แม่พลอย ใน สี่แผ่นดิน Four reigns บทประพันธ์สุดแสนจะอมตะคลาสสิคตลอดกาลเรื่องนี้ ผู้ประพันธ์คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านได้กำหนดตัวละครหลักของเรื่องนี้คือ แม่พลอย
หญิงสาว ที่เกิดเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๒๕ และเสียชีวิตในปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ รวมอายุได้ ๖๔ ปีเศษ กับการมีชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึง ๔ แผ่นดิน ตั้งแต่สมัยแผ่นดินของพระพุทธเจ้าหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนกระทั่งถึง แผ่นดินในสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในหลวงรัชกาลที่ ๘
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้ให้ความเห็นถึงลักษณะนิสัย และความเป็นตัวตนของ แม่พลอย เมื่อครั้งให้สัมภาษณ์กองบรรณาธิการนิตยสารถนนหนังสือ ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ว่า “แม่พลอยเป็นคนที่ไม่มีสิทธิของผู้หญิงเลย ไม่เคยเรียก ไม่เคยร้อง แล้วแม่พลอยนี่ เป็นคนที่เชยที่สุด… คุณจะว่านางเอกก็นางเอก แต่เป็นคนเชยที่สุด แม่พลอยถ้าแกอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ แกก็ลูกเสือชาวบ้าน แกจะไปรำละครบ้าๆ บอๆ ถึงขนาดนั้น” และ “ที่นี่คนอ่านคนไทย ปลื้มอกปลื้มใจ เห็นแม่พลอยเป็นคนประเสริฐเลิศลอย ก็เพราะคนไทยก็เป็นคนแบบนั้น อ่อนน้อมถ่อมตน คนอ่านส่วนมาก อยากเป็นแม่พลอย เป็นคนไทยมีใจรักชาติ และสะท้อนให้เห็นแง่คิดในสังคมไทย นี่คือสาเหตุที่ สี่แผ่นดินถึงได้มีชื่อเสียง”
แม่พลอย แม้จะไม่มีความรู้ ถึงเรื่องที่เป็นไปในบ้านเมืองมากนัก… เพราะในชีวิตของเธอ ตั้งแต่เกิดมา แม่พลอย ก็ใช้ชีวิตอยู่กับแม่ ที่บ้านคลองบางหลวง และไปเติบโตในรั้วในวัง ทำให้แม่พลอย เป็นสาวชาววังเต็มตัว กิจวัตรในแต่ละวัน ก็จะมีเพียงงานบ้าน งานเรือน งานถวายรับใช้เสด็จ ซึ่งก็มีมากมาย เพียงพอที่จะไม่มีเวลาไปทำอะไรอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมา …
ชีวิตของแม่พลอย ภายในรั้วในวัง จึงเปรียบเสมือน “โรงเรียนประจำ” ที่นานๆ ที จะได้มีโอกาสออกมานอกรั้วนอกวังบ้าง ..ซึ่งในที่จะออกมาแต่ละคราว ก็ต้องมีขั้นตอน ทำเรื่องกราบทูลขออนุญาต แต่ก็ไม่ได้ออกมาอย่างพร่ำเพรื่อ มักมีเหตุที่ต้องออกวังจริงๆ ถึงจะได้ออกมาดูความเป็นไปของโลกภายนอก (วัง) นี่จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลก หากบทบาทการเมือง แลความเป็นไปของบ้านเมือง จะไม่เคยเข้ามาอยู่ใน โสตประสาทการรับรู้ของแม่พลอยเลย เพราะเรื่องราวสวนใหญ่ จะอยู่เฉพาะในแวดวงของชนชั้นนำในสมัยนั้นเท่านั้น
สี่แผ่นดิน Four Reigns ออกอากาศ เป็นละครโทรทัศน์ครั้งแรกในปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ ทางช่อง ๔
การมีชีวิตอยู่ของแม่พลอย ผ่านความสุข ความทุกข์มาตลอดทั้ง ๔ แผ่นดิน ความสุขที่สุดของการมีชีวิตอยู่ คือ ในช่วงสมัยครั้งแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง ทุกข์ที่สุดก็ในช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าหลวง ทรงเสด็จสวรรคต เพราะเสมือนขาดร่มโพธิ์ร่มไทรไป และมาเป็นทุกข์อีกครั้งเมื่อคุณเปรม ได้ลาจากโลกนี้ไป อีกทั้งลูกๆ เริ่มมีปัญหาทะเลาะกันเอง และครั้งสุดท้าย เมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๘ ทรงเสด็จสวรรคต “ชีวิตของแม่พลอยก็ลาจากโลกนี้ไปพร้อมๆ กับเรื่องราวของชีวิตตลอด ๔ รัชกาล”
ชีวิตแม่พลอย ดูสมจริงสมจัง เพราะลูกๆ ของแม่พลอย แม้จะเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน แต่ก็ต่างคนต่างคิด ต่างมีชีวิตของตน และเมื่อถึง ยุคสมัยของ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. ๒๔๗๕ ) ยิ่งทำให้แม่พลอย รู้สึกทุกข์มากขึ้น กับการเปลี่ยนแปลง ดังกล่าว และคำว่า “การเมือง” ได้เข้ามามีส่วนทำให้ชีวิตของแม่พลอย ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป … ถึงแม้ว่าแม่พลอยจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับความเป็นไปของบ้านเมืองมากนัก แม้จะถึงคราวความเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ในมุมมองของแม่พลอย ก็มองออกว่า “การเมือง” คือ สิ่งที่ทำให้ต่างคนต่างคิด ต่างมีความขัดแย้ง และการเมืองก็ทำให้ความสัมพันธ์ ในครอบครัวมีความเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน …
นอกจากแม่พลอย แล้ว บุคลิกของตัวละครบางตัว เช่น ตาอ๊อด ( ลูกชายคนที่สามของแม่พลอย ) ยังมีลักษณะอุปนิสัยที่คล้ายกับผู้ประพันธ์เอง และ ตาอั้น ( พี่ชายคนที่สอง ) ก็มีความคิด ความอ่าน บุคลิกเหมือนพี่ชาย ของผู้ประพันธ์ นั่นคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช … ส่วนแม่พลอย ตามเรื่อง แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าตัวตนที่แท้จริง มีหรือไม่ แต่ก็มี นักวิจารณ์หลายท่าน ได้ให้ความเห็นว่า “เป็นญาติของผู้ประพันธ์” นั่นเอง ซึ่งเป็นคนที่อยู่ในตระกูลบุนนาค
ทั้งนี้ผู้ประพันธ์ ( ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ) ก็ยอมรับข้อเท็จจริงจาก คำวิจารณ์ดังกล่าว เนื่องจาก ท่านได้นำ ลักษณะ คุณธรรม ของผู้ใหญ่ที่ท่านให้ความเคารพและนับถือ ท่านหนึ่ง มาใส่ในตัวละคร “แม่พลอย” และผู้ใหญ่ที่ท่านให้ความเคารพนับถือและมีลักษณะใกล้เคียงที่สุด ก็คือ “คุณหญิงจำเรฺิญ ประเสริฐศุภกิจ” หรือ ที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เรียกท่านว่า อาเริญ ผู้มีความเพียบพร้อมไปด้วยความเมตตากรุณา มีความซื่อสัตย์ และจงรักภักดีอย่างที่สุด ซึ่งคุณหญิงประเสริฐศุภกิจ เอง ท่านก็ได้ทำพินัยกรรม ให้ทายาทของท่าน จัดพิมพ์ หนังสือสี่แผ่นดิน ในงานพระราชทานเพลิงศพของท่านด้วย เหตุเพราะท่านคิดว่า ท่านคือ แม่พลอย ในสี่แผ่นดิน
สี่แผ่นดิน ออกอากาศ เป็นละครโทรทัศน์ครั้งแรกในปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ ทางช่อง ๔ และโด่งดัง เป็นที่รู้จักกันทั้งประเทศ กวาดรางวัลมากมาย ขึ้นแท่นเป็นตำนานละครที่คลาสสิคที่สุดของประเทศไทย เมื่อ คุณจินตหรา สุขพัฒน์ รับบทเป็น แม่พลอย ท่าน มรว.คึกฤทธิ์ ถึงกับเอ่ยปากชื่นชม การแสดงของคุณจินตหรา อย่างตรงไปตรงมาว่า “นี่ล่ะแม่พลอยของฉัน” ซึ่งก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า คุณแหม่ม จินตหรา แสดงบทแม่พลอยได้อย่างยอดเยี่ยม ไร้ที่ติจริงๆ เป็นแม่พลอย แห่งสี่แผ่นดิน ที่ยังถูกกล่าวจนถึงทุกวันนี้
“Dusit Samosorn” (Samosorn = Club) was a residence of Praya Prasertsuppakit (Perm Krailerk), it was built in 1905 using Italian style architecture (by Mario Tamagno, an Italian architect who designed Ananda Samakhom Throne Hall in the Royal Plaza). When finished, King Rama VI paid a royal visited to bless the house.
“ดุสิตสโมสร” เคยเป็นบ้านพระยาประเสริฐศุภกิจ (เพิ่ม ไกรฤกษ์) เป็นคฤหาสน์แบบอิตาเลียน ออกแบบโดย สถาปนิกผู้สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม คือ นายมาริโอ ตามานโญ (Mario Tamagno) และเมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเหยียบบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย
พระยาประเสริฐศุภกิจ (เพิ่ม ไกรฤกษ์) มีตำแหน่ง เป็นถึงหัวหน้ามหาดเล็ก ในล้นเกล้าพระพุทธเจ้าหลวงรัชการที่ ๕ เคยตามเสด็จฯ เมื่อครั้งพระพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๔๐
ท่านผู้นี้เป็นน้องชาย ของพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (ประวัติพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ท่านดำรงยศครั้งแรกในสมัยพระจุลจอมเกล้า เป็นมหาดเล็กประจำห้องพระบรรทม และท่านนี่แหละคือผู้จดบันทึกเหตุการณ์ในห้องพระบรรทมก่อนจะเสด็จสวรรคต และท่านยังดำรงยศเป็น อธิบดีกรมชาวที่ ท่านเป็นทายาทซึ่งสืบสกุลมาจากพระยาไกรโกษา (ฤกษ์) มีน้องและพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันคือ พระยาประเสริฐศุภกิจ แต่ได้รับพระราชทานนามสกุลเป็นประเสริฐศุภกิจ ก่อนที่จะถูกซื้อเป็นกรรมสิทธิ์ของดุสิตอเวนิว เป็นของ รศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ทายาทตระกูลไกรฤกษ์
ไม่ว่า เรื่อง สี่แผ่นดิน จะถูกนำกลับมาเสนอใหม่ ในรูปแบบใดก็ตาม … จะทางจอแก้ว ละครเวทีวิทยานิพนธ์ หรือแม้แต่ละครเวทีในยุคสมัยใหม่ เช่น ที่คุณสินจัย เปล่งพานิช แสดงนำ สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจจะปฏิเสธไปได้นั่นคือ เรื่องราวที่แสนประทับใจตามบทประพันธ์ของ ม.ร.ว. คึก ฤทธิ์ ปราโมช ที่นักแสดงทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ หมุนเวียนเปลี่ยนไปมานำเสนอและถ่ายทอดเรื่องราวที่แสนงดงามของสังคมไทย ตั้งแต่สมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ จนถึงรัชกาลที่ ๘ ทำให้เราได้มองเห็นถึงความสวยงาม การเปลี่ยนแปลง การลดน้อยถอยลงของศีลธรรม วัฒนธรรม ประเพณีที่แสนงดงามในสังคมยุคปัจจุบัน สัจธรรมแห่งชีวิต และนอกเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด คือ ความจงรักภักดีของพสกนิกรไทยทุกคนต่อพระบรมวงศานุวงศ์ทุกๆ พระองค์ จวบจนปัจจุบัน และพระมหากรุณาธิคุณที่พระมหากษัตริย์ไทย และ พระบรมวงศานุวงศ์ทรงมอบให้พสกนิกรไทยเสมอมา ขอทุกพระองค์ทรงพระเจริญยิงยืนนาน
เครดิต http://mblog.manager.co.th/nelumbo/th-45725/ คุณนิหัสลัง เจะยามา
หนังสืออนุสรณ์คุณหญิงประเสริฐศุภกิจ
หาความรู้เพิ่มเติม
หรือ สั่งซื้อ หนังสือ สี่แผ่นดิน ทางออนไลน์
” นวนิยายเพชรน้ำเอก ที่ได้รับยกย่องให้เป็นวรรณกรรมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ติดตราตรึงใจ ตราบจนปัจจุบัน ”