Thai Book Review แนะนำหนังสือ, Uncategorized

ชุมชนเกาะศาลเจ้า วิถีแห่งบางระมาด เส้นทางสายน้ำที่ไม่ไหลย้อนกลับ

วิถีแห่งบางระมาด

ท่ามกลางการรุกคืบของหมู่บ้านจัดสรร ชาวบ้าน ณ ชุมชนเกาะศาลเจ้า ยังคงเข้มแข็งและยังยึดมั่นในการดำรงอยู่ของตนเองท่ามกลางสวนผลไม้ พื้นที่ไม่ได้ใหญ่โตแห่งนี้กลับมีเสน่ห์ให้ค้นหามากมาย

ชุมชนเกาะศาลเจ้า : วิถีแห่งบางระมาด เส้นทางสายน้ำที่ไม่ไหลย้อนกลับ

       หากพูดถึง แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ในกรุงเทพมหานครแล้ว คงมีหลายๆท่าน ที่คิดถึง บางกระเจ้า คลองบางหลวง ชุมชนบ้านบาตร ชุมชนเกาะเกร็ด ฯลฯ ซึ่งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และไม่ไกลจากขอบเขตของเมืองหลวงมากนัก  แต่คุณทราบหรือไม่ว่า ใกล้เข้ามาอีกนิด ในจังหวัดทางฝั่งธนบุรี   ก็มีพื้นที่ชุมชนเก่าแก่ ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางลำคลอง ที่มีความเป็นมาแต่โบราณ อาจยาวนานถึง 500 ปี นั่นคือ ชุมชนเกาะศาลเจ้า แห่งคลองบางระมาด

       ชุมชนแห่งนี้มีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายอย่างเห็นได้ชัด นับเป็นโอกาสดีในวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา  ฉันได้มีโอกาสไปยลและเยือนพื้นที่ ที่ไม่ใช่เกาะอย่างที่เราจินตนาการ แต่เป็นเกาะที่มีสายน้ำและลำคลองรายรอบ ชุมชนเกาะศาลเจ้า คือ จุดหมายปลายทางของการมาเยือนในครั้งนี้

ชุมชนเกาะศาลเจ้า

ชุมชนเกาะศาลเจ้า มีสิ่งที่น่าสนใจหลากหลาย และที่เป็นเสน่ห์แบบที่การท่องเที่ยวที่อื่นไม่มี คือ ความเป็นธรรมชาติ และวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ดำเนินตามปกติ ไม่มีการแต่งแต้ม ไม่มีการสร้างภาพ ไม่มีตลาดน้ำ  ไม่มีการจับจองพื้นที่ ไม่มีรูปแบบที่เป็นพาณิชย์เลย

       คุณทวีศักดิ์ หว่างจันทร์ ปธ.ชุมชนวัดจำปาได้บอกกล่าวไว้ว่า อยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นอย่างที่ควรเป็น นั่นคือ เป็นธรรมชาติในแบบที่ชาวบ้านเป็น รายได้จากการมาเยือนส่งถึงมือชาวบ้านโดยตรง ไม่มีรูปแบบของตลาดน้ำ เพราะนั่นไม่ใช้วิถีชีวิตของชาวบ้านละแวกนี้ ฉันเห็นด้วยกับรูปแบบการพัฒนาชุมชนของที่นี่ ฉันไม่ชอบสิ่งแปลกปลอมที่สร้างขึ้นมาใหม่ เพราะนั่นไม่ใช่ความจริงและยังดูขัดแย้งกับความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างเห็นได้ชัด

การท่องเที่ยวที่อื่นไม่มี

 


 

        พื้นที่ในชุมชนเกาะศาลเจ้า มีรูปแบบทั้งทางประเพณี วัฒนธรรม ความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม ยังคงมีสวนสวยๆ ที่เต็มไปด้วยพรรณไม้ดอก ไม้ผล และผลไม้ไทยโบราณที่คาดไม่ถึงว่าจะยังหลงเหลืออยู่ให้เราได้เลือกชิม และซื้อเป็นของฝาก

       ท่ามกลางการรุกคืบของหมู่บ้านจัดสรร ชาวบ้าน ณ ชุมชนเกาะศาลเจ้า ยังคงเข้มแข็งและยังยึดมั่นในการดำรงอยู่ของตนเองท่ามกลางสวนผลไม้ พื้นที่ไม่ได้ใหญ่โตแห่งนี้กลับมีเสน่ห์ให้ค้นหามากมาย ทั้งวัดเก่าแก่ตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา อย่างวัดจำปา ที่ประดิษฐานของหลวงพ่อโชคดี พระประธานที่เป็นที่เลื่อมใสและศรัทธาของชาวชุมชน ศาลเจ้าพ่อจุ้ย เจ้าพ่อจุ้ย ที่มีความหมายในทางภาษาจีนว่า เจ้าพ่อแห่งสายน้ำ ศาลหลังเล็กอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี ที่ตั้งอยู่ริมคลองบางระมาดแห่งนี้มีงานประจำปีในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ของทุกปี และก็เป็นโอกาสที่ดีอีกเช่นกันที่การมาเยือนของฉันในครั้งนี้ ได้ร่วมกิจกรรมงานบุญประเพณีของศาลเจ้าพ่อจุ้ยด้วยค่ะ

 ชุมชนเกาะศาลเจ้า

           พื้นที่ชุมชนแห่งนี้ยังเป็นบ่อเกิดของงานศิลป์, งานภูมิปัญญาไทยและงานฝีมือมากมายที่ใครๆ ก็อาจคาดไม่ถึง อาทิ เช่น งานแทงหยวก งานเขียน งานปั้น  งานบายศรี งานเครื่องหอม ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานแทงหยวก ของที่นี่สวยงามไม่เป็นรองใคร เพราะเป็นงานฝืมือที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบุคคลสำคัญท่านหนึ่ง นั่นคือ หลวงวัฒนศิลป์ (ต่วน ยุวพุกกะ) ช่างหลวงสังกัดกองช่างกระทรวงวัง ที่ท่านได้หนีภัยสงครามมาใช้ชีวิตในชุมชนแห่งนี้ช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 งานแทงหยวกของชุมชนแห่งนี้ เป็นที่รู้จักและเรียกขานกันว่า งานแทงหยวกของชุมชนวัดจำปา ที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์น่าชม แม้ในปัจจุบันจะเหลือช่างแทงหยวกไม่กี่คนก็ตาม แต่ทางชุมชนก็ยังคงอนุรักษ์งานฝีมือไว้เป็นอย่างดี มีเทคนิคและชั้นเชิงงานช่างที่ไม่เป็นรองใคร

ประชาสัมพันธ์

เครื่องดื่มชาหมัก kombucha by scoby do it

ลองมาใช้ชีวิตอยู่แบบโฮมสเตย์ในเรือนไทยสวยๆ

      ภายในพื้นที่ชุมชนแห่งนี้ หากอยากเรียนรู้อย่างเข้าถึง ควรลองมาใช้ชีวิตอยู่แบบโฮมสเตย์ในเรือนไทยสวยๆ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางสวนผลไม้ เพราะจะได้อิ่มเอมไปกับบรรยากาศบ้านเรือนไทยสมัยก่อน อีกทั้งกิจกรรมที่น่าเรียนรู้มีมากมายให้ทุกคนได้มาสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการทำแป้งพวง เครื่องหอมไทย ที่นับวันจะหาคนทำได้ยากขึ้นเพราะต้องใช้ความอดทน และสมาธิที่แน่วแน่มากๆ ฉันได้ลองทำดู แล้ว ถึงบอกได้ว่า มันไม่ง่ายเลย กว่าจะหยอดแป้งพวงได้สักเม็ด

การทำแป้งพวง
การทำแป้งพวง เครื่องหอมไทย ที่นับวันจะหาคนทำได้ยากขึ้น

      หรือการเผามะพร้าวที่นับวันก็หาดูยากเต็มที รวมถึงภูมิปัญญาไทยหลากหลายที่สามารถเรียนได้รู้ได้จากบ้านสองบุตรี ซึ่งเป็นบ้านเรือนไทย ของคุณทวีศักดิ์ ที่เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเกาะศาลเจ้า และหากมาท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะหาอะไรทานไม่ได้นะคะ แต่ควรเตรียมท้องให้ว่างไว้ เพราะที่นี่ชาวบ้านจะทำอาหาร ของคาว/ ของหวาน มาวางขาย รายได้จากการจำหน่าย ชาวบ้านจะได้รับโดยตรง รสชาติอาหารฝีมือชาวบ้าน ฉันบอกได้คำเดียวว่าอร่อย

        เพราะเป็นรสมือที่ชาวบ้านทำทานกันเอง ไม่ได้แต่งแต้ม เติมรสชาติใดๆ เพื่อเอาใจปากนักท่องเที่ยว เมนูอร่อยๆ มีตั้งแต่ขนมจีนน้ำยาน้ำพริก ขนมเบื้องทรงเครื่อง ทำกันร้อนๆ ทานกันสดๆ ตรงนั้น ลอดช่องฝีมือคุณยาย ที่กวนแป้ง ทำเส้นให้เห็นกันต่อหน้า น้ำกะทิหอมควันเทียบอบเป็นอย่างมาก แนะนำว่า มาแล้วต้องชิมค่ะ นอกจากนี้ก็ยังมีหมี่กรอบแสนอร่อย ข้าวแกง ขนมหวานไทยๆ อย่างทองหยอด ทองหยิบ ใครอยากลองทำ ลองปรุง ก็สามารถเรียนรู้จากชาวบ้านกันได้เลยค่ะ

ลอดช่องฝีมือคุณยาย ที่กวนแป้ง

   หรือหากสนใจอยากเข้าสวน ด้านหลังของโฮมสเตย์ มีพื้นที่สวนและท้องร่องให้เดินและเรียนรู้พรรณไม้กันค่ะ

        อย่างสวนของคุณต้อย เจ้าของพื้นที่สวนแห่งนี้ไม่เคยคิดจะขายสวนให้กับนายทุน ฉันนึกอยากขอบคุณคุณต้อยมากๆ ไม่เช่นนั้นแล้ว ผลไม้โบราณอย่างมะม่วงที่มีนามว่า พราหมณ์ขายเมีย อาจจะไม่มีให้เห็นและให้ชิมอีกต่อไป คุณป้า เจ้าของสวนแห่งนี้บอกกล่าวกับฉันว่า พราหมณ์ขายเมีย ของแท้ต้องพื้นที่สวนของชุมชนเกาะศาลเจ้าเลย เอาเมล็ดไปปลูกที่อื่น ก็อร่อยสู้ที่นี่ไม่ได้ ฉันได้มีโอกาสลิ้มลอง ขอบอกว่าอร่อยจนหยุดไม่ได้จริงๆ เหตุใดชื่อมะม่วงโบราณชนิดนี้จึงประหลาดนัก คุณป้าเจ้าของสวนได้เล่าให้ฟังว่า ก็เพราะมะม่วงละแวกนี้อร่อยจนพราหมณ์ต้องยอมขายเมียเพื่อแลกกับมะม่วงนั้นเอง ฉันได้ฟังแล้วชวนขำขัน แต่ก็ไม่แปลกใจ เพราะมะม่วงเขาดีจริงๆ ค่ะ อร่อยจนต้องขายเมียเลยว่างั้น 😛

ชุมชนวัดศาลเจ้า

        หากท่านใดที่สนใจ การท่องเที่ยววิถีชีวิตและวัฒนธรรม ที่นี่จึงเป็นอีกสถานที่ที่ไม่ควรพลาด พื้นที่เล็กๆ แต่ความหลากหลายทางวัฒนธรรม งานภูมิปัญญาท้องถิ่นของที่นี่ไม่ได้เล็กน้อยตามพื้นที่เลย ในระยะเวลาเพียง 1 วัน หากจะเรียนรู้กันจริงๆ ก็อาจจะไม่พอ เพราะงานศิลป์ และการสืบทอดภูมิปัญญาบางอย่างต้องใช้ความอดทน และความตั้งใจในการสรรค์สร้าง ลองแวะมาเยือน แล้วลองพิสูจน์ด้วยตัวคุณเอง แล้วคุณจะรู้ว่า ชุมชนเกาะศาลเจ้า มีอะไรดีมากกว่าที่คุณคิด เส้นทางสายน้ำสำหรับบางลำคลองในกรุงเทพมหานครมิอาจไหลย้อนกลับ แต่เส้นทาง คลองบางระมาด-คลองบ้านไทร กับประวัติศาสตร์ความเป็นมาถึง 500 ปี ยังคงไหลนิ่งๆ รอความเจริญทางจิตใจ และการตระหนักในคุณค่าของความเป็นชุมชนจากทุกหัวใจมาเยือน … ไม่มา แล้วจะรู้ได้อย่างไร …

 

cover-bangramad



Cultures of Fermented 
by Scoby Doit
Previous ArticleNext Article