9Nomad, miscellaneous

ชะตากรรมของ พระยาทรงสุรเดช | ตอนที่ ๒ หอกข้างแคร่


  เช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕  พระยาทรง ตื่นตั้งแต่ตีสี่ แล้วออกจากบ้านไปพร้อมกับ ร้อยเอกหลวงทัศนัยนิยมศึก (ทัศนัย มิตรภักดี)  ผู้ที่สั่งให้มารับไปยังจุดนัดพบ กับผู้ร่วมก่อการคนอื่นๆ เวลาตีห้า พระยาทรงสุรเดช ก็ได้เปิดเผยแผนการ ลวงทหาร ออกมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ทุกคนฟัง … จากนั้นทั้งหมด ก็ได้มุ่งหน้าไปยังกรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ สี่แยกเกียกกาย

เมื่อไปถึงแล้ว พระยาทรง พระยาพหล และพระประศาสน์ ก็ตบเท้าเข้าไปถามหาตัวผู้บังคับการกองรักษาการณ์ แล้วพูดด้วยเสียงดุดันว่า….

“เวลานี้เกิดกบฏกลางเมืองขึ้นแล้ว
มัวแต่หลับนอนอยู่ได้
เอารถเกราะ รถรบ
เอาทหารออกไปช่วยเดี๋ยวนี้ !!! “


 

    ตัวผู้บังคับการเอง เป็นนายทหารชั้นผู้น้อย เมื่อเห็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ระดับนั้นมาด้วยตนเอง “ก็หลงเชื่ออย่างสนิทใจ “ รีบออกคำสั่งให้ พลทหารเป่าแตร แจ้งสัญญาณ เหตุสำคัญ ปลุกทหารทั้งกรมตื่นขึ้นโดยฉับพลัน !!! …

ในช่วงเวลาระทึกใจนี้  ผู้ที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ไว้แล้ว ก็แยกย้ายกันปฏิบัติงาน พระยาพหลฯ ใช้กรรไกรตัดเหล็ก ที่เตรียมมาตัดโซ่กุญแจคลังแสงออก แล้วช่วยกันลำเลียงกระสุนมาขึ้นรถอย่างรวดเร็ว พระประศาสน์ตรงไปยังโรงเก็บรถ พร้อม หลวงทัศนัยเร่งให้ทหารสตาร์ทรถถัง รถเกราะ ออกมาโดยเร็ว หลวงรณสิทธิชัย และพรรคพวก  มุ่งไปยังโรงทหาร ออกคำสั่งแก่พลทหารให้แต่งเครื่องแบบทันที ไม่ต้องล้างหน้า …ไม่กี่นาทีต่อมา ก็ออกไปขึ้นรถบรรทุกทหารภายในกรมทหารปืนใหญ่ ที่ได้นัดแนะ กับพระยาฤทธิอัคเนย์เอาไว้แล้ว …

เมื่อพระประศาสน์ นำขบวนรถถัง รถเกราะ รถขนกระสุนและปืนกลเบารวม ๑๕ คัน ออกจากที่ตั้งได้แล้ว ก็มุ่งหน้าตรงไปยัง ลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งนักเรียนนายร้อยคงจะแต่งชุดฝึกมารออยู่แล้ว ระหว่างทางแล่นผ่านกองพันทหารช่าง ของหลวงวรณสฤช เห็นทหารกำลังฝึกอยู่ที่สนามหน้ากองพันตามนัด พระยาทรงฯ ก็ตะโกนเรียกให้สั่งทหารรีบขึ้นรถบรรทุกไปด้วย….

ชะตากรรมของ พระยาทรงสุรเดช | ตอนที่ ๒ หอกข้างแคร่

 

ปฏิบัติการทั้งหมดนี้ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง !!

มีคำถามมากมายต่อมาว่า มันเกิดอะไรขึ้น ???

  • เหตุใดกองรักษาการณ์กรมทหารม้าจึงได้ร่วมมืออย่างง่ายๆ ?
  • ทำไมยามคลังแสงจึงปล่อยให้พระยาพหลงัดประตูเอากระสุนออกไปได้ ?
  • ทำไมนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในกรมนี้จึงปล่อยให้นายทหารที่อื่นนำทหารของตัวออกไปได้ โดยไม่แสดงปฏิกิริยาอันใดเลย ?

สำหรับคำถามเหล่านี้ ในบันทึกของพระยาทรงฯ
ได้ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า … 

“เป็นเพราะนายทหาร นายสิบ พลทหารเหล่านั้น เห็นด้วยในการปฏิวัติ อย่างนั้นหรือ ??? …เปล่าเลย !! ทุกคนไม่มีใครรู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น !!!?? ตั้งแต่เกิดมา ก็ไม่มีใครเคยได้เห็นได้รู้ ว่า การปฏิวัติเขาทำอย่างไร เพื่ออะไร  มีแต่ความงงงวย เต็มไปด้วยความไม่รู้ และข้อนี้เอง เป็นเหตุสำคัญแห่งความสำเร็จ ! ”

      สำหรับพลทหารทั้งหมด ไม่ต้องสงสัยเลย เขาทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา โดยไม่มีข้อโต้แย้ง เขาถูกฝึกมาเช่นนั้น…. และหากนายทหารอื่นมาสั่งให้ทำ โดยอ้างว่า เป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เขาก็ทำเช่นเดียวกัน …  ทำไมเขาจะไม่ทำล่ะ ?  เพราะในชีวิตเป็นทหารของเขา เขายังไม่เคยถูกหลอกเช่นนั้น เพราะฉะนั้นเขาจะรู้ไม่ได้เลยว่าเป็นการลวง ในเมื่อเขาโดนเป็นครั้งแรก …นายทหารทั้งหมดส่วนมาก ได้เรียนในโรงเรียนนายร้อย ในสมัยที่ผู้อำนวยการฝ่ายทหารเป็นอาจารย์ใหญ่ เพราะฉะนั้น  จึงมีความเคารพและเกรงในฐานผู้ใหญ่…….

ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเช้าวันนั้น    พระยาพหลได้ยืนหน้าแถวทหารเพื่ออ่านประกาศคณะปฏิวัติ เสร็จแล้ว จึงถามเสียงเข้มว่า “ใครเห็นด้วย ให้ก้าวเท้าออกมาหนึ่งก้าว”  หลังเสียง  พรึ่บ ก็เป็นอันว่าครึ่งหนึ่งของแผนได้สำเร็จไปแล้ว …

สลายขั้วอำนาจเก่า
        เวลาเดียวกับที่พระยาทรงฯ ตื่นนอน เพื่อออกไปปฏิบัติการ …

พลตำรวจโทพระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุยส์ จาติกวณิช) อธิบดีกรมตำรวจ ได้ขอเข้าเฝ้าจอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นการด่วน ที่วังบางขุนพรหม แล้วกราบทูลว่า

“มีคณะบุคคลจะลงมือทำการปฏิวัติยึดอำนาจในตอนเช้า ตามข้อมูลที่ได้ทางลับ แล้วจะกุมพระองค์ไปเป็นประกัน เพื่อต่อรองกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ด้วย จึงได้เตรียมหมายจับบุคคลกลุ่มหนึ่งมาถวาย ให้ลงพระนามอนุมัติ พร้อมกับได้จัดเรือกลไฟเล็กลำหนึ่ง มาจอดคอยอยู่ที่หน้าตำหนักน้ำ ขอให้พระองค์รีบเสด็จหนีไปก่อน เพื่อหาทางต่อสู้ต่อไป” 

คงถึงคราวหมดบุญจริงๆ

ทูลกระหม่อมฯ ท่านทรงฟังคำกราบทูลของอธิบดีกรมตำรวจแล้ว มิทรงเชื่อ ?!
    พร้อมรับสั่ง ให้รอดูเหตุการณ์ไปก่อน เหตุผลคือ …

“ฉันจะไปได้อย่างไร ฉันรักษาพระนครอยู่ด้วย”

    ไม่กี่วันที่ผ่านมานั้น สถานทูตเยอรมันได้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำ ที่โฮเตลพญาไท เพื่อรับรองบุคคลสำคัญของเขาที่เดินทางมาเยือนสยาม และเชิญนักเรียนเก่าเยอรมันทั้งหมดไปในงาน พระองค์ยังทรงได้พบขุนทหารหลายคนที่นั่น รวมทั้งพระยาพหลฯ และพระประศาสน์ จะมีขาดไปก็เพียง พระยาทรงสุรเดช คนเดียว …. แต่คงมิได้เฉลียวพระทัย ภาพนี้จึงถือเป็นภาพประวัติศาสตร์เพราะเป็นงานเลี้ยงครั้งสุดท้ายในเมืองไทยของพระองค์ท่าน …

สถานทูตเยอรมันได้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำที่โฮเตลพญาไท

 

ความมั่นพระทัยของพระองค์ คงอยู่บัดเดี๋ยวเดียวเท่านั้น !!!

ขบวนรถถัง และรถยานเกราะ ๖ คัน พร้อมด้วยนักเรียนนายร้อย ๑ หมวด นำโดยคนที่นั่งใกล้เบื้องพระบาท ก็เคลื่อนตัวมาถึงป้อมตำรวจหน้าวัง ยิงปืนสำแดงเดชชุดนึงข่มขวัญ แล้วก็เคลื่อนพลเข้าไปในวังบางขุนพรหม ..!!!

กรมพระนครสวรรค์เมื่อทรงเห็น ผู้ที่เดินตรงเข้ามาหา ก็ทรงจำได้

“…. นานมาแล้ว ท่านเสด็จต่างจังหวัด มีพระมาทูลว่า เลี้ยงเด็กกำพร้าไว้คนหนึ่ง ฉลาดเฉลียวเรียนเก่งมาก อยากถวายให้ทรงอุปการะต่อ พระองค์ทรงเมตตาพามากรุงเทพแล้วส่งเข้าโรงเรียนทหาร เมื่อจบก็ส่งไปเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยเยอรมันสถาบันเดียวกับพระองค์ กลับมารับราชการจนได้เป็นคุณพระ ทั้งเมื่อเร็วๆก่อนหน้า ยังทรงเป็นเจ้าภาพแต่งงานให้อีกด้วย จึงมีพระดำรัสด้วยพระสุรเสียง อันไม่สะทกสะท้านกับนายทหารผู้นั้นว่า “ตาวัน แกมา ต้องการอะไร”

พระประศาสน์ไม่กล้าสบสายพระเนตร แต่กราบทูลเสียงเข้มว่า “ขอเชิญเสด็จไปพระที่นั่งอนันต์ มีข้าราชการทหารพลเรือนรออยู่แล้ว ขอเชิญเสด็จเดี๋ยวนี้”

    แม้จะมีพระดำรัส ขอให้ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์ก่อน เพราะยังทรงอยู่ในชุดนอน  …. ตาวัน ของพระองค์ ก็มิได้สนองพระประสงค์ จึงเสด็จเข้าประทับ ในรถที่เขาจัดให้พร้อมด้วยหม่อมสมพันธุ์ และพระธิดา แล้วถูกกักบริเวณไว้ภายในตำหนักราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ หน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน เป็นอันว่า  แผน ๓ ในภารกิจที่สำคัญที่สุดของคณะปฏิวัติได้เสร็จสิ้นลงแล้ว !!!

หม่อมเจ้าหญิงอินทุรัตนา พระธิดาพระองค์หนึ่ง ทรงบันทึกว่า…

“พวกคณะราษฎร์หัวรุนแรงจบมาจากฝรั่งเศส
หัวสมองเห่อบวมไปด้วย French Revolution

จะเอาพ่อไปยิงเป้าที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ให้เหตุผลกันว่า
ไอ้คนๆนี้ เอาไว้ไม่ได้ พวกทหารบก ทหารเรือ เชื่อมือมันมาก
ถ้ามันคิดโค่นเรา เราก็แพ้ ..แต่พระยาพหล และพระยาทรงสุรเดช ไม่ยอม…
ท่านว่า พวกเราคณะราษฎร์ ได้ไปสาบานในโบสถ์วัดพระแก้วมรกตว่า
จะทำปฏิวัติโดยไม่ให้เลือดตกยางออก
ใครจะฆ่าทูลกระหม่อมบริพัตร ต้องข้ามศพกูสองคนไปก่อน”

    เมื่อพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่และข้าราชการสำคัญที่ถูกส่งทหารไปเชิญมา ก็ได้เริ่มทยอยถึง ภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม นายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคน จึงได้ช่วยกันเข้าล้อมเจ้านายองค์อื่นๆ เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ไว้เพื่อถวายความปลอดภัย เพราะเกรงว่าเหตุอันมิได้คาดคิดจะเกิดขึ้นได้

พวกคณะราษฎร์หัวรุนแรงจบมาจากฝรั่งเศส

 

การที่คณะราษฎรกระทำการรัฐประหารแล้ว ได้กรมพระนครสวรรค์มาทรงเป็นตัวประกัน ทำให้ปัญหาการนองเลือด ตลอดจนปัญหาการต่อต้านที่จะมาจากทุกทิศทางหมดไปทันที…

ผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ออกจะเคืองๆ อยู่ว่า ทูลกระหม่อมทรงประมาทเกินไป ที่คิดว่า จะมีใครกล้ากบฏ ทั้งๆ ที่อธิบดีกรมตำรวจ หากไม่มั่นใจในรายงานลับ ก็คงไม่มาขอเข้าเฝ้าในเวลาวิกาลเช่นนั้น ถ้าทรงเชื่อเสียบ้าง บ้านเมืองก็คงจะไม่มีอันเป็นไปเช่นนี้ …..

    กรมพระนครสวรรค์ทรงกล่าว  หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้วว่า “ก็เราเคยฝึกหัดมาให้เชื่อในเกียรติของยูนิฟอร์ม” ซึ่ง ” ฉันอาจจะทำผิดได้ ดั่งคนสามัญทั้งหลาย แต่ฉันไม่เคยทำชั่ว ” แต่ผลของการนั้น ทำให้ทรงถูกจับกุมด้วยฝีมือของข้าชุบเลี้ยงในพระองค์เอง ….

ดั่งคำพังเพยที่ว่า “หอกข้างแคร่”
นี่ไม่ทราบว่าผู้ใดคิดขึ้น และคิดตั้งแต่สมัยไหน ทว่าน่านับถือแท้ๆ อันหอกข้างแคร่นั้น เจ้าของเอาไว้ใกล้ตัว เพื่อจะหยิบฉวยใช้ฆ่าคนอื่น ที่มาอย่างประสงค์ร้ายได้ทันท่วงที แต่ความจริงในประวัติศาสตร์ มักจะเป็นว่า เจ้าของหอกกลับถูกคนที่ไว้ใจที่สุดฆ่าด้วยหอกนั้น อย่างนึกไม่ถึง …!!!

ในหนังสือเรื่อง “ชีวิตห้าแผ่นดินของข้าพเจ้า”
เขียนโดยพลโทประยูร ภมรมนตรี
…. มีข้อความตอนหนึ่งเขียนไว้ถึงพระดำรัสที่สมเด็จกรมพระนครสวรรค์มีรับสั่งกับตนในเช้าวันนั้นว่า …

“…แกคงจะรู้จัก โรเบสเปียร์ มารา และดันตอง เพื่อนร่วมน้ำสาบานฝรั่งเศสดีแน่ ในที่สุดมันผลัดกันเอากิโยตีนเฉือนคอกันทีละคน…!!!    จำไว้ ฉันสงสารแก ฉันเลี้ยงแกมาตั้งแต่เด็ก นี่แกเป็นกบฏ แม้จะรอดจากอาญาแผ่นดินไม่ถูกตัดหัว แต่แกจะต้องถูกพวกเดียวกันฆ่าตาย แกจำไว้… !!!  ”

ร้อยโทประยูร นี่ก็หอกอีกเล่มหนึ่ง เขาจึงมอบหมายให้มาคอยเฝ้าดูแลพระองค์ ได้กราบทูลตอบว่า

“ทราบเกล้าฯ แล้ว ตามประวัติศาสตร์มันต้องเป็นเช่นนั้น อย่างมากแค่ตาย”

แต่ผู้ก่อการสำคัญๆ ก็เลยปอด จึงพากันไปสาบานต่อหน้าพระแก้วมรกตว่า … ไม่ว่าจะเกิดเหตุใดขึ้นในอนาคต ก็จะไม่ฆ่ากันเอง …. ดังนั้น ชะตากรรมของแต่ละท่าน จึงแตกต่างกันไปจากประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส บางคนลำบากเหมือนตกนรกทั้งเป็น กว่าจะถึงแก่กรรม เช่น พลโทประยูรเอง ท่านก็ประสบอุบัติเหตุดับอนาถคาดไม่ถึงในยามชรา ….

ในตอนบ่ายวันนั้น…
พระยาพหลฯ , พระยาทรงฯ และพระยาฤทธิอัคเนย์ ขาดหอกข้างแคร่ไปหนึ่งเสือ ได้เข้าเฝ้าเพื่อกราบทูลว่า คณะราษฎรก่อการปฏิวัติครั้งนี้ มีความประสงค์เพียงขอพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินจากพระเจ้าอยู่หัวฯ และขอให้ สมเด็จกรมพระนครสวรรค์ ทรงให้ความร่วมมือช่วยคลี่คลายสถานการณ์อันสับสน ด้วยคณะราษฎร มีหนังสือกราบบังคมทูลไปทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯไปแล้ว แต่ยังมิได้พระราชทานคำตอบแต่ประการใด…

กรมพระนครสวรรค์ทรงเห็นแก่บ้านเมือง จึงได้ประทานลายพระหัตถ์ให้คณะราษฎร์ นำประกาศกระจายเสียงทางวิทยุ เพื่อขอให้ข้าราชการทหารตำรวจ และราษฎรอยู่ในความสงบ ทำให้เหตุการณ์ตึงเครียดค่อยๆคลี่คลายลง

เมื่อช่วงวิกฤตผ่านไปแล้ว
กลุ่มนายทหารผู้ก่อการฯ  ก็ปรึกษากันว่า จะจำคุกพระองค์ท่านตลอดชีวิต และริบทรัพย์สินทั้งหมด เรื่องนี้พระเจ้าอยู่หัวทรงขอร้อง ให้ผ่อนผันให้ลดโทษ ลงเป็นเนรเทศ และริบวังบางขุนพรหมเป็นของรัฐบาล ( ทั้งที่วังนี้สร้างด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ของสมเด็จพระราชบิดาแท้ๆ)  เขาว่ากลุ่มนายทหารหนุ่มจะไม่ยอม จนพระยาพหลฯ ต้องเจรจากันอยู่นาน …

ในวันที่ กรมพระนครสวรรค์
จะเสด็จออกจากเมืองไทย
พระธิดาของพระองค์ ทรงบันทึกไว้ว่า…

กรมพระนครสวรรค์ทรงมีลายพระหัตถ์มอบวังขุนพรหมให้คณะปฏิวัติว่า

“…เมื่อได้พลีแรงงาน กำลังกาย ทำการให้แก่ชาติโดยสุจริต และหวังดีเป็นเวลาช้านานเกือบถึง ๓๐ ปีแล้ว และเมื่อพ้นจากหน้าที่ ที่จะทำการให้แก่ชาติด้วยน้ำแรง ยังสละทรัพย์อันมีค่าสูงให้เป็นชาติพลีอีกชั้นหนึ่ง ดังนี้แล้ว หากว่า จะยังถูกขึ้นชื่ออยู่ว่าเป็นผู้เอาเปรียบชาติ และประชาชนไซร้ ก็เป็นอันสุดปัญญาของฉันที่จะทำให้เห็นใจได้…”

…ทูลกระหม่อม มีเวลาเตรียมพระองค์ไม่ถึง ๑๒ ชั่วโมง ไม่มีเวลาแม้แต่จะกราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินี ต้องทรงละทิ้งวัง และข้าราชบริพารร่วม ๔๐๐ ชีวิต ให้ดูแลตัวเอง ขบวนเสด็จจากวังบางขุนพรหมแห่ล้อมด้วยรถถังและรถหุ้มเกราะ สุดที่จะประมาณได้ เมื่อประทับบนรถไฟแล้ว ยังมีตำรวจในความควบคุมของพระนรากรบริรักษ์ อีกสองกองร้อยตามเสด็จ เพื่อควบคุมพระองค์ ทรงมีเงินส่วนพระองค์ติดไป ๙,๐๐๐ บาท ทรงทิ้งความทรงจำแห่งชีวิตราชการที่ทรงมีมากว่าครึ่งพระชนม์ชีพไว้เบื้องหลัง”

กรมพระนครสวรรค์ เสด็จออกจากชายแดนสยามทางทิศใต้ ไปถึงปีนังของอังกฤษ ทรงพำนักอยู่ที่นั่นชั่วระยะหนึ่ง แต่ทรงเห็นว่า ใกล้เมืองไทยเกินไป คนจะไปรบกวนท่านได้ง่าย จึงตกลงพระทัย ย้ายไปประทับ ที่เมืองบันดุง อินโดนีเซีย ซึ่งมีภูมิอากาศดี เหมือนทางเหนือของสยาม และค่าครองชีพก็ไม่แพงมาก ทรงสร้างตำหนักขึ้น แล้วประทับอยู่ที่นั่น…   จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อพระชนม์ ๖๓ พรรษา … มิได้มีโอกาสเสด็จกลับมาบ้านเกิดเมืองนอนอีกเลย …. 

กงเกวียนกำเกวียน

ผู้ก่อการคณะราษฎรหลายคน ไม่ว่าหนุ่มว่าแก่ ก็ต้องชะตากรรมเช่นเดียวกันนี้ คนที่ถูกรถเมล์ชนตาย อย่างอนาจอยู่ข้างถนน (ราชประสงค์) ก็กลายเป็นศพไม่มีญาติในห้องเก็บศพหลายวัน กว่าลูกหลานจะตามไปหาจนเจอ…

ทำไมคนกรุงเทพฯ
จึงยอมรับการปฏิวัติ ??

   ไม่ใช่เฉพาะอดีตนักเรียนนอกเท่านั้น ที่มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมสยาม ข้าราชการที่ต้องออกจากงานอันเนื่องมาจากรัฐขาดดุลงบประมาณ ตามภาวะเศรษฐกิจของโลก ก็พาลโทษรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ว่า บริหารบ้านเมืองไม่ดี ถ้าเป็นประชาธิปไตย ให้คนเก่งๆเข้ามาบริหารบ้านเมืองก็คงจะไม่เป็นเช่นนี้ ….

ความจริงนั้น   พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงตั้งพระทัยจะพระราชทานธรรมนูญการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ปี ๒๔๗๐ โดยมีพระราชดำริ ที่จะให้เตรียมตัวประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้พอสมควร ที่จะมีระบอบรัฐสภา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดให้มี สภาเทศบาล และองค์การบริหารท้องถิ่น เป็นการสอนให้ประชาชนรู้จักการปกครองตนเอง เพื่อปูพื้นฐานประชาธิปไตยในระดับฐานราก และทรงมอบหมายให้ นายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์  ที่ปรึกษาราชการกระทรวงการต่างประเทศ ร่างหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ โดยมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานแก่ราษฎรให้ทันวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นวันครบรอบมหาจักรี …

… ต่อมาเมื่อนายสตีเวนส์ และพระยาศรีวิสารวาจา ปลัดทูลฉลอง ได้ช่วยกันยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ และได้นำทูลเกล้าถวายต่อพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๔ กลับได้แนบบันทึกความเห็นของผู้ร่างประกอบไปด้วยว่า

ประชาสัมพันธ์

 


GQ กางเกงชิโน ผ้ายืด สีแดง ใส่สบาย น้ำหนักเบา สะท้อนน้ำ เหมาะกับอากาศร้อน สบายจริงๆ สบายจัดๆ
GQ กางเกงชิโน >> คลิ๊ก



 

 “ไม่เห็นด้วย  ที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญในขณะนั้น เพราะประชาชนยังไม่พร้อม พระราชบัญญัติเทศบาล ซึ่งร่างเสร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ แต่ก็มิได้มีผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด ที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภา และพระบรมวงศานุวงศ์ ก็ได้ร่วมกันคัดค้าน ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงผิดหวังที่ยังไม่สามารถพระราชทานรัฐธรรมนูญได้ ในโอกาสวันฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี เช่นเดียวกับปัญญาชนชาวสยามนับร้อยนับพัน ….”

กลิ่นอายของการปฏิวัติ
    หลังจากนั้น บุคคลชั้นสูงทุกคน ล้วนได้กลิ่นอายของการปฏิวัติ  บางส่วนจากพระนิพนธ์   “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” ของ  ม.จ. พูนพิสมัย ดิศกุล    เล่าว่า…  พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย ได้รับสารภาพกับท่าน หลังจากไปลี้ภัยอยู่ที่ปีนังแล้ว ความว่า

“ที่จริง ใครๆ ก็รู้กันดีทั้งนั้นแหละ ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่เขากำลังเบื่อ เขาก็พากันเมินๆ ทำไม่รู้เสีย”   … ท่านหญิงถามว่าเบื่ออะไร ? ท่านเจ้าคุณก็ตอบว่า ” ก็เบื่ออ้ายการปกครองอย่างที่เป็นอยู่น่ะซี”

ทรงเสริมด้วยว่า “เมืองไทยมีโรคหลายอย่างดังที่เล่ามา เหมือนคนที่เจ็บเป็นโรคเรื้อรัง ไม่มีทางรักษา เพราะแก้การศึกษาไม่ทันเสียแล้ว พอหมดกำลังลงก็พอดีเชื้อโรคลุกลามมาทุกทิศทุกทางดังแกล้งให้เกิดขึ้น …

      ทางฝ่ายพระราชวงศ์ ก็อ่อนแอลง เพราะการแข่งดีกันเอง โดยไม่ทำดีอะไรให้คนนับถือ ก็เลยเป็นเครื่องมือให้พวกก่อการยุยงคนให้เกลียดชังได้เร็ว และสะดวกยิ่งขึ้น  …. เสียงเกลียดเจ้า  ค่อยๆ  เริ่มขึ้น จนถึงแสดงกิริยาเปิดเผยขึ้นทุกที แล้วก็ลามขึ้นไปถึงพวกเสนาบดีกับอภิรัฐมนตรี มีเรื่องขุ่นเคืองกันแทบจะทุกประชุม เมื่อเถียงทะเลาะกันแล้วก็นำเอาออกมาเล่า ด้วยเห็นว่าตัวเป็นฝ่ายถูก เรื่องเหล่านั้นก็กึกก้องต่อเติมกันยิ่งขึ้นทุกที …

ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน
บทความ/เรียบเรียง  โดย : ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน


Cultures of Fermented 
by Scoby Doit
Previous ArticleNext Article