วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๔๗๖
“…. ทหารรัฐบาลเดินทางไล่ตามขบวนรถไฟ ของกองทหารหัวเมือง ถึงสถานีชุมทางบ้านพาชีตอน ๔ โมงเย็น แล้วหยุดพัก รอให้แน่ใจก่อนว่าพวกนั้นหนีขึ้นเหนือหรือกลับไปอิสาน …. ”
พระองค์จ้าบวรเดช ได้ทรงมอบหมายให้ พันเอกพระยาศรีฯ นำกำลังทหารรวมทุกเหล่าประมาณ ๓๐๐ นาย ทำหน้าที่ กองระวังหลัง ทำลายเส้นทาง และรบหน่วงเวลา เพื่อให้กำลังส่วนใหญ่ ภายใต้บังคับบัญชาของพันโทพระปัจจานึกพินาศ ไปตั้งหลักได้ที่ปากช่อง ส่วนพระองค์ได้เสด็จเลยไปนครราชสีมา พร้อมพระยาเสนาสงครามก่อน เพื่อความปลอดภัยขององค์ท่านเอง …
พระยาศรีฯ วางกำลังทหารหน่วยทำลายรางรถไฟ ไว้ที่สถานีแก่งคอย แล้วให้กำลังที่เหลือ ล่วงหน้ามายึดบริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๑๔๐ (ใกล้ผาเสด็จ) จุดนั้น… ทางรถไฟเริ่มคดเคี้ยว และสูงชันขึ้นทีละน้อย ฝ่ายตั้งรับ จะได้เปรียบ ตามหลักยุทธศาสตร์มาก เพราะขบวนรถไม่สามารถวิ่งเร็วได้ จึงให้ตั้งรังปืนกลไว้ ๕ จุด เรียงรายกันไปตามช่วง ๔ กิโลเมตรนี้ พร้อมทั้งดัดแปลงภูมิประเทศวางพลซุ่มยิงไว้อีกหลายตำแหน่ง ซึ่งหากฝ่ายรุก ใช้รถไฟแหกด่านมา คงถูกยิงตายระเนระนาด ต้องลงจากรถแล้วเดินเท้าเข้ารบอย่างเดียว แต่ก็ยังยากอยู่ดี …
เวลาเดียวกันนั้น ทหารอุดรธานี ที่เดินทัพแบบเกียร์หลุด จนตกรถไฟ วันเคลื่อนพลเข้าพระนครตามนัดของพระองค์บวรเดช บัดนี้ทราบข่าวว่า ทหารโคราชถอยทัพแล้ว ก็กะดี๊กะด๊าขึ้นมาใหม่ รีบเร่งทัพ มาขึ้นรถไฟที่ขอนแก่น หวังจะมาเอาความดีความชอบ ในฐานะที่ช่วยฝ่ายรัฐบาลปราบกบฏ ….
วันที่ ๑๙ ตุลาคม
พระองค์บวรเดช และพระยาเสนาสงคราม คุมกองกำลังเดินทางมาถึงนครราชสีมา ในตอนสาย ได้รับการต่อต้าน จากตำรวจของพระขจัดฯ จึงต้องยิงโต้ตอบไปบ้าง ด้วยอาวุธของทหารที่เหนือชั้นกว่า…. พระขจัดฯ เห็นทีจะสู้ไม่ได้ ก็ต้องถอยไปรวมกันกับกองพันทหารราบที่ ๑๗ จากอุบลฯ ที่แปรพักตร์ไปเข้ากับรัฐบาลแล้ว…
พระองค์บวรเดชทรงแค้นพระทัย จึงบัญชาให้พระยาเสนาฯ เตรียมกำลังทหาร ๔๐๐ คน จะขึ้นไปยึดจังหวัดบุรีรัมย์ไว้เป็นที่มั่น ก่อนจะหาจังหวะตีเมืองอุบลฯ แก้แค้น ….ครั้นได้ข่าวว่า ทหารอุดรฯ กำลังจะขึ้นรถไฟจากขอนแก่นมาโจมตี พระองค์บวรเดชจึงสั่งให้ แบ่งทหารราบเดนตายบางส่วน ขึ้นไปสกัด ทหารอุดรฯ จึงหยุดดูเชิงที่สถานีบ้านไผ่ แล้วใช้ลูกเล่นใหม่ รายงานลงมายังรัฐบาลว่า จะป้องกันไม่ให้พวกกบฏใช้เส้นทางนี้หนีไปลาว …
เมื่อทัพใหญ่ของทหารฝ่ายรัฐบาล เคลื่อนขบวนรถออกจากชุมทางบ้านพาชี ใกล้จะถึงสถานีแก่งคอยอยู่แล้ว แล้ว ก็ต้องหยุดที่หลักกิโลเมตร ๑๒๔ เพราะถูกหน่วยต่อต้าน ของพระยาศรีสิทธิสงคราม ยิงปะทะ พระเริงรุกปัจจามิตร จำเป็นต้องจัดหน่วยรบลงเดินเป็นหมวดหมู่ ค่อยๆรุกคืบหน้าขึ้นไปตามทางรถไฟ แต่การต้านทานที่หนาแน่น ทำให้ไม่คืบหน้าไปเท่าที่ควร …
ศึกครั้งนี้ รัฐบาลใช้สงครามจิตวิทยานำทัพอย่างได้ผล
ฝ่ายรัฐบาลใช้เครื่องบิน นำใบปลิวไปทิ้งตามฐานที่มั่นต่างๆ เกลี้ยกล่อมให้ทหารโคราชกลับใจ
รวมทั้งตั้งสินบนนำจับ พระองค์บวรเดช สูงถึง ๑๐,๐๐๐ บาท พันเอกคนละ ๕,๐๐๐ บาท ผบ.พัน คนละ ๑,๐๐๐ บาท และ ผบ.ร้อยคนละ ๕๐๐ บาท และการที่หลวงพิบูลฯ แต่งตั้งพระเริงรุกฯ เป็นแม่ทัพขึ้นมาโคราชแทนตนนั้น ก็เป็นความฉลาดเลิศ ด้วยเหตุว่า ท่านผู้นี้ เป็นเชื้อสายของเจ้าเมืองโคราช กับคุณหญิงโม ที่รบชนะทัพลาวของเจ้าอนุ คนโคราชรู้จักท่านดี และให้ความเคารพนับถือมาก และใจฝ่อหากต้องรบกับท่าน ….
วันที่ ๒๐ ตุลาคม
กองพันทหารราบที่ ๖ เข้าโจมตีหน่วยต่อต้านของพระยาศรีสิทธิสงครามแต่เช้า แต่ทหารรัฐบาลถูกยิงบาดเจ็บสองสามนาย โชคดี ที่เส้นทางเอื้ออำนวยให้สามารถใช้รถ ข.ต.กำบัง ทำการรุกคืบไปทีละนิดๆ สุดท้ายก็สามารถยึดสถานีแก่งคอยได้ แต่พวกกบฏยังอาศัยชัยภูมิที่ดีกว่า ใช้พลจำนวนน้อยรบพลางถอยพลาง ยันกำลังพลขนาดใหญ่อย่างได้ผล …
วันที่ ๒๑ ตุลาคม
“หลวงพิบูลฯ มาตรวจแนวรบ ฟัง พันตรีหลวงวีระโยธา ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๖ บรรยายสรุป สั่งเสียข้อราชการแล้ว จึงกลับพระนคร วันนี้ฝ่ายรัฐบาลค่อยรุกคืบคลานได้ทีละน้อย และส่งหน่วยย่อยซึ่งมีทหารเรือมาร่วมด้วยขึ้นไปยังทับกวาง”
หลวงวีระโยธา ผู้นี้ เป็นเด็กในคาถาของพระประศาสตร์ เคยให้ติดตามไปกุมตัว กรมพระนครสวรรค์ ที่วังบางขุนพรหม สำเร็จมาแล้ว จึงได้รับการอวยตำแหน่งใหญ่ โดยพระยาทรงสุรเดช ให้มาคุมกองพัน ที่สำคัญที่สุดของพระนคร เพราะตั้งจ่อหลังวังปารุสก์อยู่เลยทีเดียว ทำให้หลวงพิบูลฯ เขม่นอยู่มาก แต่ผลงานที่ทุ่งบางเขน เข้าตาดี ใช้ได้ ศึกครั้งนี้จึงขอลองวัดใจอีกครั้ง โดยแต่งตั้งให้ได้รับหน้าที่คุมหน่วยรบหลัก นำทัพขึ้นลุยดงพระยาเย็น ซึ่งท่านก็ได้พิสูจน์ความเป็นทหาร“มืออาชีพ” ใครเป็นนายไม่สน หากสั่งมา ก็ทำสนอง แบบถวายหัว เสร็จศึกครั้งนี้ได้เป็นเด็กในคาถาของนายคนใหม่ผู้ขึ้นมาดับรัศมีนายคนเก่า ….
วันที่ ๒๒ ตุลาคม
แนวหน้าของฝ่ายรัฐบาล รุกถึงสถานีทับกวาง ได้รับการต่อต้านนิดหน่อย ทหารเจ็บสี่ห้านาย ทางรถไฟจากนั้นไป ถูกรื้อหมด ทหารต้องลงเดิน ทำให้เป็นเป้าปืนกลหนักของพวกกบฏได้ง่าย แต่แนวหน้าของฝ่ายรัฐบาล ก็เข้ายึดทับกวางได้ในเย็นวันนั้น ทหารฝ่ายกบฏ ถอยล่นไปสถานีหินลับ ขณะนั้นกองกำลังส่วนหัวหอก ของฝ่ายรัฐบาลได้เคลื่อนตัวถึงหลักกิโลเมตรที่ ๑๔๐ ห่างจากหินลับเพียง ๔ กิโลเมตร …
วันที่ ๒๓ ตุลาคม
วันนี้เป็นวันตัดสินโชคชะตา ต่างฝ่ายต่างใช้อาวุธนานาชนิด เข้าโรมรันกันดุเดือดตลอดทั้งวัน… โดยฝ่ายรัฐบาลมุ่งจะเข้ายึดสถานีหินลับจากฝ่ายกบฏให้ได้ ตอนเช้า หลวงวีระโยธาให้ ร้อยโทซัน นำกองร้อย ๑ และหมู่ปืนกลเบาเดินหน้าไปตามทางรถไฟ พอเจอปืนกลหนักของฝ่ายกบฏยิงสกัด ก็ต้องรบพลางหลบพลาง รุกคืบหน้าไปได้ช้ามาก …
เวลาล่วงเลยมาถึง บ่ายสองโมง ผ่านไปแล้ว หลวงวีระโยธาให้ ว่าที่ร้อยตรีตุ๊ จารุเสถียร นำทหารไปตีโอบหลังรังปืนกล แต่หลงทาง เพราะภูมิประเทศเป็นป่า หาตำแหน่งยาก ห้าโมงเย็นเห็นจะได้ หมวดของว่าที่ ร้อยตรีตุ๊ มาโผล่ที่ทางรถไฟหน้าทหารของร้อยโทซัน ห่างรังปืนกลหนักที่หลัก ๑๔๒ ของฝ่ายกบฏไม่ถึง ๕๐ เมตร ก็เลยสั่งทหารติดดาบปลายปืนหมายตะลุมบอน จ่านายสิบสุข สังขไพรวัลย์ ลูกน้องว่าที่ร้อยตรีตุ๊ ยิงนำไป ถูกหัวสิบโทน้อย พลปืนกลเลือดสาด พลยิงอีก ๔ นายของฝ่ายกบฏ ก็ชูมือยอมจำนน …
ร้อยโทซัน คุมปืนกลหนักและเชลยกลับฐาน เพราะรบมาตั้งแต่เช้าหิวข้าวเต็มที แต่ว่าที่ ร้อยตรีตุ๊เพิ่ง ได้ลั่นกระสุนนิดหน่อยยังไม่สะใจหนุ่มเลือดร้อน ขอนำหมวดลุยต่อ แล้วเดินข้ามศพทหารกบฏสองสามศพไปข้างหน้าเอาเคล็ด …
ใกล้ค่ำมืด ของเย็นวันนั้น
พระยาศรีสิทธิสงคราม กับร้อยตรีบุญรอด เกษสมัย นายทหารคนสนิท ออกจากฐานที่ตั้งใกล้สถานีหินลับ มาตรวจความพร้อมรบที่วางไว้ตามจุดต่างๆ ซึ่งคาดว่า ทหารรัฐบาลจะเข้าโจมตีต่อในตอนกลางคืน…. หาทราบไม่ว่า รังปืนกลหนัก ที่วางเป็นแนวต้านทานไว้ที่หลัก ๑๔๒ นั้น ได้แตกไปแล้วไม่ถึงชั่วโมง เมื่อมาถึงเสาโทรเลขต้นที่ ๔ ของหลัก ๑๔๓ ในช่องเขาขาด ซึ่งมีความกว้างเพียง เท่าที่ตัวรถจะผ่านไปได้ …. หมวดของ ว่าที่ร้อยตรีตุ๊ โผล่มาอีกด้านหนึ่ง ห่างกันไม่ถึง ๒๐ เมตร ก็เปิดฉากยิงทันที
กระสุนนัดหนึ่งโดนพระยาศรีสิทธิสงคราม เข้าที่สีข้างล้มลง แต่มิได้เสียชีวิตทันที ร้อยตรีบุญรอด ทส.ของท่านรอดตาย (เพราะชื่อดี) แต่ถูกจับเป็นเชลย สุดท้ายเป็นนักโทษรุ่นที่ถูกปล่อยเกาะ แต่รอดชีวิตในที่สุดเพราะชื่อยังดีอยู่ …
ครั้นสิ้นแม่ทัพแล้ว
“ทหารฝ่ายกบฏก็หมดกำลังใจ ที่จะสู้รบต่อไป”
กองพันทหารราบที่ ๖ เข้ายึดสถานีหินลับ ได้สำเร็จในคืนนั้น แนวต้านทานอันดับต่อไปของฝ่ายกบฏ ที่ปากช่องเหลือห่างออกไปแค่ ๓๕ กิโลเมตร
หลังชัยชนะครั้งสำคัญ
หลวงพิบูลได้ทราบรายงานนี้ ก็แบบว่า ดีใจสุดขีด ขนาดเดินทางขึ้นมาทันที เพื่อดูศพแม่ทัพหน้าของศัตรู …
พอถึงแก่งคอย และมาต่อไม่ได้ เพราะทางขาด ยังซ่อมไม่เรียบร้อย ต้องนำศพพระยาศรีสิทธิสงครามใส่รถโยก ไปให้ดูที่นั่น แต่ท่านก็สลดใจ ที่เห็นทหารเลว เหยียบศพพระยาศรีสิทธิสงครามมา ถึงกับด่าว่า
“จะทำอะไรก็ให้ไว้เกียรตินายทหารชั้นผู้ใหญ่กันบ้าง …”
เมื่อ ..ว่าที่ร้อยตรีตุ๊ เดินทางกลับมาถึงหัวลำโพงนั้น หลวงพิบูลฯ ได้บุกขึ้นไปหาถึงบนรถ เพื่อจับมือแสดงความยินดี บอกว่า เธอได้เลื่อนยศเป็นร้อยโทแล้ว และกำลังจะได้ติดเหรียญกล้าหาญด้วย ต่อมาชีวิตราชการทหารของท่านผู้นี้ ก็รุ่งโรจน์ถึงระดับยศสูงสุดทางทหาร คือ คน ๑๔ ตุลา รู้จักกันดี ในนามว่า จอมพล ประภาส จารุเสถียร
วันที่ ๒๔ ตุลาคม
“… ข่าวว่าพระยาศรีสิทธิสงครามถูกยิงเสียชีวิตในที่รบ สร้างความตื่นตระหนกให้แก่เหล่าทหารกบฏ ที่ปากช่องสุดประมาณ….”
เมื่อทหารรัฐบาล เอารถถังบุกนำหน้าทหารราบ เข้าไปตามถนนสู่ตลาด แค่ยิงขู่ไม่กี่นัด ทหารกบฏ ที่ตั้งแนวรับดงพระยาเย็น ก็แพ้ยะย่าย พ่ายจะแจ …!!!
ก่อนหน้านั้น พันโทหลวงจรูญฤทธิไกร เดินทางจากปากช่อง มาเฝ้าพระองค์เจ้าบวรเดช ที่นครราชสีมาแต่เช้า เพื่อรายงานว่า หินลับแตกแล้ว พระยาศรีสิทธิสงครามหายตัวไป ไม่นานเกินรอ ก็ได้ยินวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลประกาศข่าวการเสียชีวิตของท่าน ….
แม้คณะกู้บ้านกู้เมือง จะล่มสลาย กลายเป็นกบฏต่อแผ่นดิน อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ยังอุตส่าห์ มีผู้เสนอให้พระองค์บวรเดช ฮึดสู้ต่อ ?!! โดยใช้ตัวเมืองโคราชเป็นฉากกำบัง ทำการรบยืดเยื้อต่อไป
แต่พระองค์ทรงฉลาดขึ้นแล้ว….
เงินทองที่เหลืออยู่ สู้เอาไปเลี้ยงชีวิตในฐานะผู้ลี้ภัยในอินโดจีนฝรั่งเศส ดีกว่าจะเอามาละลายกับพวกตีสองหน้า ชิวหาสองแฉก ยุให้ทุ่มสุดตัว ในการต่อสู้ ที่ไม่มีหนทางชนะ และรังแต่จะสร้างความเดือดร้อนให้ชาวโคราชก่นด่าหนักขึ้นไปอีก ….
ดังนั้น สำหรับนายทหารชั้นผู้น้อย ที่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ทรงบอกให้รอมอบตัวต่อฝ่ายรัฐบาลที่กำลังจะมาถึงโดยดี ส่วนนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ให้หนี ตัวใครตัวมัน ส่วนตัวฉันจะไปละวา …
เมื่อตัดสินพระทัย ดังนั้นแล้ว พระองค์บวรเดช ก็ทรงมอบภารกิจให้ พลตรีพระยาเสนาสงคราม นายทหารอาวุโสรองลงมา ให้เป็นผู้สั่งการต่อ ส่วนพระองค์เอง และพระชายา ก็รีบหอบกระเป๋าใส่สตางค์ เสด็จโดยเครื่องบินเบร์เกต์ ออกจากสนามบินทหารนครราชสีมา ให้ร้อยเอกหลวงเวหนเหินเห็จ คนสนิทเป็นนักบิน มุ่งสู่พนมเปญเมื่อเวลา ๑๓.๓๐ น.
วันที่ ๒๕ ตุลาคม
“…. ตั้งแต่เช้ามืด พลตรีพระยาเสนา ซึ่งนัดนายทหารที่ยังเหลืออยู่ทุกคน ไปรวมพลอยู่ที่สถานีรถไฟบุรีรัมย์ ได้สั่งการให้ ร.อ.หลวงหาญรอนรบ ผู้บังคับกองร้อยทหารม้านำทหาร และอาวุธกลับไปนครราชสีมา เพื่อรอมอบตัวกับฝ่ายรัฐบาลที่นั่น …..”
ส่วนนายทหารระดับผู้ก่อการ อันได้แก่ พลตรีพระยาเสนาสงคราม , พันเอกพระยาไชยเยนต์ฤทธิรงค์ , พันเอกพระยาเทพสงคราม , พันเอกพระยาศรีสุรศักดิ์ , พันโทพระปัจจานึกพินาศ , พันโทหลวงจรูญฤทธิไกร , พันตรีหลวงลพบาดาล , พันตรีหลวงเร้าเร่งพล , พันตรีหลวงแผลงสะท้าน, ร้อยเอกหลวงไล่พลรบ , ร้อยเอกหลวงโหมรอนราญ , ร้อยโทขุนสารภีพิชิต , ร้อยโทขุนโรจนวิชัย และอีกหลายคน ใช้ม้าของกองพันทหารม้าที่ ๓ มีนายสิบคุ้มกันพร้อมปืนกลเบาอีก ๔ ม้า รวมทั้งหมดกว่า ๓๐ ม้า ออกเดินทางจากบุรีรัมย์ผ่านช่องเสม็ดเข้าดินแดนเขมร เพื่อมอบตัวกับรัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศส หลังจากนั้นก็แยกย้ายทางใครทางมัน
ในที่สุด กบฏบวรเดช ตามที่เรียกกันอย่างเป็นทางการ
ได้อุบัติขึ้นและจบลงในเวลาเพียง ๑๕ วัน….
เหตุการ กบฏ ในครั้งนี้ ถูกบันทึกว่า ทหารฝ่ายรัฐบาลเสียชีวิตในการสู้รบ ๑๗ นาย ฝ่ายกบฏเสียชีวิตจำนวนพอๆกันแต่ไม่ทราบจำนวนแน่ชัด …
*** ครับผม….รบกันยิงกันดุเดือดเลือดพล่าน กระสุนแทบจะทะลุจอมาโดนคนอ่านอย่างนี้ ทหารตายแค่เนี๊ยะ …. ท่านที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ คงจะงงว่า สงครามกลางเมือง ที่อื่นเขารบกัน คนตายหลักร้อยหลักพันหลักหมื่น สงครามปราบกบฏ ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของสยาม รวมทั้งสองฝ่ายเฉลี่ยแล้ว ตายวันละ ๒ คน ??!!
นี่ใครหลอกใคร ? เขารบกันจริงๆ ? หรือหลอกคนดู ?
ทหารใหญ่เขาแค่เล่นการเมืองกัน”
นายแมคแคลเวย์ บรรณาธิการแผนกภาษาอังกฤษของกรุงเทพเดลิเมล์ ที่ไปทำข่าวการรบในสมรภูมิทุ่งบางเขน …ถึงกับเขียนบ่นว่า “นี่มันรบอะไรกัน” ถ้าปรินซ์บวรเดช จะไปจ้างพวกเม็กซิกัน สักสิบคนมารบ ก็จะทำให้บทบู๊มีรสชาติมากกว่านี้ ซึ่งนายหลุยส์ คีรีวัต บ.ก.ใหญ่ตอบว่า ก็เพราะปรินซ์บวรเดช ไม่ต้องการเสียเลือดเนื้อทหารไทยด้วยกันนะซี …. แค่เอากำลังมาขู่ไม่ได้จะรบกันจริงจัง …..
(( “นายหลุยส์ เป็นอินไซเดอร์ ของฝ่ายกบฏ จบเหตุการณ์แล้วมีธุระ ไปติดคุกแบบยาว กับเขาด้วย ความเห็นที่ว่า ถึงจะจริง แต่ก็ไม่ทำให้ ภาพพจน์ของพระองค์บวรเดช ดีขึ้นแม้น้อย ….” )))
*** ทางฝ่ายรัฐบาลเองก็เถอะ ผมละแหม่งๆ ตั้งแต่ ตอนที่อ่านเจอว่า หลวงพิบูลเอาปืนใหญ่เรียงเป็นตับ ไปบรรเลงโหมโรงก่อน การรบวันแรก ยิงไป ๔๐นัด กระสุนลงน้ำลงนาหมด ??? นี่มันไม่ใช่เรื่องไร้ฝีมือแล้ว
หนังสือเล่มหนึ่งเล่าว่า ตอนเข้าตีปากช่อง ที่มั่นสุดท้ายของฝ่ายกบฏ … ผู้พันสั่งมาจากกอง บ.ก.ให้รถถัง ยิงเบิกทางเข้าไป ผู้หมวดตาเหลือก เพราะฝ่ายกบฏ กระจายกำลังอยู่ในชุมชน ถ้ายิงไปจริงๆ ราษฎรคงโดนลูกหลงตายเกลื่อน …. แต่ผู้กองบอกว่า …..
“แล้วเอ็งจะเล็งไปที่บ้านคนทำไม ยิงไปโน่น โน่น บนเขาโน่น”
พอรถถังปล่อยกระสุนตูมๆ ทหารชั้นผู้น้อยฝ่ายกบฏ รอจังหวะอยู่แล้ว ก็ทิ้งที่มั่นเปิดแน่บ ทหารรัฐบาล แทบจะเซิ้งเข้าไปยึดปากช่อง ทางกองบัญชาการก็ดีใจว่า ภารกิจสำเร็จตามเป้าหมายไม่ได้คำนึงว่ายิงข้าศึกตายได้กี่คน ….
นี่คงคล้ายๆ เรื่องที่นักบินได้รับคำสั่งให้ไปทิ้งระเบิด แต่ก็เอาลูกระเบิดไปทิ้งไปขว้างให้ดังตูมๆ พอข้าศึกข้างล่างหัวหดก็บินกลับฐาน …. ผมจึงคิดเลยเถิดไปว่า วันแรกที่รัฐบาลสั่งให้ทหารเรือเอาเรือปืนสุโขทัยขึ้นไปยิงดอนเมือง ผมเอาแผนที่กรุงเทพสมัยนั้นมาดูประกอบ อาคารกรมอากาศยานมีกระจุ๋งเดียว นอกนั้นเป็นท้องไร่ท้องนาหาบ้านน้อยมาก ถ้าทหารเรือทำแบบทหารปืนใหญ่ ป.ต.อ.หรือทหารรถถัง ยิงคล่อมๆ เป้าไปพอให้เห็นฤทธิ์ กระสุนสักตับสองตับ ศึกอาจจะจบได้เร็วในวันนั้น และผู้บัญชาการทหารเรือ คงไม่ตกเป็นจำเลย ต้องติดคุกในคดีกบฏไปกับเขาด้วย
คดีกบฏบวรเดช มีผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยทั้งที่มอบตัว และถูกจับกุมเป็นนายทหารและทหารชั้นผู้น้อย รวมทั้งข้าราชการ และพลเรือนกว่า ห้าร้อยคน ซึ่งมีพวก “ปากพาซวย” หลายคนรวมอยู่ด้วย เช่น นายหรั่งเจ้าของลิเกเจ้าดังในย่านดอนหวาย ยันดาวคะนอง ที่ร้องออกแขกเอาฮาว่า
“ เจ้าคุณพหลเป็นต้นเหตุ พระองค์บวรเดชเป็นต้นเรื่อง
ขับเจ้าเข้าป่า แล้วเอาพวกหมามานั่ง เ มื อ ง ง งงงงงงง ”
มีพวกลูกหมาเอาไปรายงานนาย (พ่อหมา) สอบสวนแล้ว จำเลยยอมรับสารภาพ ..งี้ก็เสร็จซิครับ รายนี้ข่าวไม่แจ้งว่าโดนเข้าไปกี่ปี ….
บทความ |เรียบเรียง
โดย : ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน
โปรดติดตามตอนต่อไป :
ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช
หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์