“คุณเคยนั่งจับโกหกตัวคุณเองหรือเปล่าครับ? ในแต่ละวัน คุณมีความจำเป็นในการที่จะต้องไม่บอกความจริงกี่ครั้ง? และเคยคิดหรือไม่ว่า การโกหก เป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่คุณจำเป็นต้องทำ หรือ อาจจะทำโดยไม่รู้ตัว / ไม่ได้ตั้งใจ? “
— ## — หลังจากที่ผมอ่านหนังสือ “เทคนิคจับเท็จ เคล็ดลับจับโกหก” หรือ “LieSpotting วิธีจับพิรุธคนรอบข้าง รู้ทันท่าทางคนรอบตัว” ซึ่งเขียนโดยคุณ Pamela Meyer CEO บริษัท Calibrate บริษัทที่เชี่ยวชาญในการฝึกอบรมให้กับสถาบันการเงิน การธนาคาร สถาบันกฎหมายระดับประเทศ และหน่วยงานสำคัญอื่นๆ ของประเทศสหรัฐอเมริกา คุณ Pamela เป็นนักพูดระดับ TEDTALK เวทีนักพูดระดับที่ทั้งโลกต้องกล่าวถึง และตัวเธอเองยังเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในการจับโกหก จน Reader’s Digest ยกย่องให้เธอเป็น “The Nation’s Best Known Expert on Lying” เธอเป็นนักเขียน และใช่ครับ เล่มนี้คือเล่มที่เธอเขียนขึ้นจากความเชี่ยวชาญ ทักษะในการจับโกหกของมนุษย์
คุณ Pamela บอกเล่าเทคนิคในการจับผิดสังเกตของผู้คน เธอบอกว่ามนุษย์เรา รู้จักการโกหกตั้งแต่เด็ก และเด็กๆ นี่แหละ
โกหกได้เก่งอีกด้วย เธอยกตัวอย่างให้ดูครับว่า อะไรบ้างที่เป็นการโกหกของเด็ก เช่น การร้องไห้โยเย เพราะอยากได้ของเล่น เมื่อได้ของเล่น เด็กๆ ก็จะหยุดร้องไห้? ผมอ่านเล่มนี้แล้ว รู้สึกว่าได้อะไรจากมุมมอง แนวคิด วิธีคิด การสังเกต การแยกแยะ ซึ่งในบางมุมมองของผู้เขียน บางเรื่องอาจจะดูซับซ้อน แต่นั่นคือ จิตใต้สำนึกของมนุษย์ ที่แน่นอนครับว่า เป็นเรื่องยากแท้จะหยั่งถึง ทั้งความซับซ้อนในหลายมิติ บางคนสีหน้าเรียบเฉย แต่ในใจนั้นร้อนมาก บางคนแสดงออกทางอวัจนภาษา แต่ในทางวัจนภาษา กลับกลายเป็นอีกคนหนึ่ง
เล่มนี้ เป็นแนวจิตวิทยาและการพัฒนามนุษย์ที่น่าสนใจ เน้นเรื่องการพัฒนาทางด้านสมองและจิตใจ ควบคู่กันไปอย่างตื่นเต้น ผมอ่านแล้ว ก็ลองคิดในมุมมองของผู้เขียน ซึ่ง มีตัวอย่างให้เห็นว่า ทำไมเพื่อนที่สนิท เช่นเพื่อนร่วมงานของเรา มักโกหกเรามากกว่า และโกหกเราได้เนียนกว่า นั่นเป็นเพราะความสนิท จึงทำให้การโกหกในบางเรื่องมีความจำเป็นเพื่อรักษาสัมพันธภาพที่ดีไว้ ในขณะที่คนนอก เรามักเลือกที่จะไม่โกหก แต่กลับให้ความจริงใจมากกว่า นั่นเป็นเพราะว่า เราไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ หรือ บทบาทอะไรร่วมกับเขา จึงไม่จำเป็นต้องรักษามารยาทหรือน้ำใจมากนัก
มุมมองนี้ ถ้ามองในแง่วิชาการ ผมเห็นด้วยครับ และเป็นมมุมองที่ถูกต้อง แต่หากมองบนพื้นฐานของความเป็นจริงในสังคม เราอาจจะต้องผจญกับเรื่องโกหก เรื่องเท็จในแต่วันมากกว่าความเป็นจริงที่ควรเป็น คุณ Pamela ผู้เขียนยังชี้แนะอีกว่า คนเราพูดโกหกในเรื่องของตนเองถึง 50% ครับ เพราะเราจะได้รับประโยชน์จากการโกหกเรื่องของตนเอง ยกตัวอย่าง ตั้งแต่ การที่เรากรอกประวัติสมัครงาน ส่วนตรงนี้ ลองถามตนเองดูนะครับว่า เราใส่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวเราครบ หรือ มีเรื่องที่ไม่จริงแต่เป็นประโยชน์กับตัวเราหรือไม่? ผมมั่นใจว่า ในใบสมัครงานของหลายๆ ท่าน ต้องมีเรื่องเท็จของตนอยู่บ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์และหนทางในการได้โอกาสรับเลือกเข้าทำงานนั่นเอง
การพูดโกหก เพื่อความสบายใจของคนที่เรารู้สึกดีด้วย น่าจะเป็นการโกหกอีกประเภทที่เป็นที่นิยม มาถึงตรงนี้แล้ว ผมยิ่งมั่นใจว่า คนเราเก่งการโกหกจริงๆครับ เพราะผมก็ทำบ่อย เช่น เมื่อแม่โทรมาถามว่าสบายดีไหม แต่ผมกลับบอกแม่ว่าสบายดี ทั้งที่ๆ ผมปวดท้องอยู่ ทั้งนี้ ก็เพื่อความสบายใจของแม่ ผมเชื่อมั่นว่ามีหลายๆ คน เหมือนผมนะครับ ลองอ่านมุมมองอีกสัก 2-3 ประเด็น ที่คุณ Pamela กล่าวถึง เช่น
- ผู้หญิงมักโกหกเพื่อถนอมน้ำใจคนอื่น หรือเพื่อทำให้คนอื่นรู้สึกดีกับตนเอง
- ผู้หญิงอ่านการโกหกได้แม่นกว่าผู้ชาย
- ผู้ชายชอบโกหกเพื่อให้ตนเองดูมีอำนาจมากขึ้น น่าสนใจยิ่งขึ้น และมักโกหกในเรื่องของตนมากกว่าเรื่องอื่นๆ ถึง 8 เท่า
ประเด็นเหล่านี้น่าสนใจมากครับ อ่านแล้วก็ต้องยอมรับความจริงในสิ่งที่ผู้เขียนชี้ให้เห็นเกี่ยวกับตัวตนของเรา หนังสือเล่มนี้ ไม่เพียงแต่ให้แง่คิด และทำให้เราได้เรียนรู้ผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น จับพิรุธในความผิดปกติ หรือเป็นปกติ (กรณีโกหกจนเนียน ก็เอาอยู่นะครับ) ^^ เพราะในเล่มบอกเล่า และอธิบายได้ละเอียดทั้งภาษากาย สัญลักษณ์ ที่เราอาจจะไม่คุ้นเคย หรือ แม้แต่การจับผิดจากประโยคที่คู่สนทนาพุดคุยกับเรา
เป็นหนังสืออีกเล่มที่มีประโยชน์ในการพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตในประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีและการสื่อสารมาไกล ขนาด พูดคุยกันข้ามพรมแดนได้โดยไม่ต้องพึ่งสายโทรศัพท์อีก เล่มนี้อ่านได้หมดครับทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ยิ่งครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ ยุคใหม่ ผมอยากแนะนำ เพราะเนื้อหาในเล่ม เมื่อเราอ่านจบ เราสามารถนำเนื้อหาและความรู้ เทคนิคเหล่านี้ไปใช้ในการเรียนรู้ อบรมและสั่งสอนลูกหลานท่านได้ การสอนให้ลูกๆ ได้รู้จักกับสภาพสังคมแบบหน้าไหว้ หลังหลอก การปรับตัวโดยการมองให้ลึกลงไปที่ความคิดของแต่ละคน มากกว่าคำพูดสวยหรู ไพเราะที่ผ่านหูเราเท่านั้น เล่มนี้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องราวของการจับผิดนะครับ แต่มีประโยชน์ในแง่ของความปลอดภัยในการดำรงอยู่ของสังคมสมัยนี้อีกด้วยครับ
สำหรับองค์กร หน่วยงาน ก็เหมาะที่จะหาอ่านเช่นกันนะครับ เพราะเนื้อหาในเล่มมีทั้งกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ในหน่วยงานระดับโลก การจะรับบุคคลเข้าทำงาน มีวิธีการและเทคนิคในเล่ม ที่จะช่วยให้เราได้ บุคลากรที่ตั้งใจทำงานได้จริง HR ของแต่ละบริษัท น่าจะมีเล่มนี้ไว้เป็นคัมภีร์นะครับ สงสัยผมต้องแนะนำเพื่อนๆ ที่ประสบปัญหากับการจ้างบุคลากรมาทำงาน ให้ลองหันมาอ่านเล่มนี้ดู อย่างน้อย คือ การทันเกมส์ ชีวิตเราในสังคมปัจจุบัน บางคนเปรียบไปว่า ต้องมีชีวิตแบบ “รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง” ผมว่าฟังแล้วมันดูโหดร้าย เห็นแก่ตัวมากไปหน่อยครับ ถ้าได้ลองอ่านรายละเอียดในเล่มนี้ จะมีแนวทางที่น่าสนใจ ไม่ยากเกินไป ขนาดที่ว่า ต้องหลีกหนีปัญหาทุกอย่าง เพราะชีวิตคน เกิดมาเพื่อผจญกับปัญหา เรียนรู้และแก้ไข มากกว่า
หากอยากรู้เท่าทันคน เราต้องศึกษาทั้งพฤติกรรม และคำพูด เหมือนที่คนโบร่ำโบราณสั่งสอนกันมาทุกสมัยว่า “รู้หน้า ไม่รู้ใจ” เรื่องราวการเข้าถึงจิตใจผู้อื่นมีมาทุกสมัย นึกถึงบทกลอนในโคลงโลกนิติบทหนึ่ง ที่ผมจำได้ขึ้นใจเสมอ นั่นคือ
“พระสมุทรสุดลึกล้น คณนา
สายดิ่งทิ้งทอดมา หยั่งได้
เขาสูงอาจวัดวา กำหนด
จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยั่งถึง”
ไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่นะครับ การรู้จักตัวตนของเรา ย่อมสำคัญที่สุด รู้เขา รู้เรา เรียนรู้วิธีการเป็นอยู่ เข้าใจเขา เข้าใจเรา เราจะเรียนรู้ทักษะในการมองเห็นผู้อื่นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับเล่มนี้เป็นของสนพ. เครือเนชั่นบุ๊ค ครับ ผู้แปล คือ ดร.พิมพ์ใจ สุรินทราเสรี อ่านง่ายครับ บางสำนวน ท่านแปลแล้ว เข้าใจง่ายในทันที
“เวลาฟังใครเล่าอะไร ขอให้อดใจไว้
อย่าเติมข้อมูลที่ขาดหายไป
แต่จงใส่ใจอย่างเต็มที่กับสิ่งที่พูดและไม่ได้พูดออกมา”
เคล็ดลับการจับโกหก
เป็นหนังสือแนะนำ ประเภท MUST HAVE ที่มากด้วยคุณภาพอีกเล่ม อยากแนะนำให้ลองอ่านครับ อยู่ในกลุ่มหนังสือมาใหม่ พึ่งวางแผงเลยครับ ^^
สวัสดีครับ เมื่อวานวันหยุด ผมไปเดินเล่นร้านหนังสือมา มองหาหนังสือเล่มใหม่ Update กันสักหน่อยว่ามีหนังสืออะไรน่าสนใจอะไรอ…
Posted by Thai Book Review ( มาร่วมแนะนำหนังสือดี ๆ กัน ) on 23 กุมภาพันธ์ 2016