miscellaneous

ชะตากรรมของ พระยาทรงสุรเดช | ตอนที่ ๘ ทหารไทยต้องฆ่ากันเอง

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ  นั้น ได้ทรงพยายาม วางพระองค์เป็นกลาง เหนือการเมือง ในเรื่องนี้มาตั้งแต่หลวงพิบูลฯ ส่งโทรเลขด่วน ไปกราบบังคมทูล ฟ้องว่า  “พระองค์บวรเดช ยกกองทัพ มายื่นคำขาดต่อรัฐบาล” 

… แม้จะทรงรับรองรัฐบาลพระยาพหลฯ ว่า ยังเป็นรัฐบาลของพระองค์ ตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่สนับสนุน การกระทำของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือยอมทำตามความประสงค์ของทั้งคู่ ที่จะเชิญเสด็จกลับพระนครหรือไปประทับที่นครราชสีมา

…. ครั้นทหารเพชรบุรี ประกาศเข้ากับคณะกู้บ้านกู้เมือง รัฐบาลก็เร่งเร้า ที่จะให้เสด็จกลับให้ได้ ส่งทั้งทางโทรเลข และส่งตัวแทน เดินทางโดยเรือทะเลไปเฝ้าฯ จึงทรงมีพระราชดำรัสว่า …

“… ทุกฝ่ายต่างยืนยันว่าจะซื่อตรงต่อพระองค์ แต่เมื่อทรงพูดอย่างไร กลับไม่มีใครเชื่อฟัง ก็เหลือทางเดียวที่พระองค์จะรักษาความเป็นกลางไว้ให้ได้ ต่อไปนี้ ไม่ว่าฝ่ายใดมาหัวหิน ทหารรักษาวังจะทำการปลดอาวุธทุกคนไม่ละเว้น ….”


 

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงทราบว่า ทั้งสองฝ่ายเริ่มปะทะกันเอาเป็นเอาตาย โดยไม่ยอมฟังพระองค์เลย ก็สลดพระทัย จึงทรง มีพระอักษร ฝากไปถึงทั้งสองฝ่ายว่า

“…. มีพระราชประสงค์จะให้มีการหยุดยิงโดยทันที ฝ่ายใดไม่หยุดจะทรงถือว่าเป็นกบฏต่อพระองค์….”    ให้หันมาใช้การเจรจากัน โดยพระองค์ จะประทับเป็นคนกลางให้ พอได้ทราบพระราชกระแส พระองค์บวรเดช และนายทหาร ที่มาด้วย ก็ถึงกับหมดกำลังใจ ไม่เห็นทางสว่างที่จะชนะทั้งทางการเมือง หรือทางทหาร


…. ในขณะที่เสบียงอาหาร และกระสุนมีเหลือที่จะแจกจ่ายให้ทหารได้อีกแค่ ๓ วันเท่านั้น จึงคิดวางแผนจะถอยกลับไปปากช่องเพื่อคิดหาหนทางต่อสู้ต่อไป ….

๑๔ ตุลาคม  ฝ่ายรัฐบาลเปิดการรุก ตั้งแต่ข้าวยังไม่เรียงเม็ด หมายจะเผด็จศึก

    เสียงปืนของทั้งสองฝ่าย ดังกึกก้องทั่วท้องทุ่งบางเขน  ได้ยินไปถึงเมืองปทุมฯ …

พันตรี หลวงอำนวยสงคราม
พันตรี หลวงอำนวยสงคราม (ถม เกษะโกมล) ซึ่งสะพานเกษะโกมล และถนนอำนวยสงคราม ที่อยู่เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ได้ถูกตั้งชื่อตามท่านผู้นี้เพื่อเป็นอนุสรณ์

    พันตรี หลวงอำนวยสงคราม (ถม เกษะโกมล) ผู้บังคับกองพัน อยู่บนหัวรถจักรดีเซลหุ้มเกราะ สั่งการให้รุกคืบหน้า ไปบนรางรถไฟพร้อมกันทั้งสองราง ด้วยการใช้รถจักรดันหลังรถ ข.ต. บรรทุกรถถังเคลื่อนที่เข้าหาฝ่ายตรงกันข้าม ทหารราบอยู่ในรถพ่วงคันหลังคอยฟังคำสั่ง ขบวนเคลื่อนที่ช้าๆ  ออกจากบางซื่อ รุกเข้าไปสักพัก …..   ก็ได้รับการต้านทานอย่างหนัก ด้วยปืนกล ของฝ่ายหัวเมือง….
 สักประเดี๋ยวเดียว ขบวนรถก็ถอยกรูดกลับมาสถานีบางซื่อ เพราะ  หลวงอำนวยสงคราม ถูกกระสุนปืนกล ที่ยิงเฉียงเข้ามาจากโบสถ์วัดเทวสุนทร เข้าเต็มกกหู   โดย “ร้อยตรีเผ่า ศรียานนท์”   ( ตำรวจชื่อดัง ที่ต่อมา ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีตำรวจ ยุคที่ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ … )   ตอนนั้นอยู่ในรถบังคับการ เห็นเข้าก็ตกใจ “ร้องไห้” แบกศพนายวิ่งเข้าไปรายงานหลวงพิบูลฯ   ซึ่งสั่งให้เอาผ้าอาบน้ำมันห่อให้มิดชิดอย่างดีแล้ว ให้รักษาเป็นความลับไม่ให้ใครรู้ทั้งนั้น …

ส่วนทางฝ่ายคณะกู้บ้านเมือง พอเห็นฝ่ายรัฐบาลถอยไป จึงส่งทหารม้ากองพันที่ ๔ สระบุรี ขึ้นมาสับเปลี่ยนกำลังทหารราบนครราชสีมา ในตอนบ่าย …

หลวงพิบูลฯ โกรธมาก ที่สูญเสียเพื่อนรักไป   

ร.ท.บุศรินทร์ ภักดีกุล นายทหารจบจากเบลเยียม วีรบุรุษทุ่งบางเขน ถ่ายรูปบนรถ ป.ต.อ. วิกเกอร์ อาร์มสตรอง กับทหารในหน่วย

จึงตัดสินใจ แก้เผ็ดด้วยอาวุธใหม่ล่าสุด เมดอินอิงแลนด์ ที่เพิ่งได้รับส่งมอบ นั่นคือ รถสายพานตีนตะขาบยี่ห้อ “วิกเกอร์ อาร์มสตรอง”   อานุภาพร้ายแรง ติดตั้งปืนกลต่อสู้อากาศยาน กระสุนขนาด ๔๐ ม.ม. ปลอกใหญ่กว่ากระบอกข้าวหลาม size XXL  ยิงได้นาทีละ ๒๐๐ นัด เรียกสั้นๆ ว่ารถปืน ป.ต.อ. กองทัพบกสั่งซื้อไป ๑๐ คัน มาถึงคลองเตยแล้ว แต่เพิ่งตรวจสภาพรับมอบมาเพียง ๒ คัน หลวงพิบูลสั่งการให้นำคันหนึ่ง มาประเดิม ลองเอาปืนยิงเครื่องบินมายิงคนดูซิ จะเป็นยังไง ??? …

 เมื่อนำรถปืน ป.ต.อ. ขึ้นบรรทุกบนรถ ข.ต.แล้ว  จึงเคลื่อนขึ้นไปตามทางรถไฟ  โดยมีรถจักรดันหลัง เมื่อเคลื่อนเลยวัดแคราย (เสมียนนารี) ไปได้หน่อยหนึ่ง ก็ตกอยู่ในวิถีกระสุนของฝ่ายทหารหัวเมือง แต่ไม่ระคายผิว เพราะรถมีเกราะกำบัง ร้อยโทบุศรินทร์ ภักดีกุล ผบ.หน่วย จึงใจเย็น ไม่สั่งให้ยิงโต้ตอบ คงเคลื่อนที่ต่อไปช้าๆ จนในที่สุดก็สังเกตเห็นได้ชัดเจนว่า รังปืนกลของฝ่ายตรงข้าม อยู่ที่หน้าต่างโบสถ์วัดเทวสุนทร ร้อยโทบุศรินทร์ จึงเข้าทำหน้าที่พลยิงด้วยตนเอง ….  รัวกระสุนไป ๔ นัดเท่านั้น ทหารหัวเมืองก็ช็อค เพราะเกิดมาเพิ่งเคยพบเคยเห็นปืนใหญ่ที่ยิงได้รวดเร็วราวกับปืนกล และกระสุนกระทบแตกก็ระเบิดเป็นสะเก็ดกระจายแม่นยำ อย่ากระนั้นเลย รีบทิ้งอาวุธแล้วโกยอ้าวออกไปจากโบสถ์เห็นจะดีที่สุด …

ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 หรือ Thai Type 76 SPAAG พัฒนาโดยบริษัทอังกฤษ Vickers Armstrong แต่ไม่ได้เข้าประจำการในกองทัพอังกฤษ สยามได้รับปตอ.อจ.รุ่นนี้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2476 | ภาพและข้อมูลโดย : https://forum.warthunder.com/

 

พอฝั่งซ้ายเงียบ รถปืน  ป.ต.อ.ก็หันไปยิงเป้าหมายด้านขวา ที่สงสัยว่า จะเป็นที่มั่นของฝ่ายกบฏ

     คือ สถานีวิทยุต่างประเทศที่หลักสี่ เพื่อขับไล่ทหาร ที่ซุ่มตัวอยู่ในนั้น แต่เล็งสูงๆ จากตัวอาคารไว้ เพราะเป็นสถานที่ราชการ เดี๋ยวต้องซ่อมหลายสตังค์ สงสารหลวง เพราะจะทอดผ้าป่าหาเงินมาซ่อมแบบวัดไม่ได้

….ลั่นกระสุนไป ๕ นัด รอสักพักเห็นเงียบ  ก็นำทหารราบรุกคืบหน้าไปโดยไม่มีอะไรให้ยิงอีกเลย เพราะไปติดแหง่กอยู่ที่ สะพานซึ่งทหารหัวเมืองทำลายไว้ หลวงพิบูลฯ  จึงสั่งให้ถอนรถปืน ป.ต.อ.กลับ  ( เล่นมากนัดไม่ได้เดี๋ยวเสียของกรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานจึงถือว่าเป็นพระเอกของวันนั้น) 

 

พลโทบุศรินทร์ ภักดีกุล ท่านไม่อยากพูดถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีต ท่านว่า… มันอัปยศ ที่ทหารไทยต้องฆ่ากันเอง และท่านต้องรบกับน้องชายร่วมสายโลหิตของท่านเอง คือ   ร้อยโทเอกรินทร์ ภักดีกุล ผู้สำเร็จวิชาทหารช่าง จากเบลเยียม มาสดๆร้อนๆ  มีตำแหน่งผู้บังคับหมวดทหารช่าง ในกองพันทหารช่างที่ ๑ อยุธยา  …. เขาโดนนายสั่งให้ร่วมกับกองพันทหารช่างที่ ๒ เป็นทัพหน้าของพระยาศรีสิทธิสงคราม ที่นำมายึดกองบัญชาการกรมอากาศยานดอนเมือง …

เมื่อการรบสิ้นสุดลง ได้ตกเป็นจำเลยของศาลพิเศษในข้อหากบฏ แต่ พลโทบุศรินทร์  ท่านไม่ได้เล่าว่าชะตากรรมของเอกรินทร์ ไม่ได้เลวร้ายเช่นนายทหารอยุธยาคนอื่นๆ ที่ต้องโทษฉกรรจ์  จนบางคนต้องเสียชีวิตลงในคุก เพราะว่า ในวันที่ศาลพิเศษ จะอ่านคำพิพากษานั้น หลวงพิบูลฯ ได้ไปปรากฏตัวที่ศาล แล้วเรียกตัวนายทหารช่างสองคน คือ เอกรินทร์และ ม.ล. ชวนชื่น กำภู ไปหา แล้วบอกว่า กระทรวงกลาโหมจะรับตัวเขาทั้งสองไปในวันนั้นเพื่อปล่อยกลับบ้าน…  คงเป็นเพราะเอกรินทร์ เป็นน้องชายของวีรบุรุษแห่งทุ่งบางเขนกระมัง …

ช่วงบ่ายวันเดียวกันนั้น ….. นักบินชั้นประทวน ที่ถูกจำกัดบริเวณอยู่ที่สนามบินดอนเมือง ได้จังหวะนำเครื่องบินรบแบบ “นิเออปอรต์ เดอลาส” ๒ เครื่อง หนีไปสวามิภักดิ์รัฐบาล โดยไปบินวนจะลงสู่สนามหลวงทางด้านทิศใต้ เครื่องหนึ่งผ่านพระบรมมหาราชวัง ในระดับต่ำมาก จนพุ่งเข้าชนมุมชายคา พระที่นั่งองค์หนึ่ง ในเขตพระราชฐานชั้นใน เครื่องบินตกลงพังพินาศ “สิบตรีแฉล้ม” นักบินบาดเจ็บสาหัสใกล้จะหมดลมหายใจรอมร่อ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังต้องรีบหามออกไปให้สิ้นใจภายนอกกำแพงวัง เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะต้องทำพิธีกลบบัตรสุมเพลิง ณ จุดที่ตาย ตามประเพณีของราชสำนัก …

อีกลำหนึ่ง สิบตรีเสริม ชุมแสง เป็นนักบิน ร่อนลงไปปะทะกิ่งมะขามที่สนามหลวง เครื่องพังแต่นักบินปลอดภัย รัฐบาลติดยศร้อยตรีให้ทันที พร้อมออกวิทยุกระจายข่าวใหญ่โต โฆษณาชักจูง ให้นักบินนำเครื่องมาสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลอีก ทำให้นักบินที่เหลือ ถูกทหารนครราชสีมา กักบริเวณในฐานทัพดอนเมืองอย่างเข้มข้นขึ้นมาทันที …

 

 

ทหารไทย คณะราษฎร์
สภาพความเสียหายของสถานีรถไฟหลักสี่ หลังจากทหารหัวเมืองถอนกำลังออกไปหมดแล้ว

 

 

เมื่อถอยจากสถานีบางเขนไปหลักสี่ เพื่อหนีปืนยิงเครื่องบิน ที่ไม่รู้จะมาเยี่ยมคำนับอีกเมื่อไหร่นั้น ทหารนครราชสีมา ทิ้งปืนใหญ่ไว้ให้ฝ่ายรัฐบาลดูต่างหน้า ๓ กระบอก ปืนกลหนักปืน กลเบา อะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย ….

ฝ่ายกู้บ้านกู้เมือง ต้องจัดทัพใหม่แต่สับสน
เพราะผู้บังคับบัญชาต่างคนต่างสั่ง ?! ไม่มีการประสานกัน

พระยาศรีสิทธิสงครามสั่งอย่างนั้น ทางฝ่ายเสนาธิการสั่งอย่างนี้


ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน

**ผมเองก็งง  เพราะอ่านแต่ละสำนวน ไม่เห็นจะเขียนตรงกัน มีเวปเดียวที่เขียนว่า …. 

     “เมื่อเห็นทหารถอยทัพมา อย่างไม่เป็นขบวน พระองค์บวรเดช ทรงเป็นกังวลมาก เสด็จออกมาตรวจแนวรบ แล้วสั่งให้นำปืนใหญ่ภูเขา ขึ้นรถ ข.ต.ทั้งสองราง แล้วใช้ หัวรถจักรดุนไปยิงสู้กับฝ่ายรัฐบาลบ้าง โดยพระองค์เสด็จไปกับขบวนรถด้วย รัฐบาลก็เอารถ ข.ต.ที่บรรทุกปืนใหญ่อย่างเดียวกันขึ้นมายิงใส่กันอย่างดุเดือดอยู่พักใหญ่ ท่านแม่ทัพ จึงตรัสสั่งให้ “ถอยกลับฐานทัพ” …..

**** ผมก็สงสัยไม่สิ้นว่า นี่ยังไม่ทรงทราบอีกหรือว่า กระสุนปืนใหญ่ทางฝ่ายของพระองค์น่ะเป็นกระสุนซ้อมรบ ???!! ทางฝ่ายที่ยิงมาเป็นกระสุนจริง แล้วจะทรงแสดงความกล้าไปดวล กับเขาหาพระแสงศาสตราวุธอะไร ???  อ่านแล้วก็ปลงๆ เหมือนดูข่าวหลายปีก่อนโน้น เหตุการณ์ภาพเดียวกันแท้ๆ ทีวีสองฝ่ายยังพากษ์ไปคนละเรื่อง


ตอนค่ำ กองทหารปืนใหญ่จากราชบุรี ที่ประกาศเข้ากับรัฐบาล ล่าสุด โดยการนำของ พันโท พระชัยศรแผลง ได้เดินทางโดยรถไฟ มาถึงสถานีบางกอกน้อย แต่ก็ต้องถูกส่งกลับในทันที พร้อมด้วยกำลังผสมจากพระนคร อีกจำนวนหนึ่ง ….  เพราะมีข่าวแน่ชัดว่า กองทหารจากเพชรบุรี ซึ่งประกาศเข้ากับฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมือง ได้เคลื่อนกำลังเข้ายึดสถานีรถไฟบ้านเขาย้อย ไว้แล้ว เพราะต้องการถวายอารักขา ต่อพระเจ้าอยู่หัวฯ  ที่ประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล ฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถผ่านไปหัวหินได้ จึงให้ พระชัยศรแผลง กลับไปจัดวางกำลังปืนใหญ่พร้อมด้วยอาวุธหนักเบา วางแนวป้องกันเมืองราชบุรีไว้ นอกจากนี้ก็ให้ตำรวจบ้านโป่งและกาญจนบุรีได้เตรียมพร้อมหากทหารเพชรบุรีจะบุกไปยึด ….

๑๕ ตุลาคม เมื่อคืนที่ผ่านมา  ได้เกิดการโต้เถียงกันอย่างหนัก ในระหว่างบรรดา แม่ทัพนายกอง ในศูนย์บัญชาการ ของคณะกู้บ้านกู้เมือง ถึงความ “มั่วเมื่อตอนบ่าย” และแผนที่ จะทำการอย่างไรในอนาคต เป็นเหตุให้ นายทหารเสนาธิการ ที่จบจากฝรั่งเศสคนหนึ่ง ยิงตัวตายเป็นการประท้วง ต้องนำศพไปฝังไว้ที่วัดดอนเมือง ซึ่งต่อมา ทางฝ่ายรัฐบาลรู้เข้า ก็สั่งขุดขึ้นมา ให้หนังสือพิมพ์ถ่ายรูป เสมือนประจาน …!!!

ในที่สุดสรุปว่า วันนี้ “คณะกู้บ้านกู้เมือง” จะเก็บข้าวเก็บของ
ทำลายหลักฐานต่างๆ แล้วถอยกลับอิสานบ้านเฮา..!!

พระยาศรีสิทธิสงคราม ได้รับคำสั่งให้รบถ่วงเวลาไว้ เมื่อพร้อมแล้ว ก็จะปล่อยอาวุธลับ ลงไปสะกดทัพรัฐบาล เพื่อที่พระองค์บวรเดช และกำลังส่วนใหญ่ ได้ถอนตัวอย่างปลอดภัย ….

ฝ่ายคณะกู้บ้านเมืองซึ่งปักหลัก ตั้งรับบริเวณวัดหลักสี่ ห่างกันไม่ถึงสองกิโลเมตรเช้าวันนั้นเอง ฝ่ายรัฐบาลแจกข้าวห่อสำหรับสองมื้อ แล้วเปิดการรุก ตั้งแต่เช้ามืด ฝ่ายคณะกู้บ้านเมืองซึ่งปักหลัก ตั้งรับบริเวณวัดหลักสี่ ห่างกันไม่ถึงสองกิโลเมตร อยู่ในวิธีกระสุนด้วยกันทั้งคู่ แต่ทหารในแนวหน้าจะต้องหาอาหารกินกันตามมีตามเกิด เพราะ ทางดอนเมืองไม่สามารถส่งเสบียงได้แล้ว กระนั้นทหารหัวเมืองก็ยังสู้รบเต็มที่ ยันการบุกของอีกฝ่ายหนึ่งได้จนถึงเวลา ๑๖.๐๐ น.เศษ

      ฝ่ายรัฐบาลก็รุกคืบหน้า ใกล้สถานีสถานีหลักสี่เข้ามา จนห่างจากแนวต้านทานของทหารม้าสระบุรี ไม่ถึง ๒๐๐ เมตร เมื่อเห็นท่าจะเอาไม่อยู่แล้ว พระยาศรีสิทธิสงคราม จึงกระซิบหม่อมเจ้าสุขปรารภ กมลาสน์ ด้วยภาษาเยอรมัน เพื่อไปบอกให้พระยาเสนาสงครามที่ดอนเมือง สั่งนายอรุณ บุนนาค ขับหัวรถจักรไอน้ำฮาโนแมกซ์ เบอร์ ๒๗๗ วิ่งฟืดฟาด ออกจากสถานีดอนเมืองช้าๆ ก่อนสับคันเร่งสุดเกจ์ แล้วรีบกระโดดลง ปล่อยให้รถวิ่งไปต่อด้วยความเร็วเต็มฝีจักร ผ่านทหารฝ่ายเดียวกัน ที่สถานีหลักสี่ และแม้จะโดนกระสุนปืนใหญ่ของฝ่ายตรงข้ามถึง ๔ นัด แต่ด้วยโมเมนตัม ตอร์ปิโดบกคันนั้น ก็พุ่งเข้าชนขบวนรถบรรทุกปืนใหญ่ และรถถังของฝ่ายรัฐบาลอย่างรุนแรงจนตกรางและถอยครูดไปกว่าร้อยเมตร แรงกระแทกทำให้ทหารเสียชีวิตทันที ๑๓ นาย บาดเจ็บอีกมากมาย การสู้รบวันนั้นยุติลงในบัดดล เปิดทางสะดวกให้ทหารหัวเมืองถอยยาว

วันที่ ๑๖ ตุลาคม ก่อนถอยจากดอนเมือง พระองค์บวรเดช ทรงมีหนังสือฉบับหนึ่ง ถึงราชเลขานุการในพระองค์ฯ นำใส่กระบอกเกตุทัศ (กระบอกนำสาร) ให้นักบินนำไปทิ้งที่หัวหิน มีข้อความว่า …

“…. ขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูล ถึงเหตุผลที่ทรงยกกองทัพมาโดยพลการ แต่เมื่อทรงทราบว่า มีพระราชประสงค์ที่จะให้การต่อสู้นี้สิ้นสุดลงโดยเร็ว ท่านก็ทรงขอรับพระราชทาน พระมหากรุณาธิคุณนิรโทษกรรม ถวายบังคมลากลับปากช่อง …”

        หลังจากปล่อยตอปิโดบกแล้ว พระยาศรีสิทธิสงคราม ได้สั่งการให้ทหารในแนวหน้า ค่อยๆ ถอย ถอนกำลังส่วนใหญ่ ออกจากหลักสี่ ไปขึ้นรถไฟที่ดอนเมือง ทิ้งกำลังส่วนน้อย คือทหารในกองพันทหารราบนครราชสีมา และกองพันทหารม้าสระบุรี ที่สู้รบอย่างทรหด ตั้งแต่วันแรก ไว้ยันทหารรัฐบาลอยู่จนถึงเที่ยงคืน จึงถอนตัว …

ทหารหาญเหล่านี้ เหน็ดเหนื่อยจากการรบถ่วงเวลามาทั้งวันทั้งคืน พอกินข้าวเสร็จ ก็ล้มตัวนอนหลับเป็นตายในโบกี้รถไฟ….

แต่กว่าจะรวบรวมได้ครบทุกคน ก็ใช้เวลานานมาก พระองค์บวรเดช ท่านไม่ยอมทิ้งทหารให้ตกเป็นเชลยฝ่ายรัฐบาลแม้แต่นายเดียว นอกจากนี้ ทหารปืนใหญ่นครราชสีมา ทั้งสองกองพัน ยังได้ขนปืนใหญ่ และกระสุนซ้อมยิงที่หัวกระสุนหล่อซีเมนต์ขึ้นรถ ขต.กลับไปด้วยทั้งๆที่ทหารบนรถไฟต่างกระวนกระวาย อยากจะหนีให้พ้นดอนเมืองโดยเร็วที่สุด ก็จำเป็นต้องรอ …

กระทั่งเวลาตีสอง
รถไฟจึงได้เริ่มออกเดินทาง
ทิ้งดอนเมืองให้เป็นอดีตที่ขมขื่น ….

คืนวันนั้นเอง   ขณะที่ประชุมกันในตู้ขบวนกองอำนวยการ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระองค์บวรเดช

 มี…นายทหารระดับพันตรี น้องของผู้ที่ยิงตัวตายที่ดอนเมือง ได้เอาปืนจ่อขมับตนเองแล้วลั่นไกตายตามไปอีกคน !!! 

ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า เป็นเพราะเครียดหนัก กับชะตากรรมที่รออยู่ข้างหน้าจนเป็นบ้า เห็นพี่ชายของตนมาร้องเรียก ต้องเอาศพลงไปฝังกันที่สถานีจันทึก ….

รุ่งขึ้น กว่าทหารฝ่ายรัฐบาล จะเข้ายึดสถานีหลักสี่ และให้กองพันทหารราบที่ ๔ เข้ายึดดอนเมืองได้ ก็ล่วงเข้าบ่ายสอง แต่ปราศจากการต้านทานใดๆ เพราะ ….. ทหารของพระองค์บวรเดช ขึ้นรถไฟไปปากช่องหมดแล้ว ได้แต่ยึดเครื่องบิน และควบคุมทหารนักบินที่ประกาศเป็นตนกลางไว้ …

ครั้นหลวงพิบูลมาถึง ก็ขึ้นกล่าวประกาศต่อหน้าที่ประชุมนายทหารทั้งปวง ในสโมสรนักบินที่ดอนเมืองว่า
” นายทหารทั้งหมด ที่ไม่ได้หนีตามพระองค์เจ้าบวรเดชไปนั้น ท่านเชื่อว่า ล้วนบริสุทธิ์จากมลทินกบฏ จึงสัญญาจะไม่ดำเนินการไต่สวนความผิดต่อไปอีก แล้วขอร้องให้ “ทหารนักบิน” ร่วมมือกับรัฐบาล ในการปราบกบฏต่อไปจนกว่าฝ่ายกบฏจะพ่ายแพ้ ….”

….แต่เมื่อเปิดโอกาสให้ทหารนักบิน แสดงฝีมือ ขึ้นบินไปสำรวจว่า พระองค์บวรเดชหนีไปทางเหนือ หรืออีสาน เมื่อพบขบวนรถแล้ว ก็ส่งฝูงบินให้ไปทิ้งระเบิดทำลายเสีย ชุดละ ๕ ลูก รวม ๒ ชุด …. แต่ไม่ถูกเป้าหมายสักลูกทั้งๆที่เป้าเบ้อเริ่ม

 (( ก็ใครจะไปกล้าทิ้งใส่เพื่อนทหารไทยด้วยกันที่มากับเขาตามคำสั่งนาย ??? ทหารนักบินทั้งหมดนั้นเลยไม่รอดจากคุกบางขวาง ))

อีกสายหนึ่ง รัฐบาลได้ส่งทหารเรือ ร.ล.สุริยมณฑล ที่ฝ่าฝืนคำสั่ง ผบ.ทร. ไม่ยอมถอยไปบางนา ให้วิ่งขึ้นไปปลดอาวุธ และจับกุมนายทหารเมืองอยุธยาได้เรียบร้อย ได้ความดีความชอบเป็นอันมาก…

ส่วนทางจังหวัดเพชรบุรี เมื่อทราบพระราชประสงค์ ที่ทรงต้องการให้ยุติความรุนแรง ทหารที่เข้ายึดสถานีบ้านเขาย้อย ก็ถอนกำลังกลับเข้าตัวเมืองเพชรบุรี และสงบอยู่ในที่ตั้ง ครั้นทหารราชบุรี พร้อมทหารกองพันผสมจากพระนคร เป็นกำลังเสริม ได้เคลื่อนพลมาถึงจังหวัดเพชรบุรีเพื่อปลดอาวุธ ทหารทั้งกองพันก็ยอมโดยดีไม่ขัดขืน

๑๗ ตุลาคม

รัฐบาลได้ส่งกองพันทหารราบที่ ๖ ขึ้นมาสมทบกองพันทหารราบที่ ๔
เพื่อติดตามกวาดล้างฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชต่อไป

พันโท พระเริงรุกปัจจามิตร (ทอง รักสงบ) ชาวโคราช เหลนย่าโมของจริง ได้รับแต่งตั้ง เป็นแม่ทัพ แทนพันโทหลวงพิบูลสงคราม เพื่อยกกองทัพติดตามโดยทางรถไฟ ไล่ล่าทหารหัวเมือง ซึ่งขณะนั้น กำลังพลร่อยหรอ และหมดกำลังใจที่จะสู้รบแล้ว เพราะรัฐบาลประกาศทางวิทยุประณามฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมือง ย้ำนักย้ำหนาว่า “เป็นกบฏต่อรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และตั้งสินบนแพงๆ นำจับนายทหารคนสำคัญทุกนาย ..!!!

ประชาสัมพันธ์

 Xiaomi Kingsmith Walking Pad R1 Pro/ R2
ลู่เดิน/วิ่งไฟฟ้า พับเก็บได้ สำหรับการออกกำลังกายภายในบ้าน >>  คลิ๊กดูเพิ่มอีก 

 

ข่าวการถอยทัพของพระองค์บวรเดชมาถึงปากช่อง

ทำให้ที่นครราชสีมาเริ่มเกิดความวุ่นวาย ทหารรักษาเมืองบางส่วน เริ่มไม่แน่ใจสถานการณ์ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

เช้ามืดวันนั้น พันโท พระประยุทธอริยั่น จึงเข้าไปปล่อยตัว พันตำรวจตรี พระขจัดทารุณกรรม ผู้บังคับการตำรวจ และพวกออกจากที่คุมขัง พร้อมกับบอกให้รีบหนี แต่พระขจัดฯ พอได้รับอิสระ ก็กลับนำกำลัง เข้ายึดสถานีตำรวจ คืนมาจากทหารรักษาการได้อย่างง่ายดาย แล้วใช้เป็นกองบัญชาการต่อไป ….

 

 


บทความ |เรียบเรียง
โดย  :  ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน

 

อ่านเพิ่มเติม
ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์  ตอนที่ 1-16  

 



Cultures of Fermented 
by Scoby Doit
Previous ArticleNext Article