“ศรีเทพ นาลันทา ทวารวดี”
อุทยานประวัติศาสตร์ เมืองศรีเทพ
อุทยานประวัติศาสตร์ เมืองโบราณ ศรีเทพ ตั้งอยู่ ณ ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ประเทศไทย บริเวณเขตที่สูงภาคกลาง มีพื้นที่รวม 4.7 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,889 ไร่ เมืองศรีเทพ มีลักษณะ เป็น “เมืองซ้อนเมือง” มีพื้นที่ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย เมืองใน และเมืองนอก
ในอดีต เมืองโบราณศรีเทพ เป็นจุดเชื่อมโยง เครือข่ายของการแลกเปลี่ยนสินค้า เส้นทางการค้า และ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ระหว่างพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ต่อเนื่อง มาจนถึงวัฒนธรรมขอมโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 8-18)
เมืองโบราณศรีเทพ เจริญรุ่งเรือง อยู่ราว 700 ปี จึงค่อยๆ ลดความสำคัญลงไปเมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นห้วงเวลาเดียวกับ การล่มสลายของอาณาจักรเขมร พร้อมกับการเกิดศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองใหม่ ขึ้นทางตอนเหนือของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่สุโขทัย และในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่พระนครศรีอยุธยา …ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เมืองโบราณศรีเทพลดบทบาทความสำคัญลง จนกระทั่งถูกทิ้งร้างในที่สุด
ชาวบ้านในท้องถิ่น เรียกขาน เมืองโบราณศรีเทพแห่งนี้ กันว่า
“เมืองอภัยสาลี”
- ลักษณะทางกายภาพของเมืองโบราณศรีเทพ
เมืองศรีเทพ เป็นเมืองที่มีคูน้ำ เป็นกำแพงเมืองล้อมรอบ เป็นลักษณะ “เมืองซ้อนเมือง” โดยมีพื้นที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย เมืองใน และเมืองนอก
- เมืองใน ผังเมืองจะมีลักษณะค่อนข้างกลม มีพื้นที่ขนาดประมาณ 1.87 ตารางกิโลเมตร (1,300 ไร่) ภายในตัวเมือง มีภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลอนลูกคลื่น ประกอบด้วยโบราณสถาน กระจายตัวอยู่ 48 แห่ง อันที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา และ ศาสนาฮินดู มีรูปแบบศิลปกรรมในวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) และวัฒนธรรมขอมโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 16-18) โดยมีโบราณสถานที่สำคัญๆ ได้แก่ เขาคลังใน , ปรางค์ศรีเทพ และ ปรางค์สองพี่น้อง ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมืองค่อนไปทางทิศตะวันตก นอกจากนี้ยังมีสระน้ำโบราณทั้งขนาดใหญ่ และเล็กอีกจำนวนกว่า 70 แห่ง
เมืองนอก ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน มีพื้นที่ประมาณ 2.83 ตารางกิโลเมตร (1,589ไร่) ผังเมืองค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน ภายในตัวเมือง สำรวจพบโบราณสถาน จำนวน 64 แห่ง มีสระน้ำโบราณจำนวนมาก นอกคูเมืองกำแพงเมืองโบราณ ยังมีการสำรวจพบโบราณสถานอีกจำนวน 50 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางทิศเหนือของเมือง โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ เขาคลังนอก, ปรางค์ฤๅษี, กลุ่มเขาคลังสระแก้ว และสระแก้ว สระน้ำโบราณขนาดใหญ่ …
- ความสำคัญทางประวัติศาสตร์
เมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ จัดอยู่ในบริเวณเขตที่สูงภาคกลาง อันเป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายของการแลกเปลี่ยนสินค้า เส้นทางการค้า และวัฒนธรรมระหว่างพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องจนถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 8-18)
เมืองโบราณศรีเทพ เป็นเมืองโบราณสำคัญในเส้นทางเครือข่ายทางการค้า และวัฒนธรรมสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แสดงออกถึงภูมิปัญญา อันเป็นความชาญฉลาดของมนุษย์ ในการเลือกสรรชัยภูมิที่ตั้งของชุมชนขึ้นในพื้นที่ ที่สามารถควบคุมเส้นทางธรรมชาติ ที่ใช้เป็นเส้นทางผ่านเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเปรียบเสมือนประตูเชื่อมต่อระหว่างดินแดนด้านตะวันออกของที่ราบลุ่มภาคกลางกับดินแดนที่ราบสูงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาจรวมถึงพื้นที่ทางด้านตะวันออกและตะวันตกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีพัฒนามาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทวารวดี และวัฒนธรรมขอมโบราณ ซึ่งก่อตัวขึ้นจากชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักเมื่อ 2,500-1,500 ปี มาแล้ว
เมืองโบราณแห่งนี้ เป็นศูนย์กลางภูมิภาคตอนในของประเทศไทย แสดงถึงภูมิปัญญา ในการสร้างสรรค์และผสมผสานงานศิลปกรรมทางพุทธศาสนาเถรวาท มหายาน และศาสนาฮินดู จนมีเอกลักษณ์รูปแบบเฉพาะ สกุลช่างของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มเทวรูปรุ่นเก่า กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ซึ่งเทวรูปรุ่นเก่าที่พบจากเมืองโบราณศรีเทพ ได้แก่
- พระนารายณ์ หรือ ( พระวิษณุสวมหมวกทรงกระบอก )
- พระกฤษณะโควรรรธนะ เป็นประติมากรรมลอยตัวที่มีลักษณะกายวิภาคชัดเจน ประทับยืนด้วยอาการตริภังค์ ( หรือเอียงสะโพกเล็กน้อย) แสดงอาการเคลื่อนไหวจากลักษณะดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถชั้นสูงของช่างฝีมือ มีเอกลักษณ์ความงามและความลงตัว ซึ่งรู้จักกันในนามสกุลช่างศรีเทพ
งานประติมากรรมและสถาปัตยกรรมของเมืองโบราณศรีเทพทั้งในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี และช่วงวัฒนธรรมขอมโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 11-18) ส่งผ่านคติความเชื่อทางศาสนาและรูปแบบศิลปกรรมไปสู่การสร้างสรรค์งานศิลปกรรมในสมัยต่อมา
ที่มาของชื่อ เมืองโบราณศรีเทพ
แต่เดิม ชาวบ้านในท้องถิ่น เรียกขาน เมืองศรีเทพ แห่งนี้ว่า เมืองอภัยสาลี
… จนกระทั่ง ในปี พุทธศักราช 2447 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ท่านได้เสด็จตรวจราชการ ณ มณฑลเพชรบูรณ์ ทรงตั้งพระทัยที่จะสืบค้นหาเมืองศรีเทพ จากที่ปรากฏในทำเนียบเก่า ถึงรายชื่อหัวเมืองในสมัยอยุธยา และต้นรัตนโกสินทร์ และได้ปรากฎเมืองโบราณขนาดใหญ่ แห่งหนึ่ง ทางทิศตะวันออกของภูเขาถมอรัตน์ ใกล้กับเมืองวิเชียรบุรี ซึ่งเมืองวิเชียรบุรีนั้นมีชื่อเดิมว่า เมืองท่าโรง และเมืองศรีเทพ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทรงมีพระวินิจฉัยว่า “ชื่อเมืองโบราณแห่งนี้ น่าจะเป็นต้นเค้า ของการเรียกชื่อเดิมของเมืองวิเชียรบุรีว่า เมืองศรีเทพ”
กรมศิลปากร จึงได้ใช้ชื่อเรียก เมืองโบราณ ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำรวจพบว่า เมืองศรีเทพ ไปพลางก่อน จนกว่าจะค้นพบหลักฐานเอกสารที่ยืนยัน ชื่อที่แท้จริงของเมืองโบราณแห่งนี้
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ หรือ ไพศาลี เป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3693 ลงวันที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2478
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ….. การศึกษาเกี่ยวกับเมืองโบราณแห่งนี้ ได้มีการดำเนินงานโดย กรมศิลปากร เป็นลำดับ รวมทั้ง ยังปรากฏในงานค้นคว้าทางวิชาการด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะเกี่ยวกับเมืองโบราณแห่งนี้โดยนักวิชาการชาวไทย และชาวต่างชาติ อาทิ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล , ดร.ควอริทช์ เวลส์, ศาสตราจารย์ชอง บวสเซอลิเย่ เป็นต้น
จนกระทั่งในปีพุทธศักราช 2527 เป็นต้นมา เมืองโบราณศรีเทพได้รับการอนุรักษ์ และพัฒนา เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ ภายใต้การบริหารจัดการในรูปแบบอุทยานประวัติศาสตร์ โดยการกำกับดูแลของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี กรมศิลปากร
เขาคลังใน (เมืองส่วนใน )
ชื่อโบราณสถาน “เขาคลังใน” แห่งนี้ มีที่มาจากความเชื่อของคนในท้องถิ่น ที่เชื่อว่า “เป็นคลังที่เก็บสิ่งของมีค่า หรือคลังอาวุธ ในสมัยโบราณ” อาคารประธานเป็นอาคารในศิลปะแบบทวารวดี แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนที่เหลืออยู่ ทั้งหมดคือส่วนฐานก่อด้วย ศิลาแลงฉาบปูน ภายใน ก่อทึบตัน ที่ส่วนล่างของ ฐานยังเหลือภาพปูนปั้นประดับเป็นลายก้านขด รูปสัตว์ และคนแคระ แบก กำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔
ด้านหน้ามี บันไดทางขึ้นสู่ชั้นบนซึ่งยังเหลือปูนฉาบเป็นลานกว้าง มีร่องรอย ว่าเดิมอาจมีสถูปประดิษฐานอยู่ทางทิศตะวันตก และวิหารขนาด เล็กอยู่ด้านหน้า แต่ปัจจุบันพังทลายไปเกือบจะไม่เหลือร่องรอย ภายในบริเวณวัดยังมีเจดีย์ราย วิหาร และอาคารขนาดเล็กหลายแห่ง
ปรางค์ศรีเทพ (เมืองส่วนใน )
ปรางค์ศรีเทพ เป็นศาสนสถานใน ศาสนาฮินดู ปราสาทประธานเป็นแบบ ศิลปะเขมร ส่วนบนก่อด้วยอิฐ ฐานเป็นศิลาแลงฉาบปูน ตั้งอยู่ บนลานดินที่ก่อรอบด้วยศิลาแลง เป็นฐานสี่เหลี่ยมยกพื้นสูง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก สองข้างลานด้านหน้ามี บรรณาลัย ๒ หลัง เป็นที่เก็บคัมภีร์ทางศาสนา
ปัจจุบันเหลือเพียงฐาน มีทางเดินรูปกากบาท เรียกว่า สะพานนาค เชื่อมต่อระหว่าง โคปุระหรือประตูทางเข้าด้านหน้า กับพื้นที่ส่วนล่าง ซึ่งมีทางเดินหินศิลาแลง และฐานอาคารประกอบพิธีกรรมอีกหลายแห่ง จากการขุดค้นโบราณสถาน พบทวารบาลหินทรายสมัย บายน และชิ้นส่วนทับหลัง กำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗
นอกจากนี้ ยังพบชิ้นส่วนกลีบขนุน ที่ยังสลักไม่แล้วเสร็จ จึงสันนิษฐานว่า โบราณสถานแห่งนี้ คงสร้างขึ้นเพื่อเป็น เทวาลัย ในศาสนาฮินดู ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗ และได้รับการ ซ่อมแซมดัดแปลง เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนามหายาน ตามความนิยม ในช่วงสมัยบายนของเขมรในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ แต่ก็ยังไม่ แล้วเสร็จ …
( บรรณาลัย (Library) แปลว่า ห้องสมุด หรือ หอหนังสือ ลักษณะเป็นอาคารขนาดเล็กที่มีแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู )
ปรางค์สองพี่น้อง ( เมืองส่วนใน )
ปรางค์สองพี่น้อง เป็นศาสนสถานใน ศาสนาฮินดู ปราสาทประธาน เป็นแบบศิลปะขอมโบราณ ก่อด้วยอิฐ ฐานเป็นศิลาแลง ฉาบปูนทั้งองค์ หันหน้าไป ทางทิศตะวันตก มีปราสาท หลังเล็ก ซึ่งสร้างเพิ่มเติมขึ้นในภายหลัง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน จึงเป็นที่มาของชื่อ โบราณสถานปรางค์สองพี่น้อง
บริเวณด้านหน้าปราสาท มีทางเดิน และอาคารประกอบพิธีกรรมต่างๆ ก่อด้วยศิลาแลง ด้านหน้าสุด มีทางเดินรูปกากบาท จากการขุดค้นโบราณสถาน พบประติมากรรมรูป สุริยเทพ ( พระอาทิตย์ ) บริเวณทางเดินด้านหน้า ขุดค้นโบราณสถาน ทับหลัง จำหลักรูป “อุมามเหศวร” ซึ่งปัจจุบันติดตั้งอยู่ที่ ปราสาทหลังเล็ก ( มีลักษณะศิลปะแบบบาปวน – นครวัด) ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗ และ รูปเคารพได้แก่ โคนนทิ ฐานโยนิ และ ศิวลึงค์ ถูกฝังไว้ในระดับใต้ฐานอาคาร จึงสันนิษฐานว่า แต่เดิมโบราณสถานแห่งนี้ อาจจะสร้างขึ้นเพื่อเป็น เทวาลัย ในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ในราวพุทธศตวรรษ ที่ ๑๗ ต่อมา อาจเปลี่ยนแปลง เป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธมหายาน เช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จึงได้มีการฝังรูปเคารพในศาสนาเดิมไว้ใต้ฐานอาคาร
เขาคลังนอก
เขาคลังนอก โบราณสถานสำคัญที่มีการวางผังแบบ “จักรวาลมณฑล” ตามศาสนาพุทธนิกายมหายาน ได้ถูกขุดค้นในปี พ.ศ. 2551 จากเดิม เป็นเพียงเนินดิน หรือภูเขาย่อมๆ ที่มีขนาดราว 100 x 100 เมตร โดยตัวฐานมีความกว้าง 64 x 64 เมตร ซึ่งในขณะนั้น มีโครงสร้างบางส่วนโผล่ออกมาให้เห็น โดยฐานทำจากศิลาแลง ในขณะที่ส่วนบน ก่อขึ้นด้วยอิฐ ซึ่งต่างจากสถาปัตยกรรม ในสมัยทวาราวดีส่วนใหญ่ ที่ใช้ก้อนอิฐเป็นส่วนประกอบหลักในการก่อสร้าง
เขาคลังนอก เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี ตั้งอยู่นอกเมือง ห่างออกไปราว ๒ กิโลเมตร สันนิษฐานว่า มีลักษณะเป็นมหาสถูป มีฐานขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยศิลาแลง ที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ประดับตกแต่งฐานด้วยอาคารจำลองขนาดต่าง ๆ อยู่ โดยรอบ ภายในทึบตัน มีบันไดทางขึ้นทั้ง ๔ ด้าน มีสถูปก่อด้วย อิฐตั้งอยู่ด้านบนล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว และซุ้มประตู สันนิษฐานว่า อาจจะมีอายุร่วมสมัย กับโบราณสถาน เขาคลังใน ที่ตั้ง อยู่ภายในเมือง คือ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔
ถือได้ว่า เขาคลังนอก เป็นศาสนสถานที่มีขนาดใหญ่ และสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในศาสนสถานที่ร่วมสมัยเดียวกัน ….
ปรางค์ฤาษี
ปรางค์ฤาษี ตั้งอยู่ใน บริเวณวัดป่าสระแก้วนอก เมืองศรีเทพ ห่างออกมาทางทิศเหนือ ๒ กิโลเมตร โบราณสถานกลุ่มนี้ เป็นเทวาลัย ในศาสนาฮินดู มีลักษณะ เป็นสถาปัตยกรรม แบบขอมโบราณ หันหน้า ไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วย
- ปราสาทประธานก่อด้วยอิฐ ไม่สอปูน ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง
- ปราสาทองค์รอง ซึ่งพังทลายไปแล้ว เหลือเพียงแต่ส่วนฐาน และมีอาคารบริวารขนาดเล็กอื่นๆ ในบริเวณ เดียวกันโบราณสถานกลุ่มนี้ ล้อมรอบด้วยแนวกำแพงก่อด้วย ศิลาแลง พบโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาฮินดู ได้แก่ ศิวลึงค์ ,ฐานประติมากรรม และชิ้นส่วนโคนนทิ
จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่า โบราณสถานกลุ่มนี้ น่าจะมีอายุร่วมสมัยกับโบราณสถานปรางค์ศรีเทพ และปรางค์สองพี่น้อง ที่ตั้งอยู่ภายในเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งมีอายุราวพุทธ ศตวรรษที่ ๑๖
“เขาถมอรัตน์”
นอกเมืองโบราณศรีเทพ ห่างออกไปประมาณ 15 กิโลเมตร ทางด้านทิศตะวันตก เป็นที่ตั้งของ
“เขาถมอรัตน์”
คำว่า “ถมอ” แปลว่า หิน และ คำว่า “รัตน” เขาถมอรัตน์ จึงแปลว่า “เขาหินแก้ว”
เขาถมอรัตน์ เป็นภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ ที่มีรูปลักษณ์มรงปิรามิด สมัยโบราณ ใช้เป็น landmark หรือใช้เป็นจุดหมายตา ที่สำคัญ ของนักเดินทาง มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยบริเวณเชิงเขาถมอรัตน์ เป็นแหล่งผลิตเครื่องมือ และกำไลหิน ที่สำคัญ … ต่อมาในสมัยทวารวดี ได้มีการดัดแปลงถ้ำหินปูน ที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขา ให้เป็น ศาสนสถานในพุทธศาสนาแบบมหายาน กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔
ภายในถ้ำบนเขาแห่งนี้ มีภาพสลักนูนต่ำบนผนังถ้ำ อันเกี่ยวเนื่องในพุทธศาสนามหายาน เป็นภาพพระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม บนฐานดอกบัว พระโพธิสัตว์สี่กร สถูป และธรรมจักร ลักษณะของศิลปะทวารวดีกำหนดอายุสมัย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔
ปัจจุบันเศียร และพระหัตถ์ ของประติมากรรมเหล่านี้ ถูกสกัดทำลายไป แต่ต่อมา นำกลับคืนมาได้ และได้นำมาจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่
ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาถมอรัตน์ ทางด้านทิศตะวันออก (บ้านหน้าผา) อยู่ในเขต ตำบลโคกสะอาด อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ภายในศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ มีห้องขนาดเล็กภายใน เปิด-ปิดด้วยประตูเหล็กยืด เป็นห้องที่จัดเก็บก้อนหินปูนธรรมชาติจำนวน 4 ก้อน และชิ้นส่วน ประติมากรรมต่างๆ จำนวน 10 ชิ้น
จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน เล่าว่า “พบชิ้นส่วนโบราณวัตถุเหล่านี้ อยู่ระหว่างสองข้างทางเดินขึ้นเขาถมอรัตน์ จึงช่วยกันเก็บรวบรวมและเคลื่อนย้ายลงมาที่ศาลเจ้าเขาใหญ่แห่งนี้ ซึ่งสันนิฐานกันว่า ชิ้นส่วนประติมากรรมเหล่านี้ อาจจะนำมาจากถ้ำเขาถมอรัตน์ แต่ไม่สามารถนำติดตัวต่อไปได้ จึงทิ้งไว้ข้างทาง ชาวบ้านผ่านเข้ามาพบเห็นจึงได้ช่วยกันเก็บรวบรวมขนย้ายลงมาเก็บไว้ ในศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่แห่งนี้ …
อาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดี
เป็นอาคารจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์และโครงกระดูก ช้าง ที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ โดยโครงกระดูกมนุษย์และสิ่งของเครื่องใช้ที่พบร่วมกันนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในระยะแรกเริ่มสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภายในเมืองโบราณศรีเทพที่มีมากว่า ๒,๐๐๐ ปี ก่อนที่จะมีการพัฒนาขึ้นมาเป็นสังคมเมืองโดยการรับวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ส่วนโครงกระดูกช้างนั้นนับเป็นหลักฐานสำคัญประการหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการใช้สอยโบราณสถานเนื่องใน วัฒนธรรมทวารวดีสืบเนื่องมาถึงวัฒนธรรมเขมรในทางใดทางหนึ่ง เนื่องจากมีการพบอยู่ในระดับเดียวกันกับฐานโบราณสถานชั้นล่างสุด
ข้อมูลการให้บริการ
- อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เปิดให้บริการทุกวัน ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๓๐ น. โดยไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
- ค่าธรรมเนียมเข้าชม ประชาชนชาวไทย คนละ ๒๐ บาท ชาวต่างประเทศ คนละ ๑๐๐ บาท ทั้งนี้ จะยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมให้แก่พระภิกษุ สามเณรในพระพุทธศาสนาหรือนักบวชในศาสนาอื่น , นักเรียน , นิสิตและนักศึกษาในเครื่องแบบนักเรียน นิสิตและนักศึกษา รวมทั้งครูอาจารย์ผู้ควบคุม ในกรณีขอเข้าชมเป็นหมู่คณะ โดยจำเป็นต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก่อนล่วงหน้า และแขกผู้มีเกียรติที่กรมศิลปากรหรืออุทยานประวัติศาสตร์เชิญหรือต้อนรับ
ในกรณีต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม หรือติดต่อขอเข้าชม เป็นหมู่คณะ โดยขอวิทยากรนำชม สามารถติดต่อประสานงานได้โดยตรงที่ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ๖๗๑๗๐
โทรศัพท์ ๐๕๖ –๙๒๑๓๒๒ โทรสาร ๐๕๖ –๙๒๑๓๑๗
ข้อมูลการเดินทาง : การเดินทางจากเมืองศรีเทพ ใช้ทางหลวงหมายเลข 21 (สระบุรี-หล่มสัก) ถึงกิโลเมตรที่ 102
สี่แยกศรีเทพ (ใกล้ที่ว่าการอำเภอศรีเทพ) เลี้ยวขวาสู่ทางหลวงหมายเลข 2211 ไปอีกราว 10 กิโลเมตร ถึงทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
ข้อมูลที่พัก : ค้นหาที่พัก ที่ดีที่สุดในอำเภอศรีเทพ << คลิ๊ก
เมืองโบราณศรีเทพ คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล
(The Ancient Town of Si Thep : Outstanding Universal Value)
เมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญในวัฒนธรรมทวารวดี ประกอบด้วย แหล่งมรดกที่เชื่อมต่อกัน 3 แหล่ง ได้แก่
- เมืองโบราณศรีเทพ
- โบราณสถานเขาคลังนอก
- โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์
เมืองโบราณศรีเทพ เป็นเมืองโบราณในสมัยทวารวดี เพียงเมืองเดียว ที่แสดงถึงคุณลักษณะที่สำคัญทั้งหมดของเมืองในสมัยทวารวดี ทั้งศิลปะ สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรม โดยยังอยู่ในสภาพที่ครบถ้วนสมบูรณ์ และไม่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาในปัจจุบัน เมืองโบราณศรีเทพตั้งอยู่ในเขตอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ในพื้นที่ภาคกลางตอนบนของประเทศไทย พบการตั้งถิ่นฐานของคนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยหลักฐานการขุดค้นที่ “เมืองใน” แสดงให้เห็นว่า บางพื้นที่เคยเป็นหลุมฝังศพในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย การกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ โดยนำกระดูกฟันเขี้ยวของโครงกระดูกหมายเลข 1 ส่งไปตรวจหาค่าอายุด้วยวิธี AMS สามารถกำหนดอายุได้ราวประมาณ 1730 ปี นับจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายเป็นต้นมาชุมชนที่อาศัยในพื้นที่แหล่งนี้ มีการพัฒนาและเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่จากการติดต่อกับสังคมภายนอก จนสามารถเรียนรู้และพัฒนาการขุดคูน้ำคันดิน เพื่อทำเป็นคูเมือง – กำแพงเมือง
เสนอ เมืองโบราณศรีเทพ เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม
เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List) ในปีพุทธศักราช 2562
ด้วยคุณค่า และความโดดเด่นของเมืองโบราณศรีเทพ ที่มีการพัฒนาขึ้นมาจากชุมชนโบราณในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก เมื่อประมาณ 1,700-1,500 ปีมาแล้ว (พุทธศตวรรษที่ 8-10) เมื่อได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมภายนอกโดยเฉพาะวัฒนธรรมอินเดียและวัฒนธรรมเขมรโบราณ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเข้าสู่สังคมเมือง ในวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) และวัฒนธรรมขอมโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 16-18)
ลำดับพัฒนาการในแต่ละช่วงสมัยของเมืองโบราณศรีเทพ แสดงออกถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ ในเขตพื้นที่ศูนย์กลางของภูมิภาคตอนในของประเทศไทย ซึ่งเป็นชุมชนหรือเมืองโบราณภายใน (Hinterland) ที่มีความต่อเนื่องทางวัฒนธรรม มีการเลือกสรรพื้นที่ตั้งของชุมชน หรือเมืองที่สามารถควบคุมหรือเชื่อมโยงเครือข่ายการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม หรือเส้นทางการค้าสมัยโบราณระหว่างพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางและที่ราบสูงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาจรวมถึงพื้นที่ทางด้านตะวันออกและตะวันตกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ….
จึงกล่าวได้ว่า ชัยภูมิที่ตั้งของเมืองเป็นจุดสำคัญในเครือข่ายการแลกเปลี่ยนทรัพยากรและการค้าของชุมชนบริเวณใกล้เคียงและภายนอกภูมิภาคมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร ส่งผลให้เกิดพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมในชุมชน และดำรงสถานะเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าและศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งในช่วงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กรมศิลปากรตระหนักถึงคุณค่าที่สำคัญดังกล่าว จึงได้ดำเนินการและเตรียมนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม เมืองโบราณศรีเทพ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List) ในปีพุทธศักราช 2562
GQ กางเกงชิโน ผ้ายืด สีแดง ใส่สบาย น้ำหนักเบา สะท้อนน้ำ เหมาะกับอากาศร้อน สบายจริงๆ สบายจัดๆ
GQ กางเกงชิโน >> คลิ๊ก
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง และเว็บไซด์ที่เกี่ยข้อง อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
- เว็ปไซต์อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ : www.finearts.go.th/sitheppark
- ชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เสมือนจริง http://virtualhistoricalpark.finearts.go.th/sithep/360/sithep.html
- ข้อมูลเพิ่มเติม อื่นๆ https://www.misc.today/2023/08/si-thep.html
- กรมศิลปากร https://www.finearts.go.th
- facebook อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ : https://www.facebook.com/profile.php?id=100064352844653
- ศ.ดร.พิริยะเสนอ ‘ทวารวดี’ เป็น ‘ราชธานีแห่งแรก’ เมื่อ 1,400 ปีก่อน ฟันธงอยู่ที่ ‘ศรีเทพ’ ไม่ใช่นครปฐม
https://www.matichon.co.th/entertainment/arts-culture/news_3107083
แนะนำหนังสือที่เกี่ยวข้องกับโบราณสถานและโบราณวัตถุ
ศิลปทวารวดี วัฒนธรรมทางศาสนา ยุคเริ่มแรกในดินแดนไทย
หนังสือที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ศิลปะทวารวดี” อย่างสมบูรณ์ อธิบายความเป็นมาของศิลปะทวารวดี ศิลปะไทยที่สร้างขึ้น ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๘ ลักษณะเด่นของศิลปะทวารวดีทั้งงานสถาปัตยกรรม โบราณวัตถุ พระพุทธรูป งานปูนปั้น เป็นต้น พร้อมรูปประกอบมากกว่า ๓๐๐ รูป
“ขอม” เป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดชนชาติหนึ่งในภูมิภาคอุษาคเนย์
“ขอมโบราณ” เล่มนี้ ได้รวบรวมเรื่องราวของชนชาติขอม ด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมา ช่วงรัชสมัยต่างๆ ทั้งอารยธรรมที่ขอมได้ฝากไว้ กระทั่งสงครามหรืออิทธิพลที่ขอมมีต่อไทย เพื่อให้ผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ขอมได้เห็นภาพรวมตามลำดับเวลา เพื่อให้ง่ายต่อการอ่านพร้อมบันทึกของยอดนักบันทึกโจวต้ากวน เหมาะสำหรับผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวขอมไม่มากนัก หรือไม่มีพื้นฐานเลย
แหล่งอุทยานประวัติศาสตร์มรดกโลก สมัยสุโขทัย
หนังสือ ที่ได้รวบรวมเรื่องราวที่น่าสนใจด้านประวัติศาสตร์ศิลปสถาปัตยกรรม และประสบการณ์การท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ สมัยสุโขทัย ทั้ง 3 แหล่ง ไว้ในเล่มเดียวกัน โดยประมวลผลจากการรวบรวมข้อมูลทั้งภาคเอกสาร การบันทึกข้อมูลและภาพถ่ายจากสถานที่จริง หนังสือเล่มนี้ เป็นประโยชน์ต่อการค้นคว้าข้อมูล เพิ่มพูนความรอบรู้ แก่นิสิต นักศึกษา และผู้ที่สนใจในการศึกษาด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ศิลปสถาปิตยกรรมและการท่องเที่ยว