miscellaneous

ชะตากรรมของ พระยาทรงสุรเดช | ตอนที่ ๕ ปฎิวัติรัฐบาล (ตัวเอง)

หลังจาก “เค้าโครงเศรษฐกิจ” ไม่ผ่าน ค.ร.ม. สถานะภาพ ของคณะรัฐบาล ก็ตกอยู่ในภาวะคับขัน เพราะหลวงประดิษฐ์ฯ กับ พระยามโนฯ จะมีความเห็นขัดแย้งกันทุกเรื่อง ลุกลามจนสภาผู้แทนฯ ก็ไม่สามารถทำงานได้

ปฏิวัติ(รัฐบาล)ตัวเอง

เพื่อป้องกันมิให้ประเทศชาติต้องเสี่ยง กับการเกิดจลาจล พระยามโนฯ  จึงตัดสินใจดำเนินการกับสมาชิกสภาหัวรุนแรง ด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนเดิม ขาดไปเพียงหลวงประดิษฐ์ และพรรคพวกอีกสองสามคน …

     วิธีการนี้ต่อมาจะเรียกว่า ปฏิวัติ (รัฐบาล)ตัวเอง  ซึ่งรัฐบาลทหารสมัยต่อๆ มา ได้ลอกแบบมาใช้ทุกครั้ง เมื่อเกิดสถานการณ์ ที่ไม่สามารถควบคุม ส.ส.ในมุ้งของตัวเองให้ยกมือโหวตตามสั่งได้  เพราะสนองสิ่งตอบแทนให้ไม่พอ !!? 

 


GQ กางเกงชิโน ผ้ายืด สีแดง ใส่สบาย น้ำหนักเบา สะท้อนน้ำ เหมาะกับอากาศร้อน สบายจริงๆ สบายจัดๆ
GQ กางเกงชิโน >> คลิ๊ก



 

     เมื่อตั้งรัฐบาลใหม่ได้แล้ว ก็เลยถือโอกาสออก “พระราชบัญญัติ คอมมิวนิสต์” เพื่อป้องกัน และลงโทษ  ผู้มีประพฤติกรรมเป็น “คอมมิวนิสต์” ในวันเดียวกันนั้นอีกด้วย

ถือได้ว่า เป็นมาตรการรุนแรง ที่พระยามโนฯ นำออกมาจัดการกับ “หลวงประดิษฐ์ และพรรคพวก” โดยเฉพาะ โดยขอร้องแกมบังคับให้  หลวงประดิษฐ์  เดินทางออกนอกประเทศ  โดยไม่มีกำหนดกลับ (คล้ายเนรเทศ) แต่ดีกว่ามาก เพราะที่มีทุนของรัฐบาลปีละ ๑,๐๐๐ ปอนด์ ให้ ไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสด้วย …. หากดื้ออยู่ ก็จะไม่รับรองความปลอดภัย มีสิทธิ์ต้องตกเป็นจำเลยเป็นคดีแรกก็ได้ ว่าอย่างนั้นเถอะ

     …. ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้ฝ่ายหลวงพิบูลฯ เชื่อว่า พระยาทรงสุรเดช เป็นเสนาธิการอยู่หลังฉาก !!!

ในวันออกเดินทาง มีคนแห่ไปส่งหลวงประดิษฐ์อย่างล้นหลาม

คนที่สำคัญที่สุดคือ พระยาพหลฯ ได้เอาพวงมาลัยไปสวมให้แล้วกอดจูบอาลัยรัก

* (ตามวัฒนธรรมแบบฝรั่งที่เขาทำกันนะครับ ทั้งคู่เป็นนักเรียนนอกเลยติดมา โปรดอย่าคิดเป็นอื่น) และนี่ผมก็ไม่ได้แต่งเอง ลอกสำนวนพาดหัวของ น.ส.พ.ศรีกรุงเขามา ….

แต่อีกเพียงสองอาทิตย์ต่อมา
    อยู่ๆ “สี่ทหารเสือ” คือทั้งพระยาพหล พระยาทรง พระยาฤทธิ์อัคเนย์ และพระประศาสน์ ก็ได้สร้างความประหลาดใจ ด้วยการ ยื่นใบลาออกจากหน้าที่ ทั้งด้านทหารและด้านการเมืองทุกตำแหน่งพร้อมกัน …
นับเป็นข่าวใหญ่ของเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ถึงกับมีหน้าม้าจัดการเดินขบวนของกรรมกรขึ้นเพื่อแสดงความอาลัยต่อการลาออกของ “สี่ทหารเสือ” ถือเป็นการเดินขบวนแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเมืองไทย

ความจริงในกอไผ่มีอยู่ว่า…

     วันหนึ่งพระยาพหลฯ วิ่งควงมีดปังตอ  มาจากครัวในวังปารุสก์ ทั้งๆ  ที่นุ่งผ้าโสร่งผืนเดียว แล้วตะโกนหาพระยาทรง ว่า “ไอ้เทพ !!!!    มึงทำอย่างนี้มาฟันกับกูดีกว่า”….

อันที่จริง แม้ว่า  อดีตเพื่อนรักคู่นี้ จะเคยประลองดาบเอเป้ (ซึ่งเป็นกีฬาของนักเรียนนายร้อยเยอรมัน) กันบ่อยๆ ถือว่าฝีมือทัดเทียมกันก็จริง แต่คราวนี้ พระยาทรงฯ  เมื่อได้ยินเสียงมาก่อนตัว ก็ต้องหลบฉาก ออกจากห้อง มาขึ้นรถ ขับไปหาเพื่อนอีกสองเสือ บอกว่า “ไอ้พจน์มันกลัดมันเป็นบ้า อยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว !!!!

สืบสาวเรื่องราว ได้ความว่า… พระยาทรงฯ  ไปแก้คำสั่งการทางทหาร  ของพระยาพหลฯ เข้า พอนายทหารคนสนิทไปรายงานให้ทราบ ขณะที่ท่านกำลังทำกับแกล้ม เลยเกิดปรี๊ดแตก คว้ามีดสับหมูได้ ก็จะไปสับ  คนที่ไม่เห็นแก่หน้าท่าน กลุ่มสามเสือ ปรึกษากันแล้ว ก็สรุปว่า   เราไปบอกพระยาพหลฯ  ว่า ถ้าอยู่ไปแล้ว  ต้องมาทะเลาะกันอย่างนี้ ก็ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีตามที่ตั้งใจกันไว้ตั้งแต่ต้นดีกว่า  ….

     ที่ผ่านมา ก็ถือว่าการปฏิวัติสำเร็จแล้ว สมควรวางมือให้คนอื่นเขาทำงานการเมืองกันต่อ จึงให้พระประศาสน์ ผู้ที่พระยาพหลรักใคร่ชอบพอที่สุดไปชวนพระยาพหลให้ลาออกด้วย ซึ่งก็สัมฤทธ์ผลตามนั้น ….

เริ่มต้นวัฏจักรประชาธิปไตยแบบไทยๆ

หลังจากการลาออกจากทุกตำแหน่งแล้ว ของ สี่ทหารเสือ แล้ว พระยาทรงสุรเดช  และพระประศาสน์  ก็ลาหยุดยาวเพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวพม่า อาณานิคมของอังกฤษ แบบถือโอกาสพักผ่อน และไม่ให้ ใครมารบกวนท่านเรื่องการเมืองได้

ส่วนพระยาพหลฯ ที่รีบลงชื่อขอลาออกไปกับเขาด้วย แต่อ้างว่า เพราะไม่อยากให้ ทั้งสามคนเปลี่ยนใจ แต่หวังว่า ตัวท่านเองนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ  จะทรงยับยั้งใบลาออก เพราะมีการเดินขบวน แสดงความเสียดาย หากจะลาออกจริง …ทว่าไม่เป็นไปดังที่คิด ข่าวมากระซิบท่านว่า   พระยามโนฯ นายกรัฐมนตรี  ได้ไปกราบบังคมทูลฯ ให้ทรงปล่อยบุคคลทั้งสี่ ไปตามยถากรรม เพื่อจะได้ตั้งนายทหารสายขุนนางเข้ามาแทน …

   ความจริงนั้น เมื่อพระยามโนฯ เห็นหนังสือขอลาออก ของสี่เสือ ในสภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานแล้ว ท่านก็เดินเป็น “ชะมดติดจั่น” นั่งไม่ติดเก้าอี้  กว่าพระยาราชวังสัน รัฐมนตรีกลาโหมจะมาถึง ตามคำสั่งด่วน เมื่อฟังท่านรัฐมนตรี แนะนำว่า ให้ลองฟังเสียงพวกผู้ก่อการ ชั้นผู้น้อยดูก่อน การทำงานข้างหน้า จะสมัครสมานกันได้อย่างไร ?   ท่านก็รีบเชิญหลวงพิบูลมาฯ  ปรึกษา ตานี้ก็เข้าทางเสือหนุ่มซิครับ ….

สรุปว่า   ให้เชิญพลตรี พระยาพิไชยสงคราม (แก็บ สรโยธิน) มาเป็นผู้บัญชาการทหารบกแทนพระยาพหล และพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) มาเป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก ส่วน พันโทหลวงพิบูลสงคราม จะขึ้นพรวดขึ้นไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ตามโอกาสที่เปิดให้ หลวงพิบูลฯ  เป็นผู้ขันอาสาไปเจรจาทาบทามนายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งสองด้วยตนเอง

พระยาศรีสิทธิสงครามนั้น ตกลงรับ เพราะเห็นด้วยกับหลวงพิบูลฯ เรื่องการโยกย้ายทหาร ที่พระยาทรงฯ  ออกคำสั่งแบบไม่เห็นแก่หน้าอินทร์หน้าพรหม ซึ่งหลวงพิบูลฯ  ขอให้เข้ามาช่วยแก้ไขตรงนี้ และหาทางป้องกันไม่ให้พระยาทรงฯ กลับเข้ามามีอำนาจอีกได้ ส่วนพระยาพิไชยนั้น กล่อมไม่ยาก เมื่อทั้งสองท่านตกลงแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าลงมา ตามที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าเสนอ …

    เมื่อเป็นไปอย่างนั้นแล้ว ภายในระยะเวลาประมาณเพียง 1 เดือน คำสั่งโยกย้ายนายทหาร  ที่พระยาศรีสิทธิสงครามออกมาใหม่แบบสายฟ้าแลบ ก็ได้สร้างความปั่นป่วน วุ่นวาย แก่วงการทหารอีกครั้ง

    มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ   ยังไม่ลงตัวเสียทีเดียว ล่าสุดมีสายลับมารายงานหลวงพิบูลฯ ว่า กำลังจะมีคำสั่งชุดใหม่ออกมา โยกย้ายนายทหารพวกผู้ก่อการ ให้พ้นจากสายบังคับบัญชา !!!!   หลวงพิบูลฟังแล้วเลือดขึ้นหน้า จึงตัดสินใจที่จะทำการยึดอำนาจ  จากรัฐบาลพระยามโนฯ ตามเสียงกองเชียร์ ซึ่งมีทั้งผู้ก่อการสายทหาร และสายพลเรือน ให้เหตุผลว่า พวกขุนนาง ภายใต้ความเห็นชอบของพระเจ้าอยู่หัวฯ กำลังจะดำเนินการริดรอนอำนาจของคณะราษฎร เพื่อหาทางฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตย ขึ้นมาอีก แต่ หลวงพิบูลฯ ประมาณตนเองว่า ยังบารมีไม่ถึงขั้นที่จะเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ จึงไปเชิญพระยาพหลฯ มาเป็นผู้นำในครั้งนี้ …

พูดถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดา แม้ท่านจะถูกเลือกจากหลวงประดิษฐ์ให้ขึ้นเป็นนายก ก็เพราะนิยมประชาธิปไตย และไม่เกรงใจพวกเจ้า แต่ครั้นพวกนั้น เห็นว่าท่านพยายามอะลุ้มอล่วย ไม่ไล่บี้ฝ่ายอำนาจเก่า เท่าที่ควร โดยอ้างว่าอะไรแล้วก็ให้แล้วกันไป ไม่ประสงค์จะให้มีรอยร้าวกันมากกว่านี้ และชอบพูดย้ำในที่ประชุมเสมอว่า เราไม่ใช่ศัตรูของเจ้า ท่านเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวถึงสัปดาห์ละ ๓ วัน คืออังคาร พฤหัส เสาร์ หลังประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อทูลปรึกษาข้อราชการ แม้พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงมีสิทธิ์ จะตัดสินได้อย่างเมื่อก่อน แต่ก็ถวายพระเกียรติว่า ให้ทรงรับทราบ

แต่การกระทำเช่นนี้ พระยามโนฯ ถูกมองว่าท่านเป็น “ทรากตกค้างมาจากระบบเก่า” ต้องกำจัดออกไปให้สิ้น !!!

ดังนั้น เพียงแปดสิบวัน หลังนายกรัฐมนตรีปิดสภา ทหารหมวดหนึ่ง ก็นำอาวุธไปบังคับให้  พระยามโนฯ ลาออก ท่านรออยู่แล้ว ก็ยอมลาออกโดยดี และในที่สุด เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง จึงได้เดินทางไปหลบภัยที่ปีนัง ซึ่งท่านคิดถูก และทำถูกแล้ว ซึ่งถ้าอยู่ เขาคงตั้งข้อหาให้ท่านติดคุกแน่นอน

นายกรัฐมนตรีคนแรกตามระบอบประชาธิปไตย มิได้มีโอกาสได้กลับมาเมืองไทยอีก เพราะท่านได้ถึงแก่อสัญกรรมที่เกาะปีนังนั่นเอง

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา(ก้อน หุตะสิงห์) ขวามือ กุฏเคยบรรจุศพของท่านในวัดไทยที่ปีนัง

หลังสงครามโลกสงบลง ….

ทายาทได้นำศพของท่านที่บรรจุไว้ในสุสานของวัดไทยแห่งหนึ่ง กลับมาจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม ในวันที่ ๔ เมษายน ๒๔๙๒ ….

รัฐประหารดังกล่าวนับว่าเป็นการปฏิวัติเงียบ
     หวังเพียงเพื่อจี้นายก ให้ลาออกเท่านั้น เมื่อสำเร็จ และตกลงในการวางตัวว่า ใครจะไปใครจะมา ใน ค.ร.ม.เสร็จแล้ว พวกผู้แทนที่ถูกปิดสภาฯ ไป  ก็ทำหนังสือถึงประธานสภาฯ ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อเปิดสภาใหม่ เมื่อสภาเปิด  ก็โหวตให้  พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีแทนพระยามโนที่ลาออกไป ตามโผ

ทหารจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒ ของสยาม แทนที่จะเป็นคนแรก เพราะตอนนั้น พระยาพหลฯ ยังมีความเหนียมอาย เจ้าของลัทธิประชาธิปไตยอยู่ ….

พระยาพหลนายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลในวันเปิดสภา

เมื่อเป็นนายกฯ แล้ว
        ส.ส.สายพลเรือน ก็เรียกร้องให้  เอาหลวงประดิษฐ์ ที่ถูกรัฐบาลที่แล้วเนรเทศไปเรียนหนังสือที่ฝรั่งเศส กลับมา เมื่อถึงเมืองไทยอย่างฮีโร่ ได้เป็นรัฐมนตรีเสร็จสรรพแล้ว ส.ส.อุตรดิษฐ์  ก็ได้เสนอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหลวงประดิษฐ์  ว่าเป็นคอมมิวนิสต์  ตามข้อกล่าวหาของพระยามโนหรือไม่ ?

สภาได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญประกอบด้วย

  1. หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นประธาน
  2. พระยานลราชสุวัจน์ พระยาศรีสังกร เป็นองค์คณะพิจารณา

และอนุมัติให้มองซิเออร์ กียอง กับเซอร์โรเบิร์ต ฮอลแลนด์ (ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมนะครับ) มาเป็นผู้เชี่ยวชาญสำหรับให้ความเห็นต่อคณะกรรมการชุดนี้    ส่วนฝรั่งสองคนนี้มาได้อย่างไรคงอย่าไปเดาเลย เดี๋ยวถูกเอาเป็นว่า หลังฟังความเห็นแล้ว คณะกรรมการ ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ให้หลวงประดิษฐ์พ้นมลทิน เป็นคอมมิวนิสต์ตามข้อกล่าวหา …

คืนวันที่สภาลงมติเห็นชอบ ตามที่คณะกรรมการเสนอ บรรดา ส.ส.  ก็ได้จัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีต่อหลวงประดิษฐ์ ที่บริเวณสภาฯ  กันยกใหญ่ โดยเฉลี่ยกันออกค่าใช้จ่าย กันข้อครหา นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่นักการเมืองสมัยนี้ไม่ยอมกระทำตาม ….

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร
คือ เจ้านายพระองค์เดียว ที่เป็นสมาชิกของคณะราษฎร

    ทรงมีความสามารถมาก แต่เพราะความเป็นเจ้า ทำอย่างไรๆ ก็ไม่ได้การยอมรับเท่าที่ควร  ความจริงงานแรก ที่ทรงเสนอตามรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๖  วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๗๕ คือ

“ให้รัฐบาลจัดตั้งโรงเรียนการเมืองชั้นสูงขึ้น เพื่อสอนประชาธิปไตย”

 แต่เพราะ มิใช่ลูกหม้อ ของคณะราษฎร ข้อเสนอนี้ จึงถูกดอง  แล้วท่านเอง  ก็ถูกโยกย้ายให้ไปทำงานด้านอื่น

…. ไม่กี่เดือนต่อมา หลวงประดิษฐ์  ก็หยิบเอาข้อเสนอนั้น ไปทำเสียเอง แล้วได้ชื่อว่า เป็นผู้ประศาสตร์การ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองไป ….


ท่านวรรณไปอยู่ที่ไหนก็มีผลงาน
     รัฐบาลยุคต่อๆมา ก็ให้งานท่านอย่างเหมาะสม  จึงทรงได้ทำคุณานุคุณต่อชาติมากมายเหลือคณานับ สุดท้าย ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  เลื่อนฐานันดรศักดิ์ จากหม่อมเจ้า ขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ …

เมื่อทหารคนแรกเป็นนักการเมือง

พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีคนที่สองของสยาม
กล่าวในที่ประชุมสภาในวาระแรกว่า….

    “ข้าพเจ้าเป็นนักรบ ไม่ใช่นักพูด ไม่เจนจัดในทางการเมือง ไม่สันสัดในการปกครองแผ่นดิน จะดำเนินการไปไม่ครบถ้วนทุกสถาน แต่เมื่อโปรดเกล้าฯ  ตามคำแนะนำของประธานสภาผู้แทนราษฎร และคณะทหารได้ขอร้องให้รับตำแหน่ง ฉะนั้น เพื่อความสงบเรียบร้อย ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ก็จะขอรับตำแหน่งไปเพียง ๑๐ หรือ ๑๕ วันเท่านั้น”

การกล่าวเช่นนี้ ได้ใจสมาชิกสภาผู้แทน  และประชาชนอย่างยิ่ง แต่เมื่อครบ ๑๕ วันแล้ว เมื่อกราบบังคมทูลขอลาออก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ  ทรงยับยั้งไว้ ด้วยทรงเห็นว่า เป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือไว้ใจของประชาชน และสามารถประสานสามัคคีกับทุกฝ่ายได้ดี พระยาพหลจึงยินยอมเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ  >> (ตามแผน …. )

นายถวัติ ฤทธิเดช ลูกกำนันระดับเศรษฐีในท้องถิ่น ผู้อ้างตนเป็นกรรมกร

แรกๆ ก็ดูจะไปได้ด้วยดี แต่แล้ว ก็มีบุรุษหัวก้าวหน้านายหนึ่ง มีตำแหน่งเป็น เลขานุการสมาคมกรรมกรรถราง แต่งตั้งทนายฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กล่าวหาว่า “พระองค์หมิ่นประมาทตนในหนังสือสมุดปกขาว เพราะในพระราชวิจารณ์เค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์” ทรงกล่าวว่า การที่กรรมกรรถรางนัดหยุดงานนั้น มิใช่เดือดร้อนจริง แต่มีคนยุยง เพื่อจะได้มีโอกาสจัดตั้งสมาคมคนงาน แล้วตนจะได้เป็นหัวหน้า มีเงินเดือนกินสบายเท่านั้น …
ชายผู้นั้นชื่อ นายถวัติ ฤทธิเดช   พ่อเป็นกำนันตำบลบางช้าง และเป็นชาวสวนฐานะดี ของจังหวัดสมุทรสงคราม เคยบวชพระ จนได้เป็นผู้สอนพระธรรมวินัยแก่ภิกษุสามเณรในวัด หลังจากสึกออกมาแล้วเข้ารับราชการเป็นเสมียนอยู่ที่กรมอู่ทหารเรือเป็นเวลา ๔ ปี เกิดความเบื่อหน่ายจึงลาออกมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ เนื่องจากหัวรุนแรง จึงอยู่กับใครไม่ได้นาน จนต้องดิ้นรน ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ชื่อ “กรรมกร” ขึ้นมา เป็นปากเสียงให้ชนชั้นกรรมาชีพ และได้ช่วยก่อตั้งสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยามขึ้น เพื่อต่อรองกับบริษัท ได้รับการอนุมัติโดยคณะราษฎรให้จัดตั้งได้เมื่อวันที่ ๑๔ ต.ค. ๒๔๗๕ ถือว่าเป็นองค์กรผู้ใช้แรงงานแห่งแรกในประวัติศาสตร์ไทย…
…. แต่นายถวัติ ไม่ใช่กรรมกรผู้ยากไร้ (จริงๆ) แม้จะจบชีวิตลงอย่างอนาถา เพราะเขาอันตรายเกินกว่าที่รัฐบาลไหนจะเอาไว้เป็นพวก แม้กระทั่งบรรดากรรมกร ที่เขาร่วมต่อสู้ให้ ก็ยังทอดทิ้งให้เขาเจ็บป่วยตายอยู่คนเดียว…

เรื่องที่นายถวัติก่อขึ้นคราวนั้นเป็นเรื่องใหญ่โตไม่จบง่ายๆ

    เพราะมีผู้ไปแจ้งความ และอัยการ  ก็สั่งฟ้อง คนฟ้องว่าเป็นกบฏ และ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นายคนนี้ ก็เลยทำเรื่องขอให้สภาตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญ ว่า “ตนมีสิทธิ์ฟ้องพระมหากษัตริย์หรือไม่? ”  สภาเถียงกันยืดเยื้อยาวนาน ก็ออกแนวเลี่ยงบาลีว่า ไม่ควรรับพิจารณา  เรื่องที่ยื่น โดยบุคคลภายนอก

     อีกไม่กี่วัน หลวงประดิษฐ์ ก็ยื่นญัตติด่วน  ให้สภาตีความรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ ที่ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”    นี้ อ้างว่าเป็นพระราชประสงค์ ที่ทรงอยากจะทราบด้วย ว่าตกลงเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร สภาก็อภิปรายยืดเยื้อยาวนานอีกครั้ง สรุปลงมติว่า สภาฯ  ไม่ใช่ศาล ไม่มีอำนาจชำระคดี  เรื่องเลยไม่จบไปจริงๆ และได้กลายเป็นข้ออ้างข้อหนึ่ง ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ซึ่งต่อมาเรียกว่า “กบฏบวรเดช” ….

ในสมัยรัฐบาลพระยามโนฯ  ได้มีเจ้านายระดับพระองค์เจ้า และหม่อมเจ้าหลายองค์เข้าร่วมกับกลุ่มขุนนาง ขออนุญาตจัดตั้ง “สมาคมคณะชาติ” ขึ้น คู่กับคณะราษฎร ซึ่งเลี่ยงคำว่าพรรค ไปตั้งเป็นสมาคมชื่อว่า “คณะราษฎรสราญรมย์” เพราะข้อห้ามของบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ ยังไม่อนุญาตให้ผู้ใด  จัดตั้งพรรคการเมือง ครั้นเปลี่ยนนายกฯ มาเป็นพระยาพหลฯ พวกคณะชาติเก่าก็กลายพันธุ์  เป็นคณะกู้บ้านกู้เมือง มีสมาชิกประเภทสุดขั้วมาประชุมกันเป็นประจำ และหนึ่งในนั้นคือ “พระยาศรีสิทธิสงคราม”

เมื่อหลวงพิบูลฯ ทำการปฏิวัติ แล้วปลดท่านกลางอากาศนั้น เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ แต่การกระทำ ที่สร้างความโกรธแค้นให้แก่พระยาศรีฯ อย่างยิ่ง คือ การส่งทหารมาขับไล่ไสส่ง ท่านออกจากห้องทำงาน แบบไม่ให้รู้เนื้อรู้ตัว ถือเป็นการหยามเกียรติ ที่เกินกว่าเหตุ และการโยกย้ายด่วน นายทหารหลังจากนั้นอีกครั้ง ก็เป็นการซ้ำเติมซ้ำๆซากๆ แก่ผู้ที่มิใช่สมุนนักการเมือง การพบปะคุยกัน ของคณะกู้บ้านกู้เมือง จึงออกแนวที่จะต้องจัดทัพลุยกับพวกรัฐบาลใหม่บ้าง โดยจะชูพระยาศรีสิทธิสงครามเป็นแม่ทัพ

สังคมของคนกรุงเทพ มีความรู้สึกต่อความเป็นไปเหล่านี้อย่างไร ?

ประชาสัมพันธ์
 เครื่องดื่ม โพรไบโอติก Probiotics-n1
KOMBUCHA BY SCOBY DO IT เครื่องดื่มที่ผ่านกระบวนการหมัก มีสรรพคุณทางยา โดยมี “จุลินทรีย์ โพรไบโอติก Probiotics” ที่เป็นพระเอกของเครื่องดื่มชนิดนี้

สะท้อนได้จากความเห็นของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน ที่เขียนไว้ในหนังสือ “ความฝันของนักอุดมคติ” ว่า…

   “….ท่านสุภาพบุรุษ ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่า ซื่อสัตย์สุจริต และมีเกียรติยศ แต่ท่านเอาความยุ่งเหยิง มาสถิตแทนความเป็นระเบียบ เอาความแตกก๊กแตกเหล่า มาแทนความสามัคคี  การรักษาตัวเองให้ปลอดภัย โดยตั้งป้อมค่าย อยู่ในวังปารุสกวัน โดยจัดตำรวจลับ ออกลาดตระเวน จับคนที่ไม่ยอมเป็นพวกพ้อง โดยโยกย้ายนายทหาร และจัดรูปกองทัพแบบปราบจลาจล โดยบรรจุคนของตัวเข้าดำรงตำแหน่งชั้นหัวหน้าในราชการอย่างไม่คำนึงถึงวุฒิความสามารถ  เหล่านี้กระทำไปในนามของราษฎร…..
    ……รัฐบาลนี้อ้างว่า ได้จัดตั้งขึ้นโดยราษฎร และเพื่อราษฎร ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เราก็ต้องมีอำนาจ ที่จะบังคับรัฐบาลให้บริหารในทางที่เป็นประโยชน์แก่เราทั้งหลายร่วมกัน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของรัฐมนตรี และเพื่อนพ้อง ของรัฐมนตรีเท่านั้น มิฉะนั้นเราก็ต้องเปลี่ยนรัฐบาลใหม่…..” 

ครั้นเหตุการณ์ที่รัฐบาลปล่อยให้เรื่องที่คนระดับหัวหน้าม็อบ ฟ้องพระเจ้าอยู่หัวฐานหมิ่นประมาทยืดเยื้อ ทำให้ในสภาฯ  ซึ่งมีสมาชิกบางคน อภิปรายพาดพิงไปถึงสถาบันด้วยถ้อยคำจาบจ้วงรุนแรง ขนาดสมัยนั้น  แค่อ่านหนังสือพิมพ์นะครับ ไม่ได้ถ่ายทอดสดออกทีวี ประชาชนยังไม่พอใจรัฐบาลอย่างกว้างขวาง พระยาศรีฯ จึงเห็นว่า  ถึงเวลาแล้วที่จะลงมือดำเนินการ …

 


 

บทความ |เรียบเรียง
โดย  :  ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน

 

อ่านเพิ่มเติม
ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์  ตอนที่ 1-16  



Cultures of Fermented 
by Scoby Doit
Previous ArticleNext Article