พระยาทรงสุรเดช โกรธมาก ถึงกับ ชี้หน้าหลวงประดิษฐ์ แล้วพูดว่า
“คุณหลวงทำป่นปี้ ไม่ทำตามที่บอกกล่าวกันไว้ ทำอะไรไปนอกเรื่อง ฉิบหายหมดแล้ว”
นั่นคือ ที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ต่อท้าย
ซึ่งเปลี่ยนตัวบุคคล ให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนำขึ้นทูลเกล้าถวายให้ทรงลงพระปรมาภิไธยที่พระตำหนักสวนจิตรลดา ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕
วันเดียวกันนั้น รัฐบาลก็ประกาศให้พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นที่ทำการ รัฐสภาสยาม มีพิธีการชักธงชาติขึ้นสู่ยอดพระที่นั่งเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นสถานที่ราชการด้วย...
การที่ผู้ก่อการตกลงใจเลือกพระยามโนฯ มาเป็นประธานคณะกรรมการราษฎร หรือนายกรัฐมนตรีนั้น เพราะเห็นว่าเป็นผู้มีความรู้ทางด้านกฎหมายยอดเยี่ยม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความกล้าหาญ มิได้ยำเกรงต่ออิทธิพลใดๆ เล่ากันว่า …
“ครั้งหนึ่ง กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ทรงเป็นประธานกรรมการ ที่ท่านเจ้าคุณ ร่วมคณะอยู่ ถึงเวลาเลขานุการอ่านชื่อ กรรมการที่มาประชุมครั้งที่แล้ว ให้ที่ประชุมรับทราบ พอถึงลายเซ็นของพระยามโน ฯ เลขาฯบอกว่า ลายเซ็นนี้ อ่านชื่อไม่ออก วันนั้น ท่านเจ้าคุณไม่อยู่ในที่ประชุม องค์ประธานจึงตรัสว่า ….
“ถ้าเขียนชื่อให้อ่านไม่ออก ก็ให้อ่านว่านายหมา”
ให้เลขาฯ บันทึกไว้ …. ครั้นพระยามโน ได้รับรายงานการประชุมดังกล่าว ก็เขียนสำทับลงไปว่า
” ถ้าเป็นคน ก็อ่านออก “
เรื่องการเป็นคนไม่กลัวใคร ถึงแม้จะเป็นเจ้านายใหญ่โต ก็คงจะเข้าหูหลวงประดิษฐ์ บ้าง และเคยแว่วๆว่า ท่านไม่ ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตย จึงเสนอชื่อ พระยามโนฯ พร้อมกับชื่อบุคคล ที่เหมาะสมอื่นๆ ต่อคณะราษฎร เพื่อเลือกผู้สมควร เป็นนายกรัฐมนตรี
พวกทหารเสืออดีตนายร้อยเยอรมัน เห็นชื่อพระยามโน ฯ ก็เอาด้วยทันที เพราะเพื่อนร่วมรุ่นคนหนึ่ง เป็นหลานรักของท่าน จึงไปสังสรรค์กันที่บ้านท่านเจ้าคุณบ่อยๆ จนคุ้นเคย หลังจากข่าวแพร่ออกไป ….. พระองค์บวรเดช ทรงถามพระยาพหลฯ เสียงเข้มว่า “ทำไมจึงไม่เลือกท่าน ? ” พระยาพหลทูลว่า “ เสนอแล้ว แต่คนอื่นเขาไม่เอา” ….
- กำเนิดกลุ่มอำนาจใหม่
สภาผู้แทนราษฎร ยุคประชาธิปไตยสมัยแรก ตามธรรมนูญการปกครองประเทศ “ชั่วคราว” มีสมาชิก ๗๐ คน โดยแต่งตั้งจากผู้ก่อการคณะราษฎร ๓๑ คน และจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ในระบอบเดิม ๓๙ คน ทำการเลือก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานกรรมการราษฎร เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร คนแรก และมีหลวงประดิษฐ์ เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เมื่อมีรัฐสภาและคณะรัฐบาลแล้ว คณะสี่ทหารเสือ ซึ่งเดิมตกลงกันว่า “จะยุติบทบาทของตนหลังปฏิวัติสำเร็จ” ก็ทนการอ้อนวอนร้องขอจากหลายฝ่ายไม่ไหว ยอมใจอ่อน รับเลือกให้เป็นกรรมการราษฎร หรือรัฐมนตรีร่วมคณะของพระยามโนฯ ด้วย รัฐบาลคณะแรกนี้ ประกอบด้วยผู้ก่อการ คนสำคัญรวมกันแล้วประมาณสองในสาม นอกนั้นเป็นบุคคลภายนอกผู้ทรงคุณวุฒิ …
- การประชุมรัฐสภาครั้งปฐมฤกษ์ ในวาระที่ ๑
เรื่องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีพระอักษร ติงมาว่า การใช้คำว่า “กรรมการราษฎร” แทน Minister หรือเสนาบดี ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ในฐานะที่สยามมีกษัตริย์ ทรงเห็นว่า ไม่เหมาะ คำว่า กรรมการราษฎร นั้นหนักไปในทาง Commissar ในรัฐสภาของโซเวียต นั้น รัฐสภา ลงมติให้เปลี่ยนเอาคำว่า “รัฐมนตรี” มาใช้แทน
- การประชุมสภาวาระที่ ๒ นั้น พระยาพหลได้แถลงต่อที่ประชุมว่า
“….เมื่อมีรัฐธรรมนูญ และสภาผู้แทนราษฎร ขึ้นสำเร็จแล้ว ข้าพเจ้าขอมอบอำนาจ ผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหารให้แก่สภา นับแต่บัดนี้…”
ซึ่งแม้จะฟังดูดี แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่พิธีกรรมเท่านั้นเอง ….
กิจกรรมการวิ่งเต้น
การเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการแต่งตั้งเข้าสภา ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ ซึ่งไม่เคยมีมาในอดีต ไม่ว่ายุคไหน คือ “รายการวิ่งเต้น” กันตีนขวิด ในระหว่างพวกผู้ก่อการ ซึ่งกลายเป็นบุคคลอาชีพนักการเมืองไปแล้ว เพราะต่างคน ก็ต่างมีลูกสมุน จะต้องขุนต้องเลี้ยงดู เมื่อตำแหน่งในสภาเต็มโควต้าแล้ว ก็เอาตำแหน่งราชการที่หาเรื่องไล่คนของพวกเจ้าออกไป แล้วให้คนของตนเข้าเสียบแทน ….. พวกที่หางานหลักให้ยังไม่ได้ ก็มอบงานเฉพาะกิจให้กินไปพลางๆก่อน …. ที่ชอบกันมากคือ งานเป็นสายลับให้ตำรวจ
แต่ที่ตกเป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์ คือ งานของหน่วยโฆษณา มีหน้าที่ออกไปชี้แจง เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้แก่ข้าราชการ และประชาชนในท้องที่ต่างๆให้เข้าใจ เรื่องยากๆ อย่างนี้ เมื่อไม่ใช้มืออาชีพ แต่ใช้คนแบบต่างตอบแทน พอถูกเขาซักถามหนักๆ เข้า ตัวเองก็ตอบไม่ได้ ก็เลยออกแนวตีรวน !!! …. บางรายจบด้วยการตบโต๊ะแล้วประกาศลั่นห้องว่า “ถ้าผู้ใดยังไม่เข้าใจ สงสัยก็ให้ถามปืน” กระบอกนี้ดู !!! สร้างความหมั่นไส้พวกคณะราษฎร ขึ้นแทนที่จะเป็นศรัทธา …
กว่าพวกผู้ก่อการใหญ่จะรู้เรื่องและเลิกโครงการนี้ไป ความดีที่พอจะมีอยู่บ้าง ก็ตกหล่นไปเยอะ
แล้วก็ยังเป็นที่รู้กันว่า พวกสาวกของคณะผู้ก่อการสายพลเรือนนั้น แสบมาก ชอบนั่งรถตระเวนกรุง ควงปืนแสดงความยิ่งใหญ่ .. พูดจาก้าวร้าวเอะอะโวยวายกับคนทั่วไป แต่พอตำรวจมาเห็นเข้ากลับต้องรีบตาเบ๊ะ …. !?
ดังนั้นคนทั่วไป ถึงจะไม่ชอบพวกเจ้านายขี้เบ่ง ขี้แสดงอำนาจ แต่พอคณะปฏิวัติ ขึ้นมาครองบ้านครองเมือง ก็เริ่มเกลียดขี้หน้าพวกคณะราษฎร ที่ออกลายเสียเอง หนักเสียยิ่งกว่าพวกเจ้า ….
- จุดแตกหักทางการเมือง
หลังจากที่ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ผ่านพ้นไปไม่เท่าไร รอยร้าวที่เกิดขึ้นแล้วในพวกผู้ก่อการ ก็แตกปริหนักยิ่งขึ้น …
“สมุดปกเหลือง” หรือ “เค้าโครงเศรษฐกิจ” ซึ่งหลวงประดิษฐ์เสนอให้ใช้ เป็นแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ แตกความคิดเห็นเป็นสองพวก ฝ่ายหนึ่ง เห็นว่าโครงการนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่มีลักษณะเป็นสังคมนิยมรุนแรง บ้างก็ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ไปเลย หากนำมาใช้แล้วจะเกิดจลาจลวุ่นวายแน่นอน อีกฝ่ายหนึ่ง เห็นว่า เมื่อจะปฏิวัติทั้งที ก็ต้องทำอะไรให้สุดซอยไปเลย ขยักขย่อนไม่ได้
เนื้อหาของเค้าโครงเศรษฐกิจมีวัตถุประสงค์ ๖ ประการ คือ
(๑) จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง การศาล
ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
(๒) จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
(๓) ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางาน
ให้ราษฎรทุกคนทำ โดยวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
(๔) จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรที่เป็นอยู่
(๕) จะต้องให้เสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๕ ประการดังกล่าวข้างต้น และ
(๖) จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ถ้าอ่านแค่นั้น ก็เห็นว่ามีส่วนดีอยู่มาก แต่ ….
พอลงรายละเอียดว่า
“ รัฐจะเป็นผู้ประกอบเศรษฐกิจเอง โดยจัดในรูปสหกรณ์ที่รัฐจะเป็นผู้บริหาร ทั้งในด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมเสียเอง”
กล่าวคือ ให้รัฐบังคับซื้อไร่นา และกิจการของประชาชน ทั้งรวยทั้งจนทั่วประเทศ โดยจ่ายค่าเวนคืน เป็นพันธบัตรดอกเบี้ย ๑๕ % ส่วนประชาชนทุกคน เมื่อพ้นจากการเป็นเจ้าของ ก็มาเป็นลูกจ้าง คนงานหรือพนักงาน ของรัฐ มีหน้าที่ทำนาทำไร่ ทำงานอุตสาหกรรมดังเคยนั้นต่อไป โดยรัฐจะมีสวัสดิการให้ประชาชนทุกคนเป็นการตอบแทนอย่างทัดเทียมกัน เพื่อจะมีกำลังกายกำลังใจทำงานต่อไป ซึ่งแนวคิดตรงนี้เองที่ไปคล้ายกับระบบทำนารวมแบบคอมมูน ทำให้ท่านผู้เสนอถูกกล่าวหาว่าเป็น คอมมิวนิสต์ และคนจำนวนมากก็เชื่อเช่นนั้น ….
พวกที่คัดค้าน เค้าโครงเศรษฐกิจ ที่เสนอโดยหัวหน้าผู้ก่อการคณะราษฎรสายพลเรือน ก็คือ พระยามโนปกรณ์ตัวนายกรัฐมนตรีเอง และรัฐมนตรี ที่มาจากขุนนางเก่าทั้งหลาย ที่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า พวกศักดินา (สมัยนี้ดูเหมือนจะเปลี่ยนไปเรียกว่าพวกอำมาตย์ ? ไม่รู้ใช่หรือเปล่า) แต่ก็รวมไปถึง ผู้ก่อการที่เป็นทหารหลายคน และ …. แน่นอนว่า พระยาทรงสุรเดช และทหารเสือทั้งหลาย รวมอยู่ข้างที่ไม่เห็นด้วย….. แม้ว่าพระยาพหลฯ ต่อมาจะเลือกไปอยู่ฝ่ายตรงกันข้าม เพราะไม่ไว้ใจพระยาทรงสุรเดช เลยต้องไปชิดชอบกับหลวงพิบูล ส่วนหลวงพิบูลนั้นไม่ต้องพูดถึง ข้างไหนก็ได้ แต่ตอนนี้ขอให้ตรงข้ามกับพระยาทรงก่อนก็แล้วกัน …
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง แท้ๆ ก็คือหลวงประดิษฐ์ กับบรรดาผู้ก่อการกลุ่มพลเรือน ที่เป็นพวกพ้องร่วมอุดมการณ์สมัยเป็นนักเรียนฝรั่งเศส และบรรดาลูกศิษย์ลูกหา พวกนี้ ล้วนแต่เป็นคนหนุ่มหัวรุนแรงทั้งสิ้น เห็นว่า เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ประเทศสยาม ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนรูปแบบ และโครงสร้างให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ได้แล้ว เพื่อให้ราษฎร (ดูเหมือนสมัยนี้จะเรียกว่าพวกไพร่ ไม่รู้ใช่หรือเปล่าอีกเหมือนกัน) เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ….
….ผมเองไม่เข้าใจว่า ถ้าทำตามเค้าโครงเศรษกิจนี้ บ้านเมืองจะหลีกเลี่ยงทุรยุคไปได้อย่างไร ? การบังคับซื้อที่ดินจากประชาชนด้วยพันธบัตร …. สมมติว่าอายุ ๑๐ ปี หมายความว่า ประชาชนเสียที่ดินทำกินในวันนี้ เพื่อแลกกับกระดาษ ๑ใบ อีก๑๐ ปี ข้างหน้าจึงจะได้เงินที่ระบุไว้หน้าพันธบัตร แต่จะได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ส่วนได้มาแล้วเงินดังกล่าว จะมีอำนาจซื้อเท่ากับวันนี้หรือไม่ คำตอบมีอยู่แล้วว่า ไม่ … แต่จะเลวร้ายแค่ไหน ยังไม่อาจระบุได้ ยิ่งถ้าเอาเรื่องจริงไปเทียบ สิบปีต่อมาเกิดภาวะสงคราม เงินบาทมีค่าเหมือนเศษกระดาษ เพราะญี่ปุ่นพิมพ์แบ้งค์ไทยออกมาใช้เองได้ ถ้าเกิดปฏิวัติเศรษฐกิจใน ตอนนั้นขึ้นจริงๆ คนไทยคงจะเป็นบ้าตายกันทั้งประเทศ ที่ยังไม่ตายก็จนเท่ากันหมดแบบเสมอภาค …. !!!
และผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไม หลวงประดิษฐ์ จึงไปมุ่งจะเอาที่ดินที่มีเจ้าของ ในขณะที่สมัยนั้น ที่รกร้างว่างเปล่าสามารถพัฒนาได้ยังมีอีก “เยอะแยะมากมาย” รัฐจะจิ้มนิ้วลงไปตรงไหนก็ได้ ตั้งงบหลวงบุกเบิกเอามาจัดสรรเป็นสหกรณ์ให้ชาวนาได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาทะเลาะกับใคร ?!!
แต่เมื่อใดที่ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมยังคงอยู่ และมีกลุ่มอิทธิพลใหม่ มาทำตัวเป็นเจ้าแทนที่พวกเดิม การปฏิวัติจึงจะไม่จบแค่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕…!!!
เห็นไหมครับ ? เดี๋ยวนี้ ถึงแม้ตัวแสดง จะเปลี่ยนไป แต่การสู้รบกันเอง ที่ทุกฝ่ายต่างอ้างว่า “เพื่อประชาธิปไตย” ในเมืองไทย ยังไม่เคยจบได้สนิทเลย ยังจะต้องมีการเสียเลือดเสียเนื้อ กันอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ ???
รากแก้วของประชาธิปไตย …
เวลาที่มีผู้กล่าวว่า คนไทยยังไม่มีการศึกษาพอที่จะเป็นประชาธิปไตยได้นั้น มักจะมีผู้สงสัยเสมอว่า แล้วการศึกษาภาคบังคับระดับไหนเล่า ที่จะเรียกว่าพอ ?
ผมจึงจะขอ อัญเชิญพระบรมราโชวาท ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระราชทานแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๗๕ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองหมาดๆ มาให้อ่าน ท่านคงจะเข้าใจได้ว่า การขาดการศึกษาของคนไทยนั้นไม่ได้มีความหมายแค่ “ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้” แต่ความหมายที่ครอบคลุมคือ คือ การขาดพื้นฐาน อันเป็นรากแก้ว ของความเป็นประชาธิปไตย ดังที่ประเทศเจริญแล้วเขาปลูกฝังให้ประชาชนตั้งแต่ต้นเข้าโรงเรียนเลยทีเดียว …
“เมื่อเราจะปกครองแบบรัฐสภาแล้ว ก็ต้องมีคณะการเมือง เป็นธรรมดา เกมการเมืองก็ ย่อมต้องมีกฎของเกมเหมือนกัน ถ้าเราเล่นผิดกฎการเมือง ก็ย่อมจะมีผลเสียหายได้มากทีเดียว เพราะการปกครองแบบเดโมคราซี ย่อมต้องมีการแพ้และชนะ ซึ่งถือเอาตามเสียงของหมู่มาก ว่าฝ่ายใดแพ้และชนะ เพราะคณะการเมือง ย่อมมีความเห็นต่างๆ กันเป็นธรรมดา ต่างฝ่ายก็ต้องมุ่งที่จะให้หมู่มากเห็นด้วยกับตน และเลือกตนเข้าเป็นรัฐบาล ฝ่ายไหนประชาชนส่วนมากเห็นด้วยฝ่ายนั้นก็เป็นผู้ชนะ …
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เมื่อเวลาจะพูดชักชวนให้ประชาชนลงความเห็นด้วยกับตนนั้น ถ้าเราใช้วิธีโกงต่างๆ เช่นติดสินบน หรือข่มขืนน้ำใจ ก็ต้องเรียกว่าเล่นผิดเกมการเมืองโดยแท้ ต้องพูดให้คนอื่นเห็นตามโดยโวหารและโดยชอบธรรมจึงจะถูกกฎของเกม
การปกครองแบบเดโมคราซีนั้น ผู้ที่ชนะแล้ว ได้เข้ามาปกครองบ้านเมือง ก็ควรจะต้องนึกถึงน้ำใจของฝ่ายน้อยที่แพ้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเราชนะแล้วก็จะหาวิธีกดขี่ข่มเหง ผู้ที่เป็นฝ่ายแพ้ต่างๆนานาหาได้ไม่ ย่อมต้องมุ่งปกครองเพื่อประโยชน์ของคณะต่างๆ ทั้งหมด ส่วนผู้ที่แพ้ก็เหมือนกัน เมื่อแพ้แล้ว ก็ต้องยอมรับว่า ตนแพ้ในความคิด ในโวหาร แพ้เพราะประชาชนส่วนมากไม่เห็นด้วย เมื่อแพ้แล้วถ้าตั้งกองวิวาทเรื่อย บอกว่าถึงแม้คะแนนโหวตแพ้ กำหมัด ยังไม่แพ้ เช่นนั้นแล้วความเรียบร้อยจะมีไม่ได้ คงได้เกิดตีกันหัวแตกเต็มไป ฝ่ายผู้แพ้ควรต้องนึกว่า คราวนี้เราแพ้แล้ว ต้องไม่ขัดขวาง หรือขัดคอ พวกที่ชนะอย่างใดเลย ต้องปล่อยให้เขาดำเนินการตามความเห็นชอบของเขา ต่อไปภายหน้าเราอาจเป็นฝ่ายที่ชนะได้เหมือนกัน ….
น้ำใจที่เป็นนักกีฬา ที่เป็นของสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือว่า เราต้องเล่นสำหรับคณะเป็นส่วนรวม แม้ในโรงเรียนเรานี้ แบ่งออกเป็นคณะต่างๆ เมื่อเล่นแข่งขันในระหว่างคณะ เราก็เล่นสำหรับคณะของเรา เพื่อให้คณะของเราชนะ แต่เมื่อโรงเรียนทั้งโรงเรียนไปเล่นเกมกับโรงเรียนอื่น ไม่ว่าคณะใดก็ตามต้องร่วมใจกันเล่นเพื่อโรงเรียนอย่างเดียวเท่านั้น เวลานั้นต้องลืมว่าเราเคยแบ่งเป็นคณะ เคยแข่งขันกันมาในระหว่างคณะ อย่างไรต้องลืมหมด ต้องมุ่งเล่นเพื่อโรงเรียนอย่างเดียวเท่านั้น ….
สำหรับประเทศชาติ ความข้อนี้เป็นของสำคัญอย่างยิ่งเหมือนกัน เพราะตามธรรมดา ย่อมต้องมีคณะการเมืองคณะต่างๆ ซึ่งมีความเห็นต่างๆ กัน แต่เมื่อถึงคราวที่จะต้องนึกถึงประเทศแล้ว ต่างคณะต้องต่างร่วมใจกันนึกถึงประโยชน์ของประเทศอย่างเดียวเป็นใหญ่ ต้องลืมความเห็นที่แตกต่างกันนั้นหมด ถึงจะเคยน้อยอกน้อยใจกันมาอย่างไร ต้องลืมหมด ต้องฝังเสียหมด ต้องนึกถึงประโยชน์ของประเทศของตนเท่านั้น จะนึกเห็นแก่ตัวไม่ได้ อย่างนี้จึงจะเรียกว่า มีใจเป็นนักกีฬาแท้ เป็นของจำเป็นที่จะต้องปลูกให้คนมีน้ำใจอย่างนั้น จึงจะปกครองอย่างแบบเดโมคราซีได้ดี ” ….
ประชาธิปไตยในพระบรมราโชวาท
คงไม่มีโอกาสได้เห็นในประเทศนี้ …
เพราะต้นแบบประชาธิปไตย ที่คณะราษฎรนำมาปลูกให้กับสยามนั้น เล่นกันแบบกติกามวยวัด รัฐบาลพลเรือน จึงมักจะอยู่ได้ไม่นาน แล้วทหาร ก็จะใช้วิธีการรัฐประหารอย่างที่รุ่นพี่ทำให้ดู เข้ามาฉีกรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่ จะให้เป็นประชาธิปไตยให้ได้ แต่ยิ่งร่าง ก็ยิ่งไกลคำว่าประชาธิปไตย จนประเทศไทยนี้ มีซากรัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกทิ้งไปแล้วมากที่สุดในโลก !!!
ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่มีอันเป็นไป ก็เพราะ “เค้าโครงเศรษฐกิจ” ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงออก “สมุดปกขาว” มาบ้าง พระราชวิจารณ์ของพระองค์ในนั้นมีประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า
“….โครงการนี้นั้น เป็นโครงการอันเดียวกันอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ หรือหลวงประดิษฐ์จะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้ ตอบได้ข้อเดียวว่า โครงการทั้งสองนี้เหมือนกัน เหมือนกันจนรายละเอียดที่ใช้ และรูปแบบของวิธีการกระทำ จะผิดกันก็แต่รัสเซียนั้นแก้เสียเป็นสยาม หรือสยามนั้นแก้เป็นรัสเซีย ข้าวสาลีแก้เป็นข้าวสาร หรือข้าวสารแก้เป็นข้าวสาลี รัสเซียเขากลัวอะไร ไทยก็กลัวอย่างนั้น รัสเซียเขาหาวิธีตบตาคนอย่างไร ไทยก็เดินวิธีตบตาคนอย่างนั้น…”
ไม่ใช่เฉพาะพระเจ้าอยู่หัว ประชาชนที่มีการศึกษา และสมาชิกสภาฯ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ก็มีเป็นจำนวนมาก ครั้นเป็นเช่นนี้ เมื่อหลวงประดิษฐ์เสนอ เค้าโครงเศรษฐกิจ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จึงแพ้โหวตในที่ประชุม ทำให้ตกไป ไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาฯ ได้
ทำให้ฝ่ายของหลวงประดิษฐ์ ไม่พอใจ ในรัฐบาลพระยามโนฯ เป็นอย่างยิ่ง
และพากันอภิปรายโจมตีพระยามโนฯ ที่ประชุมสภาอย่างเผ็ดร้อน ในทุกโอกาส ยิ่งกว่านั้น สมาชิกหลายคน ยังได้ใช้สิทธิ์ในฐานะที่เป็นผู้ก่อการคณะปฏิวัติฯ มีใบอนุญาตให้พกปืนป้องกันตัว ไปไหนมาไหนได้ ก็พกปืนเข้าไปในที่ประชุมสภาฯ กันอย่างเปิดเผย !!! แบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม สร้างความหวาดเสียวแก่บรรดาสมาชิกสภารุ่นอาวุโส และผู้รักความสงบเป็นอย่างยิ่ง หลายท่านไม่อยากไปประชุมเพราะเกรงว่าวันหนึ่งอาจโดนลูกหลงฟรีๆ …..
เมื่อสภาผู้แทนราษฎรทำท่าจะกลายเป็น สภาคาวบอย
พระยามโนฯ จึงได้ขอร้องให้พระยาทรง จัดทหารมาคอยตรวจค้นอาวุธปืนของพวกสมาชิก ใครพกปืนมาก็ให้ริบไว้ก่อน เลิกประชุมแล้วจึงคืนให้ แต่สมาชิกกลุ่มนี้กลับโกรธแค้นพระยามโนฯ เป็นอย่างยิ่ง เกรี้ยวกราดโจมตีว่ารัฐบาลละเมิดอำนาจสภา เอาทหารมาคุมสภาแบบเผด็จการ ทวีความโกลาหลในที่ประชุมสภายิ่งขึ้นอีกเป็นอันมาก
บทความ |เรียบเรียง
โดย : ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน
ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช
หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
- ตอนที่ ๑ : มนุษย์ในนามเทพ
- ตอนที่ ๒ : หอกข้างแคร่
- ตอนที่ ๓ : เสือหลายตัวในถ้ำเดียว
- ตอนที่ ๔ : นารวม และสภาคาวบอย
- ตอนที่ ๕ : ปฎิวัติรัฐบาล (ตัวเอง)
- ตอนที่ ๖ : กองทัพต้องเดินด้วยท้อง
- ตอนที่ ๗ : เมื่อกวางที่เข้าล้อม กลับกลายเป็นเสือ
- ตอนที่ ๘ : ไทยต่อฆ่ากันเอง
- ตอนที่ ๙ : สงครามยกสุดท้าย กบฎ ๑๕ วัน
- ตอนที่ ๑๐ : กบฎพระยาทรงฯ
- ตอนที่ ๑๑ : นายสิบผู้คิดกบฎ
- ตอนที่ ๑๒ : ถูกปองร้ายซ้ำซาก
- ตอนที่ ๑๓ : ไม่มีวิธีใด ที่จะทำให้มือสะอาดได้เท่ากับการซักผ้า
- ตอนที่ ๑๔ : โลกเข้าสู่ยุคสงคราม
- ตอนที่ ๑๕ : การต่อสู้ในสงคราม(ชีวิต)
- ตอนที่ ๑๖ : ใครอยู่เบื้องหลังบุรุษปริศนา