หลังจากที่ได้เกริ่นเล่าเรื่อง โครงการบูรณะซ่อมแซมเรือน จ้วนฉินไจ้ อุทยานเฉียนหลง เอาไว้ เมื่อตอนที่แล้วว่า มีความเป็นมาคร่าวๆ อย่างไร ในตอนนี้จะเจาะลึกลงไป ถึงขั้นตอนการทำงานของทีมงานนักโบราณคดีจีน ที่ต้องบอกว่า เป็นงานงมเข็มในมหาสมุทร ที่ยากเย็นเพียงใด แต่ในที่สุดก็ต้องยอมพ่ายแพ้ให้กับความเพียรพยายามในการเฟ้นหาวัตถุดิบและช่างฝีมือ ของบรรดาทีมงานนักโบราณคดีจีนและ เจ้าหน้าที่จากกองทุนเพื่ออนุสรณ์สถานโลก ( World Monument Funds )
The Emperor’s Private Paradise Juanqinzhai
เรือน จ้วนฉินไจ้ ใน อุทยานเฉียนหลง หรือในภาษาจีนจะเรียกอุทยานแห่งนี้ว่า “หนิงโชวกง” ตัวเรือนมีลักษณะเป็นอาคาร ๒ ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยที่เต็มไปด้วยศิลปะวัตถุ ทั้งที่จับต้องได้และไม่ได้ รวมถึงงานฝีมือที่ปรากฎอยู่ในทุกกระเบียดนิ้วบนพื้นที่ ๒๒๔ ตารางเมตร พื้นที่ภายในเรือน ถูกออกแบบ เพื่อการใช้สอยได้อย่างคุ้มค่าที่สุด งานฝีมือ ที่อยู่ในเรือนหลังนี้นับได้ว่าเป็นสิ่งที่พิเศษสุดๆ ทุกอย่างคือผลผลิตจากการถูกออกแบบ และการเฟ้นหาวัสดุอันล้ำเลิศ มากด้วยคุณภาพเป็นเยี่ยมของแผ่นดินจีน
ก่อนการเริ่มงานบูรณะครั้งใหญ่
จ้วนฉินไจ้ อุทยานเฉียนหลง ในพระราชวังต้องห้าม
GQ กางเกงชิโน ผ้ายืด สีแดง ใส่สบาย น้ำหนักเบา สะท้อนน้ำ เหมาะกับอากาศร้อน สบายจริงๆ สบายจัดๆ
GQ กางเกงชิโน >> คลิ๊ก
ทางทีมงานได้เข้าสำรวจพื้นที่ใน เรือน จ้วนฉินไจ้ โดยละเอียด ตั้งแต่ โครงสร้าง , ฝ้า, เพดาน ,งานจิตรกรรมภาพเขียน, งานปัก, งานแกะสลักไม้ บานประตู หน้าต่าง เสาค้ำ ฯลฯ และยังได้ทำการสืบเสาะหาข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การสร้างเรือนในสมัยที่ องค์จักรพรรดิเฉียงหลง ยังทรงปกครอง แน่นอนว่าวัสดุทุกชิ้นต้องมาจากแหล่งผลิตที่มีชื่อเสียงของแต่ละที่ในยุคนั้น
โดยในการบูรณะครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ทีมงานจะต้องหาวัสดุที่ดีที่สุด คุณภาพเยี่ยมที่สุด และใกล้เคียงกับของดั้งเดิมที่สุดแล้ว ยังต้องหาช่างฝืมือที่มีฝีมืออันวิเศษ ด้วยกรรมวิธีโบราณในการผลิตแบบดั้งเดิมอีกด้วย
กาลเวลาล่วงเลยผ่านมานับร้อยปี ทางทีมงานต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการสืบเสาะ มองหา และเลือกแหล่งผลิต โดยวัสดุหลักๆ ที่เป็นหัวใจสำคัญในการบูรณะเรือนหลังนี้ ได้แก่ ผ้าไหม กระดาษ ไผ่/ ไม้เนื้อดี
การบูรณะซ่อมแซมเรือน จ้วนฉินไจ้ อุทยานเฉียนหลง เริ่มต้นจาก งานศิลปะภาพวาด เป็นภาพวาดเชิง ๓ มิติ บนผ้าไหม ที่ปรากฎอยู่บนเพดานและฝาผนังของเรือนจ้วนฉินไจ้ เป็นภาพศิลปะเชิง ๓ มิติ หรือภาพลวงตา เรียกอีกอย่างในภาษาฝรั่งเศสว่า Trompe l’oeil Mural มีสภาพชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก สีสันของ ดอกวิสเทอเรีย ที่ดูมีชีวิตชีวาเริ่มจางหาย แต่ก็ยังคงความงามและรูปแบบศิลปะเชิง ๓ มิติ ที่ชัดเจน เนื่องจากอยู่ในเรือนที่ปิดร้างมานานนับ ๑๐๐ ปี แสงจากธรรมชาติจึงไม่สามารถทำร้ายสีสันภาพจิตรกรรมเหล่านี้ได้เลย แต่ในทางกลับกันเนื้อกระดาษที่รองรับภาพจิตรกรรมบนผ้าไหม เริ่มผุพังตามกาลเวลา ซึ่งหากไม่รีบดำเนินการซ่อมแซม หาวัสดุกระดาษใหม่มาทดแทน ภาพวาดจิตรกรรมนี้อาจจะสูญสลายไปจากความชื้นได้ในที่สุด
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่ปรากฎอยู่บนเพดานและบริเวณฝาผนัง เป็นผลงานของมิชชันนารีชาวอิตาเลียน ซึ่งถวายการรับใช้องค์จักรพรรดิทั้ง ๓ พระองค์ ของราชวงศ์ชิง ได้แก่ จักรพรรดิคังซี , จักรพรรดิหย่งเจิ้ง และ จักรพรรดิเฉียนหลง ศิลปินมิชชันนารีท่านนี้มีนามว่า Guiseppe Castiglione มิสเตอร์ Castglione ท่านได้แนะนำให้องค์จักรพรรดิเฉียนหลงได้รู้จักกับ เทคนิคการวาดภาพทางตะวันตกอีกด้วย ภาพความสวยงามของมวลหมู่ดอกไม้ สัตว์มงคลที่ปรากฎอยู่บนเพดาน และฝาผนังล้วนเป็นภาพศิลปะ ๓ มิติ ซึ่งในสมัยนั้น เป็นของใหม่ และแปลกตา ของพระราชวังต้องห้ามแห่งนี้ อาจจะพูดได้ว่าอาจจะเป็นเพียงเรือนหลังเดียวที่มีงานภาพจิตรกรรมอันวิเศษสุดเช่นนี้ ในแผ่นดินจีน สะท้อนถึงรสนิยมอันวิเศษขององค์จักรพรรดิเฉียนหลงที่ทรงหลงใหลในงานศิลปะเป็นอย่างมาก
โรงงานกระดาษแห่งเดียวและแห่งสุดท้ายของเมือง ที่ยังมีกรรมวิธีผลิตกระดาษแบบโบราณ
เมืองอันฮุย
เมืองอันฮุย เป็นที่ตั้งของ โรงงานกระดาษแห่งเดียว และแห่งสุดท้ายของเมือง ที่ยังมีกรรม วิธีผลิตกระดาษแบบโบราณ ทีมงานอนุรักษ์จึงตัดสินใจ ทำการสำรวจข้อมูลเชิงลึกถึงพื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งผลิตกระดาษมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยหาคุณสมบัติของกระดาษที่ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด และก็พบ โรงงานผลิตกระดาษแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ เมืองอันฮุย เป็นโรงงานกระดาษแห่งเดียวและแห่งสุดท้ายของเมืองที่ยังมีกรรมวิธีผลิตกระดาษแบบโบราณ รวมถึงได้เชิญ มิสเตอร์ T.K. Mc.Clintock ซึ่งเป็นนักอนุรักษ์ภาพจิตรกรรม ที่มีผลงานและชื่อเสียงในการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมต่างๆ จากประเทศสหรัฐอเมริกา มาช่วยในการซ่อมแซมครั้งนี้ด้วย
การเริ่มต้นการบูรณะภาพจิตรกรรมฝาผนังในเรือน ทีมนักอนุรักษ์ใช้เวลาเป็นอย่างมากกับขั้นตอนแรก เนื่องจากภาพวาดที่มีขนาดใหญ่ราว ๒๕๐ ตารางเมตร ความสูงราว ๒ เมตร และความกว้างอีก ๗ เมตร ภาพจิตรกรรมบางส่วนขาด ชำรุด และเสื่อมสภาพ ภาพจิตรกรรมขนาดใหญ่นี้เป็นภาพวาดวิวทิวทัศน์ รวมถึงความงามของพระตำหนัก/ อาคารในพระราชวัง โดย Giuseppe Castiglione มิชชันนารีชาวอิตาเลียน ใช้สีจากแร่ธาตุต่างๆที่หาได้ในเวลานั้นในการสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมให้งดงามอย่างมีสีสัน
มิสเตอร์ หยี่ฝู เจ้าของโรงงานผลิตกระดาษของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองอันฮุย โรงงานผลิตกระดาษแห่งสุดท้าย ที่ยังคงกรรมวิธีสืบทอด กระบวนการผลิดกระดาษแบบโบราณมากว่า ๒๐๐ ปี แน่นอนว่าการผลิตครั้งแรกย่อมไม่เป็นที่ถูกใจ และคุณภาพยังไม่ได้ตามที่ต้องการ ไม่หนาเกินไป ก็บางเกินไป
มิสเตอร์หยี่ฝู ไม่รู้มาก่อนว่า กระดาษที่เขากำลังพยายามผลิตให้ได้คุณภาพสูงสุดตามที่ทีมอนุรักษ์ต้องการนั้น นำไปทำอะไร หรือใช้เพื่ออะไร เขารู้เพียงแต่ว่าจะนำไปใช้ใน พระราชวังต้องห้าม เพียงเท่านี้ที่เขารับทราบ เขาก็รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง และมุ่งมั่นผลิตกระดาษครั้งแล้วครั้งเล่า ลองผิดลองถูก จนในที่สุดการผลิตครั้งที่ ๙ ก็เป็นผล คุณภาพของกระดาษเป็นที่ถูกใจเกินคาด ทั้งขนาดน้ำหนัก คุณสมบัติของเนื้อกระดาษ ทุกอย่างบรรลุตามเงื่อนไขของคุณสมบัติที่ทางทีมอนุรักษ์กำหนดไว้ทุกประการ
ในขณะที่กระดาษที่จะนำมาทดแทนและเสริมภาพจิตรกรรมฝาผนังอันล้ำค่า มีคุณภาพตามที่ต้องการแล้ว ทีมอนุรักษ์ยังคงต้องมุ่งมั่นในการสืบหาข้อมูลของวัสดุอื่นๆ อีกต่อไป เพราะการอนุรักษ์เรือนจ้วนฉินไจ้ พึ่งจะเริ่มต้นขึ้น
The Emperor’s Secret Garden (2010) 乾隆花园修缮记
ความวิจิตรงดงาม ของ เรือนจ้วนฉินไจ้ อุทยานเฉียนหลง แห่งนี้ นอกเหนือจาก ภาพจิตรกรรมฝาผนังอันงดงามแล้ว ยังมีเรื่องราวความสลับซับซ้อนของงานปักผ้าไหม ที่ประดับประดาอยู่ตามพระที่นั่ง ซึ่งมีฝีมืออันประณีตและละเอียดที่สุด ทีมงานอนุรักษ์เริ่มต้นจากการหา ช่างฝีมือในการปักไหม และจากการค้นคว้าข้อมูลในช่วง รัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง พระองค์ทรงโปรดงานฝีมือและงานผ้าไหมของ เมืองซูโจว มณฑลเจียงหนาน เป็นอย่างมาก ด้วยทั้งคุณภาพและสีสันอันสดใสสวยงามของเส้นไหม
เมืองซูโจว มณฑลเจียงหนาน
ทีมงานอนุรักษ์ได้ลงพื้นที่และสำรวจตามข้อมูลหลักฐาน และในที่สุดก็ได้เจอ โรงงานปักไหมแห่งหนึ่ง ที่มีประวัติการทำงานมานานจากรุ่นสู่รุ่น แต่งานไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดไว้ เพราะขั้นตอนการทำงาน ช่างฝีมือปักไหมจะต้องดูงานลายปักต้นแบบจากภาพถ่ายเท่านั้น เนื่องจากของจริง คือ โบราณวัตถุอันล้ำค่าที่ไม่สามารถนำออกจากพระราชวังต้องห้ามได้
งานปักไหมอันประณีตละเอียดอ่อนในเรือนจ้วนฉินไจ้
โรงงานแห่งนี้มี คุณกูเหวินเซียะ เป็นผู้ดูแลและลูกสะใภ้ คุณฉางผิง ในการบริหารงานกิจกรรมและอนุรักษ์รูปแบบการปักไหมแบบดั้งเดิม ปัจจุบันนี้ คุณกูเหวินเซียะก็ยังปักไหมและยังถ่ายทอดความรู้การปักไหมด้วยวิธีดั้งเดิมให้กับคนรุ่นใหม่ ในการบูรณะซ่อมแซมเรือนจ้วนฉินไจ้ครั้งนี้ คุณฉางผิงเป็นผู้เข้ามาดูแลและควบคุมงานทั้งหมด
ความท้าทายของงานปักไหม คือ การสร้างลวดลายใหม่เพื่อให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับของดั้งเดิมให้มากที่สุด คุณฉางผิงต้องสเก็ตซ์ลวดลายโดยยึดต้นแบบจากภาพถ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากเป็นอย่างยิ่ง ทั้งคุณฉางผิง และ คุณกูเหวินเซียะ ต้องศึกษาภาพลวดลายจีนโบราณก่อนร่างลงกระดาษ และวาง outline อีกครั้งบนผ้าไหมสีเหลืองทอง จากนั้นจึงจะเริ่มการปักไหม ซึ่งในที่สุดก็สามารถทำได้สำเร็จโดยใช้เวลาในการปักไหมบนผ้า ๒๓ ชิ้น ที่ใช้ในการประดับและตกแต่งเรือน ไปมากกว่าปี จึงจะสำเร็จตามวัตถุประสงค์
งานปักไหมอันประณีตละเอียดอ่อนในเรือน จ้วนฉินไจ้ อุทยานเฉียนหลง พระราชวังต้องห้าม แห่งนี้ นอกจากจะเป็นไฮไลท์ที่น่าชมแล้ว งานผ้า ซึ่งเป็นวัสดุหลักในการบูรณะซ่อมแซมเรือนหลังนี้ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน และทีมงานนักอนุรักษ์ก็ยังคงต้องดั้งด้นเพื่อสืบเสาะหาแหล่งผ้าทอบนเส้นทางประวัติศาสตร์ ที่ครั้งหนึ่งองค์จักรพรรดิเฉียนหลงโปรดให้สั่งผ้าจากที่นี่ เพื่อนำมาใช้ตกแต่งเรือน จ้วนฉินไจ้ พระตำหนักสุดท้ายของบั้นปลายชีวิต ส่วนพระองค์
” โปรดติดตามต่อในตอนสุดท้ายว่าทีมงานนักอนุรักษ์จะพบโรงงานนั้นหรือไม่นะคะ”
Source:
ChinaDaily : https://www.chinadaily.com.cn/culture/2014-07/21/content_17858296.htm
World Monument Funds : www.wmf.org
The MET: The Emperor’s Private Paradise: Virtual tour of Juanqinzhai
乾隆花园修缮记
China exhibit at MAM reveals an emperor’s past https://archive.jsonline.com/entertainment/arts/123563209.html/
Lecture by World Monument Funds
ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ประเทศจีน