miscellaneous, Thai Book Review แนะนำหนังสือ

สามโคก เมืองโบราณ..ถิ่นฐานชาวรามัญ ตอน 2

เตาเผา สามโคก ชาวมอญ

( ภาคต่อจากบทความ จากเมาะตะมะสู่สามโคก เมืองโบราณ ถิ่นฐานชาวรามัญ ตอน 1  )

บริเวณ เตาเผา สามโคก ถิ่นฐานชาวรามัญ แห่งนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการย่อยๆ เพื่อการเรียนรู้ ถึง อุตสาหกรรมการทำเครื่องปั้นดินเผา ในอดีตให้ได้ศึกษาอีกด้วย

   และจากตรงนี้ ห่างไปไม่ไกลมากนัก เพียงแค่ข้ามถนนมาฝั่งตรงกันข้าม ก็จะมีวัดโบราณเก่าแก่วันหนึ่ง ซึ่งหลายๆ คน ย่อมคุ้นกับภาพวัดจากละครต่างๆ ที่นิยมมาถ่ายทำ ด้วยเพราะบรรยากาศในวัดเป็นแบบดั้งเดิม สวยงามและร่มรื่น ไม่ว่าจะละครเรื่อง ทองเอกหมอยาท่าโฉลง หรือ ละครที่พึ่งจบไปล่าสุดอย่างเรื่อง วาสนารัก ก็ใช้สถานที่ถ่ายทำที่วัดนี้เกือบทั้งเรื่อง

 


GQ กางเกงชิโน ผ้ายืด สีแดง ใส่สบาย น้ำหนักเบา สะท้อนน้ำ เหมาะกับอากาศร้อน สบายจริงๆ สบายจัดๆ
GQ กางเกงชิโน >> คลิ๊ก



 

วัดสิงห์

สามโคก จ.ปทุมธานี

      วัดเก่าแก่โบราณที่สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยปลายแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีชื่อว่า วัดสิงห์ จ.ปทุมธานี วัดที่มีอายุราว ๓๐๐ กว่าปีแล้ว เพียงแค่เห็นแว๊บแรก ก็ชวนให้รู้สึกได้ถึงความรุ่งเรืองในสมัยกรุงศรีอยุธยา

วัดสิงห์ สามโคก ปทุมธานี

  วัดสิงห์ เป็นวันราษฎร์ ได้รับวิสุงคามสีมา มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๒๑๐ และได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๕

วัดแห่งนี้ เป็นวัดโบราณที่อยู่คู่เมืองสามโคก มาช้านาน ตามที่เกริ่นข้างต้น ต่อมาเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแพ้สงครามแก่พม่า ครั้งที่ ๑ เมืองสามโคกกลายเป็นเมืองร้าง และได้กลายเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวมอญอีกครั้งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งครั้งนั้นชาวมอญที่ทำสงครามในพม่า ได้พากันหลบหนีจากกองทัพพม่าที่สู้กับจีน และออกจากเมืองเมาะตะมะเข้ากรุงศรีอยุธยานับหมื่นคน

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญเหล่านี้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองสามโคก ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ชาวมอญยังคงสำนึกอยู่ในใจเสมอ และพร่ำบอกพร่ำสอนถึงลูกหลานอยู่เสมอว่า พระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย ชาวมอญนับชั่วลูกชั่วหลานจักต้องไม่ลืม และหากสิ่งใดที่สามารถกระทำเพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณได้ จักต้องทำโดยไม่รีรอ ชาวมอญได้อาศัยอยู่ในพื้นที่สามโคกนับแต่นั้น และได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับสามโคก เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และยังอนุรักษ์รูปแบบ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีได้อย่างน่าชื่นชม

  “เพียงแค่ก้าวเท้าเข้ามาในเขตวัดเก่าแก่แห่งนี้ ก็จะสัมผัสได้ทันทีถึงความรุ่งเรืองสมัยกรุงศรีอยุธยา ผ่านสถาปัตยกรรม ศิลปะ อาคารของวัดที่งดงามและเป็นเอกลักษณ์แห่งยุคสมัยได้อย่างชัดเจน”

เขตโบราณสถานในวัดสิงห์ แห่งเมืองสามโคก ประกอบด้วย อุโบสถ , วิหารน้อย , โกศหลวงพ่อพระยากราย ที่รายล้อมไปด้วยกำแพงแก้ว และภายนอกกำแพงแก้วยังมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองจำนวน ๖ องค์ ในที่นี่จะขอกล่าวถึงโบราณสถานและโบราณวัตถุที่งดงามและควรค่าแก่การชม แบบชนิดที่ห้ามพลาดเลย ได้แก่ อุโบสถ , วิหารน้อย , โกศหลวงพ่อพระยากาย

หลวงพ่อพุทธรัตนมุนี วัดสิงห์ สามโคก

 

อุโบสถ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นรูปแบบสมัยกรุงศรียุธยาอย่างชัดเจน คือ ภายในอุโบสถ จะมีพื้นที่ต่ำกว่าภายนอก ภายในประดิษฐาน หลวงพ่อพุทธรัตนมุนี เป็นพระประธานประจำทิศตะวันออก พุทธลักษณะแบบศิลปะสมัยอยุธยา ส่วนวิหารน้อยที่อยู่ข้างๆ กัน นั้นจะหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ลักษณะสถาปัตยกรรมอาคาร ในส่วนของฐานเหมือนท้องเรือสำเภา สวยงามและอ่อนช้อย

วิหารน้อย สามโคก ชาวมอญ

วิหารน้อย หลังนี้ มีหลวงพ่อพุทธสิริมาแสน เป็นพระประธานประจำทิศตะวันตก หลวงพ่อพุทธสิริมาแสน เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ สร้างจากศิลาทรายแดง และมีอัครสาวกซ้ายขวา โครงสร้างของวิหารน้อยเป็นแบบผนังรับน้ำหนัก หลังคาเป็นผืนเดียว และมีการลดระดับของหลังคาเป็น ๒ ตับ มุงด้วยกระเบื้อง เผากาบู และด้านหน้าเป็นที่ประดิษฐานโกศหลวงพ่อพระยากราย ที่มีความโดดเด่นและงดงามยิ่งนัก

หลวงพ่อพระยากราย เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดสิงห์ ท่านมีเชื้อสายของราชวงศ์มอญ มีพระยศเดิมว่า “พญากราย”

ลักษณะของโกศซึ่งบรรจุอัฐิของพระเถระมอญท่านนี้ มีขนาดใหญ่ สร้างตามรูปแบบศิลปะแบบมอญผสมไทย ฐานเป็นลายปูนปั้นประดับลายบัวแวง บัวกลุ่ม ๑๒ ชั้น เป็นบัวจงกลปลียอดและหยาดน้ำค้างที่งดงามจับตายิ่งนัก ฝีมืองานปูนปั้นสดที่หาใครเทียบได้ยากยิ่งนัก สะท้อนถึงความสามารถของช่างฝีมือและศรัทธาที่มีต่อพระเถระมอญท่านนี้อย่างสูงยิ่ง

…… นอกจากโบราณสถานที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ยังมี กุฏิโบราณ ศาลาดิน ภาพจิตรกรรมซึ่งเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ซึ่งเป็นภาพจิตรกรรมที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองสามโคก และยังมีหลวงพ่อโต , หลวงพ่อเพชร , พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานอยู่ในศาลาดินอีกด้วย

ออกจากวัดสิงห์ ฉันต้องย้อนกลับมา ชมชุมชนบ้านศาลาแดงเหนือ อีกครั้ง เพราะภายในวัดยังมีอาคารเก่าแก่ให้ชม นอกเหนือจากพิพิธภัณฑ์เรือโบราณ นั่นคือ กุฏิพระอาจารย์บุนนาค ที่มีความโดดเด่นด้วยสีเหลือง และลักษณะอาคารงดงาม แปลกตากว่าอาคารหลังอื่นในวัดอย่างเห็นได้ชัด

พระอาจารย์บุนนาค เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดศาลาแดงเหนือองค์ที่ ๔ และกุฏิหลังนี้สร้างขึ้นจากศรัทธาของชาวบ้านที่ช่วยกันออกแรงและออกเงินเพื่อสร้างกุฎินี้ขึ้นให้กับพระอาจารย์ กุฏิมีลักษณะเป็นอาคาร ๒ ชั้น ก่ออิฐถือปูนแบบยุโรป ซึ่งรูปแบบสถาปัตยกรรมเช่นนี้ได้รับอิทธิพลมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยมีลักษณะเป็นหลังคา “ปั้นหยา” มุงด้วยกระเบื้องว่าว

วัดศาลาแดงเหนือ สามโคก
พระอาจารย์บุนนาค เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดศาลาแดงเหนือองค์ที่ ๔

ปัจจุบันกุฏหลังนี้ไม่ได้ทิ้งร้างว่างเปล่า แต่เป็นที่เก็บคัมภีร์ หนังสือภาษามอญ ศิลปวัตถุ พระพุทธรูปที่อดีตเจ้าอาวาสได้รวบรวมเอาไว้

วัดศาลาแดงเหนือ ในวันพระ จะมีการสวดมนต์เป็นภาษามอญ และผู้สูงอายุยังใช้ภาษามอญในการพูดคุยสนทนากัน แม้ว่านับวัน การใช้ภาษามอญ และคนที่มีความสามารถอ่านออก เขียนภาษามอญได้นั้น จะเลือนลางเหลือน้อยลงไปทุกที แต่ทุกคนก็พยายามที่จะรักษารูปแบบภาษา และคงไว้ อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และวิถีชีวิตของชาวมอญที่นี่ ก็ยังเข้มข้นไปด้วยการเดินตามรอยคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

หนังสือภาษามอญ

อาจารย์เล่าต่ออีกว่า สมัยก่อน แม้แต่คนเมา เมื่อเดินผ่านวัด ยังต้องเดินตัวตรง จะมามีท่าทางเมาแอ๋ ล้มระเนระนาดอยู่หน้าวัดนั้น ไม่เคยมี เพราะทุกคนเชื่อและยึดมั่นในศีล ๕ แม้จะบกพร่องไปบ้างในบางคน แต่ก็ยังมีหิหฺริโอดตับปะ อยู่บ้าง … แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป วัตถุนิยมเข้าครอบงำจิตใจ ผู้คนจึงแปรเปลี่ยนตาม แต่สำหรับชาวมอญในชุมชนบ้านศาลาแดงเหนือแห่งนี้ การใช้ชีวิตอย่างเนิบช้าและมีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ ดำรงตนตามครรลองของวิถีพุทธศาสนา ยังคงมีให้เห็น และมีความตั้งใจที่จะสืบทอดความคิดดี กระทำความดี ละเว้นความชั่ว ยึดมั่นในศีลปฏิบัติอย่างดีที่สุดเท่าที่พวกเขาจะทำได้

กระยาสารทมอญ

ก่อนจะเดินทางกลับสู่ พระมหานคร (กรุงเทพฯ) เมืองอันแสนจะวุ่นวาย กลุ่มแม่บ้านในชุมชนวันนี้ได้กวนกระยาสารท เตรียมไว้สำหรับงานเทศกาลออกพรรษา ซึ่งปีหนึ่งจะมีให้ชิมเพียงครั้งเดียวเท่านั้น หากใครอยากชิม คงต้องรอเทศกาลออกพรรษาเท่านั้น

กระยาสารทมอญ บ้านศาลาแดงเหนือ สามโคก

กระยาสารทมอญ บ้านศาลาแดงเหนือ  มีกรรมวิธีในการกวนแบบโบราณ ใช้ส่วนผสมหลักได้แก่ น้ำอ้อย น้ำมะนาว ข้าวเม่า ถั่วลิสงคั่ว ข้าวตอก งาคั่ว และไม่มีน้ำตาลแม้แต่น้อย ความหวานหอมจึงมาจากน้ำอ้อย รสหวานธรรมชาติล้วนๆ กระยาสารทมอญจึงมีความนุ่มเหนียวและหวานหอม กว่าจะเคี่ยวให้เข้ากัน ต้องใช้เวลานานถึง ๓ ชั่วโมง รสชาติจึงเข้าเนื้อ กลมกล่อม และอร่อย แตกต่างจากกระยาสารทไทยที่เราทานกัน

กระยาสารทมอญ บ้านศาลาแดงเหนือ อำเภอสามโคก

ปลาร้ามอญ ชาวมอญ ย่าน สามโคก
ปลาร้ามอญ ผลิตภัณฑ์ของอร่อยจากชาวมอญย่านสามโคก

นอกจากนี้ใครชอบทาน ปลาร้ามอญ ผลิตภัณฑ์ของอร่อยจากชาวมอญย่านสามโคก สูตรสำรับของชาวมอญ ก็เป็นอีกเมนูที่น่าลองลิ้มชิมรสมากเช่นกัน เป็นการทำปลาร้า โดยการหมักปลาที่ล้างสะอาดแล้ว เอาหัวปลาและขี้ปลาออกไปหมด พร้อมขอดเกล็ดปลา ล้างจนสะอาดจึงนำลงใส่ไห ตามด้วยเกลือทะเล คลุกเคล้าและทิ้งไว้ราว ๓ เดือน จึงจะได้ทานกัน

ของอร่อยเหล่านี้ นับเป็นของฝากที่อยากให้ได้ลองชิม รวมถึงหมี่กรอบโบราณ และของที่ระลึกงานฝีมือกลุ่มงานผ้าปักมอญ ไม่ว่าจะปักเป็นผ้าเช็ดหน้า ผ้าสะไบ ฯลฯ ล้วนเป็นงานฝีมือชาวมอญที่น่าชมและอุดหนุนเป็นของฝากได้

ทริปการเดินทางในครั้งนี้ ได้เยือนชุมชนมอญบ้านศาลาแดงเหนือ จ.ปทุมธานี ทำให้เราฉุกคิดขึ้นได้ว่า…..

 

“วิถีชีวิตที่รีบเร่งเกินไป มักทำให้เรามองข้ามความงาม  ที่อยู่รอบตัวอย่างน่าเสียหาย”

     การได้นั่งเล่นบริเวณศาลาท่าน้ำ และพิจารณาสายน้ำที่ไหลผ่านอย่างช้าๆ ทำให้เราเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่.. ว่าเกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งที เราได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมของเราแล้วหรือยัง สายน้ำในเจ้าพระยาไม่เคยไหลย้อนกลับ เช่นเดียวกับชีวิตมนุษย์ที่ต้องเดินไปข้างหน้า มีระยะเวลารายเดือน รายปีเป็นตัวกำหนด แต่หากเราคิดดีและทำแต่สิ่งดีๆ ความดีหรือกรรมดีจะไม่ไหลตามสายน้ำไปไหน แต่กลับอยู่ในความคิดของเรา และเป็นความภาคภูมิใจของตัวเราที่ใครก็ไม่สามารถพรากความสุขเหล่านี้จากเราไปได้

 

     “จังหวัดปทุมธานีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯไปทางทิศเหนือประมาณ 46 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 1,565.856 ตารางกิโลเมตร เเบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ อำเภอเมืองปทุมธานี สามโคก ลาดหลุมเเก้ว ธัญบุรี หนองเสือ คลองหลวง และ ลำลูกกา แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านจังหวัดปทุมธานี โดยเริ่มจากท้ายเกาะใหญ่ซึ่งอยู่ในเขตติดต่อของอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วไหลไปสุดเขตจังหวัดปทุมธานีตอนใต้ในตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ณ บริเวณที่เรียกว่า คุ้งน้ำวัดกิ่งทอง”

เกร็ดความรู้ เกี่ยวกับชาวมอญ

มอญเป็นชนชาติเก่าแก่  มีอารยธรรมรุ่งเรืองมากชนชาติหนึ่ง จากพงศาวดารพม่ากล่าวว่า “มอญเป็นชนชาติแรกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพม่า มาเป็นเวลาหลายศตวรรษก่อนคริสตกาล” คาดว่าน่าจะอพยพมาจากตอนกลางของทวีปเอเชีย เข้ามาตั้งอาณาจักรของตนทางตอนใต้ บริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำสะโตง ซึ่งบริเวณนี้ในเอกสารของจีนและอินเดียเรียกว่า “ดินแดนสุวรรณภูมิ”

ในพุทธศตวรรษที่ 2 ศูนย์กลางของอาณาจักรมอญคือ อาณาจักรสุธรรมวดีหรือสะเทิม (Thaton) จากพงศาวดารมอญกล่าวไว้ว่าอาณาจักรสะเทิมสร้างโดยพระราชโอรส 2 พระองค์ของพระเจ้าติสสะ แห่งแคว้นหนึ่งของอินเดีย ก่อนปี พ.ศ. 241 พระองค์นำพลพรรคลงเรือสำเภามาจอดที่อ่าวเมาะตะมะ และตั้งรากฐานซึ่งต่อมาเป็นที่ตั้งของเมือง อาณาจักรสะเทิมรุ่งเรืองมากมีการค้าขายติดต่ออย่างใกล้ชิดกับประเทศอินเดียและลังกา และได้รับเอาอารยธรรมของอินเดียมาใช้ ทั้งทางด้านอักษรศาสตร์ และศาสนา โดยเฉพาะรับเอาพุทธศาสนานิกายเถรวาทมา มอญมีบทบาทในการถ่ายทอดอารยธรรมอินเดียไปยังชนชาติอื่นอย่างเช่น ชาวพม่า ไทย และลาว เจริญสูง มีความรู้ดีทางด้านการเกษตร และมีความชำนาญในการชลประทาน โดยเป็นผู้ริเริ่มระบบชลประทานขึ้นในลุ่มน้ำอิรวดีทางตอนกลางของประเทศพม่า

พวกน่านเจ้าเข้ามาทางตอนเหนือของพม่าและทำสงครามกับพวกปยู อาณาจักรมอญที่สะเทิมขยายอำนาจขึ้นไปทางภาคกลางของลุ่มแม่น้ำอิรวดีระยะหนึ่ง แต่เมื่อชนชาติพม่ามีอำนาจเหนืออาณาจักรปยู และได้ขยายอำนาจลงมาทางใต้เข้ารุกรานมอญ มอญจึงถอยลงมาดังเดิมและได้สร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 1368 ที่ หงสาวดี

พระเจ้าอโนรธา กษัตริย์พม่าแห่งพุกาม ยกทัพมาตีอาณาจักรสุธรรมวดีและกวาดต้อนผู้คน ทรัพย์สมบัติ พระสงฆ์ พระไตรปิฎก กลับไปพุกามจำนวนมาก ต่อมาระหว่างปี 1600-1830 กรุงหงสาวดี ตกอยู่ใต้อำนาจพุกาม แต่กระนั้นพม่าก็รับวัฒนธรรมมอญมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาษามอญได้แทนที่ภาษาบาลีและสันสกฤตในจารึกหลวง และพุทธศาสนานิกายเถรวาทได้เป็นศาสนาที่นับถือสูงสุดในพุกาม มอญยังมีความใกล้ชิดกับลังกา ซึ่งขณะนั้นเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนานิกายเถรวาท และนิกายเถรวาทก็แพร่กระจายไปทั่วเอเชียอาคเนย์

พระเจ้าจั่นซิตาทรงดำเนินนโยบายผูกมิตรกับราชตระกูลของพระเจ้ามนูหะ กษัตริย์มอญแห่งสะเทิม โดยยกพระราชธิดาให้กับเจ้าชายมอญ พระนัดดาที่ประสูติจากทั้งสองพระองค์นี้ ก็ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ พระนามว่า พระเจ้าอลองสิธู ในยุคที่พระองค์ปกครองอาณาจักรพุกามได้รวมตัวกันเป็นปึกแผ่นมากที่สุด นอกจากนี้ในสมัยของพระเจ้าจั่นซิตามีศิลาจารึกยกย่องไว้ว่า วัฒนธรรมมอญเหนือกว่าวัฒนธรรมพม่าอีกด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 1830 จักรวรรดิมองโกลยกทัพมาตีพุกาม ทำให้มอญได้รับเอกราชอีกครั้ง มะกะโท หรือพระเจ้าฟ้ารั่ว ราชบุตรเขยของพ่อขุนรามคำแหงได้ทรงกอบกู้เอกราชมอญจากพม่า และสถาปนา อาณาจักรหงสาวดี พระองค์มีมเหสีเป็นราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหง มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมาะตะมะ ต่อมาในสมัยพระยาอู่ ได้ย้ายราชธานีมาอยู่ ณ เมืองพะโคหรือหงสาวดี ราชบุตรของพระองค์คือพญาน้อย ซึ่งต่อมาก็คือ พระเจ้าราชาธิราช ผู้ทำสงครามยาวนานกับกษัตริย์พม่าอังวะ ในสมัยพระเจ้าสวาซอเก กับสมัยพระเจ้ามิงคอง (คนไทยเรียกว่า พระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ในหนังสือเรื่อง ราชาธิราช) ขุนพลสำคัญของพระเจ้าราชาธิราช ก็คือ สมิงพระราม ละกูนเอง และแอมูน-ทยา ในสมัยของพระเจ้าราชาธิราชนั้นหงสาวดีกลายเป็นอาณาจักรที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ครอบคลุมตั้งแต่ชายฝั่งทะเลอ่าวเบงกอล จากแม่น้ำอิรวดีขยายลงไปทางตะวันออกถึงแม่น้ำสาละวิน และเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่ใหญ่โตมีเมืองท่าที่สำคัญหลายแห่งในหลายลุ่มน้ำ เช่น เมาะตะมะ สะโตง พะโค พะสิม อาณาจักรมอญยุคนี้เจริญสูงสุดในสมัยพระนางเชงสอบูและสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ หลังจากนั้นในสมัยพระเจ้าสการะวุตพีหงสาวดีก็เสียแก่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ในปี พ.ศ. 2081

พ.ศ. 2283 สมิงทอพุทธิเกศ กู้เอกราชคืนมาจากพม่าได้สำเร็จ และสถาปนา อาณาจักรหงสาวดีใหม่ ทั้งได้ยกทัพไปตีเมืองอังวะ ในปี พ.ศ. 2290 พญาทะละได้ครองอำนาจแทนสมิงทอพุทธิเกศ ขยายอาณาเขตอย่างกว้างขวางทำให้อาณาจักรตองอูของพม่าสลายตัวลง จนในปี พ.ศ. 2300 พระเจ้าอลองพญา ก็กู้อิสรภาพของพม่ากลับคืนมาได้ ทั้งยังได้โจมตีมอญ กษัตริย์องค์สุดท้ายของมอญคือ พระเจ้าพญามองธิราชหรือพญาทะละ

 

ขอขอบคุณ

https://www.facebook.com/มอญบ้านศาลาแดงเหนือ

ภาพปกบทความ : Paitoon Srifa

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

ประชาสัมพันธ์

ชีวิตชาวเรือพ่อค้าแม่ขายชาวมอญ บ้านศาลาแดงเหนือ ปทุมธานี

https://www.sac.or.th/main/th/article/detail/137

ความสับสนในที่มาของชื่อ “นางเลิ้ง”

https://lek-prapai.org/home/view.php?id=5071

ปทุมธานี สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์ สยามรัฐออนไลน์ 29 ตุลาคม 2562 15:35 น.
https://siamrath.co.th/n/111746

 

จากเมาะตะมะสู่สามโคก เมืองโบราณ ถิ่นฐานชาวรามัญ ตอน 1



Cultures of Fermented 
by Scoby Doit
Previous ArticleNext Article