เมื่อจุดประเด็นปฏิวัติ กับพวกนายทหารระดับคุมกำลัง หลายคนเห็นด้วย ที่จะเข้าร่วม โดยกำหนดเป็นแผนยุทธการป่าล้อมเมือง ให้ทหารอิสาน เป็นกำลังหลัก เคลื่อนพลเข้ากรุงเทพฯ มีทหารสระบุรี และอยุธยาเข้าสมทบ ด้านทิศเหนือ ด้านตะวันออกให้ทหารจากฉะเชิงเทราและนครนายก ด้านใต้ให้ทหารจากเพชรบุรี และนครปฐม ส่วนทหารกรุงเทพทั้งหมดจะสนับสนุน คณะกู้บ้านกู้เมือง โดยใส่เกียร์ว่างไม่ยอมทำตามคำสั่งรัฐบาล …
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ หลวงพิบูลฯ ได้รับรายงานจากตำรวจลับว่า มีสิ่งผิดสังเกต แต่ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะทำอะไร ? จึงร่างสารขึ้นมาฉบับหนึ่ง ความตอนสำคัญมีดังนี้ ….
“…..บัดนี้ปรากฏตามทางสืบสวนว่า ท่านได้มีประชุม และคิดอยู่เสมอ ในอันที่จะทำให้เกิดความความไม่สงบแก่บ้านเมือง และทำให้รัฐบาลมีกังวล ซึ่งเป็นเหตุให้ การบริหารบ้านเมืองไม่ก้าวหน้า ดังที่ควรจะเป็น ในฐานะที่ข้าพเจ้ารับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ก็ขอเตือนให้ท่านสงบจิตเสีย หากท่านยังขืนจุ้นจ้านอีก คณะผู้ก่อการก็ตกลงจะกระทำการอย่างรุนแรง ที่กล่าวมานี้มิใช่ขู่เข็ญ แต่เป็นการเตือนมาเพื่อความหวังดี….”
จดหมาย “ปราม” ฉบับนี้ ส่งไปขอแสดงความนับถือ ยังนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคน รวมทั้งเจ้านายที่ใกล้ชิดกับวังศุโขทัยสองสามองค์ แถม พระองค์เจ้าบวรเดช อีกด้วย ….
ขณะที่ พระองค์เจ้าบวรเดช ทรงได้รับจดหมายเตือนจากหลวงพิบูลฯ คนอื่นก็เข้าไปเคลียร์ตนเองกันหมด ขาดแต่ท่านที่ทรงมีทิฐิมานะสูงเกิน… จะว่าไปแล้ว จดหมายฉบับนี้ ถือว่าได้ผล ที่นำชัยชนะมาสู่รัฐบาลได้ในที่สุด ไม่ใช่ว่าคนที่ได้รับจะกลัวจนหัวหดนะครับ …. แต่เป็นเพราะ พระองค์บวรเดช ผู้ซึ่งไม่มีฝ่ายใดคบเลย ได้ทรงทราบทันทีว่า น่าจะมีใครกำลังทำอะไรอยู่แน่ๆ
…. ในฐานะเสนาบดีกระทรวงกลาโหมเก่า ก็คงจะทรงหาข่าวได้ว่า เขาจะเริ่มต้นด้วยการ ชุมนุมพลที่โคราช แต่น่าจะยังรออะไรสักอย่าง ? ซึ่งนายทหารระดับท่าน ทรงทราบดีว่า กองทัพต้องเดินด้วยท้อง และผมก็ว่าของผมเองนะครับ ว่า การที่พระองค์ทรงสามารถทำให้แกนนำคณะกู้บ้านกู้เมือง ต้องยอมรับให้พระองค์ เป็นแม่ทัพใหญ่แทนพระยาศรีสิทธิสงคราม ที่ยอมลดตนเองลงมาเป็นรอง ก็เพราะทรงมีเงินสองแสนบาท มาอวดว่า เป็นทุนสำหรับกระทำการปฏิวัติด้วย การเข้าไปแทรกของพระองค์เจ้าบวรเดช จึงบังเกิดผลดี แก่รัฐบาลโดยทางอ้อม คือทำให้คณะกู้บ้านกู้เมืองวงแตก !!!
เงินสองแสนบาท ในยุคสมัยนั้นไม่ใช่น้อยๆ จึงไม่ใช่เงินส่วนตัวของท่านแน่ๆ
แต่ใครเล่า ที่เป็นผู้จ่ายให้ท่าน ?
… บันทึก คำพิพากษาศาลพิเศษคดีกบฏ ๒๔๘๒ ตอนหนึ่งกล่าวว่า ….
“…รัฐบาลมีหลักฐานว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จ่ายเงินให้ พระองค์เจ้าบวรเดช ในช่วงนั้น ๒๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งศาลเชื่อว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระราชทานให้พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นค่าใช้จ่ายในการกบฏ”
*** ผมใช้หนังสือหลายเล่ม ในการเขียนเรื่องนี้ จะขอเอาข้อความที่เกี่ยวพัน
มาประมวลให้ท่านได้พิจารณาดู…
พโยม โรจนวิภาต เขียนไว้ในเรื่อง “พ.๒๗ สายลับพระปกเกล้า” มีประเด็นว่า….
พระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงทราบอุปนิสัยของพระองค์บวรเดชดี และทรงทราบว่า เจ้านายองค์นี้ ขึ้นไปเคลื่อนไหวทางภาคอิสาน ในเรื่องกู้บ้านกู้เมือง โดยปกปิดไม่ให้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าอยู่ที่ใด ด้วยเกรงว่า หากทรงมีรับสั่งห้ามแล้ว ท่านจะขัดพระราชบัญชามิได้ แต่เป็นไปไม่ได้เลยว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงคบคิดกับพระองค์เจ้าบวรเดช ….
หนังสือเล่มเดียวกัน ยังอ้างพระราชกระแส ที่ทรงรับสั่งต่อ พระยาพหลนานก่อนหน้านั้น เรื่องเกี่ยวกับพระองค์บวรเดช มีข้อความคล้ายกับที่พลโทประยูร ภมรมนตรี เขียนไว้ใน “ชีวิต๕แผ่นดินของข้าพเจ้า” ว่า …
“เรื่องของพลเอก พระองค์เจ้าบวรเดชนี้ ขณะที่ข้าพเจ้าทำหน้าที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เคยทรงปรารภ และเตือนว่า เจ้านายองค์นี้เป็นผู้ใหญ่ เคยเป็นครูบาอาจารย์ และผู้บังคับบัญชาของพระองค์ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น ก็ตักเตือนกันไม่ได้ ทางที่ดี ถ้าพวกแก (ทรงใช้สรรพนามเรียกพลโทประยูรอย่างนั้นเพราะทรงคุ้นเคยแต่เด็ก) ฉลาดรู้จักไซโค ท่านองค์นี้ชอบ โก้และเจ้ายศเจ้าอย่าง ถ้าจัดหานายทหารไปประจำพระองค์ จัดรถยนต์ให้มีทหารขับ และทูลเชิญไปในงานสำคัญๆ หรือแต่งตั้ง ให้เป็นที่ปรึกษาการทหาร ก็จะเป็นประโยชน์ และเป็นการป้องกันให้สงบนิ่งอยู่ในที ” ….
พวกผู้ก่อการ นอกจากจะไม่สนใจ จะสนองสิ่งที่ทรงแนะนำแล้ว หลวงพิบูลฯ ยังได้ไปแหย่รังแตนเข้าอีก ก็เสมือนขึ้นปี่ตีกลอง เตือนให้นักมวยออกไปไหว้ครูกลางเวทีนั่นแล้ว ….
แล้วเงินที่ว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ จ่ายให้พระองค์บวรเดช มาจากใคร ? ก็ในหลวงท่านไม่ได้ทรงเซนเช็ค หรือมีหน้าที่ตรวจสอบการจ่ายเงินทุกยอดด้วยพระองค์เอง ผมก็ไม่มีหลักฐานโดยตรง แต่ก็ถ่ายข้อความเหล่านี้ มาจาก หนังสือของพลโทประยูร ซึ่งถือว่า เป็นฝ่ายผู้ก่อการทั้งสิ้น ขอให้ท่านทั้งหลายใช้สติปัญญากลั่นกรองเอาเอง …
“ในวันหนึ่ง ขณะที่ข้าพเจ้านั่งรถไฟติดตามพระยามโนปกรณ์ไปหัวหิน ได้ยินเสียงหนักๆ ตะโกนมาว่า …
“ผู้ดีเดินตรอกขี้ครอกเดินถนน เจ้านั่งชั้นสอง ขี้ข้านั่งชั้นหนึ่ง”
ข้าพเจ้าเหลียวไปดู ก็พบ สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ ทรงพระสรวลร่วนอยู่ ข้าพเจ้า จึงเข้าไปกราบและทูลว่า ที่นั่งรถไฟมาชั้นหนึ่ง มาราชการ เป็นตั๋วฟรี ถ้าจะต้องออกสตางค์เอง ก็คงนั่งชั้นสามพะย่ะค่ะ ….
ขณะนั้น พอดีรถไฟผ่านหน้าบ้านของข้าพเจ้าที่บางซื่อ ก็ทูลพลางชี้ว่า นั่นบ้านข้าพระพุทธเจ้า อยู่ในสวนมะม่วง …
ทรงรับสั่งว่า “ไอ้กระต๊อบบ้านชั้นครึ่งเก่าๆ นั่นหรือบ้านของเอ็ง ? … ถุย !!! จะเป็นใหญ่ในแผ่นดินมันต้องอยู่ตึกรามใหญ่โต วางก้าม ให้คนเกรงขาม เพราะคนไทยพึ่งบารมีเจ้านาย ถ้าเอ็งอยู่กระท่อมรุงรังอย่างนี้ หมาก็ไม่นับถือ ….”
ข้าพเจ้าก็กราบทูลว่า ... ไม่มีเงินทองที่ไหน จะมาสร้างตึกรามให้ใหญ่โตได้ มีอยู่เท่านี้ ก็สบายอยู่แล้ว
ทรงรับสั่งว่า …. ไอ้โง่ มาขอกู้เงินข้าซิวะ ข้าจะขอพระราชทานเงิน จากพระคลังข้างที่ ซึ่งข้าจะสั่งการให้เด็ดขาดได้เอง จะเอาสักหกหมื่นเมื่อใดก็ได้ บอกข้ามา จ่ายทันทีเลย….!!!
แล้วข้าพเจ้าก็กราบทูลย้อนถามว่า “ก็แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาถวายใช้คืนได้”
ทรงรับสั่งว่า ไอ้บ้า เอ็งโอหังอวดมั่งมี กับพระเจ้าแผ่นดิน … มีอย่างที่ไหน ใครกู้เงินพระเจ้าแผ่นดินแล้วเอามาใช้คืน มีแต่จะต้องขอพระราชท่านยกหนี้ ซึ่งข้าสนับสนุนเต็มที่ แต่ข้ามีเงื่อนไขว่า ลูกหลานข้าหลายคน เอ็งเล่นพลิกแผ่นดิน จะพากันเดือดร้อนไม่มีงานทำ เอ็งต้องรับรองว่าจะหางานให้ลูกข้ามีงานมีการทำ …..”
กับอีกตอนหนึ่ง….
“…..เจ้าคุณมโนปกรณ์ฯ ต้องการพบด่วน ให้รีบไปหาที่บ้านชะอำ และจะพาเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย ข้าพเจ้าได้วี่แววเรื่องพระองค์เจ้าบวรเดชฯ สะสมกำลังสวมรอยเข้ามา แต่เพื่อไม่ประมาท ก่อนที่จะไปพบเจ้าคุณมโนปกรณ์ และเข้าเฝ้า ก็ได้ไปรายงานให้ พ.ต.อ. หลวงอดุลเดชจรัส รองอธิบดีกรมตำรวจทราบไว้ด้วย หลวงอดุลฯ ก็บอกว่าดีแล้ว ให้รีบไป แล้วมาบอกกล่าวให้ทราบ เพราะเหตุการณ์กำลังจะลุกลาม …”
ครั้นเมื่อได้ไปพบท่านเจ้าคุณมโนปกรณ์ฯ ที่บ้านชะอำ ก็เห็นกำลังสาละวน จัดกระเป๋าเดินทาง ออกมาต้อนรับ อาการกระวนกระวาย บอกว่า มีธุระสำคัญที่จะต้องพูดกัน ก็พอดีได้พบสมเด็จกรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฐ์ ทรงทักอย่างเหยียดหยามว่า “ไอ้กบฏ มาทำไมที่นี่ ? แล้วหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวัฒน์ โอรสที่เป็นราชเลขาก็เดินตามเข้ามา พอเห็นหน้าข้าพเจ้า ก็สำทับว่า คราวนี้จะแสดงให้เห็นเดชานุภาพ ของพระเจ้าแผ่นดินแล้วว่า ประเทศสยามไม่ได้มีอาณาเขตเพียงบางกอก …. ไอ้พวกกิ้งก่าก่อการ เป็นไอ้พวกกบฏ จะต้องตัดหัวทำปฐมกรรมเอาเลือดมาล้างตีน…. เจ้าคุณมโนปกรณ์ฯ เดือดดาลตะโกนร้องว่า “พูดเป็นบ้าไปได้ กำลังมีเรื่องสำคัญ ที่จะต้องพูดจากัน ” แล้วก็เรียกตัวข้าพเจ้าไปพบในห้องสองต่อสอง บอกว่า “เกิดเหตุการณ์ใหญ่ พระองค์เจ้าบวรเดชฯ กำลังรวบรวมกองทัพหัวเมืองเข้ายึดพระนคร ได้ยินคำพูดของกรมพระสวัสดิ์ฯ และหม่อมเจ้าวิบูลย์ ที่รับสั่งอยู่หยกๆไหม”
พวกแอนตี้เจ้า ทั้งหลายในยุคปัจจุบันที่ต่างโจมตีพวกเจ้าอย่างสาดเสีย พุ่งเป้าไปที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ว่าเป็นผู้พระราชทานเงินสองแสนบาท เพื่อสนับสนุนการกบฏ แม้พระเจ้าอยู่หัวฯ จะทรงปฏิเสธว่าไม่ทรงทราบเรื่อง หรือรู้เห็นเป็นใจมาก่อนเลย เมื่อข่าวกบฎมาถึงพระองค์นั้น ก็เกินแก้ไขแล้ว
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ผู้ก่อการบิ๊กๆ ของคณะราษฎรต่างรู้ดีว่า ผู้ที่คุมสำนักงานพระคลังข้างที่ มีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้ โดยไม่จำเป็นต้องกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตก่อนทุกครั้ง ก็คือ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์ ผู้ทรงมีฐานะใหญ่มากในวัง คือเป็นถึงพระสัสสุระ (พ่อตา) ของพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์รีบเสด็จหนีไปยังปีนังทันที เมื่อเหตุการณ์ชักจะทำท่าไม่ดี แม้รัฐบาลก็ทราบอยู่ว่า อะไรเป็นอะไร แต่เจตนาที่จะไม่เปิดเผยเรื่องให้มันชัดๆ …
เหตุการณ์ช่วงนี้ พระนิพนธ์เรื่อง
“สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น”
ของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยกล่าวว่า …
“….กรมพระสวัสดิ์ฯ โปรดเข้ายุ่งในการเมือง และรู้เห็นในเรื่องจะเปลี่ยนแปลงใหม่นี้ด้วย แต่ไม่ใช่กับพระองค์บวรเดช ข้าพเจ้าได้ถามชายโสภณฯ ลูกกรมสวัสดิ์ฯว่า เธอถูกรัฐบาลต้องการตัวด้วยเรื่องอะไร ? เธอตอบว่าเธอไม่ได้คิดร้ายอะไร นอกจากเซ็นเช็คแทนพ่อเท่านั้น เพราะเมื่อเด็จพ่อ เขียนเช็คสั่งจ่ายเงินของพระคลังข้าง ที่ให้นายหลุย คีรีวัต ไปเป็นจำนวน ๒ แสนบาทนั้น นายหลุย ลงชื่อตนเองไปขึ้นเงิน ที่แบงก์ว่า กรมสวัสดิ์ฯ ให้มาเบิก แบงก์ไม่ยอมให้ ว่าต้องมีชื่อรับรองเซ็นมาด้วย เด็จพ่อ ไม่กล้าเซ็น ก็สั่งให้เซ็นรับรองแทนพระองค์ท่าน เธอก็เซ็นเท่านั้น เมื่อรัฐบาลได้เช็คนั้นไป ก็เข้าใจว่า เธอรู้เห็น แต่เรื่องนี้ ในหลวง กลับต้องทรงรับบาป โดยมิได้ทรงรู้เห็นด้วยเลย” ….
นายหลุย คีรีวัต เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ กรุงเทพเดลิเมล์ ซึ่งพระคลังข้างที่ ภายใต้กรมพระสวัสดิ์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เป็นที่ทราบกันดีว่า หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ มีจุดยืนตรงกันข้ามกับคณะราษฎร หลังกบฏบวรเดช ยุติ ผู้บริหารและนักเขียนประจำ โดนข้อหาเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายกบฏกันยกแผง นายหลุย ถูกศาลพิเศษตัดสินประหารชีวิต แต่รอดเหลือจำคุกตลอดชีวิต เมื่อรัฐบาลจำเป็น ที่จะลดโทษให้เมื่อพระเจ้าอยู่หัวอานันท์เสด็จขึ้นครองราชย์แทนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่แล้วก็ให้เนรเทศไปอยู่เกาะตะรูเตา ส่วนเรื่องเงินสองแสนบาท จะผ่านมือนายหลุยไปถึงพระองค์บวรเดชได้อย่างไรนั้น ปราศจากหลักฐานใดๆทั้งสิ้นครับ ….
แม่ทัพใหญ่ของคณะกู้บ้านกู้เมือง
พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นผู้ที่ทรงเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ มาหลายตำแหน่ง ตั้งแต่รัชกาลก่อนๆ เช่น เคยเสด็จขึ้นไปประทับที่เชียงใหม่เป็นอุปราชมณฑลพายัพ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนฐานันดรศักดิ์ จากเดิมที่ทรงถือกำเนิดเป็นหม่อมเจ้า ขึ้นเป็นพระองค์เจ้า แล้วทรงย้ายไปเป็นแม่ทัพใหญ่มณฑลอีสาน สุดท้ายในตอนต้นรัชกาลที่ ๗ ทรงเป็นถึง เสนาบดีกระทรวงกลาโหม แต่ทรงลาออกจากตำแหน่งหลังจากแพ้มติ ที่ทรงเสนอให้ขึ้นเงินเดือนทหารในที่ประชุมเสนาบดีสภา ….
การลาออกเพราะต่อสู้เพื่อลูกน้อง
ทำให้พระองค์บวรเดช ทรงคิดว่า ท่าน ได้ใจ จากนายทหารทั้งหลายพอสมควร ทำให้ทรงหวังว่า คนพวกนี้จะเป็นฐานสนับสนุนท่านในอนาคตด้วย … แต่ ท่านทรงคาดผิด !!! เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ในความเป็นจริงแล้ว คนส่วนใหญ่จะเห็นว่า “ผลประโยชน์ตรงหน้าสำคัญกว่าบุญคุณในอดีต ….” เมื่อทรงผิดหวัง กับคณะราษฎร ที่มองข้ามพระเศียร ไม่เอาท่านเป็นนายกรัฐมนตรีทั้งๆ ที่เคยมาขอคำปรึกษาเรื่องคอขาดบาดตาย …จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย ที่จะสอดพระองค์เข้าไปเป็นผู้นำของฝ่ายตรงข้าม โดยใช้เงิน สองแสนบาท เป็นข้อต่อรอง ….
ไม่ได้ทรงเฉลียวสักนิดว่า “ทรงมีจุดอ่อน”
แม่ทัพนายกองหลายคน สะดุ้งเฮือกขึ้นมาทันทีว่า หากทำสำเร็จแล้ว ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คงจะฟื้นกลับมาอีก !!! โดยมีภาพของ พระองค์บวรเดช หลอนอยู่…. ผู้บังคับกองพัน ในพระนคร คนสำคัญๆ หลายนายนั้น พอทราบว่า พระยาศรีสิทธิสงคราม ยอมลดตนเองลงมาเป็นรอง มิได้เป็นแม่ทัพแล้ว พวกนี้นอกจากจะโกรธ ที่ผิดข้อตกลง เบื้องต้นยังเปลี่ยนใจไปอยู่ข้างรัฐบาล และมารบกับคณะกู้บ้านกู้เมือง หลังจากนั้น ….!!!
“แผนล้อมกวาง”
พระองค์บวรเดช เมื่อเข้าไปเป็นใหญ่ ก็เปลี่ยนแผนการของพระยาศรีสิทธิสงคราม ซึ่งวางกลยุทธไว้ว่า “จะใช้วิธีจู่โจมจับคนสำคัญในคณะรัฐบาล” ซึ่งขณะนั้น มีที่พักรวมกันอยู่ในวังปารุสกวัน โดยจะใช้ทหารหัวเมืองชั้นใน ที่อยู่ในคาถาของตน เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน จี้รถไฟมาลงที่สถานีจิตรลดา แล้วตรงเข้ายึดวังปารุสก์ โดยทหารในพระนครอีกส่วนหนึ่ง ที่คุยๆ กันไว้แล้ว อย่างพันตรีหลวงวีระโยธา ผู้บังคับกองพันทหารราบที่๖ (ปัจจุบันคือพล.๑) ซึ่งตั้งอยู่หลังวังปารุสก์ นั่นเอง … จะเข้าสกัด หากมีฝ่ายรัฐบาลเคลื่อนพลออกมาต่อสู้ …. แต่พระองค์บวรเดช ทรงเห็นว่า “ถ้าบุกเข้าตีรังแตนตรงๆ อย่างนั้น คงจะได้มีเลือดตกยางออกแน่ ทรงมีแนวความคิดแค่ ให้ระดมกำลังทหารหัวเมืองมาแสดงพลังให้มากที่สุด โดยยึดดอนเมืองเป็นฐาน เอากำลังพลที่เยอะกว่า ขู่ให้ทหารฝ่ายรัฐบาลใจฝ่อ หลังจากนั้น จึงทำการเจรจา บีบให้รัฐบาลถอดใจลาออก จะได้จบกันไปโดยดี แบบไม่มีใครเสียเลือดเนื้อให้พระเจ้าอยู่หัวต้องเสียพระทัย …
พระยาศรีสิทธิสงครามไม่เห็นด้วยกับแผนที่กลัวๆกล้าๆ แต่ตั้งชื่อเสียหรูว่า “แผนล้อมกวาง” นั้นเลย แต่จำเป็นต้องยอมปฏิบัติตาม และยอมเป็นแม่ทัพหน้า คุมกำลังพลลงมาพระนครตามฤกษ์
ปฎิบัติการทางทหาร “แผนล้อมกวาง”
ยุทธศาสตร์ของคณะกู้บ้านกู้เมืองที่วางไว้มีดังนี้
๑) ให้ผู้แม่ทัพ เดินทางขึ้นไปรวบรวมกำลังทหารอีสาน ทั้งโคราช อุดรและอุบลแล้วยกมาพระนคร ใช้ดอนเมืองเป็นฐานบัญชาการ
๒) ให้พระยาเสนาสงครามไปเกลี้ยกล่อมให้ทหารลพบุรีและนครสวรรค์ ลงมาสมทบกับ พระยาศรีสงครามแม่ทัพหน้า ที่จะนำทหารจากอยุธยาเข้ายึดดอนเมืองรอไว้โดยทหารนักบินบางส่วนจะร่วมมือ และทหารพิษณุโลกจะเป็นกำลังหนุน
๓) ทหารปราจีนบุรี และฉะเชิงเทราจะเข้ามายึดสถานีมักกะสันและสถานีคลองตัน
๔) ทหารราชบุรีและเพชรบุรี จะเข้ามายึดสถานีตลิ่งชัน สะพานพระราม๖ และสถานีบางกอกน้อย
๕) ทหารในพระนครจะนิ่งเฉย ขัดขืนคำสั่งรัฐบาล
๖) วันลงมือปฏิบัติการ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๗๖
เข้าใจว่า ค่าใช้จ่ายงวดแรกต้องมี และหน่วยที่อยู่ใกล้ๆ กับเจ้าภาพ คงขอรับล่วงหน้ากันไปแล้ว …. เพราะงบเดินทาง เบี้ยเลี้ยงทหาร ฯลฯ จะไปขอเบิกจากหลวงไม่ได้ เหมือนภารกิจปกติ ส่วนหน่วยที่อยู่ไกล ถ้าเงินยังไม่มา งานก็ไม่เดิน นี่ก็สัจจธรรมอีกประการหนึ่ง ….
- วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๔๗๖
แม่ทัพใหญ่ พร้อมด้วยขุนทหารนอกราชการระดับขุนนาง พระยา กันทั้งนั้น ก็ได้เล็ดลอด การติดตามของสันติบาล ปลอมตัวนั่งรถไฟชั้น ๓ มุ่งหน้าสู่ นครราชสีมา เมืองที่พระองค์บวรเดชฯ ทรงเคยมีอิทธิพลยิ่งใหญ่ในอดีต พ.ศ.นั้น ภาคอีสานตั้งแต่นครราชสีมา ขึ้นไป มีกำลังทหารประจำอยู่เพียง ๓ จังหวัด คือ ที่ นครราชสีมา โดยทหารราบ ๒กองพัน จังหวัดอุบลราชธานี มี ๑ กองพัน และ จังหวัดอุดรธานีอีก ๑ กองพัน รวมเป็นทหารราบ ๔ กองพัน ทหารปืนใหญ่ที่ นครราชสีมา ๒ กองพัน ทั้งหมดนี้ ยอมเข้าร่วมคณะกู้บ้านกู้เมืองกับพระองค์บวรเดช ..ภาคกลาง กองพันทหารม้าที่ ๔ จังหวัดสระบุรี กับกองพันทหารช่างที่ ๒ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทหารทั้งสองกองพันนี้ ตกลงเข้าร่วม ด้วยเพราะผู้บังคับกองพันอดีตเป็นศิษย์รักของพระยาศรีสิทธิสงคราม … - วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๗๖ นักบินชื่อ เรืออากาศโท ขุนไสวมัณยากาศ ได้นำเครื่องบินไปลงจอดที่สนามมณฑลทหารราชบุรี เพื่อนำสาร จากพระองค์บวรเดช ไปยื่นให้แก่ พลตรี พระยาสุรพันธเสนี สมุหเทศาภิบาลมณฑล บังเอิญว่า พระยาพหล นายกรัฐมนตรี กำลังประชุมข้อราชการอยู่ที่นั่น และได้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยตนเอง ก็เดาได้ว่า เรื่องสำคัญขนาดที่ใช้เครื่องบินจากโคราชนำมาแจ้งนั้นคืออะไร … แต่ก็อุบไว้ ไม่กระโตกกระตาก แล้วรีบเดินทางกลับกรุงเทพด่วนเพื่อเตรียมตัวรับมือทันที ….
บทความ |เรียบเรียง
โดย : ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน
อ่านเพิ่มเติม
ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์ ตอนที่ 1-16