“เกล็ดประวัติศาสตร์อันสำคัญในยุคที่สยามเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยฝีมือคณะราษฎรในเครื่องแบบทหาร ได้กระทำการปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ”
มีผู้รู้น้อยมาก ว่าเบื้องหลังความสำเร็จของการยึดอำนาจโดยปราศจากการเสียเลือดเนื้อ นั้น มาจากการวางแผนอันชาญฉลาดของเสนาธิการใหญ่ ผู้มีนามว่า พันเอก พระยาทรงสุรเดช แต่หลังจากกระทำการใหญ่สำเร็จแล้ว ท่านกลับไม่มีปัญญา นำรัฐนาวาไปสู่ ประชาธิปไตยตามที่คาดฝันไว้ได้ …. ซ้ำร้าย ตนเองยังต้องประสบพบชะตากรรม จากน้ำมือผู้ร่วมก่อการด้วยกันเอง จนต้องหนีตาย ไปทรมานทรกรรมอยู่ต่างแดน กว่าจะกลับมาเมืองไทยได้ ก็เหลือแค่อัฐิ ….!!!
ผมมีหนังสือเก่าแก่อยู่เล่มหนึ่ง เป็นบันทึกเชิงสารคดี เขียนโดย ร้อยเอกสำรวจ กาญจนสิทธิ์ นายทหารคนสนิทร่วมเป็นร่วมตายของท่าน จะสกัดเอาที่เป็นเนื้อๆ ในนั้นมาปรุงแต่ง กับข้อมูลที่ได้จากหนังสือที่ท่านอื่นๆ ได้เขียนไว้ รวมทั้งบทความที่พบใน อินเทอเน็ต จำนวนมาก นำมาเสิร์ฟ ผสมผสานแบบสลัดจานเด็ด ให้ท่านผู้อ่านที่ติดตามเรื่องราวของประวัติศาสตร์มีชีวิตในสกุลไทย หากชอบเรื่องแนวนี้คงได้อ่านจุใจยิ่งกว่ามหากาพย์ชื่อเดียวกันที่ผมเคยนำเสนอในเว็บ เรือนไทย.com ไว้ ซึ่งตรวจสอบ ณ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๙ มีผู้อ่านคลิ๊กเข้าไปอ่านแล้วรวมถึง ๒๐๘,๔๒๓ ครั้ง ….
สมัยรัชกาลที่ ๔
เมื่อสยาม ตัดสินใจเปิดประตูรับมิตรไมตรี ที่มากับเรือรบของประเทศมหาอำนาจ เพื่อรักษาตัวให้รอดจากการ “หาเรื่อง” เอาไปเป็นเมืองขึ้น นโยบายเท่าทันตะวันตกอย่างหนึ่ง ที่ได้รีบกระทำก็คือ …. “คัดเลือกนักเรียนไทยเก่งๆส่งไปเรียนในยุโรป”
เพื่อไปรับความศิวิไลซ์มาพัฒนาประเทศ นโยบายนี้ถูกสืบทอดต่อมาอย่างแข็งขัน ในรัชกาลที่ ๕ และ ๖ …. เทพ พันธุมเสน ก็เป็นหนึ่งในยุวชนที่โชคดีเหล่านั้น…
เทพ พันธุมเสน คือใคร ?
เทพ พันธุมเสน คือบุตรของ ร้อยโท ไท้ นายทหารกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ เป็นคนฉลาดเฉลียว เรียนหนังสือเก่ง เมื่อจบโรงเรียนนายร้อยทหารบก แล้วสอบได้ทุนหลวง ไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมัน เข้าโรงเรียนนายร้อยไกเซอร์ จนผ่านหลักสูตร ๒ ปี ได้ติดยศเป็นฟาฮ์นริช (Fahnrich ตรงกับระดับชั้นนายสิบ) แต่จัดว่าเป็น “นักเรียนทำการนายร้อย” มีสิทธิพิเศษ แตกต่างจากนายสิบชั้นประทวนทั่วไป จากนั้นได้เข้าเรียนต่อวิชาทหารช่าง ทั้งฝึกทั้งเรียนหนักอีกสองปี จึงได้สอบเลื่อนชั้นขึ้นเป็น “เดเก้น-ฟาฮ์นริช” (degen แปลว่า กระบี่) คือ มีสิทธิห้อยกระบี่ และเครื่องแบบนายทหารสัญญาบัตร เว้นแต่ …ยังคงใช้อินทรธนูนายสิบ ชั้นยศนี้คงจะเทียบเท่า “ว่าที่ร้อยตรี” รอกระทั่งจักรพรรดิ์ไกเซอร์ วิลเฮล์มองค์จอมทัพจะพระราชทานสัญญาบัตรให้จากพระหัตถ์ ในทุกๆวันเฉลิมพระชนม์พรรษา ๒๗ มกราคม และจะได้รับพระราชทานพระฉายาลักษณ์ ที่ทรงลงพระปรมาภิไธยเองทุกพระรูป หลังจากนั้นแล้ว จึงจะสามารถเปลี่ยนไปใช้อินทรธนู “นายร้อยตรี” (Oberleutnant) ได้โดยสมบูรณ์ ….
ร้อยตรี เทพ พันธุมเสน ได้เข้าประจำการในกองทัพเยอรมัน ที่กองทหารเมืองมักเคเบอร์ก ก่อนที่จะเดินทางกลับสยาม เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ แล้วเข้ารายงานตัว เพื่อรับราชการในกองทัพบกต่อ จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๑ จึงได้รับพระราชทานยศเป็น ร้อยเอกหลวงรณรงค์สงคราม แล้วย้ายไปเป็นผู้บังคับการทหารช่างรถไฟ กองพันที่ ๒ กรมทหารบกที่ ๓ ภายใต้บังคับบัญชาของ กรมพระกำแพงเพชร ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ตรงนี้ ท่านได้แสดงฝีมือสมกับ ได้เรียนจบวิชาวิศวกรรมมาจากเยอรมัน มีผลงานสำคัญคือ ได้ก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือ จากถ้ำขุนตาน ถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่ ทางรถไฟสายตะวันออก จากแปดริ้ว ถึงสถานีรถไฟอรัญประเทศ และทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงถึงนครราชสีมา …
สุดท้าย ก่อนที่จะมีบทบาทยิ่งใหญ่นั้น ได้รับพระราชทานยศ นายพันเอก และบรรดาศักดิ์ เป็น “พระยาทรงสุรเดช” ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร โรงเรียนนายร้อยทหารบก ….
…..
….. ย้อนกลับไป คราวที่พระองค์เจ้าปฤษฏางค์ และคณะข้าราชการสถานทูตในยุโรป ได้ร่วมกันถวายหนังสือ แสดงความเห็น ในการที่สยามควรต้องมีธรรมนูญการปกครองต่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ จึงทำให้เกิดแนวพระราชดำริ ในการปฏิรูประบบราชการ โดยทรงกระทำเป็นพระราชบันทึก เก็บอยู่เป็นหลักฐาน ที่กรมราชเลขาธิการ เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เสด็จกลับมาจากยุโรปแล้ว ทรงโปรดเกล้า ให้เรียนรู้ราชการในกรมราชเลขาธิการก่อน เพื่อให้องค์รัชทายาท ได้ทรงศึกษาแนวพระราชดำริดังกล่าว เพื่อนำพระบรมราโชบายไปสานต่อ การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น คือ การดึงอำนาจออกจากกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค มาสู่มือพวกเจ้านาย นั่นก็คงพอเข้าใจได้ว่า พระเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงมองเห็นผู้ใด จะไว้พระทัยได้ นอกจากกลุ่มเจ้านายผู้ทรงได้รับการศึกษาอย่างดีเลิศในสยาม….
…. ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ บรรดานักเรียนนอก ซึ่งได้ทยอยกันกลับมาแล้ว ตั้งแต่กลางรัชกาลที่ ๕ ได้ทำให้คนสามัญ ที่มีความรู้ ความสามารถเข้าแทนที่ในการบริหารบ้านเมือง เจ้านายถูกลดบทบาทลงเรื่อยๆ จนเกือบหมดในปลายรัชกาลที่ ๖ องค์ที่คงอยู่ในราชการ ก็ต้องเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาเสนาบดี ผู้เป็นสามัญชน เช่น เสด็จในกรมกำแพงเพชร ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ที่ทรงอยู่ใต้บังคับบัญชาเจ้าพระยาวงศานุประพัทธ เสนาบดีกระทรวงคมนาคม เป็นต้น …
ครั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯเสด็จสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มิได้ทรงเตรียมพระองค์ จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินมาก่อน เพิ่งจะเริ่มเรียนรู้ราชการแผ่นดิน จึงทรงจำเป็น ต้องให้เจ้านายอาวุโส ที่ออกจากราชการไปแล้ว กลับเข้ามาเป็นคณะอภิรัฐมนตรี พอดีกับที่บ้านเมือง กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต เศรษฐกิจโลกล้มละลาย หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ กระทบมาถึงสยาม ความจำเป็นที่จะต้องลดค่าใช้จ่ายของแผ่นดิน ทำให้เสนาบดีสามัญชน ๗ ใน ๑๐ คน ต้องออกจากราชการ สลับให้เจ้านายกลับขึ้นมาเป็นแทน เพราะพวกท่านทั้งหลาย จะให้อยู่โดยไม่มีเบี้ยหวัดไม่ได้ ไหนๆจะต้องพระราชทานเงินเดือนอยู่แล้ว ก็ให้ทำงานเสียเลย …
ความผิดหวังที่ชาติถอยหลังเข้าคลองตรงนี้ พวกนักเรียนนอก ที่มักจะมีแนวความคิดอยากให้สยามเป็นประชาธิปไตย กันอยู่แล้ว ก็เสมือนได้รับแรงกระตุ้นพิเศษ ตัวพระยาทรงฯ เอง เห็นว่า เจ้านายหลายองค์ ได้แสดงความประพฤติไม่เหมาะสม จนเป็นที่ดูแคลนของคนทั่วไป แต่ก็ยังชอบ ที่จะให้ราษฎรหมอบราบกราบกราน อยู่ในที่สาธารณะ เจ้านายเหล่านี้ ได้รับอภิสิทธิ โดยไม่คำนึงถึงความสามารถ สามัญชนหมดโอกาส ที่จะทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง สมกับความรู้ที่ได้ไปเล่าเรียนมาได้ ….
ส่วนพวกที่ยังคงอยู่ได้นั้น ในบันทึกของพระยาทรงสุรเดชเขียนว่า
” พวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แทบทั้งหมด มุ่งแต่เพียงทำตัวให้โปรดปรานไว้เนื้อเชื่อใจ จากพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ว่าด้วยวิธีใด ตลอดทั้งวิธีที่ต้องสละเกียรติยศด้วย…”
วิธีหลังนี้ พระยาทรงฯ ท่านได้พิสูจน์ตนเอง จนถึงที่สุดแห่งชีวิตว่า คนอย่างท่าน ยอมหักไม่ยอมงอ ไม่ลงให้กับผู้มีอำนาจ แม้ตนเองจะถึงกาลวิบัติก็ให้เป็นไป ….
เมื่อมีความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้อยู่ เพื่อนรุ่นน้อง ที่อายุห่างกันมาก แต่มีความสนิทสนมตั้งแต่เด็ก คือ ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี จึงสามารถเชื่อมโยง ให้ไปร่วมกันคิดอ่าน กับกลุ่มนักเรียนนอกฝรั่งเศส ซึ่งคนสำคัญ ในกลุ่มนั้นคือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) และนายพันตรีหลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตะสังคะ)
นายปรีดี สมัยเป็นนักเรียนทุนหลวง ไปศึกษาวิชากฏหมายอยู่ประเทศฝรั่งเศส ได้มีเรื่องคับแค้นส่วนตัวอยู่กับพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร เจ้านายองค์นี้ ท่านเป็นคนฉุนเฉียว เพราะการที่ทรงโดนย้ายไปเป็นทูตนั้น เป็นการลงโทษกลายๆ จากเรื่องใหญ่ที่ทรงก่อไว้ที่กระทรวงยุติธรรม ….. เวลาคนไทยไปสถานทูตในปารีสก็ไม่ค่อยจะทรงต้อนรับ. นักเรียนไทย จึงมักจะมีปัญหาเวลาไปเบิกเงินเบี้ยเลี้ยงจากสถานทูต ประกอบกับ ท่านทูตวางองค์ เป็นเจ้านาย จนเกินงาม เลยทำให้คนหนุ่ม ที่ได้รับความคิดเสรีนิยมแบบฝรั่งเศส พากันไม่พอใจพวกเจ้า แล้วเลยลามมาถึงความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบที่แบ่งแยกชนชั้นเช่นนี้ ถึงกับสัญญาจะร่วมมือกันกระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามให้เป็นประชาธิปไตยให้ได้โดยเร็ว ไม่รอให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯพระราชทานรัฐธรรมนูญลงมาเองตามที่ทรงแสดงพระราชประสงค์ไว้ เพราะไม่ทราบว่า วันนั้นจะเป็นเมื่อไร และเนื้อหาจะเป็นอย่างไร พวกนี้หลายคนเลยเถิด ไปชื่นชอบแนวทางแบบสาธารณรัฐที่ฝรั่งเศสเป็นต้นแบบก็มี ….
สี่ทหารเสือ กับหนึ่งทหารแปลก
พระยาทรงฯ เป็นนักเรียนนายร้อยเยอรมันรุ่นเดียวกับพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และเป็นรุ่นพี่ของพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ์ (วัน ชูถิ่น) จึงชักชวนนายทหารทั้งสองมาเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์
หลังจากนั้นได้ดึงพันเอก พระยาฤทธิ์อัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในพระนครอันสำคัญมาร่วมด้วย ทั้งสี่คนนี้ ได้รับฉายาว่า “สี่ทหารเสือ” แห่งคณะราษฎร ซึ่งมีพระยาพหลผู้อาวุโสที่สุด ได้รับการเลือกจากผู้ร่วมก่อการทุกสายให้เป็นหัวหน้าคณะ ส่วนพระยาทรงเป็นหัวหน้าเสนาธิการผู้วางแผนการยึดอำนาจในครั้งนี้ …
สรศัลย์ แพ่งสภา ผู้ล่วงลับได้เขียนเรื่องราวตอนนี้ไว้ในหนังสือ “นักเรียนนายร้อยไทยในเยอรมัน ยุคไกเซอร์” ทำให้คนรุ่นหลัง สามารถแกะร่องรอยที่มาที่ไปในอดีตได้ว่า พระยาทรงท่านได้เพาะศัตรูไว้กับผู้ใด ?
“พ.อ. พระยาทรงสุรเดช ที่ยอมรับกันว่า ปราดเปรื่องเฉียบคม เป็นมันสมองของคณะราษฎร เป็นบุคคลที่หัวหน้าสายทหารกลุ่มหนุ่ม ไม่ใคร่ชอบ แต่ยังแซงขึ้นมาไม่ได้ด้วยอาวุโส และบารมี พระยาทรง ถือตัวว่าอาวุโส เป็นครูบาอาจารย์ ชอบใช้วิธีอธิบายเชิงสอน และออกจะพูดแรง ตรงไปตรงมาสั้นๆ อย่างเรื่องแผน และวิธีปฏิบัติ สำหรับวันที่ ๒๔ มิถุนายน พระยาทรงถามในที่ประชุมว่า…
“ถ้าราษฎรรวมตัวเข้าต่อสู้ขัดขวาง ด้วยความจงรักภักดีในราชบัลลังก์ คณะราษฎรจะทำอย่างไร ?
นายทหารหนุ่มเหล่าปืนใหญ่ท่านหนึ่งตอบว่า “ยิง” ตามแบบคนหนุ่มไฟแรงใจร้อน …. !!!
พระยาทรงสุรเดชสวนทันควัน…
“ยังงี้บรรลัยหมด ! กำลังเรามีเท่าไหร่ ? กำลังราษฎรกับทหารหน่วยอื่นเท่าไหร่ ? ….ทำไม ไม่เตรียมวิธีการประนีประนอมปลอบให้เข้าใจจุดมุ่งหมายของคณะราษฎร”
พระยาทรงฯ มีจุดอ่อนจุดแข็งอยู่ที่ … เคยเป็นครูบาอาจารย์มานาน ก็เลยเป็นครู อยู่ตลอดเวลา พูดจาโผงผา ง ครูสอนศิษย์ พูดจาทุบแตก และทุบโต๊ะ วันดีคืนดี ใครตอบไม่ถูกเรื่อง อาจจะได้รับคำชมว่า “โง่” ก่อนที่ท่านจะอธิบายถูกผิด เป็นไปได้ เป็นไปไม่ได้ ในปัญหายุทธการ …. ใครที่โดนตอกหน้าแตกหน้าชามา ก็สุมความแค้นไว้เงียบๆ ….
และนี่เอง คงเป็นเหตุหนึ่งที่คณะราษฎรรุ่นหนุ่ม ถือเป็นเรื่องขื่นๆ อยู่ ….
….. ข้ามาจากฝรั่งเศส หนึ่งในตองอู เหมือนกัน อำนาจยศศักดิ์ มันไม่เข้าใครออกใคร หากมักใหญ่ใฝ่สูง จะเป็นใหญ่ ในแผ่นดินก็ต้องกำจัด “สี่เสือ” หัวหน้าคณะราษฎรชั้นอาวุโส ลงเสียก่อน !! และก็พันเอก พระยาทรงสุรเดช นี่แหละ เป็นบุคคลแรก ที่ต้องกำจัดออกไปโดยเร็ว เพราะฉลาดเกินไป ตรงเกินไป ซื่อเกินไป รู้ทันเกินไป …. ผู้ใต้บังคับบัญชาลูกศิษย์ลูกหา รักใคร่เกินไป พันเอกพระยาทรงสุรเดช ไม่รู้ตัวเลยว่า มีศัตรูในพวกเดียวกัน ที่จ้องจะเชือด” ….
ถึงท่านจะไม่ระบุชื่อ แต่คนที่สนใจประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ก็ทราบได้โดยไม่ยากว่า นายทหารหนุ่มดังกล่าวคือ นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม นักเรียนเก่าโรงเรียนนายร้อยทหารปืนใหญ่ จากฝรั่งเศสคนสำคัญนั่นเอง !!!
“การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นเรื่องของยุทธวิธี ไม่ใช่ยุทธศาสตร์”
สำหรับการวางแผนยึดอำนาจ พระยาทรงฯ แสดงความเป็นทหารอัจฉริยะอย่างเต็มที่ ท่านกล่าวว่า “การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นเรื่องของยุทธวิธี ไม่ใช่ยุทธศาสตร์” เพราะเป็นการปฏิวัติ ที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ตื่นตัว ต้องการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง แต่การจะหวังใช้กำลังพลจำนวนมากนั้น ก็จะไม่ได้เรื่องแน่ เนื่องจาก ความลับจะรั่วไหล แล้วกลายเป็นกบฏ แผนยุทธวิธีที่พระยาทรงวางไว้นั้น ยอดเยี่ยมมาก
คณะปฏิวัติ ใช้กำลังทหารเพียงหยิบมือเดียว สามารถยึดประเทศจากกลุ่มอำนาจเก่า ที่สืบทอดกันมาถึง ๑๕๐ ปี ได้จากปฏิบัติการเพียงไม่ถึงครึ่งวัน แล้วสำเร็จแบบเรียบร้อยไม่มีสูญเสียเลือดเนื้อ ….
คณะผู้ก่อการ ได้ประชุมกันเพียง ๒ ครั้ง
..ครั้งแรก ที่บ้านพักของพระยาทรงฯ เอง เพียงไม่กี่เดือนก่อนลงมือ และครั้งที่ ๒ ที่บ้านพักของร้อยโทประยูร ภมรมนตรี ครั้งนั้น พระยาทรงสุรเดช เสนอแผนการทั้งหมด ๓ แผนให้ที่ประชุมเลือก คือ
- แผนที่ ๑ ให้นัดประชุมบรรดานายทหาร ที่กรมเสนาธิการ หรือที่กรมยุทธศึกษา หรือที่ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อประกาศว่า จะเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ผู้ใดไม่เห็นด้วย ก็จะเข้าควบคุมตัวไว้ ในระหว่างนั้น คณะผู้ก่อการฝ่ายทหารเรือ และพลเรือนแยกย้ายกันไปคุมตัวเจ้านาย และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มากักตัวไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคม หรือบนเรือรบ ….
- แผนที่ ๒ ให้จัดส่งหน่วยต่างๆ ไปคุมตามวังเจ้านาย และข้าราชการคนสำคัญ ในขณะเดียวกันให้จัดหน่วยออกทำการตัดการสื่อสารติดต่อ เช่น โทรเลข โทรศัพท์ และให้จัดการรวบรวมกำลังทหารไปชุมนุม ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยวิธีออกคำสั่งลวงในตอนเช้าตรู่ แล้วประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อหน้าทหารเหล่านั้น และจัดนายทหารฝ่ายก่อการเข้าควบคุมบังคับบัญชาทหารเหล่านั้นแทนผู้บังคับบัญชาคนเดิม ซึ่งทหารก็คงจะฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาคนใหม่ต่อไป
- แผนที่ ๓ ให้หน่วยทหารหนึ่งจู่โจมเข้าไปในวังบางขุนพรหม และเข้าจับกุมพระองค์ จอมพล สมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิต มาประทับที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อเป็นประกันในความปลอดภัยของคณะราษฎร และให้ดำเนินการอย่างอื่น ๆ ตามที่กล่าวแล้วในแผนที่ ๒
แผนที่ ๑ เป็นทางเลือกที่พระยาทรงเสนอมาให้ดูเว่อร์ๆเข้าไว้ เพื่อดักทางให้ที่ประชุม เห็นชอบกับแผนที่ ๒ ควบกับแผนที่ ๓ และให้ลงมือในช่วงที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับที่หัวหิน เพื่อทอดพระเนตรการทดลองยิงปืนกลหนักสั่งมาจากเชกโกสโลวาเกียใหม่เอี่ยม ๔ กระบอก ด้วยกระสุนจริง ที่ริมหาดทรายหน้าพระราชวังไกลกังวล ซึ่งจะมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ แม่ทัพ นายกองไปร่วมชมด้วยเป็นส่วนมาก กำหนดวันลงมือกระทำการในวันที่ ๒๔ มิถุนายน โดยที่ประชุมยังไม่รู้ว่า ผู้ก่อการคนใดจะนำทหารที่ไหนออกมาใช้ยึดอำนาจและจะทำได้อย่างไร เพราะพระยาทรงยังบอกว่าเป็นความลับ …..
แผนการณ์สุดยอด ของพระยาทรง ในวันคอขาดบาดตาย ที่อุบไว้นั้นก็คือ…
“การปล่อยข่าวลับลวงพราง ล่อหลอกให้นายทหารแต่ละกรมกองนำกำลังพลออกมาชุมนุมร่วมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าโดยไม่ทราบล่วงหน้าว่า จะมีเข้าร่วมในการแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองกับเขาด้วย”
ก่อนหน้าเพียงหนึ่งวัน
พระยาทรงสุรเดช .. ในฐานะเป็นอาจารย์ใหญ่ ฝ่ายวิชาทหาร ของโรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้ไปพบกับ พันโทพระเหี้ยมใจหาญ ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย เพื่อขอให้นำนักเรียนนายร้อยทั้งหมด พร้อมอาวุธปืนบรรจุกระสุน ไปที่ลานหน้าพระบรมรูปทรงม้า ในตอนเช้าตรู่วันที่ ๒๔ มิถุนายน เพื่อฝึกยุทธวิธีทหารราบต่อสู้รถถัง…. โดยจะใช้นักเรียนนายร้อย ทำหน้าที่ทหารราบ และนำรถถังจากกรมทหารม้า มาใช้ในการฝึก
… ต่อจากนั้น ก็ได้ไปพบผู้บังคับกองพันทหารราบที่รู้จักอีกสองคน เพื่อขอร้องให้นำทหารไปฝึกหน้าลานพระบรมรูปทรงม้าเวลาหกโมงเช้า แล้วเลยไปพบ ร้อยเอก หลวงวรณสฤช ผู้บังคับการกองพันทหารช่าง ที่บางซื่อ คนนี้ เป็นผู้ใต้บังคับบัญชารักใคร่กันมาก่อน จึงตกลงจะนำทหารมารอที่สนามในเวลาหกโมงเช้า เพื่อจะนำไปฝึกต่อสู้กับรถถังเช่นกัน ….
เสร็จตรงนี้แล้ว พระยาทรงก็กลับไปนอนรอเวลาอยู่ที่บ้าน…
บทความ |เรียบเรียง
โดย : ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน
โปรดติดตามตอนต่อไป :
ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช
หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
- ตอนที่ ๑ : มนุษย์ในนามเทพ
- ตอนที่ ๒ : หอกข้างแคร่
- ตอนที่ ๓ : เสือหลายตัวในถ้ำเดียว
- ตอนที่ ๔ : นารวม และสภาคาวบอย
- ตอนที่ ๕ : ปฎิวัติรัฐบาล (ตัวเอง)