ตะเกียบเป็นเครื่องใช้คีบอาหาร และวัฒนธรรมการกิน ของคนจีน ที่มีลักษณะเป็นแท่งยาวๆ ประกอบขึ้นด้วยไม้ จำนวน 2 อัน ทำงานโดยใช้หลักทางฟิสิกส์เกี่ยวกับเรื่องคานงัดมาใช้คีบอาหาร เป็นเครื่องมือง่ายๆ สามารถทำงานได้แทนมือได้เป็นอย่างดี ประโยชน์ใช้สอยนั้น นับได้ว่า เหลือคณาจริงๆ ใช้งานกันมา นับตั้งแต่โบราณกาล จวบถึงปัจจุบัน
เมื่อเอ่ยถึง “ตะเกียบ” ในความรู้สึกแรก เรามักจะนึกถึงอะไรที่เกี่ยวพันกับ การใช้ตะเกียบ ? เช่น อาหารประเภท ก๋วยเตี๋ยว , ซูชิ บ้างก็นึกถึงแบบเจาะลึกลงไป เช่น นึกไปถึง สัญลักษณ์วัฒนธรรมการกิน ของคนจีน รวมถึง คนเอเชีย เช่น เกาหลี , ญี่ปุ่น และเวียดนาม และ ในโบราณกาล ไม่ว่ามนุษย์ชาติใด วัฒนธรรมใด ก็ล้วนแล้วแต่ “ใช้มือ” ในการหยิบจับอาหารกิน ทั้งสิ้น ต่อมาก็พัฒนาเริ่มใช้ “ช้อน” ในการตักอาหารกิน จากบันทึกของนักประวัติศาสตร์ ชาวจีนเริ่มมีการใช้ช้อนกันแล้ว เมื่อประมาณ 8,000 ปี และใช้ส้อม 4,000 ปี ที่ผ่านมา โดย ตะเกียบ ยังไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ว่า เริ่มมีการใช้กันตั้งแต่เมื่อใด ซึ่งจากบันทึกหลักฐานต่างๆ พบว่า ตะเกียบ อาจจะเริ่มคิดนำมาใช้กัน ไม่น้อยกว่า 3,000 ปี ที่ผ่านมา จึงน่าจะอนุมานได้ว่า การใช้ช้อนและส้อม รวมถึง ตะเกียบ ของชาวจีน เริ่มขึ้นใกล้เคียงกัน…
ตะเกียบ ในภาษาจีน แต่เดิมโบราณเรียกว่า “จู้” ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฮั่นเริ่มมีการใช้ตะเกียบกินข้าว (โกยข้าว) นอกเหนือจากการใช้คีบอาหาร (กับข้าว) ในภายหลังสมัยราชวงศ์ซ่งและเอวี๋ยน จะเรียกตะเกียบว่า “ไคว่จื่อ”
เหตุเพราะว่า คำว่า จู้ (ที่แปลว่า ตะเกียบ) กับ จู้ (ออกเสียงเหมือนกัน แต่เขียนไม่เหมือนกัน) แปลว่า พักอาศัย , หยุด …ชาวประมงที่เดินเรือหวังว่าเรือจะแล่นได้เร็ว และไม่ปรารถนาให้เรือหยุดบ่อย อีกเพื่อเป็นสิริมงคล จึงเปลี่ยนชื่อเรียกตะเกียบว่า “ไคว่เอ๋อ” (เร็ว) เมื่อคนฟังก็รู้สึกสบายใจ และลงตัวดี จึงเรียกตามกันเรื่อยๆมา ต่อมาบนอักษร “ไคว่” (เร็ว) ได้เพิ่มเติมหมวดคำ “จู๋” (แปลว่า ไผ่) เขียนเป็น “筷” และใช้มาจนถึงปัจจุบัน
จากการศึกษาวิจัยทางสรีรวิทยา พบว่า ….
การใช้ตะเกียบกินข้าว นับได้ว่าเป็นการออกกำลังกายของข้อกระดูกถึง 30 ข้อ รวมถึง มัดของกล้ามเนื้อหลายสิบมัด การออกแรงและการกำหนดทิศทางของตะเกียบในการกินข้าว จะทำให้ประสาทสัมผัสได้ใช้งาน มีการบริหารสมอง และสามารถทำให้ฉลาดยิ่งขึ้น
- ลักษณะของ ตะเกียบ
คงไม่ต้องกล่าวถึงอย่างละเอียดกันมากนัก เพราะทุกคนต่างรู้จักกันอยู่แล้ว และทุกคนก็น่าจะเคยได้หยิบจับและใช้กันบ่อยๆ อย่างน้อยก็เวลาคุณรับประทานก๋วยเตี๋ยว ขอแต่เพียงสรุปแบบสั้นๆ ตะเกียบ มีลักษณะเป็นแท่งไม้ยาวๆ ขนาดโดยประมาณ 7-11 นิ้ว ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ และวัตถุประสงค์การใช้ นอกเหนือจากใช้ตะเกียบสำหรับการคีบกินอาหารแล้ว ยังมี ตะเกียบอีกประเภท ที่ใช้สำหรับเป็นเครื่องมือการปรุงอาหารอีกด้วย ขนาดของตะเกียบ อาจยาวถึง 13 – 18 นิ้ว เลยทีเดียว ทุกคนอาจจะคุ้นตากันบ้างแล้ว ตามร้านปาท่องโก๋
รูปทรงของ ตะเกียบ
ตะเกียบ มีขนาดที่แตกต่างกันบ้างตามวัตถุประสงค์การใช้งาน
จากที่กล่าวไปแล้วในเบื้องต้น แต่ในด้านของรูปทรงหากจะสังเกตุกันให้ดีๆ เราจะเห็นว่า ตะเกียบของจีน และตะเกียบของญี่ปุ่น จะมีความต่างกัน เช่น ตะเกียบจีนส่วนล่างจะกลมและมีขนาดยาวกว่า ส่วนตะเกียบญี่ปุ่น ส่วนล่างจะแหลมและปลายเล็ก ( ส่วนล่างคือ ส่วนปลายที่คีบจับอาหาร) ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ถึงความแตกต่างนี้ แต่มีการสันนิฐานกันตามธรรมเนียมปฎิบัติการกิน ก็อนุมานกันได้ว่า คนจีนมักจะกินข้าวล้อมโต๊ะกลม และมีสมาชิกในครอบครัวหลายคน จึงทำให้ตะเกียบต้องยาวและหนา ส่วนคนญี่ปุ่นมักจะกินข้าวแยกกัน หรือสมาชิกในครอบครัวไม่มากนัก ตะเกียบจึงไม่จำเป็นต้องยาวมากนัก และคนญี่ปุ่นนิยมรับประทานปลา การที่ปลายตะเกียบปลายที่แหลมกว่าจะทำให้รับประทานปลาได้สะดวกขึ้น
ตะเกียบไม้ไผ่สไตล์ญี่ปุ่น 5 คู่
ตะเกียบไม้เนื้อแข็ง 5 คู่/เซ็ต ราคา 88 บาท
วัสดุที่ใช้ทำตะเกียบ
โดยในยุคเริ่มแรกส่วนใหญ่จะนิยมใช้ ไม้ หรือไม้ไผ่ มาทำตะเกียบ
จากบันทึกของ ซือหม่าเชียน ( นักประวัติศาสตร์จีน ) เคยบันทึกว่า กษัตริย์นามว่า “พระเจ้าอินโจวหวาง” ทรงใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือยมาก ทรงใช้ตะเกียบที่ทำด้วยงาช้าง…. นั่นแสดงว่า ในยุคสมัยราชวงศ์ซาง ราชวงศ์ที่สองของจีน ห่างจากยุคปัจจุบันกว่าสามพันปี ในปัจจุบัน ตะเกียบจะทำจาก ไม้ , ไม้ไผ่ , โลหะ ,เซรามิก และในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ก็เกิดตะเกียบที่ทำด้วย พลาสติก , สแตนเลส หรือแม้กระทั่งไทเทเนียม มีการตกแต่งหัวตะเกียบด้วยวัสดุทีมีค่า มีการแกะสลักที่งดงาม และสีสันของตะเกียบที่หลากหลายมากขึ้น
เกร็ดเล็กๆ จาก หนังสือ ศาสตร์ศิลป์วัฒนธรรมจีน
ชาวตะวันตกไม่ใช้ตะเกียบ แต่ใช้ช้อนและส้อม แต่ก็มีชาวตะวันตกจำนวนไม่น้อยสามารถใช้ตะเกียบได้อย่างคล่องแคล่ว เช่น ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา และ พระราชินีอังกฤษเมื่อครั้งเสร็จเยือนประเทศจีน ก็สามารถใช้ตะเกียบได้อย่างคล่องแคล่วเช่นกัน
วิธีการมาตรฐาน ที่ได้รับการยอมรับ และเป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่ใช้กันมากที่สุด
วิธีการใช้ตะเกียบ
ในวัฒนธรรมการใช้ตะเกียบ โดยเฉพาะ ชาวจีน และชาวญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นๆในเอเชีย
โดยทั่วไป มักจะเริ่มเรียนรู้กันตั้งแต่เด็ก ที่มักจะเริ่มสอนใช้กันในครอบครัว ซึ่งวิธีการจับตะเกียบของแต่ละคน จะแตกต่างกันออกไปตามความถนัด และเทคนิคส่วนตัว แต่ไม่ว่าจะเป็นการจับใช้ตะเกียบด้วยวิธีใดก็ตาม ก็ล้วนแล้วแต่ มีเป้าหมายเดียวกันนั่นก็คือ การจับยึดตะเกียบ ด้วยนิ้วและส่วนต่างๆ ของมือ เพื่อให้ไม้กลายเป็นส่วนเสริมของมือ นั่นเอง
สื่อการเรียนรู้ การใช้ตะเกียบสำหรับเด็ก
Training Helper Chopsticks For Kids
ตะเกียบฝึกหัด ถูกออกแบบให้เป็นตัวช่วยด้านการเรียนรู้ของเด็ก ให้มีการเคลื่อนไหวเหมือนกับการใช้ตะเกียบแบบปกติทั่วไป เครื่องมือตะเกียบช่วยฝึกการเคลื่อนไหวของนิ้วมือที่ต่างไปจากการใช้ช้อน ส้อม มีขนาดพอดีกับมือ มีห่วงที่ใส่นิ้วเป็นซิลิโคนนิ่มๆ เมื่อเด็กๆลองฝึกคีบอาหารก็จะคุ้นเคยกับการใช้ตะเกียบ เพิ่มความสนุกสนาน และได้ใช้สมาธิ ฝึกสมองเกี่ยวกับการประสานงานของร่างกาย เป็นได้ทั้งของเล่น และ ของใช้ สามารถล้าง นำกลับมาใช้ได้ใหม่
ในภาษาญี่ปุ่นตะเกียบจะเรียกว่าHashi ( 箸 )
วัฒนธรรมการใช้ตะเกียบ มารยาทบนโต๊ะอาหาร
ในปัจจุบัน ตะเกียบ มีการใช้อย่างกว้างขวางและแพร่หลาย ไปทั่วโลกแล้ว ไม่ได้ถูกจำกัดแค่ภูมิภาคเอเชียเท่านั้น มารยาทในการใช้ตะเกียบก็แตกต่างกันออกไปตามภูมิภาค แต่โดยรวมแล้ว หลักของมารยาทการใช้ตะเกียบบนโต๊ะอาหาร ก็มักจะมีความคล้ายคลึงกัน บ้างก็เกี่ยวข้องกับ ความเชื่อ ที่ถือปฎิบัติกันมาแต่โบราณ เช่น ในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น ไม่ควรทิ้งตะเกียบในแนวตั้งลงในชามข้าวเพราะมันคล้ายกับพิธีกรรมการจุดธูปซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ “การให้อาหาร” แก่ผู้ตาย เป็นต้น
ข้อห้ามในการใช้ตะเกียบ บางส่วน
- เมื่อไม่ใช้งานตะเกียบ ควรวางปลายแหลมไว้บน “แท่น”ที่วางตะเกียบ ( ญี่ปุ่น )
- กลับด้านของตะเกียบในการคีบอาหารในส่วนกลาง เพื่อความสะอาดอนามัย หลักการเดียวกับการใช้ช้อนกลาง ( ญี่ปุ่น ) แต่บางประเทศ กลับเป็นข้อห้าม เพราะถือว่า เป็นคน ตะกละตะกลาม รีบร้อน จนไม่รู้ทิศของตะเกียบ
- ไม่เคาะตะเกียบกับจานชาม : เพราะสมัยก่อนมีแต่ขอทานเท่านั้น ที่ใช้ตะเกียบเคาะหม้อ เพื่อทำเสียงเรียกขออาหาร ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อรับประทานอาหารกับบุคคลภายนอก
- ไม่ดูดหรือกัดตะเกียบ
- ขณะที่ใช้ตะเกียบทานอาหาร และชี้ไปทางผู้อื่น ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ให้เกียรติ ( ประเทศไทย)
ข้อมูลอ้างอิง / แหล่งความรู้เพิ่มเติม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Chopsticks
- การใช้ตะเกียบของชาวจีน โดย : https://www.arsomsiam.com
- หนังสือ ศาสตร์ศิลป์วัฒนธรรมจีน : ดร. นริศ วศินานนท์