กว่าจะได้เคลื่อนทัพ
“ นับเป็นเวลา ๑ ปี กับ ๔ เดือนเท่านั้น หลังจากคณะราษฎร เปลี่ยนแปลงการปกครองของสยาม มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เหตุการณ์ร้ายแรง ถึงขนาดคนไทย จับอาวุธเข้าประหัตประหารกันก็อุบัติขึ้น ”
วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๗๖
เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น.
ทหารกลุ่มหนึ่ง พร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้ายึดที่ทำการเทศาภิบาลจังหวัดนครราชสีมา คุมตัว ผู้รักษาราชการจังหวัด พร้อมกับข้าราชการใหญ่น้อย อีกหลายนาย ไปกักขังไว้ … ในเวลาเดียวกัน พลเอกพระองค์เจ้าบวรเดช พร้อมด้วยพันโท พระปัจจานึกพินาศ (แปลก เอมะศิริ) ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกนครราชสีมา และคณะนายทหารติดตามก็ตบเท้าเข้าสู่ศาลา “ร่วมเริงชัย” ในกรมทหาร ( ปัจจุบัน คือค่ายสุรนารี ) แล้วเปิดการประชุมนายทหาร และข้าราชการที่ได้รับเชิญมาทันที …
โฆษกของคณะกู้บ้านกู้เมือง ได้ก้าวขึ้นไปประกาศข่าว จริงบ้างเท็จบ้าง ว่า…
“ทางพระนคร เกิดเหตุร้าย รัฐบาลเอาหลวงประดิษฐ์ กลับมาเป็นรัฐมนตรี เพื่อจะเอาระบอบคอมมิวนิสต์ มาใช้ และยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ ?!
.. คณะกู้บ้านกู้เมือง จึงจำเป็นจะต้องนำทหาร เข้าไปปราบปราม ขอให้บรรดาข้าราชการ จงปฏิบัติงาน ไปตามหน้าที่ อย่าได้กระทำการใด เป็นที่ขัดขวางเป็นอันขาด ขณะนี้คณะกู้บ้านกู้เมือง โดยพระองค์เจ้าบวรเดช ได้ประกาศกฎอัยการศึก ยึดนครราชสีมาไว้ในอำนาจ แล้ว และเรียกทหารกองหนุนเจ้าประจำการทันที ….”
นอกจากกำลังทหารอีสาน คณะกู้บ้านกู้เมืองยังมีความหวังที่จะได้กำลังทหารราบ จากหัวเมือง ครบตาม แผนล้อมกวาง ส่วนทหารเรือแม้ว่าทาบทามไปแล้วยังไม่ได้ตอบตกลง แต่ก็มั่นใจว่า จะเข้าร่วมแน่ หลังวันดีเดย์ เช่นเดียวกับทหารทางจังหวัดภาคเหนือ …
แต่เดิม กำหนดนัดหมาย จะเคลื่อนกำลังพลทุกฝ่ายถึงพระนครพร้อมกันในวันที่ ๑๐ ตามฤกษ์ แต่….ได้ยอมทิ้งฤกษ์ เพราะองค์แม่ทัพ อยากจะรอทหารจากอุดรฯ ที่รับปากมั่นเหมาะว่า จะมาสมทบ แต่ยังมาไม่ทัน อ้างว่า ต้องเดินทางมาตามทางเกวียน จนถึงขอนแก่น เพื่อจับรถไฟที่นั่น
…. สงสัยว่า เงินค่าเติมน้ำมันรถ ยังส่งไปไม่ถึง แต่รอจนถึงวันที่ ๑๑ แล้วยังไม่มีท่าทีว่าจะโผล่มา ….. ทหารรอนานจนเซ็งแล้ว ท่านแม่ทัพใหญ่ จึงตัดสินใจให้เคลื่อนทัพเลย
การเลื่อนวันนัดหมายออกไป โดยไม่แจ้งสาเหตุชัดเจน … ทำให้ทหารปราจีนบุรีและราชบุรี เกิดระแวง ขึ้นมาทันที เลยขอใส่เกียร์ว่าง รอดูสถานการณ์ไปพลางก่อน ยังไม่เคลื่อนกำลังเข้ากรุงมาตามแผน
พอเห็นชัดว่า ท่าจะไม่รุ่งแน่
ก็รีบ กลับหลังหัน วันทยาวุธ …
กลับไปเข้ากับฝ่ายรัฐบาลดีกว่า ??!!
…. ก็ใครเล่าจะอยากอยู่ข้างผู้แพ้ !!!
และความจริงนั้น ก็คือ
กำลังพลในเมืองหลวง แม้นับหัวแล้วจะน้อยกว่า แต่ก็ถือว่า ไม่เป็นรอง
กำลังทหารราบในพระนคร ที่มีถึง ๘ กองพัน แต่ก็มีหน่วยพิเศษสนับสนุน ทั้งรถถัง ปืนใหญ่ และยุทโธปกรณ์ทันสมัยอื่นๆ มีอำนาจการยิงเหนือกว่า ทหารหัวเมืองมาก หากงานนี้ ทหารเมืองกรุงไม่วางตัวเป็นกลาง แผนที่วางไว้ก็บรรลัยแน่ เพราะทหารปืนใหญ่ ที่โคกกระเทียมนั้น แน่นอนว่า “จงรักภักดี ต่อพระยาพหลฯ” ผบ.เก่า คงพร้อมจะสกัดกั้นทหารนครสวรรค์ และทหารทางภาคเหนือ ที่จะยกลงมาสมทบได้
…. เหตุนี้เอง เมื่อพลตรีพระยาเสนาสงคราม ไปนำทหารนครสวรรค์เข้าพระนคร จึงทำไม่ได้ตามแผน ขบวนรถไฟ ที่จี้มาต้องหยุดก่อนถึงโคกกระเทียม เพราะปืนใหญ่ ที่ทหารฝ่ายรัฐบาลเข็นขึ้นตั้งจังก้าไว้บนรางรถไฟ ตัวพระยาเสนาสงครามเอง กว่าจะนำตัวเองเล็ดลอดลงเรือมาสมทบกับพรรคพวกได้ก็สายเกิน ….ไป !!!
ค่ำ วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๗๖
พันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม ได้นำทหารช่างอยุธยา ๒ กองพัน ภายใต้บังคับบัญชาของอดีตศิษย์ก้นกุฏิ ลงเรือโยง ใช้เรือกลไฟลากจูง ล่องมาขึ้นที่รังสิตกลางดึก แล้วนำทหารเดินตามทางรถไฟมุ่งสู่ดอนเมือง เข้าประตูกรมอากาศยาน อย่างสะดวกโยธิน ในตอนตีสี่ของเช้าวันที่ ๑๒ เพราะพันเอกพระยาเวหาสยามศิลปะสิทธิ์ ( หลง สินสุข) เจ้ากรมอากาศยานสั่งเปิดทางให้ ตามที่ตกลงไว้เมื่อฟ้าสางแล้ว ก็เป่าแตรเรียกประชุมนายทหาร เป็นการด่วน หลังพระอาทิตย์ขึ้น ก็ประกาศว่า
“คณะกู้บ้านเมืองได้ยึดดอนเมืองไว้แล้ว ขอให้ทหารนักบินทุกคนฟังคำสั่งของแม่ทัพหน้าของคณะกู้บ้านกู้เมืองต่อไป …”
เวลานั้น นักบินจากฐานบินอื่นๆหลายสิบคน ซึ่งได้รับคำสั่งลวง ให้มาแข่งเทนนิส ที่ดอนเมือง โดยให้นำเครื่องบินรบประจำตัวมาด้วย
เมื่อรู้ตัวว่า ถูกผู้ใหญ่หลอกมาเป็นเครื่องมือ ก็ประกาศวางตนเป็นกลาง …ไม่เข้ากับฝ่ายใด
ซึ่งพระยาศรีสิทธิสงคราม ก็มิได้ฝืนใจ เพราะตามแผนที่วางไว้ ก็เพียงแค่จะเอาเครื่องบินรบมาเก็บรวมไว้ กันไม่ให้รัฐบาล นำมาใช้เล่นงานพวกตนเท่านั้นเอง …. จึงได้แต่ส่งทหารช่างอยุธยาส่วนหนึ่ง ขึ้นมายึดสถานีรถไฟบางเขน
เหตุการณ์ทางนครราชสีมา เมื่อทุกทัพพร้อมแล้ว ก็เคลื่อนขบวนทัพหลวงเข้าพระนคร มีกองระวังหน้า ๒ หมวด ใช้รถไฟขบวนเล็กวิ่งล่วงหน้าไปก่อน ตามด้วยขบวนหลัก ใช้รถ ข.ต. (ข้างต่ำ)บรรทุกปืนใหญ่ภูเขาข้างหน้า ๒ กระบอก หลัง ๓ กระบอก ประกบรถโดยสารบรรทุกทหารราบ ทหารม้า และทหารปืนใหญ่ทั้ง ๕ กองพัน และรถกองบัญชาการของ แม่ทัพบวรเดช กับฝ่ายเสนาธิการที่หอบหิ้วกันมาจากกรุงเทพ เริ่มเคลื่อนขบวนสู่พระนคร เมื่อเวลาประมาณ ๑๗.๐๐น. มีพระสงฆ์สวดชยันโต พร้อมประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่ทหารทุกนาย …
“ชาวโคราช แห่กันมาส่งทหารคับคั่ง ส่งเสียงไชโยโห่ร้อง สนั่นหวั่นไหว ขวัญและกำลังใจของทหารขณะนั้นเป็นเยี่ยม”
เนื่องจากขบวนรถอันยาวเหยียด ไม่อาจใช้ความเร็วตามปกติได้ กองระวังหน้า ซึ่งทิ้งระยะห่างจากขบวนกองบัญชาการใหญ่ถึง ๑ กิโลเมตร ยังต้องจอดรอแล้วรออีก กว่าจะประคองกันไปถึงสถานีรถไฟปากช่อง เวลาก็ล่วงเลยเที่ยงคืนไปนาน ตลอดทางที่ผ่านมา ได้หยุดตามสถานีต่างๆ เพื่อดูโทรเลขรายงานความเคลื่อนไหวของฝ่ายรัฐบาลอยู่เป็นระยะๆ ….
ในเวลาไล่เลี่ยกันกับที่ ทหารคณะกู้บ้านกู้เมือง
เคลื่อนพลเข้าพระนครนั่นเอง … ทางฝ่ายรัฐบาล ซึ่งทราบแล้วว่า พระองค์บวรเดช ขึ้นไปเคลื่อนไหวอยู่ที่โคราช อย่างผิดปกติ …. ก็สั่งการให้ พันตำรวจโท พระกล้ากลางสมร (มงคล หงษไกร) นำตำรวจสันติบาลประมาณ ๓๐ นาย จัดรถไฟด่วนพิเศษ เดินทางไปนครราชสีมา เพื่อบุกเข้าจับกุมตัว พระองค์บวรเดช แต่ทรงได้รับรายงานทางโทรเลขจากสถานีต่างๆ ก็เตรียมรับมือรถไฟขบวนนี้อยู่ที่สถานีปากช่อง ให้ร้อยโทจรูญ ปัทมินทร์ ผู้บังคับหมวดของกองระวังหน้า สั่งตั้งปืนกลเบา ๒ กระบอก ไว้สองข้างทางรถไฟ เมื่อส่งสัญญาณสั่งให้รถหยุดแล้วไม่ได้ผล ร้อยโทจรูญ จึงสั่งระเบิดกระสุนชุดแรกของสงครามกลางเมือง นี้ไปที่รถโบกี้ที่กำลังจะแล่นผ่านอย่างรวดเร็วนั้น
เมื่อถูกยิงกราด พขร.จึงหยุดขบวนรถ ปรากฏว่าตำรวจตาย ๒ นาย บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ที่เหลือยอมจำนน พระองค์เจ้าบวรเดช ก็ให้ควบคุมตัว พระกล้ากลางสมร กับตำรวจทั้งหมดไว้ในขบวน แล้วสั่งเคลื่อนพลต่อ เมื่อขบวนรถจอดที่จังหวัดสระบุรี เพื่อรับกองพันทหารม้าที่ ๔ ซึ่งรออยู่ที่สถานีแล้ว ก็ให้เอาศพตำรวจลงไปฝัง ก่อนที่จะออกคำสั่งให้รถไฟเคลื่อนสู่พระนคร …
พระกล้ากลางสมร เก็บความแค้นนี้ไว้หลายปี จนกระทั่งชำระได้ เมื่อนายให้ไปเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ แล้วจึงสั่งลูกน้องคิดบัญชีโหดกับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งกำลังเป็นนักโทษการเมืองอยู่เกาะเต่า หนึ่งในนั้นมี ร้อยโทจรูญ ปัทมินทร์ รวมอยู่ด้วย …
เมื่อกวางที่เข้ามาล้อมกลายเป็นเสือ
กว่าที่ ทัพหลวง จากนครราชสีมาจะมาถึง ดอนเมือง ก็บ่ายคล้อยของวันที่ ๑๒ ตุลาคม …
พระยาศรีสิทธิสงคราม ก็รีบส่งทหารม้าสระบุรี ซึ่งเป็นหน่วยรบมีอาวุธดีกว่าทหารช่าง ขึ้นไปสับเปลี่ยนกำลัง ที่สถานีบางเขน ทันที ให้ทหารราบนครราชสีมาไปเป็นกองหนุน เนื่องจากกรุงเทพเดือนตุลาคม เป็นฤดูน้ำหลาก สองข้างทางรถไฟเจิ่งนองไปด้วยน้ำ ทหารทั้งหมด จึงอยู่ได้แต่บนแนวราง เรียงรายเป็นทางยาวจากสถานีรถไฟบางเขนจนถึงสถานีหลักสี่ ดูแน่นดี ดังแผนของพระองค์เจ้าบวรเดช ที่ต้องการสร้างภาพไว้ขู่ ก่อนขอเปิดเจรจาความเมืองกับรัฐบาล …
ทรงวาดฝันว่า “จะจบได้ง่ายๆ” เพราะสำคัญว่า องค์ท่านเป็นปูชนียบุคคลของทหารทั้งปวง ……ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมิใช่เลย !
พระองค์เจ้าบวรเดช แต่งตัวแทน ให้นาวาโท พระแสงสิทธิการ (แสง นนทสุต) ทหารเรืออดีตนายธงของกรมพระนครสวรรค์ เป็นผู้นำคำขาด ๖ ข้อ ไปยื่นต่อรัฐบาลพระยาพหลฯ ที่วังปารุสกวัน ให้ปฏิบัติ
**** …. ข้อสุดท้ายตลกดี คือ หากรัฐบาลรับปากว่า จะปฏิบัติตามแนวทางการเมืองตามที่เสนอไปแล้ว ก็ขอให้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมต่อการปฏิบัติทางทหารครั้งนี้ ให้คณะกู้บ้านกู้เมืองด้วย …
ผมคิดยังไงก็ไม่บรรลุว่าตกลง… ถ้ารัฐบาลรับปากว่าจะยอมทำตามข้อเสนอนั่น ท่านก็จะให้เขาเป็นรัฐบาลต่อไป แต่ต้องนิรโทษกรรมให้พวกท่าน …. แล้วก็ถือว่า “เจ๊า” หันมาจูบปากปรองดองกันงั้นหรือ ?? อ้าว..แล้วต่อมาถ้าเขาเบี้ยว หาเรื่องจับท่าน ด้วยข้อหาอื่นทีหลัง ท่านก็เสร็จเขาซิ ทำมั๊ย ถ้ามีโอกาสขู่เขา จนยอมลงให้แล้ว ท่านจึงไม่เปลี่ยนรัฐบาลไปซะเลย แล้วจึงให้รัฐบาลใหม่ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้คณะปฏิวัติ …????
ผมว่าท่านแม่ทัพใหญ่ คงจะสับสนหนัก อาจโดนพระยาศรีต่อว่าต่อขานรุนแรงเรื่องผิดนัด มาเอาจนสายโต่ง เสียแผนจนทหารเซ็งแล้วเซ็งอีกก็ได้ …. *******
ข้อเสนอคณะฝ่ายกู้บ้านเมือง ไม่ได้มีน้ำหนักอะไรเลย ที่จะทำให้รัฐบาลสะทกสะท้าน “แผนล้อมกวาง” ของพระองค์บวรเดช ถูกออกแบบไว้สำหรับ พวกกวางพวกเก้ง แต่ใช้ไม่ได้กับ เสือสิงห์กระทิงแรด
พระแสงสิทธิการ ถูกจับกุมทันทีในข้อหาเป็นกบฏ !!!
“…. ต่อมา ถูกจำคุกตลอดชีวิต แล้วส่งไปเนรเทศที่เกาะตะรุเตาระยะหนึ่ง แล้วให้ย้ายไปอยู่คุกนรกบนเกาะเต่า จนเสียชีวิตลงที่นั่น….”
เวลานั้นในพระนคร มีหน่วยรบใหม่ ที่เพิ่งตั้งขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ชื่อว่า กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน
มีอาวุธทันสมัยที่สุดของโลกในยุคนั้น ย่อมไม่ต้องกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมอยู่แล้ว
ก่อนที่พระยาพหลฯ จะนำข่าวจากราชบุรี มาบอกว่า “พระองค์เจ้าบวรเดชเอาแน่ !!! ” เพียงแต่แว่วข่าวว่า นายทหารนอกราชการ เคลื่อนไหวกันผิดปกติ หลวงพิบูลฯ ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกผู้กุมอำนาจตัวจริง ก็ออกคำสั่ง กองพันทหารปืนใหญ่ ที่อยู่ในต่างจังหวัด และกองบินต่างๆ (เวลานั้นกรมอากาศยานขึ้นอยู่กับกองทัพบก) ให้ส่งกระสุนปืนใหญ่ และลูกระเบิดในคลังทั้งหมด กลับคืนให้กรมช่างแสง อ้างว่า เพื่อตรวจสอบและเปลี่ยนดินปืน ด้วยเหตุนี้กองพันทหารปืนใหญ่ทั้งหลาย จึงไม่มีกระสุนจริง คงมีแต่กระสุนซ้อมรบ กองบินทุกแห่ง ก็ไม่มีระเบิดจริง มีแต่ระเบิดที่หล่อด้วยซีเมนต์ ใช้สำหรับฝึกเท่านั้น กระสุนปืนเล็กยาว และปืนกล ก็มีจำกัด ทหารหัวเมือง จึงได้รับแจกกระสุนมารบเพียงคนละ ๖๐ นัด ปืนกล กระบอกละ ๑๒๐๐ นัด…
การที่ฝ่ายรัฐบาล ได้เตรียมรับการปฏิวัติซ้อน ไว้ล่วงหน้า อย่างรอบคอบและเหนือชั้นเช่นนี้ …
น่าแปลกที่ นายทหารยุทธการ ระดับพระองค์บวรเดช และเสนาธิการทั้งหลาย…
กลับไม่ปรับเปลี่ยนแผนเลย ???
วันที่ ๑๒ ตุลาคม เมื่อเกิดสถานการณ์ร้ายขึ้นมาจริงๆ หลวงพิบูลฯ ก็สั่งประชุมพลกองกำลังทหารทุกเหล่าในพระนครโดยด่วนที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในเช้าวันนั้น และเพื่อความรอบคอบไม่ไว้ใจใครหน้าไหนทั้งสิ้น ก็ได้สั่งการให้ ผ.บ.ทุกหน่วย ขนกระสุน มากองรวมกันไว้ก่อน ทหารทุกกองพัน ให้สะพายมาแต่ปืนที่ไร้กระสุน …
เสร็จสรรพ หลังจากนั้น จึงได้เวลาที่พระยาพหลฯ จะประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นวาระด่วน เพื่อแจ้งการตัดสินใจของรัฐบาลว่า “จะสู้” และมั่นใจในชัยชนะ แล้วรัฐบาลก็ประกาศกฎอัยการศึก และส่งโทรเลข ไปที่พระราชวังไกลกังวล กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงทราบ แล้วจึงออกแถลงการณ์ทางวิทยุกระจายเสียง ให้ประชาชนทั่วประเทศฟัง มีใจความว่า
“….พระองค์เจ้าบวรเดช , พระยาศรีสิทธิสงคราม และพระยาเทพสงคราม เป็นกบฏต่อรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พยายามล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ยกเลิกรัฐธรรมนูญ เพื่อสถาปนาการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาดังเดิม .. ซึ่งรัฐบาลจะทำการปราบปราม อย่างถึงที่สุด !!! ….” ซึ่งส่งผลทางจิตวิทยาต่ออีกฝ่ายหนึ่งมาก….
สงครามกลางเมืองครั้งแรกของสยาม ในยุคประชาธิปไตย
พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งให้ หลวงพิบูลฯ เป็นแม่ทัพปราบกบฏ ซึ่งออกคำสั่งให้เคลื่อนทหารจากลานพระบรมรูปทรงม้า ไปยังลานสินค้า ของบริษัทปูนซีเมนต์สยาม ที่สถานีรถไฟบางซื่อ ต้านยันกับทางฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมือง ซึ่งยึดสถานีรถไฟบางเขน ห่างกันเพียงห้ากิโลเมตรเศษๆ แล้ว หลวงพิบูลได้สั่งการให้เอาปืนใหญ่ภูเข าแบบ ๖๓ มาตั้งเรียงรายเป็นตับ บนถนนประดิพัทธ์ ตั้งแต่ถนนเทิดดำริ ติดทางรถไฟ ไปจนถึงสะพานแดง ในปัจจุบัน แล้วตนเองลงไปเป็นผู้อำนวยการยิง ในฐานะทหารปืนใหญ่จบจากฝรั่งเศส โดยเริ่มยิงตั้งแต่เวลาห้าโมงเย็น ไปจนพลบค่ำ
…. ปรากฏว่ายิงไป ๔๐ นัด กระสุนตกลงในท้องทุ่งท้องนาหมด กุ้งหอยปูปลาตายหลายตัวแต่ทหารหัวเมืองไม่มีใครบาดเจ็บหรือแม้แต่ถลอก …. ทหารปืนใหญ่ฝ่ายคณะกู้บ้านเมือง ก็ไม่ได้ยิงโต้ตอบ แม้แต่นัดเดียว เนื่องจากที่ขนมากับรถไฟมีแต่กระสุนซ้อมรบ !? …
การรบจริง กะจะเบิกโรงในวันรุ่งขึ้น
ซึ่งทางวังปารุสก์จัดคิวไว้ โดยนำคำสั่งไปให้กองทัพเรือ เอาเรือหลวงสุโขทัย ขึ้นไปลองของที่สะพานพระรามหก ด้วยการยิงถล่มดอนเมือง ที่มั่นของฝ่ายกบฏที่อยู่ห่างออกไป (( ผมวัดระยะด้วย Google Map ระยะประมาณ ๑๓ กิโลเมตร)) แล้วให้ วิทยุรัฐบาลออกอากาศเตือนราษฎรที่ไม่เกี่ยวข้อง ให้พยายามอยู่ห่างๆ ที่ตั้ง กรมอากาศยาน เอาไว้หน่อย เพราะรัฐบาล จะใช้ปืนจากเรือรบกวาดล้างฝ่ายกบฏ….
” ฝ่ายทหารที่ดอนเมืองได้ยินก็ คอย่น
นี่มันจะเอากันถึงขนาดนี้เชียวหรือนี่ ??!!! “
๑๓ ตุลาคม ๒๔๗๖
เรือปืนสุโขทัย ซึ่งต่อจากประเทศอังกฤษ ลำใหม่เอี่ยม เพิ่งเข้าประจำการได้เพียง ๔ ปี มีป้อมปืน ที่มีอานุภาพการทำลายล้างสูง ผู้บัญชาการทหารเรือ นาวาเอกพระยาวิชิตชลธี ท่านไม่ยอมทำตามคำสั่ง จากวังปารุสก์ต้องการ … โดยอ้างว่าปืนใหญ่เรือรบ เป็นปืนวิถีราบ ไม่เหมาะจะยิงถล่มระยะๆ ไกล โดยไม่มีแผนที่บอกพิกัด เมื่อวังปารุสก์ยืนยันจะให้ยิงให้ได้ ทหารเรือจึง ถอย ร.ล.สุโขทัย ไปจอดทอดสมอที่สรรพาวุธบางนา ….
เสร็จศึกแล้ว พระยาวิชิตชลธี ตกเป็นจำเลยต่อศาลพิเศษ ระหว่างการต่อสู้คดีได้ถูกคุมขังที่เรือนจำบางขวางแปดเดือนเศษ เวลาไปศาล ต้องเดินทางทางเรือจากนนทบุรีมากระทรวงกลาโหม โดยถูกใส่กุญแจมือติดกับผู้ต้องขังรายอื่น แต่เมื่อเรือนักโทษการเมืองผ่าน เรือรบลำใด ที่จอดทอดสมออยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ทหารเรือจะลุกขึ้นทำท่าตรง ผู้สวมหมวกก็กระทำวันทยหัตถ์ ให้แก่อดีตผู้บัญชาการของเขา …. เป็นที่ชื่นชมแก่ผู้พบเห็นทั่วไป คดีของท่านนั้น เมื่อได้ปิดสำนวนจวนจะตัดสินอยู่แล้ว หลวงพิบูลฯ ก็สั่งให้ปล่อยตัวไปโดยรัฐบาลแถลงว่า “คดีนี้อาจกระทบกระเทือนถึงนโยบายการปกครองทหาร” จึงให้อัยการศาลพิเศษ ถอนฟ้อง ทั้งๆที่ข่าวรั่วออกมาแล้วว่า ท่านจะโดนพิพากษาโทษให้จำคุกตลอดชีวิต ….
การรบครั้งนั้น รัฐบาลใช้สื่ออย่างได้ผล
ด้วยวิธี ออกแถลงการณ์ ทางวิทยุกระจายเสียง เอาคำว่า “รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ” ซึ่งหายไปนานแล้ว กลับมาใช้ใหม่ เพื่อประนามพวกที่ยกมาว่า เป็นกบฏต่อแผ่นดิน วันนี้ทั้งวัน…. ประกาศจะไม่เอาโทษ ต่อพวกกบฏ ที่จะยอมเข้ามาสวามิภักดิ์ ต่อรัฐบาลโดยดี อาศัยช่องทางนี้ ….
พ่อน้าชาติ “รำซิ่ง”
กองพันทหารราบที่ ๙ ปราจีนบุรี นำโดย พันตรีหลวงชำนาญยุทธศาสตร์ (ต่อมาคือจอมพลผิน ชุณหวัน พ่อน้าชาติ นายกจอมซิ่ง) แต่เดิมก็รับบท จะเล่นตามแผนของ คณะกู้บ้านกู้เมือง เดินทางมาถึงสถานีรถไฟมักกะสันแล้ว ได้ตัดสินใจ “รำซิ่ง” มาต่อแถวฝ่ายรัฐบาลทันที !!! ทหารลำปาง พิษณุโลก ลพบุรี นครสวรรค์ ต่างทยอยกันโทรเลขมายืนยันความจงรักภักดีต่อรัฐบาล ปิดท้ายแถวก่อนค่ำวันนี้ ด้วยทหารจันทบุรี ….
พวกเหล่านี้ ไม่ทราบใครเบิกงบค่าใช้จ่ายล่วงหน้าจากเจ้าภาพไปแล้วบ้าง ….
ที่แนวหน้า
พันโทหลวงพิบูลฯ สั่งการให้เปิดการรุกตามทางรถไฟ ทั้งสองราง ซึ่งวางคู่ขนานกัน จากสถานีรถไฟบางซื่อ ให้กองพันทหารราบที่ ๘ นำโดยพันตรีหลวงอำนวยสงคราม ใช้รถ ข.ต.(ข้างต่ำ) บรรทุกรถถังนำขบวนเคลื่อนที่พร้อมกันบนรางคู่ทั้งสองราง โดยใช้รถจักรดีเซล ซึ่งเป็นรถบังคับการด้วยดันไป ต่อจากนั้นจึงเป็นรถบรรทุกทหารที่ได้รับแจกกระสุนปืนแล้ว
ด้านทางปีกซ้ายทิศตะวันตก ซึ่งต้องลุยน้ำลุยโคลน ในทุ่งนา บุกขึ้นไปในแนวขนานกับคลองเปรมประชากร ให้กองพันของพ่อน้าชาติ (ที่ต้องพิสูจน์ความจงรักภักดีหนักหน่อย) ลุยไป ส่วนปีกขวานั้น ให้กองพันทหารม้าที่ ๑ ตรึงกำลังอยู่เฉยๆบนที่ดอน แถวย่านจตุจักรในปัจจุบัน เพราะในนา น้ำท่วมสูงเกินจะรุก พาหนะใดๆ ก็ใช้ไม่ได้
((( เวลานั้นถนนพหลโยธินยังไม่มีนะครับ ถัดวัดไส้ตัน (ปัจจุบันเพี้ยนเป็นวัดไผ่ตัน) แถวสะพานควายไปแล้วมีแต่นา ไม่มีชุมชนราษฎรเลย …)))
ทางฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมือง
ซึ่งยึดพื้นที่สถานีรถไฟบางเขนอยู่ก่อน ได้ใช้กองร้อยทหารราบนครราชสีมา ซึ่งมีประสบการณ์ และยังขวัญกำลังใจดี ต้านทางการรุกของฝ่ายรัฐบาลไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ถึงจะใช้รถถังนำหน้าขบวนทั้งรางคู่ซ้ายขวาก็รุกคืบหน้าไม่ได้มาก ส่วนปีกซ้าย กองพันทหารราบที่ ๙ ของหลวงชำนาญ ก็ได้รับการต้านทานหนักเช่นเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายยิงต่อสู้กันทั้งวัน จนค่ำฝนได้ตกลงมาอย่างหนักเลยต้องพักรบ เข้าไปหลบฝนใต้รถไฟคุมเชิงกันไปตลอดคืน …..
บทความ |เรียบเรียง
โดย : ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน
อ่านเพิ่มเติม
ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์ ตอนที่ 1-16