การที่ คุณ บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ ได้มีโอกาสเข้าไปส่งสินค้าด้วยตัวท่านเองถึงในค่ายเชลย นอกจากจะทำให้เห็นสภาพชีวิตของเชลยเหล่านี้ ยังมีโอกาสที่ได้รู้จักกับเชลยสงครามคนสำคัญคนหนึ่ง ซึ่งในเวลาต่อมา เชลยท่านนี้ได้รับบรรดาศักดิ์แต่งตั้งให้เป็นตำแหน่ง อัศวินจากสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ ๒ ท่านผู้นี้ คือ เซอร์เอ็ดเวิร์ด เวียรี่ ดันล็อป หรือ คุณหมอเอ็ดเวิร์ด
บุญผ่อง วีรบุรุษสยาม บนลุ่มแม่น้ำแคว ตอนที่ ๑…
การที่คุณบุญผ่องได้มีโอกาสเข้าไปส่งสินค้าด้วยตัวท่านเองถึงในค่ายเชลย นอกจากจะทำให้เห็นสภาพชีวิตของเชลยเหล่านี้ ยังมีโอกาสที่ได้รู้จักกับเชลยสงครามคนสำคัญคนหนึ่ง ซึ่งในเวลาต่อมา เชลยท่านนี้ได้รับบรรดาศักดิ์แต่งตั้งให้เป็นตำแหน่ง อัศวินจากสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ ๒ ท่านผู้นี้ คือ เซอร์เอ็ดเวิร์ด เวียรี่ ดันล็อป หรือ คุณหมอเอ็ดเวิร์ด
ภายหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกมาเกือบ ๔๐ ปี คุณหมอเอ็ดเวิร์ดได้จัดตั้งกองทุนเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ระหว่างสงคราม และเพื่อเป็นการตอบแทนความดีที่ได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายไทยในครั้งนั้น ด้วยการสนับสนุนทุนแก่ ศัลยแพทย์ไทย ให้ได้มีโอกาสไปฝึกอบรมเทคนิคทางศัลยกรรมในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดย ตั้งชื่อกองทุนนี้เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของคุณบุญผ่องว่า “The Weary Dunlop-Boonpong Exchange Fellowship” จนถึงปัจจุบันมีศัลยแพทย์ไทยที่ได้รับทุนนี้กว่า ๑๐๐ คน
คุณบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ ยังได้รับความไว้วางใจจากคุณหมอเอ็ดเวิร์ดเป็นอย่างมาก ในการทำธุระและขอความช่วยเหลือหลายต่อหลายครั้งในระหว่างที่ถูกกักกัน นอกจากบรรดาเชลยสงครามที่ค่ายกักกันญี่ปุ่น จ.กาญจนบุรี ศัลยแพทย์ชาว ออสเตรเลีย พันโทเอ็ดเวิร์ด เวียรี่ ดันล็อป (ในขณะนั้น) แล้ว ยังมี ด็อกเตอร์โรเบิร์ต ฮาร์ดี และ ร้อยเอกสแตนลีย์ พาวิลลาร์ด ซึ่ง ๒ ท่านหลัง เป็นเจ้าหน้าทีทางการแพทย์เช่นกัน ทั้ง ๓ ท่านได้มีส่วนช่วยชีวิตเชลยสงครามในค่ายแห่งนี้นับไม่ถ้วน หลายคนรอดชีวิต ด้วยความช่วยเหลือจากคุณหมอและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์อีก ๒ ท่าน แม้ว่าความเป็นอยู่ในค่ายจะหาความสะดวก หรือความครบครันของอุปกรณ์การแพทย์ใดๆ แทบไม่ได้เลย แต่ทั้ง ๓ ก็พยายามดัดแปลงวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เท่าที่พอจะหาได้ นำมาประกอบให้เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสามารถช่วยเหลือชีวิตเชลยได้หลายคน
นอกจากนี้ คุณบุญผ่อง ยังเป็นที่ไว้วางใจของทั้งคนในองค์กรลับ “วี” และเชลยสงคราม เขาเป็นคนซื้อสัตย์ มีคุณธรรม จริยธรรมเสมอ และสิ่งที่มีในความคิดคำนึงของเขาเสมอ คือ การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เท่าที่เขาจะสามารถทำได้
อเมริกามีชัยชนะที่ ยุทธการมิดเวย์
การสร้างทางรถไฟของกองทัพญี่ปุ่น ยังคงดำเนินต่อไป จนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๘๖ เมื่อสหรัฐอเมริกามีชัยชนะที่ ยุทธการมิดเวย์ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ทางกองทัพสหรัฐอเมริกา ออกตรวจลาดตระเวนในบริเวณน่านน้ำทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงอ่าวไทยมากขึ้น เท่ากับเป็นการตัดกำลังการขนส่งเชื้อเพลิงของญี่ปุ่นไปโดยปริยาย ทำให้กองทัพญี่ปุ่นมีความปรารถนาที่จะเร่งการสร้างทางรถไฟให้เสร็จขึ้นเร็วกว่าที่กำหนดไว้
๑ ชีวิต = ๑ ไม้หมอน
บรรดาเชลยสงครามในค่ายญี่ปุ่น จ.กาญจนบุรี จึงถูกเร่งรัดให้ทำงานมากขึ้น จากที่เคยมีเวลาพักบ้าง กลับกลายเป็นว่าไม่มีเวลาพักอีก แม้จะเจ็บป่วยอย่างไรก็ตาม บรรดาทหารญี่ปุ่นจะบังคับให้ออกมาทำงานโดยไร้เมตตาธรรม ทำให้เชลยหลายคนที่ล้มป่วยอยู่แล้ว ล้มตายไปเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเชลยที่ไม่เคยป่วย แต่ขาดสารอาหารและการพักผ่อนที่เพียงพอ ทยอยๆ ล้มป่วยและตายไปอีกหลายศพ ภาพศพที่กองพะเนินจนล้นหลุมฝังกลบ และภาพความทุกข์ทรมานของเชลยสงครามเหล่านี้จึงติดตาและอยู่ในห้วงความคิดของคุณบุญผ่องแทบทุกวัน
นอกจากบรรดาเชลยสงครามแล้ว ยังมีกลุ่มแรงงานอื่นๆ ที่ถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟสายมรณะด้วย ๑ ชีวิต = ๑ ไม้หมอน เห็นจะเป็นจริงตามที่ผู้คนได้เปรียบเทียบเอาไว้ เพราะจากการตรากตรำการทำงานทั้งวันทั้งคืน เพื่อให้ทางรถไฟสายมรณะเสร็จก่อนกำหนดเวลา อีกทั้งยังผ่านช่วงฤดูกาลของมรสุมของทางภาคตะวันตก สถานที่ตั้งของจ.กาญจนบุรี เชลยสงครามและแรงงานที่ถูกเกณฑ์มาต่างทยอยล้มตาย จากทั้งการทำงานหนัก โรคภัยไข้เจ็บเช่น โรคมาลาเรีย และโรคอหิวาตกโรค ซึ่งเป็นโรคที่คร่าชีวิตเชลยสงครามอย่างนับไม่ถ้วน
ช่องไฟนรก (Hell Fire Pass)
ช่วงของ ทางรถไฟสายมรณะ ที่สร้างขึ้นนั้น ยิ่งไกลออกไป อุปสรรคก็ยิ่งมากขึ้น เพราะทิวเขาสูงชันที่เป็นแนวเขตแดนก็ยิ่งมีมากขึ้น สลับซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่ ช่องเขาขาด หรือ ช่องไฟนรก (Hell Fire Pass) ที่ถูกขนานนาม เป็นพื้นที่นรกบนดินของบรรดาเชลยสงครามที่ต้องเดินเข้าไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การใช้เพียงจอบ เสียม ขุดภูเขาทั้งลูกให้เกิดเป็นช่องทางเพื่อสร้างทางรถไฟ หากในภาวะปกติทั่วไป คงไม่มีใครคิด ไม่แม้แต่จะคิดว่า การขุดเจาะภูเขาทั้งลูกให้เกิดเป็นช่องขนาดใหญ่โดยมีความสูงมากกว่า ๒๕ เมตร ด้วยมือกับจอม เสียม จะทำได้อย่างไร
คุณบุญผ่อง พยายามช่วยเหลือบรรดาเชลยสงครามในทุกครั้งที่มีโอกาสเข้าไปในค่ายกักกันแห่งนี้ เชลยสงครามหลายคน ประสงค์จะได้เงินทองเพื่อนำมาจับจ่ายใช้สอย ซื้ออาหารเลี้ยงปากท้องตนเองเท่านั้น บ้างก็เอาข้าวของเครื่องใช้ของตนเอง ไม่ว่าจะแหวน นาฬิกาสร้อย แลกกับเงิน โดยคุณบุญผ่องจะเป็นผู้จัดหาให้ ทั้งทำบัญชีระบุค่าใช้จ่ายต่างๆที่เชลยสงครามต้องการ จนหลายต่อหลายครั้งที่คุณบุญผ่องต้องออกเงินสดส่วนตัวไปให้เชลยสงครามเหล่านั้น
คุณบุญผ่อง ได้ติดต่อกับกงสุลสวิส รายงานสภาพความเป็นไปในชะตาชีวิตอันแสนทุกข์ทรมานของเชลยสงครามเหล่านี้ รวมถึงข้าวของต่างๆ ยารักษาโรคที่ทางองค์กรกาชาดได้ส่งมาให้ แต่ที่แท้จริงแล้ว เชลยสงครามเหล่านี้กลับไม่เคยได้รับความช่วยเหลือเลยแม้แต่น้อย การลักลอบติดต่อกงสุลสวิส และองค์กรวี ของคุณบุญผ่อง ยังเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ จนเริ่มเป็นที่ระแคะระคายของบรรดาทหารญี่ปุ่น แต่ก่อนที่ทุกอย่างจะถูกเปิดเผย …
ระเบิดปรมาณูลูกแรกก็ถูกหย่อนลงที่เมืองฮิโรชิมา และลูกต่อไปที่เมืองนางาซิกิ !!! ทุกอย่าง ย่อยยับไปในพริบตาพร้อมๆ กับการยอมรับในกฎเกณฑ์ของการเป็นผู้แพ้สงครามอย่างไร้เงื่อนไข แต่แสงแห่งความหวังกลับสว่างขึ้น ณ ค่ายกักกันเชลยสงคราม จ.กาญจนบุรี
“สงครามสิ้นสุดเสียที”
แต่
คุณบุญผ่องถูกลอบยิง ?
…. ชีวิตอันทุกข์ทรมานของบรรดาเชลยสงคราม ตลอดระยะเวลาตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปีพุทธศักราช ๒๔๘๕ ถึง เดือนตุลาคม ปีพุทธศักราช ๒๔๘๖ ได้สิ้นสุดลง ถึงเวลานี้…
แต่ชีวิตของ คุณบุญผ่อง ยังไม่จบเพียงเท่านี้ …. คุณบุญผ่องถูกลอบสังหาร !! แต่ยังนับเป็นโชคดีที่ไม่ถึงแก่ชีวิต และสาเหตุของการถูกลอบยิงในครั้งนี้ ก็ยังคงเป็นปริศนา มีเงื่อนงำ และยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดดังกล่าวได้จนถึงทุกวันนี้ … ลูกหลานของ คุณบุญผ่อง เอง ไม่อยากให้มีเรื่องราวใดๆ อีก จึงหยุดการรื้อฟื้นในเรื่องราวดังกล่าว
หลังการรอดตายอย่างปาฎิหารย์ในครั้งนั้น คุณบุญผ่องก็กลับมาทำการค้าขายต่อไป แต่ก็ประสบกับปัญหาเรื่องเงินทอง มีความขัดสนเป็นอย่างมาก เพราะเงินทองที่เคยหามาได้ก่อนหน้า ได้ถูกนำไปช่วยเหลือบรรดาเชลยสงครามแทบหมด เงินเก็บที่เคยมี ได้เปลี่ยนเป็นสิ่งของ ของใช้ประจำตัวของบรรดาเชลยสงครามที่ครั้งหนึ่งขอแลกกับเงินทอง
คุณบุญผ่องแบกรับภาระหนี้สินอันมากมาย จนเรื่องนี้ได้รู้ไปถึง นายทหารอเมริกันที่อยู่ในองค์กรวี นายทหารกลุ่มนี้ได้เขียนจดหมายถึงบรรดาเชลยสงครามที่คุณบุญผ่องเคยให้ความช่วยเหลือ ให้ช่วยกันบริจาคเงินช่วยเหลือคุณบุญผ่อง ซึ่งแน่นอนว่าบรรดาเชลยสงครามเหล่านี้แม้จะได้รับอิสรภาพ เดินทางกลับไปยังประเทศบ้านเกิดตนแล้ว ไม่มีใครที่จะจดจำ “บุรุษโรงอาหาร” ไม่ได้ ทุกคนต่างช่วยกันเรี่ยไรเงินได้เกือบ ๔ หมื่นปอนด์ เป็นธารน้ำใจที่หลั่งไหลส่งถึงคุณบุญผ่อง บุรุษโรงอาหาร มากน้ำใจ ทำให้การค้าและกิจการรถเมล์ที่เขาทำ “อยู่รอด” ในที่สุด
รัฐบาลออสเตรเลียได้บันทึกถึงคุณบุญผ่องว่า “รัฐบาลไทยปฏิบัติต่อพลเมืองฝ่ายสัมพันธมิตรที่อยู่ในประเทศไทยเป็นอย่างดี พลเรือนเหล่านี้ได้ทราบเรื่องฐานะความเป็นอยู่ของเชลยศึก โดยมีนักธุรกิจจากประเทศ ที่เป็นกลาง และชาวไทยที่เห็นใจเชลยศึก คือ นายบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ พ่อค้าเมืองกาญจนบุรีเป็นคนสำคัญ”
นายจอห์น โคสต์ อดีตเชลยศึกชาวอังกฤษ บันทึกถึงนายบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ ว่า….
“….เราได้พลังงานไฟฟ้าแบตเตอรี่ จากเจ้าของร้านชื่อบุญผ่อง ซึ่งมีร้านค้าอยู่ในตลาดเมืองกาญจนบุรี…”
“… ครั้งพวกเชลยผอมโซ ด้วยขาดอาหารและไม่มีเงิน เขาก็ให้กู้โดยมีสิ่งของ เช่น นาฬิกาข้อมือ แหวน หรือซองบุหรี่เป็นประกัน เขายังบอกว่า ถ้าเสียดายก็ให้บอก .. เขาจะเก็บไว้ให้จนกว่าเราจะได้รับอิสระ แต่พวกเราไม่ค่อยเชื่อใจเขานัก แต่กาลเวลาพิสูจน์เขา ..บุญผ่อง.. เขามีสัจจะตามคำพูดทุกอย่าง เขาคืนสิ่งของให้กับทุกคนที่มาไถ่”
นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย จอห์น โฮเวิร์ด ได้กล่าวสุนทรพจน์ถึงคุณบุญผ่องเมื่อครั้งเดินทางมาเปิดพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๑ และยังได้มอบประกาศนียบัตรแก่หลานชายของคุณบุญผ่อง โดยระบุว่า ….
“…ขอให้ประกาศนียบัตรฉบับนี้ เป็นเครื่องหมายแห่งความสำนึกในบุญคุณ อันหาที่สุดมิได้ของเรา สำหรับการกระทำที่เปี่ยมไปด้วยคุณงามความดีของบรรพบุรุษของท่าน และขอให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความอบอุ่นของมิตรภาพของเรา ซึ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ นับแต่สงครามเป็นต้นมา.. ”
เรื่องราวความกล้าหาญ และความเสียสละที่มีต่อเพื่อนร่วมโลกของคุณบุญผ่อง ยังมีไปถึง พระเนตรพระกรรณของพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ ๒ ของเครือจักรภพอังกฤษ เมื่อครั้งพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ ๒ และพระสวามี เสด็จมาเยือนประเทศไทยในปีพุทธศักราช ๒๕๑๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้คุณบุญผ่องและภรรยาได้ร่วมโต๊ะเสวยอีกด้วย
คุณบุญผ่อง สามัญชนคนธรรมดา ได้รับเกียรติยศของชีวิตอีกครั้ง เมื่อทางประเทศอังกฤษได้มอบ “Goerge Cross” ให้เป็นเครื่องหมายของ Cool Courage และทางเนเธอร์แลนด์ได้มอบ “Orange-Nassau Cross” เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันสำคัญยิ่ง รวมถึงยังได้รับยศเป็นนายพันโท จากกองทัพบกอังกฤษเป็นพิเศษ รวมถึงความช่วยเหลือจากสมาคมเชลยสงครามตะวันออกไกล และเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลียเพิ่มเติม อีกทั้งยังได้รับเกียรตินำเรื่องของเขาไปสร้างเป็นภาพยนต์สารคดีเรื่อง The Quiet Lions เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบุญผ่องและหมอเวรี่ อีกทั้งเรื่องของบุญผ่องยังถูกบรรจุไว้ใน Beyond the Bamboo Screen โดยการรวบรวมเงินในการสร้างจากกลุ่มเชลยชาวสก๊อต
เทศกาลคริสต์มาสของทุกปี คุณบุญผ่องและภรรยา จะได้รับจดหมาย ของขวัญจากบรรดาเชลยศึก แม้ว่าคุณบุญผ่องจะจากโลกนี้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๒๕ ด้วยโรคเส้นเลือดในหัวใจพอง แต่จดหมาย ของขวัญจากครอบครัวเชลยศึกเหล่านี้ ก็ยังถูกส่งมาอำนวยพรครอบครัวสิริเวชชะพันธ์อย่างสม่ำเสมอ บางครอบครัวของเชลยศึกที่ได้เดินทางมาเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นรุ่นลูกรุ่นหลานของบรรดาเชลยสงครามที่คุณบุญผ่องเคยช่วยชีวิต พวกเขาต่างสำนึกในสิ่งที่คุณบุญผ่องและครอบครัวเสียสละและช่วยเหลือมาโดยตลอด
คำว่า “มนุษยธรรม” ที่คุณบุญผ่องได้ยึดมั่นเป็นแนวทางในการช่วยเหลือ คำนามสั้นๆ แต่ความหมายยิ่งใหญ่เสมอ และเพราะคำว่า “มนุษยธรรม” จึงทำให้เราได้รู้จักวีรบุรุษชาวสยามผู้หนึ่ง พ่อค้าประชาชนธรรมดา แต่ทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่ สร้างชื่อเสียงให้ผู้คนทั่วโลกได้ตระหนักและซาบซึ้งในน้ำใจของคนไทย เป็นความยิ่งใหญ่ตลอดกาล แม้ว่าคุณบุญผ่องจะจากไปแล้ว แต่ความดีงามที่ได้ทำไว้กลับไม่มีวันตาย แต่จะถูกจารึกไว้ในความทรงจำของผู้คนตลอดกาล
ติดตามเรื่องราวชีวิตของวีรบุรุษแห่งตำนานลุ่มแม่น้ำแคว “บุญผ่อง” บุรุษที่ถูกหลงลืมจากความทรงจำของคนไทยด้วยกันเอง ได้ทางช่อง ThaiPBS ในวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา ๒๐.๑๕น. ซึ่งจะออกอากาศเป็นตอนต่อเนื่องหลังจากทางสถานีได้ปรับผังใหม่หลังวิกฤตโควิด19 ผ่านพ้น
Reference:
-The Weary Dunlop-Boonpong Exchange Fellowship:
http://rcst.or.th//web-upload/filecenter/2016-02-29_rgh-magazine_final_logos.pdf
Click to access List%20of%20Scholars%20for%20Website%20%20(29.09.17).pdf