Thai Book Review แนะนำหนังสือ, Uncategorized

อัตชีวประวัติ หม่อมศรีพรหมา กฤดากร – แนะนำหนังสือดี

หนังสือดี หม่อมศรีพรหมา กฤดากร -n1

หนังสือดี ๑ ใน ๑๐๐ เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน

อัตชีวประวัติ หม่อมศรีพรหมา กฤดากร

เป็นคำแนะนำที่ไม่เกินจริงเลยค่ วันนี้ Thai Book Review  อยากจะแนะนำหนังสือเชิงอัตชีวประวัติของหม่อมท่านหนึ่งที่หลายท่านอาจจะรู้จัก หรือ เคยได้ยินชื่อเสียงของท่าน หรือบางท่านก็ก็อาจจะไม่รู้จักมาก่อน  แต่หากได้ทราบถึงประวัติของท่าน ขอรับประกันว่าผู้อ่านต้องรู้จัก หรือเคยได้ยินชื่อของท่านแน่นอนค่ะ

     เรื่องราวของ หม่อมศรีพรหมา กฤดากร มีความน่าสนใจไม่เพียงแต่ในแง่ของ บันทึกทางประวัติศาสตร์  อย่างเช่นที่เราเคยได้ทราบว่า เมื่อปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ออกพระโอษฐ์ขอให้เจ้าศรีพรหมา เข้ารับราชการตำแหน่งเจ้าจอม แต่ท่านกราบบังคมทูลปฏิเสธเป็นภาษาอังกฤษสื่อสารเนื้อหาใจความว่า “เคารพพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ แต่มิได้รักใคร่พระองค์ในทางชู้สาว”  หรือ บันทึกชีวิตในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น แต่ยังสืบเนื่องไปถึง  เรื่องราวจากทางล้านนา ด้วย เนื่องด้วย หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ท่านเป็นธิดาของ เจ้านครน่าน เจ้าหลวงสุริยะ ณ น่าน หรือ พระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน กับแม่เจ้าศรีคำ ชาวเวียงจันทน์  ซึ่งท่านเป็นหนึ่งในจำนวนเชลยราว ๑,๐๐๐ คน ที่ถูกกวาดต้อนมาไว้ที่เมืองน่าน เมื่อคราวที่พระเจ้าสุริยพงษ์ฯ ตามเสด็จกรมหลวงวงศาธิราชสนิทไปปราบขบถเจ้าอนุเวียงจันทน์

ศรีพรหมา ( ออกเสียงอ่านว่า = พฺรม-มา ) 

        เรื่องราวใน หนังสืออัตชีวประวัติของ หม่อมศรีพรหมา นับเป็นวรรณกรรมล้ำค่า ที่ได้รับการคัดเลือกเป็น หนังสือดี ๑ ใน ๑๐๐ เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน  สาเหตุที่หนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่อง ก็เพราะว่าเนื้อหา เรื่องเล่า คำสัมภาษณ์ต่างๆ ได้รับการถ่ายทอดโดยตรงจากตัวท่านเอง ( หม่อมศรีพรหมา กฤดากร )  ซึ่งท่านมีความทรงจำที่ดีมาก และสามารถถ่ายทอดเรื่องราวตั้งแต่ในวัยเยาว์ จนเติบใหญ่ ได้อย่างละเอียดละออ นั่นจึงทำให้ผู้อ่าน สามารถจินตนาการได้ลึกซึ้ง ถึงภาพที่หม่อมศรีพรหมาได้เล่าให้ฟังได้ชัดเจน

บอกกล่าวถึงชีวิตของท่านตั้งแต่ยังเป็นละอ่อนน้อย ครั้งอยู่ที่เมืองน่าน

        เรื่องเล่าต่างๆ ภายในเล่มถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในคุ้มหลวง จนกระทั่งได้มีโอกาสเข้ามาอยู่ในพระมหานคร และได้ใช้ชีวิตในการร่ำเรียนวิชาชาววังอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ได้รับพระเมตตา พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู๋หัว รัชกาลที่ ๕ และ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์จวบจนชีวิตเริ่มก้าวย่างเข้าสู่วัยรุ่น

     ตลอดระยะเวลาที่ท่านอยู่ในรั้วในวัง ท่านได้พบปะและเป็นพระสหายของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ รวมถึงพระสหายของเจ้านายพระองค์อื่นๆ อีกทั้งยังได้มีโอกาส มีส่วนร่วมในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พิธีรับพระสุพรรณบัตรของทูลกระหม่อมอัษฎางค์เดชาวุธ และพิธีโสกันต์ ซึ่งมีความน่าสนใจ และทำให้เราได้รู้ถึงขั้นตอนของพระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีสำคัญและเป็นงานใหญ่งานหนึ่งของราชสำนัก จากที่เราเคยเห็นแต่ภาพถ่ายของเจ้านายหลายๆพระองค์ ที่เข้าร่วมในพระราชพิธีโสกันต์ ในหนังสือเล่มนี้ หม่อมศรีพรหมา เมตตาถ่ายทอดเรื่องราวของพระราชพิธีโสกันต์ ทำให้เราเข้าใจถึงภาพถ่ายที่เคยเห็นมาก่อนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งงามสมโภชทำขวัญที่จัดขึ้น ล้วนมีแต่ความคึกคัก ทำให้ภายในเขตพระราชฐานมีกิจกรรม งานสนุกครื้นเครง และมีผู้คนร่วมงานกันอย่างคึกคัก และส่วนที่น่าสนใจ ที่เราอาจจะไม่เคยได้นึกถึงมาก่อนคือ  การแต่งองค์ทรงเครื่อง ให้พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า ลูกของหม่อมเจ้านับหลายพระองค์นั้น ผู้ที่ทำหน้าที่ในการแต่งองค์ คือ พระมเหสีทุกพระองค์ เพราะแต่ละพระองค์ล้วนมีเครื่องประดับเพชรนิลจินดามากมาย ที่พร้อมจะพระราชทานให้นำไปแต่งองค์ของพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า ลูกหม่อมเจ้าชาย/หญิง  เครื่องประดับชิ้นสำคัญมากชิ้นหนึ่ง คือ นวม ที่ใช้ผ้าหนานำมาม้วนให้เป็นวงกลม ตรึงให้เป็นแผ่นเพื่อทำให้เครื่องประดับที่สวมใส่ไม่หลุด หล่นง่าย และการสวมทับทรวงซึ่งมีน้ำหนักมาก และข้อพระกรอีกหลายชิ้น ประหนึงว่าเมื่อสวมเสร็จ ต้องช่วยกันอุ้มพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า เข้าพระราชพิธีบนพระที่นั่งจักรีปราสาท เนื่องจากน้ำหนักที่มาก ทำให้เดินเหินกันแทบไม่ได้เลย

“นางร้องไห้”   ยังได้เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ รวมถึงบรรยากาศความเป็นไปในช่วงที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคต เนื่องด้วยหม่อมศรีพรหมาได้มีโอกาสถวายงานรับใช้ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ เป็นครั้งสุดท้าย ด้วยการเป็น “นางร้องไห้” และทำให้เราได้เข้าใจว่าการทำหน้าที่เป็น “นางร้องไห้” เป็นงานที่เศร้าสะเทือนใจที่สุ

“การใช้ชีวิตในต่างแดน”  มีโอกาสติดตามพระยาและคุณหญิงมหิบาลบริรักษ์ (สวัสดิ์ และ อุ๊น ภูมิรัตน์) บิดา มารดาบุญธรรมของหม่อมศรีพรหมา ไปใช้ชีวิตยังประเทศรัสเซีย เรื่องราวการเดินทาง การใช้ชีวิตในต่างประเทศที่ท่านถ่ายทอดให้เราได้อ่านตั้งแต่การออกเดินทางจากพระมหานคร ลงเรือผ่านไปยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้อ่านยังได้เห็นภาพความเป็นอยู่ของบ้านเมืองเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีก่อนอีกด้วย

การใช้ชีวิตของหม่อมศรีพรหมาในต่างแดน ยังมีข้อคิด ที่น่าพิจารณาเช่นกัน เพราะท่านต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมแวดล้อม ซึ่งแตกต่างจากการใช้ชีวิตที่เคยอยู่แต่ในรั้วในวัง เมื่อเดินทางออกไปใช้ชีวิตในต่างแดน ความเจริญของบ้านเมือง ผู้คนในแต่ละประเทศ ก็นับได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่หม่อมศรีพรหมาต้องเรียนรู้ และปรับตัวไม่น้อย แม้ว่าจะอยู่อาศัยกับบิดามารดาบุญธรรมก็ตาม
นอกจากนี้หม่อมฯ ยังเล่าเรื่องราวของเจ้านายหลายพระองค์ที่เสด็จไปศึกษาต่อยังต่างประเทศในเวลานั้นด้วย อาทิ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงศภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ, สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต, พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเป็นสมเด็จพระบรมโอรส รวมถึงคู่สมรสของหม่อมศรีพรหมาที่โชคชะตาได้พาให้ไปพบปะกับ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ผู้บุกเบิกแตงโมงบางเบิด ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งการเกษตรไทย”

จนเมื่อถึงเวลาเดินทางกลับสู่สยาม
   หม่อมเจ้าศรีพรหมาก็ได้กลับเข้าไปรับราชการอยู่ในพระราชสำนักอีกครั้ง และได้มีโอกาสพบปะกับ หม่อมเจ้าสิทธิพร ตกลงปลงใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน โดยได้วางแผนไปอยู่ที่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามจุดมุ่งหมายที่ได้วางร่วมกันไว้ คือ การทำกสิกรรม เพราะเห็นว่าคนไทย อย่างไรเสีย “อาชีพกสิกรรมย่อมเป็นอาชีพหลักของคนไทย” ทั้ง ๒ ท่านได้ร่วมกับสร้างไร่บางเบิด คิดค้นและพัฒนาสายพันธุ์ของพืชผัก ผลไม้ และที่มีชื่อเสียงจนคนรู้จักกันทั้งประเทศคือ แตงโมบางเบิด ที่มีรสชาติแสนอร่อย และมีขนาดผลแตงโมที่ใหญ่มาก ซึ่งปัจจุบันฟาร์มบางเบิดอยู่ในการดูแลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถเข้าชมและศึกษาการทำกสิกรรมได้
    นอกจากเรื่องราวการใช้ชีวิตของหม่อมศรีพรหมาแล้ว เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่างๆ ภายในเล่มยังมีความน่าสนใจ อ่านแล้วเพลิดเพลิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนพิเศษที่สาวๆ น่าจะชื่นชอบ คือ เรื่องราวของการถนอมอาหารที่มีทั้งอาหารไทย อาหารชาติตะวันตก ซึ่งหม่อมศรีพรหมาได้เป็นตำรับ สูตรการถนอมอาหารของท่านที่ท่านเมตตาได้ถ่ายทอดให้ อ่านไปก็หิวไปด้วย
    สูตรการถนอมอาหารเหล่านี้นับว่าเป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่รู้วิธีในการเก็บรักษาอาหาร หม่อมศรีพรหมาได้ถ่ายทอดเอาไว้ในหนังสือพิมพ์กสิกร และยังให้แนวคิดถึงการเป็นแม่บ้านแม่เรือนอีกด้วย ซึ่งความรู้ถึงการถนอมอาหารที่อยู่ในเล่มนี้ จะเรียกได้ว่าเป็น ตำราการถนอมอาหารของคนสมัยก่อน ร่วมกับสูตรการถนอมอาหารแบบยุคสมัยใหม่ก็ว่าได้ ซึ่งภายในเล่มยังได้บอกเล่าถึงการถนอมอาหาร อาทิ  กลุ่มอาหารที่เป็นเนื้อ สามารถถนอมเพื่อจะได้มีเนื้อไว้ทานได้นาน เช่นการใช้วิธีใส่เค็ม รมควัน ตากแห้ง หรือจำพวกนื้อประเภอไก่และปลา ผัก ผลไม้สด ให้ใช้หม้ออัด รวมถึงการทำแยมผลไม้ เยลลี่ ฯลฯ
สูตรการถนอมอาหารเหล่านี้นับว่าเป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่รู้วิธีในการเก็บรักษาอาหาร

    เรื่องราวของอัตชีวประวัติหม่อมศรีพรหมา จึงไม่มีเพียงแค่เรื่องราว ประวัติส่วนตัวของท่าน แต่ยังเป็นหนังสือที่ให้ความรู้ทั้งในแง่สังคมศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และเกร็ดความรู้ที่อ่านแล้วเพลิน เพราะเป็นความรู้ใหม่ๆ ที่เราอาจจะไม่เคยได้ยินหรืออ่านเจอในเล่มไหนมาก่อน

    จากบทสัมภาษณ์ที่ได้รวบรวม นอกจากความน่าอ่านจากลีลาการบันทึกที่เรียบง่าย ยังให้ความรู้ความคิด แสดงพัฒนาการของสังคม และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติความคิดผู้หญิง ซึ่งแน่นอนในกรณีนี้ ก็คือ บทบาทและคุณสมบัติของหม่อมศรีพรหมา สตรีผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ผิดแผกไปจากสตรีส่วนใหญ่ที่มีชีวิตอยู่ในช่วง ๑๐๐ ปีก่อน
หนังสือดี หม่อมศรีพรหมา กฤดากร

อัตชีวประวัติหม่อมศรีพรหมา กฤดากร คือ หนังสือ ๑ ในหนังสือดี ๑๐๐ เล่ม ที่คนไทยควรอ่านอย่างแท้จริ

ธิดาเจ้าผู้ครองนครน่าน ชายาในหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤษดา ผู้ละชีวิตเจ้าไปบุกเบิกไร่นากลางป่าเขา เจ้าศรีพรหมา (พ.ศ.2431-2521) เป็นธิดาเจ้าเมืองน่าน พระยามหิบาลบริรักษ์ (สวัสดิ์ ภูมิรัตน์)

>>>  ดูเพิ่มอีก หรือ สั่งซื้อได้ทางออนไลน์ 



Cultures of Fermented 
by Scoby Doit
Previous ArticleNext Article