ในบรรดานวนิยายที่เกี่ยวกับผ้า และวิญญาณ “ เล่ห์ลุนตยา ” เป็นอีกเรื่องที่สนุก ชวนให้ติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ แถมยังได้ความรู้จากเกร็ดประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านของเราอีกด้วย
รูปแบบการเขียนนวนิยาย “ เล่ห์ลุนตยา ” ของผู้เขียน ( คุณหมอพงศกร ) ที่มักสอดแทรก เกร็ดความรู้ เข้าไปในเรื่องราวด้วยทุกครั้ง ทำให้การอ่านนวนิยายซีรี่ย์ผ้า จากงานเขียนคุณหมอพงศกร นอกจากจะได้ความเพลิดเพลินไปกับเนื้อเรื่องแล้ว เรายังได้ต่อยอดองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับ เรื่องผ้า และลายผ้าทอ ประวัติศาสตร์ความเป็นมา รวมถึงความรู้เพิ่มเติมที่คุณหมอพงศกรได้กลั่นกรองหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มาบอกเล่าได้อย่างน่าสนใจ โดยไม่ได้มองหรือคิดอย่างเอนเอียงในทางประวัติศาสตร์ หรือพงศาวดารของเขาหรือของเรา แต่อย่างใด อีกทั้ง ยังให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาและคำ การออกเสียง อักขระต่างๆให้ถูกต้อง และใกล้เคียงกับเจ้าของภาษามากที่สุด ..
ดั่งนวนิยายเรื่องนี้ก็เช่นกัน “เล่ห์ลุนตยา”
ถ้าอ่านเพียงชื่อของนวนิยาย ก็น่าสนใจแล้ว ด้วยคำว่า “ลุนตยา” หากผู้อ่านที่ไม่เคยสนใจ หรือไม่มีความรู้ในเรื่องของงานผ้าทอมาก่อน คงต้องนึกสงสัยว่า “ลุนตยา” มีความหมายว่าอย่างไร ? คำศัพท์ที่ไพเราะเช่นนี้ คือ
“ชื่อลวดลายการทอผ้านุ่งของพม่าที่มีความหมายว่า ร้อยกระสวย”
“เรื่องราวของนวนิยายเรื่องนี้ เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านของเรา ค่ะ โดยเกิดขึ้นในเมืองมัณฑะเล ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ ซึ่งเมื่อย้อนเวลากลับไปราว ๕๕ ปีก่อน”
“มัณฑะเล”
ที่ซึ่งในอดีต เป็นราชธานีสำคัญของพม่า ในรัชสมัยราชวงศ์คองบอง ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า ก่อนที่จะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปตลอดกาล หลังจากที่อังกฤษได้เข้ามาครอบครอง
เรื่องราวในนวนิยายเรื่องเล่ห์ลุนตยา จะประกอบไปด้วยภาคของปัจจุบัน คือ เริ่มตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ และอีกภาค คือ ช่วงที่ย้อนอดีตกลับไปในสมัยที่ราชวงศ์คองบองในปีพุทธศักราช ๒๔๒๕ ซึ่งตรงกับรัชสมัย พระเจ้าตีบอ และพระนางสุภยลัต ซึ่งเป็นกษัตริย์ และราชินีพระองค์สุดท้ายก่อนปิดฉากการปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ …
แม่ของเอลดา เป็นครูสอนการทอผ้า อยู่ที่สถาบันการทอผ้าซาวเดอร์ (The Saunder’s Weaving Institute)
เริ่มต้นจากชีวิตในวัยเด็กของ “เอลดา” กับครอบครัว แม่ของเอลดาเป็นครูสอนการทอผ้า อยู่ที่สถาบันการทอผ้าซาวเดอร์ (The Saunder’s Weaving Institute) ซึ่งเป็นสถาบันที่เปิดการเรียนการสอนจริง ในปัจจุบันตั้งอยู่ที่เมืองอมรปุระ สถาบันการทอผ้าแห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นโดยอังกฤษ มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๕๘ เพื่อฟื้นฟูศิลปะการทอผ้า ลุนตยา ซึ่งเป็นผ้าชั้นสูงของราชสำนัก รวมถึงผ้าทอประเภทอื่นๆ ของพม่า
หนึ่งในผ้าทอโบราณ ที่มีความสำคัญของเรื่อง คือ ลุนตยาอะเชะ ราชินีสีกุหลาบชมพู
แม่ของเอลดา นอกจากจะเป็นครูสอนทอผ้าที่เก่งแล้ว บุคคลอีกท่านที่เก่งกว่า คือ คุณยายของเอลดา นั่นเอง ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นแม่ครู มีฝีมือการทอผ้าอยู่ในระดับราชสำนัก ครอบครัวของเอลดาจึงเป็นช่างฝีมือด้านงานทอ และ ครอบครัวของเอลดายังเป็นที่เก็บผ้าทอโบราณหลายผืน และหนึ่งในผ้าทอโบราณ ที่มีความสำคัญของเรื่อง คือ ลุนตยาอะเชะ ราชินีสีกุหลาบชมพู
คุณยายของเอลดา ชื่อ “เอละวิน” มีบทบาทสำคัญในเรื่อง
เป็นผู้ที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ แห่งอดีตอันเจ็บปวดของ เจ้าหญิงมินพยู ผู้มีเชื้อสายโยเดีย และราชวงศ์พม่า ให้ผู้อ่านได้รู้ถึงสาเหตุความเป็นไปของวิญญาณพยาบาท ผูกใจเจ็บและร้องหาความเป็นธรรมของเจ้าหญิงมินพยู โดยมีการเล่าท้าวความไปถึงสมัยที่คุณยายของเอลดายังเป็นเด็ก ช่วงเวลาของการใช้ชีวิตอยู่ในราชสำนักและเป็นเด็กรับใช้ของเจ้าหญิงมินพยู การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันในราชสำนัก และต้นเหตุของการเสียดวงตาของเอละวิน ตลอดจนถึงการจบชีวิตอย่างอนาถของเจ้าหญิงมินพยู !!
“เอละวิน” ผู้มีพรสวรรค์ในงานการทอ ได้เรียนรู้การทอผ้าจากแม่ครูในราชสำนัก และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ทอผ้าลายลุนตยา ผืนสีชมพูกุหลาบ ผ้าทอผืนงามสำหรับชนชั้นสูงให้แก่เจ้าหญิงมินพยู ทำให้ผู้อ่านได้รู้จักลวดลายของลุนตยาที่น่าสนใจ รวมถึงเกร็ดความรู้เกี่ยวกับลวดลายและความหมายต่างๆบนผ้าทออีกด้วย
เรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับ ความเชื่อของระบบ ผีท้องถิ่น ที่ชาวพม่าต่างให้ความนับถือ ผีนัต
เล่ห์ลุนตยา มีตัวละครหลักๆอยู่ไม่กี่คน และมีความเกี่ยวข้องกับครอบครัวของเอลดา ซึ่งครอบครัวของเพื่อนชาย ติณเทพ เพื่อนเล่นในวัยเด็กของเอลดาที่มีเชื้อสายโยเดีย ก็มีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่องเช่นกันโดยเฉพาะพ่อของติณเทพ ช่างแกะสลักไม้ที่มีความสามารถในการรักษาผู้คนที่ถูกคุณไสยเล่นงาน มีความรู้เรื่องเวทมนตร์คาถา ทำให้เราได้ความรู้เกี่ยวกับ ความเชื่อของระบบ ผีท้องถิ่น ที่ชาวพม่าต่างให้ความนับถือ หรือที่เราเคยได้ยินหรือรู้จักกันในนามของ “ผีนัต”
เอลดาและติณเทพ เป็นเพื่อนเล่นกันมาตั้งแต่เด็ก
จนเมื่อเติบโตขึ้นต่างคนต่างไปทำหน้าที่ของตน โดยเอลดาได้รับทุนการศึกษาจากสถาบันซาวเดอร์ ให้ไปศึกษาต่อทางด้านงานทอผ้าที่ประเทศอังกฤษ ในขณะที่ติณเทพจบการศึกษาทางแพทย์ และทั้งสองคนก็ได้มาเจอกันอีกครั้งเมื่อเป็นหนุ่มสาวแล้ว นอกจากนี้ยังมีตัวละครซึ่งเป็นเพื่อนของเอลดา นั่นคือ ภุมรี แทนไท และแอนโธนี่ ในการเดินเรื่อง โดยเฉพาะแอนโธนี่ หลานของพันโทเดวิด นายทหารชาวอังกฤษผู้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวในราชสำนัก จนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เจ้าหญิงมินพยูต้องมัวหมอง และต้องอาญาจนสิ้นพระชนม์
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง จากนวนิยายเรื่องนี้ คือ เรื่องราวของลวดลายของผ้าทอลุนตยา ทำให้เราได้มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับผ้าลุนตยา ว่านอกจากจะมี ลายอะเชะเกลียวคลื่น ที่เห็นแล้ว ยังมีลายอะเชะแพร และลายลุนตยา ที่นับได้ว่าเป็นลายของชนชั้นสูงที่ต้องอาศัยช่างทอที่มากฝีมือระดับชั้นครูในการทอ นั่นคือ ลายอะเชะราชินี หรือ อะเชะมะลิหลวง
♥ ในส่วนนี้อยากขอเสริมการรีวิวเพิ่มเติมในฐานะที่มีความสนใจเกี่ยวกับผ้าลุนตยา
ผ้าลุนตยาอะเชะ เป็นผ้าทอในราชสำนักอมรปุระ และมัณฑะเล นิยมทอนุ่งกันทั้งชาย หญิง ผ้านุ่งลายลุนตยามีความวิจิตรพิสดาร ต้องใช้เทคนิคในการทอที่เรียกว่า การทอร้อยกระสวย ใช้ผู้ทอ ๒ คน โดยมีเทคนิคในการทอที่เรียกว่า “เกาะ” หรือ “ล้วง” ตลอดทั้งผืน และผู้ทอทั้ง ๒ คน จะต้องมีสมาธิและจิตอันเป็นหนึ่งเดียวในการทอผ้าลุนตยา จึงจะงามได้อย่างที่ตั้งใจ
“ลุนตยาอะเชะ” คือ ลวดลายลุนตยาที่เปรียบเสมือนดั่งเกลียวคลื่น ยังมีความหมายที่ลึกซึ้งและเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาโดยเปรียบเทียบ “อะเชะ หรือ เกลียวคลื่น” เป็นเสมือนคลื่นในทะเลสีทันดร ส่วนลวดลายดอกไม้ต่างๆ ที่งดงามและประณีตเปรียบเทียบได้กับป่าหิมพานต์ซึ่งสถิตอยู่บริเวณโดยรอบเขาพระสุเมรุ
เป็นที่รู้กันดีว่า ชาวพม่า นั้นมีศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง
การแต่งกาย ด้วยผ้านุ่ง ผ้าซิ่นต่างๆ และการแต่งกายตั้งแต่ เท้าจรดศีรษะ มีความเกี่ยวข้องกับความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทั้งสิ้น จะสังเกตได้จากในเรื่อง เมื่อเอลดาแต่งกายในชุดพื้นเมือง นอกจากจะนุ่งซิ่นลุนตยาลายเกลียวคลื่น ผืนงามแล้ว เอลดายังมวยผมและทัดดอกไม้อย่างดอกเอื้องผึ้งแซมผมด้วยทุกครั้ง หญิงสาวพม่ามักเปรียบเทียบการแซมผมด้วยดอกไม้ว่าเป็นการบูชาพระเกศาธาตุ สาวพม่าจึงนิยมไว้ผมยาว และดูแลรักษาเรือนผมของตนเป็นอย่างดี ด้วยเห็นว่า “ผม” คือ ของสูง ที่ควรค่าต่อการให้ความเคารพ
การทอผ้าลุนตยา เน้นการใช้เส้นไหมในการทอทั้งผืนเท่านั้น โดยสอดดิ้นเงิน ดิ้นทองแทรกเป็นลายแล้วแต่ผู้ทอจะสร้างสรรค์
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถ ประสบการณ์พรสวรรค์ ความชำนาญ และทักษะฝีมือในการทอของช่างทอแต่ละคน ดังเช่น เอละวิน คุณยายของเอลดา ผู้มีทักษะและความสามารถพิเศษจึงจะได้รับความไว้วางใจให้ศึกษาลวดลายลุนตยาอะเชะราชินี ลายลุนตยาชั้นสูงของราชสำนัก
เรื่องราวของนวนิยายในเรื่อง แทรกเกร็ดความรู้ทุกครั้งที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตผู้คน ทำให้เราได้ทั้งอรรถรสจากการอ่าน และความรู้ไปในตัว ภาษาที่ใช้ในการเขียน สไตล์คุณหมอพงศกร เข้าใจง่าย แม้จะมีบางคำที่เราอาจไม่คุ้นเคยนัก เช่น พระนามของพระนางสุภยลัต ที่โดยทั่วไป เรามักเห็นการใช้อักษร “ศ” มากกว่า “ส” ทั้งนี้คุณหมอพงศกรได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ถึงการออกเสียงคำ ชื่อเฉพาะ ชื่อตัวละคร ไว้ใน *หมายเหตุ ก่อนเริ่มเรื่องไว้ว่าต้องการให้ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษาให้มากที่สุด นับว่าเป็นการให้เกียรติ และเอาใจใส่ในภาษา และอักขระของเจ้าของภาษาได้อย่างน่าชื่นชม
ส่งท้าย ….
เล่ห์ลุนตยา ไม่ได้เป็นนวนิยายที่มีแต่ความหลอน เท่านั้น แต่จะทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพบ้านเมือง และสังคมของพม่า เมื่อเกือบ ๖๐ ปีที่แล้ว รวมถึงความเชื่อในเรื่องผีอีกด้วย ในบางช่วงบางตอน ก็มีความซับซ้อนชวนให้ผู้อ่านคิดตาม รวมถึงการบรรยายถึงบรรยากาศ เมื่อวิญญาณเจ้าหญิงมินพยูจะปรากฎกายก็ชวนให้ตื่นเต้น >_<“ ยิ่งถ้าเราได้จินตนาการร่วมไปด้วย ก็จะทำให้เราเห็นภาพอันน่าสยดสยองของวิญญาณเจ้าหญิงมินพยู ได้ไม่ยาก ยิ่งวิญญาณเจ้าหญิงมินพยู ปรากฎตัวบ่อยเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เราจินตนาการ หรือคาดเดาไปถึงภาพการทรมานเจ้าหญิงจนสิ้นพระชนม์ได้หลากหลาย
ผู้อ่านที่เป็นแฟนนวนิยายของคุณหมอพงศกร ไม่ควรพลาดเรื่องนี้ !!
สำหรับท่านใด ที่ไม่เคยอ่าน แต่ชอบ เรื่องราวแนวเร้นลับ ฉันก็ขอแนะนำให้อ่าน เพราะล่าสุด เล่ห์ลุนตยา ได้รับการคัดเลือกให้นำไปสร้างเป็นละครแล้ว อ่านนวนิยายแล้วชมละคร เราจะเห็นความแตกต่างระหว่างบทในนวนิยาย และบทละครโทรทัศน์ และจะทำให้เราซึมซับไปกับเรื่องราวของตัวละครทุกตัวได้อย่างชัดเจนมากขึ้นด้วย ^^
เล่ห์ลุนตยา โดย พงศกร – นิยาย GROOVE พร้อมส่งจากสำนักพิมพ์ ★★★★★ มาร่วมเดินทางเพื่อค้นหาตัวเองไปกับภุมรีและแทนไท ในเล่ห์ลุนตยา…ปฐมบทของสาปภูษาได้ ณ บัดนี้
ลุนตยาสีชมพูหวานราวกลีบกุหลาบแรกแย้ม …. ลุนตยาที่ผ่านการล่มสลายของราชวงศ์สุดท้ายของพม่า …… ลุนตยาผืนสุดท้าย ที่เอละวินทุ่มชีวิตทอขึ้นถวายเจ้าหญิงผู้ทรงสิริโฉมงดงาม …ก่อนที่ดวงตาของเธอจะมองไม่เห็น
ลุนตยาที่งามจับใจภุมรี จนเกินจะห้ามความปรารถนา ลุนตยาที่ทำให้แทนไท ได้เรียนรู้ว่านอกจากสัมผัสทั้งห้าของมนุษย์แล้ว สำหรับคนบางคน จิตของเขาอาจสามารถสัมผัสสิ่งที่คนทั่วไปไม่อาจสัมผัสได้ !
หากคุณผู้อ่านชอบนวนิยายแนวพีเรียด เป็นหนอนหนังสือแนวสืบสวนคดีฆาตกรรม และแนวอิงประวัติศาสตร์ด้วย แนะนำให้อ่านซีรีส์ชุด นักสืบสตรีศรีอยุธยา ทั้ง ๓ เล่ม >> ดูเพิ่มอีก