวการสังหารหมู่ของเขมรแดง
The Lost Executioner
A Story of the Khmer Rouge
The Khmer Rouge’s Genocidal
Reign in Cambodia
(Bearing Witness: Genocide and
Ethnic Cleansing in the Modern World)
Man or Monster? :
The Trial of a Khmer Rouge Torturer