จาก ตวลสเลง S-21 ถึง เจิงเอก Choeung Ek หรือ ทุ่งสังหาร
ตวลสเลง คือ พิพิธภัณฑ์คุก สถานที่ท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยน้อยมากที่จะไปเยือน อาจเป็นเพราะ สถานที่แห่งนี้มันไม่มีอะไรน่าโสภา หรือน่าจดจำ แต่อีกด้านหนึ่ง การได้ไปชม พิพิธภัณฑ์คุก แห่งนี้ ก็ทำให้เราเห็นถึงสัจธรรมของชีวิต และเข้าใจอย่างแจ่มชัดว่า สงครามไม่เคยปราณีใคร เช่นที่เคยเล่าถึงเหยื่อบริสุทธิ์ที่ถูกกระทำ ณ ทุ่งสังหาร อย่างทารุณในตอนที่แล้ว
หากย้อนกลับไป ในช่วงเดือนเมษายน ปีพุทธศักราช ๒๕๑๘ ชาวกัมพูชาหลายคนย่อมคิดไม่ถึงว่า ตนเองและครอบครัวจะต้อง ประสบชะตากรรมที่แสนโหดร้ายภายในไม่กี่ชั่วโมง นับจากที่ผู้นำเขมรแดง พลเอกชาลต ซอร์ หรือที่เรารู้จักกันดีในนามของ พลเอก พล พต นักปฏิวัติชาวกัมพูชาและยังเป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาประชาธิปไตยในช่วงปีพุทธศักราช ๒๕๑๙ – ๒๕๒๒ ได้ทำการปฏิวัติและโค่นล้มอำนาจของจอมพลลอนนอล ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ๒ สมัยและยังเป็นผู้ที่ก่อรัฐประหารล้มอำนาจของรัฐบาลเจ้านโรดม สีหนุ จนตั้งตนเองเป็นประธานาธิบดีสาธารณรัฐเขมร
หลังจากที่ นายพล พล พต ได้รับอำนาจในวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๘ สิ่งแรกที่รัฐบาลของพลเอก พล พต ทำคือ การกวาดต้อนประชาชนชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในกรุงพนมเปญออกไปสู่ชนบท ท่ามกลางความยินดีปรีดาของประชาชนชาวกัมพูชาที่คิดว่า การปฏิวัติของผู้นำเขมรแดงในครั้งนี้ จะทำให้ชีวิตดีขึ้น !!!?? มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทุกคนต่างได้รับความเท่าเทียมกัน ต่างคนต่างส่งเสียงยินดี โห่ร้องอย่างมีความสุขไปทั้งเมือง แต่หารู้ไม่ว่าภายใน ๓ ชั่วโมงนับจากนั้น ภาพของนรกก็มาเยือนทุกคนอย่างที่ไม่ทันได้ตั้งตัว !!!!
ประชาชนชาวเขมร ที่อาศัยอยู่ในกรุงพนมเปญนับล้านคน ถูกกวาดต้อนให้เร่งเดินทางจากเมืองหลวงออกสู่ชนบท ด้วยการหลอกลวงพวกเขาว่า จะมีการทิ้งระเบิดจากสหรัฐอเมริกา จึงไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใดประชาชนชาวกัมพูชาถึงได้ยอมเดินทางออกจากเมืองโดยง่ายดาย การเดินทางออกสู่ชนบทในครั้งนี้ จึงเป็นการเดินทางสู่ประตูนรกอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะนอกจากจะต้องถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงาน ทำเกษตรกรรมตลอดทั้งวัน โดยไม่ได้หยุดพักแล้วนั้น พวกเขาแทบไม่ได้รับอาหารกินเลย จะมีก็เพียงน้ำข้าวต้ม ๒ ชามต่อวัน ซึ่งเป็นอาหารที่ดีที่สุดที่ชาวเขมรซึ่งถูกกวาดต้อนกลุ่มใหญ่นี้จะได้รับ
เหยื่อผู้บริสุทธิ์ Mr.Chum Mei ในวัย ๔๕ ปี ณ เวลานั้น ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจาก S-21 มาได้อย่างปาฎิหารย์ ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์อันแสนโหดร้าย ในวันที่กรุงพนมเปญแตก เขากล่าวว่าภาพที่เห็นในเมืองนั้นมีแต่บรรยากาศของความวุ่นวาย มีรถถังของกองทัพหลายคัน วิ่งเข้ากรุงพนมเปญ และคอยกวาดต้อนผู้คน ใครที่ฝ่าฝืน ไม่ทำตามที่เจ้าหน้าที่รัฐ จะถูกยิงทิ้งทันที หรือไม่ก็จะถูกรถถังเหยียบจนเสียชีวิตคาที่ ภาพการสังหารประชาชน ในเมืองหลวงที่เกิดขึ้น เขาไม่มีวันลืม เขาเป็นห่วงบิดาและมารดายิ่งนัก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่คิดว่าท่านทั้งสองก็คงไม่รอดพ้นจากการถูกเกณฑ์ให้ออกจากเมืองในครั้งนี้อย่างแน่นอน โดยตัวของเขา และครอบครัวนั้น เขาตามหา ภรรยาและลูก พบในกรุงพนมเปญ แต่ทั้งหมดก็ถูกจับกุม และภรรยารวมถึงลูกของเขาถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตต่อหน้าเขาทั้งหมด เหลือเพียง Mr.Chum Mei เพียงคนเดียวเท่านั้น
เขาจำภาพเหตุการณ์ได้อย่างไม่มีวันลืม กับสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ถูกจับ และถูกนำตัวมายัง S-21 และเมื่อปัจจุบัน ได้กลับไปยังสถานที่ทรมาน คุกตวลสเลงอีกครั้ง Mr.Chum Mei ถึงกับกลั้นน้ำตาไม่อยู่ ร้องห่มร้องไห้และยังรู้สึกหวาดกลัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา
ปัจจุบัน Mr.Chum Mei เขียนหนังสือเล่มหนึ่งถึงประสบการณ์ที่เขาได้รับ บอกเล่าภาพที่เขาเห็นในคุก S-21 และได้รับการแปลหลายภาษา และจัดจำหน่ายด้วยตัวเขาเองที่พิพิธภัณฑ์ตวลสเลง ในบางครั้งก็เป็นผู้นำทัวร์และบอกเล่าเรื่องราวความทุกข์ทรมานที่เขาได้รับขณะที่ตกเป็นผู้ถูกคุมขังอยู่ที่นี่
ยังมีผู้รอดชีวิตจากคุก S-21 อีก ๒ ท่าน ที่พอจะให้การ
ถึงความโหดร้ายของ คุกตวลสเลง และทุ่งสังหาร คือ
Mr.Vann Nath (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ซึ่งมีความสามารถทางศิลปะ (วาดรูป) Mr.Nath เป็นผู้เดียวที่รอดเงื้อมมือมัจจุราช ท่ามกลางกลุ่มคนที่มีความสามารถทางศิลปะอีกหลายคน และพอจะทำคุณประโยชน์ให้รัฐบาลของพลเอก พล พต ได้
Mr.Nath เล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่ถูกจับกุม ก็ได้รับการซักถามว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่ง Mr.Nath ได้บอกว่า เขาสามารถวาดภาพได้ จึงได้รับการทดสอบด้วยการวาดรูปของ พลเอก พล พต โดยมีข้อแม้เป็นเดิมพันชีวิตว่า หากวาดแล้วไม่ถูกใจท่านนายพล … Mr.Nath จะถูกประหารชีวิตในทันที !!!
เป็นโชคดีของเขาและความสามารถทางศิลปะที่ยอดเยี่ยม เขาจึงเป็นผู้รอดชีวิตอีกคนท่ามกลางศิลปิน นักวาดรูปที่ถูกจับกุมมา
<<< ย้อนกลับไป เมื่อครั้งที่เขาถูกกวาดต้อนและถูกส่งมายัง คุก S-21 เขาเล่าว่าตัวเขาเอง และเพื่อนผู้ประสบเคราะห์กรรมเหมือนเขา จะถูกมัดมือไพล่หลัง ถูกปิดตา และมีโซ่ตรวนที่คล้องข้อเท้าเอาไว้ ความทุกข์ทรมานที่ได้รับนอกเหนือจากการถูกทุบตี ช็อตไฟฟ้า และทรมานด้วยวิธีต่างๆ แล้ว ยังต้องทรมานจากความหิวโหยจนแม้กระทั่งต้องจับแมลงเม่า แมลงสาบ จิ้งจกที่อยู่ในคุกกินประทังชีวิต
เช่นเดียวกับชะตาชีวิตของผู้รอดชีวิตอีกท่าน คือ Mr.Bou Meng ศิลปินผู้วาดรูปอีกท่าน ที่หลายคนคิดว่าเขาได้ตายไปแล้วเช่นกัน
ผลงานภาพวาดของการทรมานเหยื่อใน พิพิธภัณฑ์ตวลสเลง S-21 และทุ่งสังหาร จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ Mr.Bou Meng ได้ร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราว ร่วมกับ Mr.Nath ผ่านภาพวาด ทำให้ผู้เข้าชมได้เห็นภาพอันแสนโหดร้ายได้อย่างชัดเจน
ผู้ประสบเคราะห์กรรม ทุกคน จะถูกตั้งคำถามหนึ่งซึ่งเป็นคำถามหลัก ของการสอบสวน นั่นคือ “ เป็นสายให้กับ CIA/ KGB หรือ ฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ ? ” !!!
….. แน่นอนว่า ผู้ถูกจับกุมจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ แม้ว่าจะไม่ได้รู้จักเลยว่า CIA / KGB คืออะไร แต่ในที่สุดก็จะต้องยอมสารภาพว่าเป็นสายลับอยู่ดี เพราะไม่สามารถทนความเจ็บปวดจากการทรมานได้เลย เหยื่อบางคนไม่มีความรู้แม้แต่การอ่านหรือเขียนหนังสือ ก็ถูกบังคับให้ต้องสารภาพ และเซ็นชื่อในหนังสือรับคำสารภาพ และหากเขียนหนังสือไม่เป็น ผู้คุมขังจะทำหน้าที่เขียนคำสารภาพให้เองทั้งหมด โดยที่เหยื่อเหล่านี้ไม่รู้หนังสือด้วยซ้ำ
หลังจากเขมรแดงพ่ายแพ้ ต่อเวียดนาม ไปแล้วนั้น …. คุก S-21 จึงถูกทิ้งร้าง ไปพร้อมๆกับศพของเหยื่อที่ถูกทรมานให้ตายอย่างเดียวดายอยู่ในคุกเป็นจำนวนมาก หลักฐานทั้งภาพฟิล์มและภาพถ่ายที่เก็บบันทึกเอาไว้ ได้มาจากการยึดของกองกำลังเวียดนาม จนกลายเป็นหลักฐานให้คนทั้งโลกได้เห็นถึงความเหี้ยมโหดของ รัฐบาลเขมรแดง ภายใต้การนำของพลเอก พล พต และไม่มีใครรู้ได้ถึงความโหดร้ายไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ที่เขาเป็น ต่างคนต่างตั้งคำถามว่า เหตุอันใดเขาถึงได้เป็นอดีตผู้นำที่โหดเหี้ยมเช่นนั้น
Mr.Him Huy อดีตเจ้าหน้าที่รัฐ ในยุคเขมรแดง ซึ่งประจำอยู่ที่คุก S-21 ได้ให้สัมภาษณ์ในภายหลังถึงการทำงานอยู่ใน S-21 ว่าผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ที่นี่ ในที่สุดจะถูกนำตัวไปยัง Choeung Ek (อ่านว่า เจิงเอก ) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ทุ่งสังหาร ( Killing Fields ) และในการนำเหยื่อผู้บริสุทธิ์ไปจบชีวีตที่ทุ่งสังหาร ในทุกค่ำคืนจะมีการนำรถบรรทุกเข้ามาในพื้นที่ของคุก S-21 เพื่อทยอยนำผู้ถูกคุมขังไปยังทุ่งสังหาร ด้วยการให้เหตุผลว่า “เปลี่ยนสถานที่จองจำ” เพื่อไม่ให้เกิดการต่อต้านและหลบหนีของผู้ถูกคุมขัง โดยทุ่งสังหารอยู่ห่างจาก S-21 เพียง ๑๕ กิโลเมตร เท่านั้น
Mr.Him Huy ให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่ได้เป็นผู้ประหาร แต่เป็นผู้นำพาเหยื่อเหล่านี้ไปยังทุ่งสังหาร แต่หากมีผู้บัญชาการพื้นที่สั่งให้เขาทำ เขาก็ต้องทำ ทั้งๆที่ไม่อยากทำ แต่หากเขาปฏิเสธที่จะประหารคนเหล่านี้ “เขา” ก็จะกลายเป็นเหยื่อประหารเสียเอง
Choeung Ek หรือ ทุ่งสังหาร
หากดูเพียงผิวเผิน ก็คล้ายกับพื้นที่เกษตรกรรมทั่วไป ที่มีทั้งหนองน้ำ บึง ทุ่งหญ้าฯลฯ แต่ภายใต้ภาพลักษณ์ที่เห็น ลึกลงไปใต้ดิน คือ หลุมฝังศพขนาดใหญ่ หลุมที่ว่า คือ พื้นที่สุดท้ายของบรรดาเหยื่อจาก S-21 ที่ต้องมาจบชีวิตที่นี่ โดยบางคนไม่มีโอกาสที่จะร้องขอชีวิตแม้แต่เปล่งเสียง ไม่ว่าจะเด็กเล็ก ทารก ผู้ใหญ่ หรือวัยชรา ทุกคนจะได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน คือ ความตายที่ไม่แบ่งแยกชนชั้น ความตายที่ผู้ประหารเป็นผู้กำหนดวิธีตายให้กับพวกเขา
อดีตเจ้าหน้าที่ประจำคุก S-21 ยังเล่าต่ออีกว่า การนำผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้มาสังหาร วิธีการสังหาร จะไม่ใช้กระสุน เพราะเป็นการสิ้นเปลืองและหาได้ยากในเวลานั้น วิธีการสังหารที่ประหยัดที่สุด คือ การใช้ไม้ทุบตีจนตาย หรือไม่ก็ใช้มีดในการสังหาร จึงไม่แปลกใจหากจะพบว่าในหลุมขนาดใหญ่ซึ่งคาดว่ามีศพหรือโครงกระดูกถูกฝังอยู่ที่นี่เกือบ ๙,๐๐๐ ศพ แต่ทางการได้ขุดศพหรือโครงกระดูกมาได้ ๔๕๐ ศพ เพื่อจัดแสดงเป็นอนุสรณ์สถานให้ทุกคนได้เรียนรู้และตระหนักถึงความโหดร้ายของภัยสงครามในประเทศ และพบว่าส่วนหนึ่งของ ๔๕๐ ศพที่ขุดพบนั้น จะมี ๑๖๖ ศพ ที่พบว่า “ไร้ศีรษะ”
นอกจากหลุมศพขนาดใหญ่ ยังมีพื้นที่ซึ่งจัดเก็บเสื้อผ้า รวมถึงโครงกระดูกบางส่วนของเหยื่อสังหารไว้ เห็นแล้วก็ได้แต่สลดใจ เพราะนอกจากเสื้อผ้าผู้ใหญ่แล้ว เสื้อผ้าเด็กเล็กก็มีให้เห็น ตอกย้ำถึงความโหดเหี้ยมที่ยากจะพรรณนาให้เห็นภาพจริงๆ
Killing Tree
สำหรับการสังหารเด็กและทารก มักจะกระทำในยามค่ำคืนโดยมีเสียงเพลงที่เปิดเพื่อกลบเกลื่อนเสียงร้องอันทรมานและเจ็บปวดของบรรดาเด็กๆ ผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้ การสังหารเด็กจะกระทำด้วยการทุบตี หรือจับเด็กฟาดกับต้นไม้ขนาดใหญ่จนเสียชีวิต ซึ่งทุกวันนี้ต้นไม้ต้นนี้ยังอยู่เพื่อให้เป็นอุทาหรณ์ของผลพวงจากสงครามฆ่าล้างคนในชาติเดียวกัน ต้นไม้นี้จึงถูกขนานนามว่า Killing Tree
Choeung Ek ถูกค้นพบหลังจากเขมรแดงล่มสลาย และคาดว่านอกจากในพื้นที่ทุ่งสังหารแห่งนี้แล้ว ยังมีในอีกหลายพื้นที่ที่ชาวกัมพูชา ยุคเขมรแดงเรืองอำนาจเป็นเวลา ๔ ปี ถูกฆ่าและฝังอีกนับล้านชีวิต
เรื่องราวของทุ่งสังหาร ยิ่งเมื่อได้เข้าไปในพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุ ก็ยิ่งชวนให้สลดใจ เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าตลอดการเดินเข้าไปในเขตสังหาร ใต้ผืนดินที่เราเดินอยู่จะมีศพของเหยื่อที่ถูกฆ่าฝังอยู่หรือไม่ ทั้งทุ่งสังหาร และ S-21 จึงเสมือนนรกบนดินที่มนุษย์อย่างเราสัมผัสได้อย่างแท้จริง และมัจจุราชผู้บัญชาการสถานที่คุมขังและทรมานเหยื่อผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ เพิ่งจะเสียชีวิตไปเมื่อเดือนกันยายน ปีที่ผ่านมา ในวัย ๗๗ ปี
สหายดุจ คือ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนชาติเดียวกัน !!!
นายคัง เค็ก เอียว (Kang Kek Lew) สหายดุจ คือ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนชาติเดียวกัน ผู้เนรมิตนรกบนดินที่ทำให้คนทั้งโลกต้องตระหนกตกใจไปกับวิธีการทรมานอันแสนจะโหดเหี้ยม
นายคัง เป็นคนที่ฝักใฝ่ในการเมืองมาตั้งแต่เด็ก เป็นคนเรียนดี แต่มีลักษณะนิสัยที่เก็บกด จริงจังกับชีวิต เขาเคยถูกจองจำอยู่ในคุกด้วยข้อหาฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ และถูกปล่อยตัวเมื่อครั้งจอมพลลอนนอล ประกาศนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง หลังจากที่นายคังถูกปล่อยตัว เขาจึงได้ไปร่วมกับกองทัพเขมรแดง และเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า ดุจ (Comrage Duch)
ดุจ หรือ สหายดุจ ที่กองทัพเขมรแดงเรียก เขาได้รับโอกาสให้มีตำแหน่งหน้าที่เป็นผู้คุม/ ผู้บัญชาการ S-21 อีกทั้งได้รับความไว้วางใจพลเอก พล พต ให้เป็นผู้คุม S-21 ตลอดระยะเวลา ๔ ปี ตั้งแต่ปี ๑๙๗๕-๑๙๗๙ มีเหยื่อผู้บริสุทธิ์นับหมื่นชีวิตที่ถูกดุจกำจัดทิ้งและในปี ๑๙๗๙ นับเป็นปีแห่งการสิ้นสุดของกองทัพเขมรแดง ปิดฉากความเลวร้ายและโหดเหี้ยมที่สุดของประวัติศาสตร์การเมืองกัมพูชา บรรดาอาชญากรสงครามได้ถูกจับกุม และดุจเป็น ๑ ในนั้น
ในปี ๒๐๐๗ สหายดุจ ได้ถูกนำตัวไปขึ้นศาลกัมพูชา ข้อหา “อาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สังหารชาวเขมรนับหมื่นคน การข่าวบอกว่าระหว่างที่เขาให้ปากคำกับศาล เขาได้แต่ร่ำไห้และเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผลกรรมที่ทำไว้ แม้ใครอาจจะไม่ทันได้เห็น เพราะสหายดุจ สุดท้ายก็ใช้กรรมในคุกอยู่ไม่กี่ปีและได้จากโลกนี้ไปในเดือนกันยายน ปี ๒๐๒๐ ที่ผ่านมา
ตามติด ผู้นำเขมรแดง อย่างพลเอก พล พต ใน ๒๒ ปีให้หลัง …
ไม่ว่าใครจะบอกว่าเขาทั้ง ๒ ได้รับผลกรรม ไม่สาสมอย่างที่ได้กระทำไว้ กับชาวกัมพูชาผู้บริสุทธิ์นับล้านชีวิต …. แต่เรื่องของกรรม เราไม่มีสิทธิจะรู้ได้ว่าชีวิตหลังความตายสำหรับผู้กระทำความชั่วนั้นเป็นเช่นใด แต่สิ่งที่เราสามารถรับรู้ได้ คือ ความเลวทรามที่พวกเขาได้กระทำไว้ จะติดอยู่ในใจของผู้ที่ได้รับรู้เรื่องราวนี้ตลอดไป เป็นประวัติศาสตร์อันแสนเจ็บปวดที่ฝังรากลึกลงไปในจิตใจของผู้คนที่ได้รับรู้ความจริงข้อนี้ และยังเป็นตัวอย่างบุคคลอันเลวร้ายของโลกที่ต้องจดจำไปอีกนานเท่านาน
ภาพเหยื่อผู้บริสุทธิ์พร้อมหมายเลขประจำตัวที่ถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ตวลสเลง ( S-21 ) และทุ่งสังหาร คือ เหยื่อของสงครามความขัดแย้ง
ไม่ว่าจะเป็นชนชั้น เพศ วัย สงครามไม่เคยละเว้นเงื่อนไขสถานะทางสังคมแม้แต่น้อย การชม พิพิธภัณฑ์ตวลสเลง จึงไม่ได้ให้เราเห็นและเรียนรู้แค่ภาพความโหดร้ายที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ในทางตรงข้าม เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เช่นเราต้องตระหนักรู้ว่า ภัยสงคราม , ความขัดแย้ง หรือ ความแตกแยกในสังคม คือ ภัยที่เลวร้ายที่สุดที่มนุษย์เป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลายในคราวเดียวกัน
แนะนำหนังสือ ที่เกี่ยวกับ ตวลสเลง S-21 และทุ่งสังหาร
รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับ อาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
หนังสือ เกี่ยวกับ เขมร ทั้งหมด คลิ๊ก
หนังสือ ประวัติศาสตร์เลือด เขมรล้านศพ
หนังสือ : เพชฌฆาตแห่งตวลสเล็ง
เรื่องราวการสังหารหมู่ของเขมรแดง
The Lost Executioner
A Story of the Khmer Rouge
The Khmer Rouge’s Genocidal
Reign in Cambodia
(Bearing Witness: Genocide and
Ethnic Cleansing in the Modern World)
Man or Monster? :
The Trial of a Khmer Rouge Torturer