โลหะธาตุที่ชื่อว่า ทองคำ เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความเป็นอมตะได้อย่างชัดเจน เพราะไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านมานานแค่ไหน จะร้อยปี หรือ พันปี ทองคำก็ยังสุกสกาว สวยงาม เหลืองอร่ามและดูแวววาวอยู่เสมอ
โลหะใดๆในโลกนี้ ก็ไม่มีค่าเท่ากับทองคำ โลหะที่ได้ชื่อว่าเป็นที่ต้องการมากที่สุด มีมูลค่ามากที่สุด และได้รับความนิยมชื่นชอบ มาตลอดตั้งแต่สมัยโบราณจวบจนปัจจุบัน หากกล่าวถึงทองคำ ซึ่งเป็นสมบัติอันล้ำค่า แน่นอนว่าประทเทศไทยของเรา ตั้งแต่อดีตกาลครั้งริเริ่มสร้างอาณาจักรสุวรรณภูมิ ทองคำเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่เรามีกันมาตั้งแต่อดีตกาลแล้ว
ด้วยลักษณะที่โดดเด่นของทองคำนี้เอง จึงทำให้ทุกชาติบนโลกใบนี้ต่างขวนขวายหาทองคำเอาไว้ เพื่อได้แสดงถึงความมั่งคั่งและร่ำรวย นอกจากนี้ยังสามารถสร้างเสริมอำนาจบารมีให้เกิดแก่ผู้ปกครองในชนชาตินั้นๆ อีกด้วย ประเทศไทยของเรา ได้ชื่อว่าเป็น สุวรรณภูมิ ดินแดนแห่งทองคำ ซึ่งก็ไม่ผิดจากความเป็นจริงเลย หากย้อนกลับไปในสมัยประวัติศาสตร์ตั้งแต่สร้างอาณาจักรสุโขทัย จนขยับขยายมาเป็นอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นอาณาจักรที่มีหลักฐานจากคณะราชทูตที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี และ การทำมาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา ยืนยันอย่างชัดเจนว่า กรุงศรีอยุธยานั้นร่ำรวยและมั่งคั่งไปด้วยทองคำมากมายเพียงใด
จากคำบอกเล่าในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ เอกอัครราชฑูตชาวฝรั่งเศสจากราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ซึ่งเดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ในปีพุทธศักราช ๒๒๓๐ ลาลูแบร์ ได้บันทึกไว้ว่าพระพุทธรูป และวัตถุต่างๆ ในกรุงศรีอยุธยานั้นมีมากมายเหลือคณานับ ตามวัดวาอาราม โบสถ์ วิหาร เพดานต่างประดับไปด้วยทองคำ อัญมณี ฯลฯ จนอดสงสัยไม่ได้ว่ากรุงศรีอยุธยานั้นร่ำรวยเพียงใด เป็นแหล่งทองคำสมคำร่ำลืออย่างแท้จริง บันทึกดังกล่าวจึงตอกย้ำให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่า กรุงศรีอยุธยาเป็นอีกอาณาจักรหนึ่งของไทยที่รุ่งเรืองและมั่งคั่งที่สุด เพราะนอกจากหลักฐานการบอกเล่าเรื่องราวของคณะทูตแล้ว ยังมีการขุดพบกรุสมบัติครั้งใหญ่เมื่อต้นปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ ที่ผ่านมา ภายในระยะเวลาเพียง ๕๙ ปี ย้อนกลับไปนั้น สามารถยืนยันในหลักฐานได้ชัดเจนว่า กรุงศรีอยุธยามีความร่ำรวย และรุ่งเรือง อย่างแท้จริง การขุดพบกรุสมบัติจำนวนมากใน วัดราชบูรณะ และ วัดพระมหาธาตุ เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ชัด เพราะข้าวของเครื่องใช้ ทรัพย์สมบัติ ภายในกรุ เป็นทองคำเนื้อดีที่ยังคงงดงามและแวววาว แม้กาลเวลาจะผ่านไปแล้วถึงหลายร้อยปี
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา “ทองคำ” นับเป็นโลหะที่มีกันแทบทุกชนชั้นตั้งแต่ระดับพระมหากษัตริย์ ที่มีทองคำประดับ สื่อให้เห็นถึงพระเกียรติยศอันสูงสุด บุญบารมีแห่งพระมหากษัตริย์ ตลอดจนเหล่าขุนนาง พ่อค้าแม่ค้า ชาวบ้านทั่วไป ต่างก็มีทองคำประดับ ซึ่งอาจจะเป็นแหวน สร้อย หรือแผ่นทองคำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในพระพุทธศาสนา คนในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นมีความเชื่อว่า หากได้ถวายสิ่งของที่มีมูลค่าอย่างเช่นทองคำ ก็จะทำให้ชีวิตนั้นรุ่งเรืองและเป็นสุข นับเป็นศรัทธาในพุทธศาสนิกชนยุคนั้นที่นิยมถวายทองคำแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของการขุดกรุเพื่อเก็บรักษาสมบัติ ก็มีบันทึกไว้ว่า พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ถวายทองคำ ในรูปของงานฝีมือ พระพุทธรูป ทองคำ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยให้บรรจุลงในพระปรางค์ของวัดราชบูรณะ และพระองค์ยังทรงมีวัตถุประสงค์ที่จะบอกเล่าให้รุ่นลูกรุ่นหลานในวันข้างหน้า หากมาขุดพบเจอกรุสมบัติแห่งนี้ เพื่อให้ทราบว่า พุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว และพุทธศาสนาจะยังคงความรุ่งเรืองไปอีก ๕,๐๐๐ ปี
วัดพระมหาธาตุ เป็นวัดที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางไม่แพ้วัดราชบูรณะ สร้างขึ้นในสมัยพระบรมราชาธิราชที่ ๑ หรือ ขุนหลวงพะงั่ว
ข้าวของเครื่องใช้ และทรัพย์สมบัติต่างๆ ที่ขุดพบเจอในวัดราชบูรณะ และวัดพระมหาธาตุ มีทั้งพระพุทธรูปทองคำ เครื่องราชูปโภค เครื่องประดับ อัญมณี พระแสงศาสตราวุธต่างๆ ซึ่งแต่ละชิ้นมีความวิจิตรบรรจง สวยงาม และประณีตเป็นอย่างมาก บ่งบอกให้เห็นถึงความสามารถเชิงช่างแห่งกรุงศรีอยุธยาได้อย่างชัดเจน ว่ามีความช่ำชองในทางศาสตร์และศิลป์เพียงใด ซึ่งใน บทความก่อนหน้า ( คลังสมบัติสมัยพะงั่ว..ร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยา) ได้มีการพูดถึงกรุสมบัติวัดราชบูรณะไปแล้ว มาในเรื่องราวของตอนนี้ จึงขอกล่าวถึงกรุสมบัติอีกแห่งที่มีความสำคัญยิ่งยวดไม่แพ้กันและยังเป็นกรุแรกที่ทางกรมศิลปากรได้ทำการขุดค้น นั่นคือ วัดพระมหาธาตุ วัดหลวงที่มีความสำคัญอีกแห่งของกรุงศรีอยุธยา ที่มีพื้นที่ตั้ง อยู่ข้างๆ กับวัดราชบูรณะ
พระองค์ทรงสร้าง วัดพระมหาธาตุ ขึ้น เพื่อเป็นทั้งหลักเมืองและศูนย์กลางแห่งความศรัทธาในพระพุทธศาสนา การประกอบพิธีกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีหลวง จะกระทำ ณ วัดแห่งนี้ ในการสร้างวัดพระมหาธาตุ จึงสร้างตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนา โดยมีการจำลองพื้นที่วัดมาจากจักรวาลและเขาพระสุเมรุ มีการสร้างองค์พระปรางค์ที่มีขนาดใหญ่โต และมีเจดีย์โดยรอบ โดยมีหลักฐานในบันทึกของราชทูตลังกาที่ได้เคยมาเยี่ยมชมวัดมหาธาตุในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศว่า ที่ฐานของพระปรางค์ มีรูปราชสีห์ หมี หงส์ นกยูง กินนร โค สุนัขป่า กระบือ มังกร เรียงรายอยู่โดยรอบ รูปเหล่านี้อาจหมายถึงสัตว์ในป่าหิมพานต์ที่รายล้อมอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นแกนกลางของจักรวาล องค์พระปรางค์ที่สร้างขึ้น จึงนับได้ว่าจำลองมาจากคติไตรภูมิอย่างชัดเจน ปัจจุบันองค์พระปรางค์ได้ถล่มลงมาเสียแล้ว จึงปรากฎแต่เพียงฐานที่มีขนาดใหญ่โตเท่านั้น
กรุสมบัติที่ขุดค้นพบได้ในบริเวณนี้ นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อพุทธศาสนิกชน เพราะได้มีการขุดพบเจอพระมหาธาตุเจดีย์ ซึ่งอยู่ในความลึกจากฐานเจดีย์ลงไปอีกเกือบ ๒๐ เมตร พระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบถูกบรรจุอยู่ในสถูปถึง ๗ ชั้น สถูปแต่ละชั้นมีความงดงามและประดับประดาไปด้วยเพชรนิลจินดา และอัญมณีอื่นๆ อีกมากมาย มีความงดงามและชวนตะลึงอย่างที่สุด ซึ่งงานสถูปที่กล่าวถึงนี้ สามารถชมได้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา นอกจากพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ในบริเวณวิหารของวัด ทางกรมศิลปากรยังขุดพบร่องรอยของการขุดหาสมบัติจากพวกมิจฉาชีพอีกด้วย แต่อาจจะยังขุดลึกไม่เพียงพอ ร่องรอยจึงเหลือเพียงเท่านั้น ทางกรมศิลปากรจึงดำเนินการขุดต่อไปอีกจนกระทั่งได้พบภาชนะเดินเผาขนาดเล็ก ๕ ใบ ซึ่งแต่ละใบบรรจุแผ่นท่องคำในรูปแบบต่างๆ
มีเรื่องเล่ากันว่า …
เมื่อครั้งแรกขุด วันที่ ๒๖ สิงหาคม ปีพุทธศักราช ๒๔๙๙ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรพบกับอุปสรรคมากมายทั้งฝนฟ้าไม่เป็นใจ เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน ฝนตกกระหน่ำทำให้ปากหลุมมีน้ำเจิ่งนองและยังท่วมเข้าไปในหลุม อีกทั้งยังต้องคอยพึ่งพาเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำออก และการขุดก็ไม่สามารถขุดปากให้กว้างได้ แต่ทำได้เพียงการขุดหลุมเพื่อให้ลำตัวสามารถลอดเข้าไปได้เท่านั้น ในสมัยนั้นอุปกรณ์ เครื่องจักรก็ไม่ทันสมัย จึงเป็นความยากลำบากอย่างมาก ต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะอย่างที่สุด เพราะทุกวินาทีของการขุด คือ ความเสี่ยง ทั้งเสี่ยงต่อภัยที่เกิดกับตนเอง และภัยจากการขุดที่อาจจะทำให้สมบัติ ข้าวของเครื่องใช้โบราณเสียหายได้ อาจจะเป็นความมหัศจรรย์ หรือไม่ทราบได้ วินาทีที่ทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรสามารถขุดพบเจอพระบรมสารีริกธาตุนั้น บังเกิดให้ได้กลิ่นน้ำมันจันทน์โชยออกมาจากด้านล่าง เจ้าหน้าที่จึงมีความมั่นใจ และในที่สุดก็ประสบผลสำเร็จในการขุด มีการออกข่าวไปทั่ว และมีพุทธศาสนิกชนที่ศรัทธาในพุทธศาสนาจากทั่วประเทศ เดินทางมากราบไหว้และมาชมเพื่อเป็นบุญตากันอย่างล้นหลาม
กรุของวัดพระมหาธาตุ ยังมีเครื่องทองคำอื่นๆ เช่น เครื่องประดับ แผ่นทองคำ รวมถึงพระพุทธรูปและประติมากรรมอื่นๆ ซึ่งโดยรวมแล้ว กรุสมบัติของวัดพระมหาธาตุจะเป็นชิ้นงานที่สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแตกต่างจากกรุสมบัติวัดราชบูรณะที่ขุดค้นพบ เครื่องประดับ ข้าวของเครื่องใช้ของพระมหากษัตริย์ คหบดีผู้มั่งคั่ง และราษฎรทั่วไปที่ร่วมกันถวายเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการจัดสร้างวัดขึ้น
ไม่ว่าสมบัติของแผ่นดินจะยังมีอีกมากมายที่เรายังไม่ค้นพบอีกหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่บอกกล่าวได้อย่างชัดเจน นั่นคือ ประเทศไทยของเรามีความรุ่งเรืองมาตั้งแต่ในอดีต ทรัพย์สมบัติที่ขุดพบ คือ หลักฐานที่ชัดเจนและยืนยันได้หนักแน่นว่า “สุวรรณภูมิ” ดินแดนแห่งทองคำนั้นมีจริง เป็นแผ่นดินธรรมที่คนไทยตั้งแต่อดีตกาลมีความศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อพุทธศาสนา และยังเป็นแผ่นดินทอง ที่มีทั้งสมบัติที่เป็นทองคำ เพชรนิลจินดา อัญมณีอีกมากมายที่รอวันให้ผู้มีบุญได้มาพบ รอจังหวะที่เผยความงดงามออกมา
และอีกนัยหนึ่งคือ เป็นแผ่นดินทอง ที่ผู้อยู่อาศัยไม่เคยต้องอดอยากปากแห้ง ทุกตารางเซ็นติเมตรบนแผ่นดินไทยสามารถเพาะปลูกได้ ทำมาหากินได้ ดังเช่น เนื้อเพลงที่ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการได้ประพันธ์เอาไว้เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๗
“ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แผ่นดินของเรา นี่แสนอุดมสมบูรณ์
บ้านเมืองราบคาบ ด้วยอานุภาพพ่อขุน– รามคำแหงค้ำจุน ให้ชาติไทยไพศาล
(สร้อย) สร้างทำนาไร่ ทั่วแคว้นแดนไทย เราไถเราหว่าน
หมากม่วงหมากขาม หมากพร้าวหมากลาง พืชผลต่างๆ ล้วนงามตระการ
(สร้อย) สร้างบ้านแปลงเมือง ให้เกียรติไทยลือ เลื่อง ไปทั่วทุกถิ่นฐาน
จูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ปวงราษฎร์ทั้งหลาย ได้อยู่เป็นสุขสำราญ”
อ้างอิง http://www.inform.collection9.net/index.php?doc=doc_detail&id=0054 พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา สถาบันไทยคดีศึกษา จ.พระนครศรีอยุธยา Wikipedia https://www.youtube.com/watch?v=ggLD6RA-ICA โดยคุณ Mackaforce www.7wat.com www.vcharkarn.com