นิทรรศการภาพถ่ายทางประวัติศาสตร์ อันทรงคุณค่า มากกว่า ๑๐๐ ภาพ ซึ่งกำลังจัดแสดงอยู่ ณ River City Bangkok
นับเป็นนิทรรศการไฮไลท์ ที่คนสนใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ หรือรักการถ่ายภาพ ค้นหาเรื่องราวความเป็นมาของภาพบุคคลทางประวัติศาสตร์ ภาพถ่ายโบราณของสถานที่ และวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม รวมถึงประวัติศาสตร์ภาพถ่ายครั้งแรกของโลก ไม่ควรพลาดชมด้วยประการทั้งปวง !!
นอกเหนือจากการได้ชมภาพถ่ายโบราณต้นฉบับ ซึ่งหาชมได้ยากยิ่งแล้ว เรายังได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์การถ่ายภาพ ซึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นครั้งแรกของโลกโดย หลุยส์ จาคเคอร์ แมนเด ดาแกร์ (Louis Jacques Mande Daguerre) ผู้เป็นหุ้นส่วนในการค้นคว้า และพัฒนาวิธีการถ่ายภาพร่วมกับ โจเซฟ เนียพฟอร์ เนียพซ์ (Joseph Nicephore Niepce) นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส ผู้บันทึกภาพถ่ายเสมือนจริงภาพแรกของโลก ในปีคริสต์ศักราช ๑๘๒๖ …. แต่น่าเสียดายที่ โจเซฟ เนียพฟอร์ เนียพซ์ (Joseph Nicephore Niepce) ถึงแก่กรรมไปก่อน
อย่างไรก็ตาม หลุยส์ จาคเคอร์ แมนเด ดาแกร์ (Louis Jacques Mande Daguerre) ก็ได้สืบสานภารกิจนี้ต่อ ท่านได้ทำการค้นคว้า และพัฒนาการถ่ายภาพจนเกิดกระบวนการที่เรียกว่า “ดาแกร์โรไทพ์” (Daguerreotype) โดยภาพที่ได้มีลักษณะคล้ายกระจกเงา เป็นภาพกลับด้าน แต่มีข้อจำกัด คือ สามารถบันทึกภาพได้แค่ครั้งเดียว และไม่สามารถอัดภาพซ้ำได้ อีกทั้งยังมีกระบวนการที่ต้องใช้สารไวแสงช่วยในการผลิตภาพอีกด้วย
แม้กระบวนการผลิตภาพจะต้องอาศัยความอดทนและใช้เทคนิคต่างๆ แต่ก็นับว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ของกระบวนการผลิตภาพถ่ายที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และแพร่หลายไปในยุโรป อเมริกา จนถึงเอเชีย
ในงานนิทรรศการภาพถ่ายครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดียิ่งที่เราจะได้ชมผลงานภาพถ่ายที่เกิดจากกระบวนการดาแกร์โรไทพ์ ซึ่งมีความสวยงาม แปลกตา และก็ยากจะคาดเดาว่ากระบวนการและขั้นตอนต่างๆ กว่าจะผลิตภาพออกมาได้สวยงามเช่นนั้นมีความซับซ้อนมากน้อยเพียงใด แต่ก็นับได้ว่าเป็นศิลปะวัตถุที่ควรชมเป็นอย่างยิ่ง รับประกันว่าหาชมได้ยากจริงๆ
นอกจากไฮไลท์ภาพถ่ายของกระบวนการผลิตแบบดาแกร์โรไทฟ์แล้ว ภาพถ่ายยุคแรกในสยาม ภาพถ่ายโบราณกว่า ๑๐๐ ภาพ ยังเป็นอันซีนภาพถ่ายซึ่งแทบไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน
การถ่ายภาพในยุคแรกของสยาม ..
เริ่มมาตั้งแต่สมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ในครั้งนั้น ผู้ที่ริเริ่มนำ เข้าอุปกรณ์ถ่ายภาพเข้ามาในสยาม คือ สังฆราชปาลเลอกัวซ์ ( หากนึกไม่ออกว่าท่านเป็นใคร ในภาพยนตร์บุพเพสันนิวาส ๒ ซึ่งได้เข้าโรงไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน มีตัวละครผู้เป็นอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสให้กับแม่เกสร นางเอกของเรื่อง นั่นคือ ท่านสังฆราชปาลเลอกัวซ์ ผู้เป็นพระสหายสนิทและพระอาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ …
สังฆราชปาลเลอกัวซ์ ยังมีความสามารถทางภาษาศาสตร์ ท่านได้จัดทำพจนานุกรมสี่ภาษาเล่มแรกของไทยขึ้นโดยให้ชื่อว่า “สัพะ พะจะนะ พาสา ไท” โดยมีภาษาทั้งสี่อันได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาละติน
หากใครเป็นหนอนหนังสือประวัติศาสตร์ ย่อมคุ้นเคยกับ หนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ซึ่งแต่งขึ้นขณะที่ท่านนำพระราชสาส์นจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปถวายสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ ๙
พระสังฆราชปาลเลอกัวซ์ได้สั่งบาทหลวงอัลบรันด์ จัดซื้ออุปกรณ์ถ่ายภาพมาจากฝรั่งเศส และนำเข้ามาในสยาม ปีพุทธศักราช ๒๓๘๘ … หากไปชมนิทรรศการ TREASURE of MEMORIES ก็จะเห็นภาพท่านปรากฎอยู่เหนือวิดีทัศน์ของนักสะสมภาพ เจ้าของงานนิทรรศการ : คุณอรรถดา คอมันตร์ และคุณวีรวิชญ์ ฟูตระกูล
อย่างไรก็ตาม การถ่ายภาพในช่วงแรกที่สังฆราชปัลเลอกัวซ์นำกล้องเข้ามา ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ด้วยมีความเชื่อ ความกลัวกันต่างๆนานา จนกระทั่ง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระองค์ทรงชื่นชอบและสนใจ วิทยาการ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงโปรดให้มีการบันทึกภาพส่วนพระองค์ขึ้น และนำภาพพระบรมฉายาลักษณ์ส่งไปพร้อมกับพระราชสาส์น เพื่อเจริญพระราชไมตรีกับประมุข ผู้นำของชาติมหาอำนาจในยุโรป อาทิ เช่น สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ …
พระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงฉาย ยังมีกุศโลบายในการจัดวางองค์ประกอบภาพได้อย่างแยบยล เช่น บางภาพ พระบรมฉายาลักษณ์ที่เห็นในงานนิทรรศการ มีองค์ประกอบในภาพเป็นเครื่องบรรณาการที่ได้รับจากสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย เป็นต้น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของพระองค์ในการเจริญพระราชไมตรีต่อสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย และยังเป็นการสื่อให้ทราบทางอ้อมด้วยว่า สยามไม่ได้ล้าหลังใดๆ
เป็นที่น่าเสียดายว่า ปัจจุบันเรายังไม่มีการพบภาพถ่ายด้วยรูปแบบดาแกร์โรไทพ์ จะมีเพียงรูปแบบระบบฟิล์มกระจกเปียกซึ่งเป็นรูปแบบการบันทึกภาพที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย โดยเจ้าของภาพถ่าย คือ คุณจอห์น ทอมสัน ช่างภาพชื่อดังที่บันทึกภาพในสยาม และสถานที่ต่างๆ ในดินแดนแห่งอุษาอาคเนย์ จนกระทั่งเกิดนิทรรศการ ‘สยาม ผ่านมุมกล้องจอห์น ทอมสัน’ แสดงภาพถ่ายประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งจัดที่ River City Bangkok เมื่อ ๖ ปีก่อน
นอกจากภาพถ่ายโบราณที่หาชมยากในนิทรรศการครั้งนี้แล้ว เรายังได้มีโอกาสรู้จักกับช่างภาพชื่อดังหลายท่านจากลายเซ็นที่ปรากฎอยู่บนภาพอีกด้วย ซึ่งหากสังเกตให้ดี รูปแบบการถ่ายภาพจะเป็นลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ไม่ว่าจะเป็นผลงานภาพถ่ายของ หลวงอัคนีนฤมิตร หรือ ฟรานซิส จิตร ช่างภาพไทย คนแรกของสยามและเป็นเจ้าของสตูดิโอเรือนแพ บริเวณใกล้ๆ กับวัดประยุรวงศาวาสในปัจจุบัน หรือเฟเดอร์ เจเกอร์ , จอห์น ทอมสัน, โรเบิร์ต เลนซ์ เป็นต้น
หากคุณสนใจภาพถ่ายโบราณ เป็นช่างภาพมืออาชีพ หรือมือสมัครเล่น รวมถึงผู้สนใจทั่วไป ที่สนใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ นิทรรศการ TREASURE of MEMORIES เป็นอีกแหล่งความรู้ที่ควรเข้าชม เพราะนิทรรศการภาพถ่ายโบราณต้นฉบับเป็นสิ่งที่หาชมได้ยาก นานนับทศวรรษ จึงจะได้มีโอกาสชมสักครั้ง และนิทรรศการภาพถ่ายโบราณเหล่านี้ ยังให้คุณูปการอีกหลายอย่าง ทั้งความรู้ทางประวัติศาสตร์ เทคนิคการถ่ายภาพ ที่สำคัญยิ่ง คือ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของประเทศไทย เพราะภาพสถานที่ อาคาร โบราณสถานบางแห่งได้อันตรธานสูญหายไปแล้ว หากจะเล่าหรือบรรยาย ก็คงจะจินตนาการกันไม่ค่อยออก แต่ภาพโบราณที่ได้รับการบันทึกเอาไว้ คือ คำตอบที่ช่วยให้สิ้นสงสัยได้ในทันที และยังสามารถต่อยอดการเรียนรู้ รวมถึงการอนุรักษ์รูปแบบศิลปะวัตถุแห่งยุคสมัยได้อีกด้วย
ท่านที่สนใจเข้าชมนิทรรศการ อยากแนะนำว่าในช่วงเสาร์-อาทิตย์ จะมีภัณฑารักษ์นำชมโดยคุณ ปิติรัชต์ จูช่วย บรรณาธิการ สำนักพิมพ์สยาม เรเนซองส์ และบางสัปดาห์อาจจะเป็นคุณอรรถดา คอมันตร์ หรือ คุณวีรวิชญ์ ฟูตระกูล เจ้าของภาพสะสมโบราณแถวหน้ามาบรรยายให้ความรู้กับผู้เข้าชมทุกท่านด้วยตนเอง พร้อมเกร็ดความรู้สนุกสนานของภาพถ่ายแต่ละภาพ รับประกันว่าระยะเวลา ๑.๓๐ ชั่วโมง ผ่านไปไวจนอยากฟังซ้ำ
TREASURE of MEMORIES
19th Century Photographs of SIAM
จัดแสดงตั้งแต่วันที่
๒๐ พฤศจิกายน – ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๕
ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ – ๒๐.๐๐ น.
ณ River City Bangkok (RCB) Photographers’ Gallery ๑ ชั้น ๒
วิทยากรบรรยายและนำชม ๒ ช่วง : ๑๑.๐๐น. และ ๑๔.๐๐น. ในวันเสาร์-อาทิตย์ที่
๒๖, ๒๗ พฤศจิกายน
๓, ๔, ๕ ธันวาคม
๑๐, ๑๑ ธันวาคม
๑๗, ๑๘ ธันวาคม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. ๐๘๙-๔๗๙-๖๒๖๖ / ๐๖๓-๒๒๕-๑๕๕๕
ขอบคุณข้อมูลจาก
Siam Renaissance
ผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์และกิจกรรมพิเศษ ด้านศิลปวัฒนธรรม ศิลปะ ของสะสม โดยเฉพาะช่วงรัชกาลที่ ๔ – ๕
https://www.facebook.com/SiamRenaissancePublishing
ฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว