เมื่อกล่าวถึง เมืองลพบุรี ฉันมั่นใจว่าหลายๆคน คงคิดถึงทุ่งทานตะวันขนาด 200,000 ไร่ ทุ่งทานตะวันที่จัดได้ว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หรือไม่ก็เขื่อนบนน้ำที่สวยงามที่สุด
ยามขบวนรถไฟเคลื่อนผ่านแสงจันทร์บนผิวน้ำ บนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนที่ได้ชื่อว่าสวยงามที่สุดและเป็น Unseen Thailand ที่ใครๆ ต่างอยากไปเยี่ยมชม
แต่การเดินทางครั้งนี้ของฉัน ผิดวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น เพราะ เมืองลพบุรี มีอะไรมากกว่าที่ฉันคิด ทั้งโบราณสถานและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับการก่อร้างสร้างอาณาจักรละโว้ขึ้น เป็นเมืองใหญ่อีกแห่งนอกเหนือจากอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งยังเป็นแผ่นดินในสมัยของมหาราชพระองค์หนึ่ง ผู้ซึ่งมีคุณูปการต่อการพัฒนาและนำพาความเจริญจากชาติตะวันตกเข้าสู่สยามประเทศ รวมถึงวิชาการ ความรู้สมัยใหม่ รวมไปถึงขนมไทยแสนสวยที่ใครๆ ต่างอ้างว่าเป็นขนมสัญชาติไทยแท้ ฉันอยากจะเชิญชวนคุณผู้อ่านทุกท่าน ย้อนเวลากลับไป ทำความรู้จักและเข้าใจเมืองละโว้ให้มากขึ้นกว่าการเป็นจังหวัดที่มีแต่ดอกทานตะวันให้ชม
..การเดินทางด้วยรถไฟ คือ คำตอบแว๊บแรกและแว๊บเดียวในสมอง..
ฉันเลือกการเดินทางแบบพึ่งพาตนเอง ประหยัด เรียบง่าย และเป็นระบบขนส่งที่ดูแล้วเข้ากันที่สุดกับการเยือนถิ่นโบราณสถานที่เมืองละโว้ ใช่แล้วค่ะ … การเดินทางด้วยรถไฟ คือ คำตอบแว๊บแรกและแว๊บเดียวในสมอง ฉันเลือกรอบเวลาขบวนรถเร็วสาย กรุงเทพฯ–เด่นชัย ขบวนรถออกจากสถานีหัวลำโพงในเวลา 07.00น. วันนี้ขบวนรถที่ฉันนั่งออกตรงเวลาพอดี ขบวนรถเร็วจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าลพบุรี มีเรื่องให้น่าตื่นเต้นเป็นระยะ ด้วยค่าโดยสาร 50 บาทขาดตัว จึงไม่ปรากฎเลขที่นั่ง ทำให้ฉันต้องลุ้นตลอดเวลาว่าเจ้าของที่นั่งจะมาจับจองเมื่อใด เมื่อรถไฟเคลื่อนตัวผ่านไปแต่ละสถานี ก็จะมีผู้โดยสารขึ้นมาเรื่อยๆ จนเกือบจะเต็มขบวน ทั้งคนไทย นักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติ และคนไทยเช่นฉัน นั่งรับลมชมวิวตลอดเส้นทางกว่า 02.40 ชม. ขบวนรถไฟก็นำพาฉันมาถึงเมืองลพบุรีในเวลาประมาณ 09.40น.
เมืองลพบุรี มีชื่อเสียงเรียงนามให้เรียกกันหลายชื่อว่าจะเป็นเมืองละโว้ ลวรัฐ ลวปุระ ลโวทัยปุระ เนื่องจากเมืองลพบุรีในอดีตเคยเป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่ได้รับอิทธิพลหลากหลายทั้งจากเขมร ล้านนา กรุงศรีอยุธยา ฯลฯ อีกทั้งได้ชื่อว่าเป็นอาณาจักรที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาก ซึ่งสามารถสืบได้จากร่องรอยทางโบราณสถานและโบราณคดี ที่ได้บอกกล่าวว่า เมืองลพบุรีมีผู้คนอาศัยมากว่า 3,000 ปีก่อน ในการกล่าวอ้างอิงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองลพบุรียังมีระบุในพงศาวดารเมืองเหนือ อย่างตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ที่เกี่ยวพันกับเรื่องราวทางพุทธศาสนา และการเดินทางของพระเจ้านางจามเทวี จากเมืองลวปุระขึ้นไปปกครองอาณาจักรหริภุญไชยอีกด้วย เมื่อครั้งขอมเรืองอำนาจ อาณาจักรละโว้ ยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของเขมร จวบจนกระทั่งเขมรหมดอำนาจและกาลเวลาเปลี่ยนผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่กรุงศรีอยุธยาเข้ามามีบทบาท และทำให้เมืองลพบุรีมีความเจริญรุ่งเรืองขีดสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาลำดับที่ 27 แห่งราชวงศ์ปราสาททอง
เมื่อก้าวเท้าลงจากขบวนรถไฟ สิ่งแรกที่ฉันสัมผัสได้ในทันที คือ อารยธรรมและโบราณสถานที่เก่าแก่ที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟลพบุรี นั่นคือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่อย่างโดดเด่น ฉันจำได้ว่าพระเจดีย์ที่ปรากฎอยู่ตรงหน้า คือ 1 ใน 8 จอมเจดีย์แห่งสยามประเทศที่ปรากฎอยู่บนภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดเบญจมพิตร กรุงเทพมหานคร หากไม่มีความสำคัญจริง คงไม่มีทางที่จะมาปรากฎเป็นเจดีย์ที่มีความสำคัญยิ่งของสยามประเทศเป็นแน่แท้
ฉันไม่รั้งรอ ด้วยเปลวแดดที่กำลังแผดเผา เป็นช่วงเวลากลางวันที่ร้อนระอุสำหรับการเยือนโบราณสถาน ไม่ว่าจะที่ใดในประเทศไทย ครีมกันแดด SPF 50 ยังเอาไม่อยู่ ^^
ก้าวแรกของการเข้าไปสัมผัสร่องรอยอารยธรรมโบราณของศาสนสถานแห่งนี้ สิ่งที่สะดุดตาที่สุด คือ พระประธานเจดีย์ งานสถาปัตยกรรมเขมร ที่มีความสูงโดดเด่นกว่า 30 เมตร นับเป็นพระปรางค์ที่สูงและใหญ่ที่สุดในลพบุรี และยังเป็นพุทธเจดีย์ ที่องค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาแลง หน้าบันมีลวดลายงานปูนปั้นเป็นรูปพระพุทธรูป ลักษณะพุทธรูปในนิกายมหายาน และซุ้มโคปุระยังเป็นงานศิลปะแบบละโว้ที่สวยงามและดูแปลกตาเช่นกัน นอกจากองค์พระปรางค์จะโดดเด่นแล้ว ทั้งวิหารหลวงขนาดใหญ่ เจดีย์รายทางยังมีเอกลักษณ์งานศิลปะสมัยอยุธยาให้ได้ชมอีกด้วย เป็นวัดที่มีความมหัศจรรย์ทางศาสตร์แห่งศิลป์ หากจะพูดกันเป็นภาษาคนยุคเทคโนโลยีบังตา เราคงต้องเรียกว่า เป็นวัดที่มีความเป็นอินเตอร์สุดๆ เพราะมีความหลายหลายของงานศิลป์ให้ดูหลายสมัยและหลายชาติ
แม้ว่าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จะไม่สามารถระบุหลักฐานในการเริ่มสร้างเมื่อใด แต่ก็ปรากฎให้เราได้พอสันนิษฐานไปได้ว่า ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วัดแห่งนี้ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์อยู่เป็นนิจ เพราะเท่าที่ฉันเห็น ลักษณะและสภาพโบราณสถานที่ปรากฎ ยังคงสวยงามเด่นชัด แม้จะผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน แต่สถานที่แห่งนี้ก็ไม่ได้เหลือแค่เศษซากอิฐ แต่ยังคงปรากฎรูปร่างให้เราได้เห็นอย่างชัดตาและแจ่มแจ้งในความคิดว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ไม่เคยถูกละเลยหรือทอดทิ้งจากพระมหากษัตริย์ไทยเลยแม้แต่น้อย เฉกเช่นเดียวกัน พระปรางค์สามยอด และศาลพระกาฬ งานสถาปัตยกรรมสมัยเขมรเรืองอำนาจและแผ่อิทธิพลมาถึงเมืองลพบุรี ณ สมัยนั้นที่ฉันจะพาคุณผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักในตอนต่อไป
โปรดติดตามตอนที่ 2