ในหนังสือ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” ของ ม.จ. พูนพิสมัย ดิศกุลได้เล่าถึงความขัดแย้งระหว่างเจ้านาย ในเรื่องเลื่อนยศนายทหาร ซึ่งจะทำให้เงินเดือนต้องปรับขึ้นไปโดยปริยาย … สวนทางกับนโยบายในตอนนั้นที่รัฐต้องการตัดทอนงบประมาณลงให้มากที่สุด เพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของชาติ จึงไม่มีการอนุมัติให้กระทรวงกลาโหม ..
แม้จะไม่ปรากฏพระนามของผู้ใดในหนังสือ เพราะถูกบรรณาธิการลบออก แต่ก็มีหลักฐานจากที่อื่นๆระบุว่า พระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร ซึ่งทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในตอนต้นรัชกาลที่ ๗ คือ ผู้ที่ได้ทรงเสนอให้ขึ้นเงินเดือนทหารในที่ประชุมเสนาบดีสภา แล้วเกิดการโต้เถียงกันดุเดือดระหว่างท่านกับกรมพระกำแพงเพชร อัครโยธิน ขนาดองค์หลังมีรับสั่งว่า จะส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเมืองหงสาวดี เพื่อแดกดันองค์แรก ซึ่งมีเชื้อสายมอญ ทางบรรพบุรุษเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ทำให้พระองค์บวรเดชทรงกริ้ว แล้วลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกลาโหม !!!!
มีข่าวลือกันในกองทัพว่า ท่านได้พยายามต่อสู้เพื่อทหารแล้ว แต่ไม่ชนะพวกเจ้านายแก่ๆ ที่กลับมาเป็นเสนาบดี …
เมื่อเห็นว่าเป็นอย่างนี้ นายทหารใหญ่ส่วนหนึ่ง ก็คิดว่าเปลี่ยนระบอบมันซะเลยจะดีกว่า แต่จะทำอย่างไรนั้น ผมขอเอาบางตอนจาก “นักเรียนนายร้อยไทยในเยอรมันยุคไกเซอร์” ของ สรศัลย์ แพ่งสภา มาให้อ่านต่อ …
“…..มีปัญหาว่า ทำอย่างไร จึงจะยึดกรุงเทพได้โดยปราศจากการเสียเลือดเนื้อ พูดง่ายๆ ก็คือ คณะราษฎรต้องพยายามหลีกเลี่ยง การต่อสู้ทุกวิธีทาง เพราะรู้ตัวดีว่า จะไม่มีทางต้านพลังความจงรักภักดีในพระมหากษัตริย์ของประชาชนทุกหมู่เหล่าได้ …
เอาไงดี ? ตอนนั้นอยู่ในช่วงที่ว่า “เอาแน่” แต่จะด้วยวิธีใดและเมื่อไหร่ ? ยังตั้งเป้าหมายวันเวลาไม่ได้ …. ปีนึง สองปี หรือ สามปี เมื่อไหร่ ? ไม่มีใครตัดสินใจ ? วันหนึ่งพระยาพหลฯ มีโอกาสเฝ้า พลเอกพระองค์เจ้าบวรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ซึ่งกราบบังคมลาออกจากราชการ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๓ ก็ “เปรยทูลเชิง ตลกไร้แก่นสาร” ว่า
“กรุงเทพนี่ถ้าจะยึดให้ได้ง่ายๆ เงียบๆ จะทำอย่างไรดี ? ” พระองค์เจ้าบวรเดช รับสั่งตอบทันควันเหมือนทรงรู้อะไรดีอยู่แล้ว และรับสั่งต่อว่า….
“ยึดกรุงเทพได้แล้วเราจะทำอะไรต่อไป จะให้อะไรที่ดีขึ้นแก่ราษฎร และพรรคพวกของเราจะรักษาสัจจะได้แค่ไหน หัวใจมันอยู่ตรงนี้..”
หนังสือ “คำพิพากษาศาลพิเศษ ๒๔๘๒”
ซึ่งจัดทำโดย ฝ่ายของหลวงพิบูลสงคราม กล่าวผิดกันหน่อยหนึ่งว่า พระองค์เจ้าบวรเดช ทรงเรียกพระยาพหล และพระยาศรีสิทธิสงครามไปคุยเรื่องการปกครองของประเทศว่ามีความคิดเห็นอย่างไร ? พระยาพหลตอบว่า ชอบแบบพระเจ้าแผ่นดินอยู่ใต้กฎหมาย แบบรีปัปลิกไม่ชอบ พระองค์เจ้าบวรเดช บอกว่าถ้าเปลี่ยนแปลงแล้ว จะให้พระองค์เป็นเสนาบดี ก็จะไม่ยอมรับ เพราะทำอะไรไม่สำเร็จ ต้องให้เป็นอัครมหาเสนาบดี จึงจะมีอำนาจทำอะไรได้เต็มที่….
แล้วตรัสว่า พระเจ้าอยู่หัวอยากจะพระราชทานรัฐธรรมนูญเหมือนกัน แต่อภิรัฐมนตรีคัดค้านไว้ ทำอย่างไรจะให้พระองค์พระราชทานได้ … ? พระยาพหลทูลว่า “ก็ต้องจับองค์อภิรัฐมนตรีมาขังเสีย” ยึดอำนาจการปกครองแล้ว ก็ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญต่อไปได้ แต่พระองค์เจ้าบวรเดช ไม่ทรงเห็นด้วยที่จะทำอะไรรุนแรง หลังจากนั้นพระองค์จึงไม่ได้มีส่วนร่วมคิดร่วมทำใดๆ อีก…
คือ ระบอบการเมือง มันเหมือนแฟชั่น โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ทุกคนเห็นว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชนั้น ล้าสมัยเต็มที แม้เจ้านายเอง แทบทุกพระองค์ ก็มีความคิดเช่นนั้น ที่ช้าอยู่ ก็เพราะแก้ปัญหาใหญ่แบบไทยๆไม่ตก คือเมื่อเปลี่ยนระบอบแล้ว จะมีคนจำนวนไม่น้อยส่วนหนึ่ง ปรับตัวไม่ได้ หรือต่อต้านไม่ยอมปรับ แล้วจะเอาคนที่ว่านี้ไปไว้ไหน ? ในประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เขาเอาคนเหล่านี้ ไปเข้าค่ายสัมมนาล้างสมอง อบรมไป ทำงานแบบกรรมกรทาสไป … หากตายลงก็เอาไปฝังทำปุ๋ย ….
การปฏิวัติตามความหมายแท้จริงของมัน จึงจะสำเร็จ แต่สำเร็จแล้วบ้านเมืองดีขึ้นหรือแย่ลงเป็นอีกประเด็นนึง …
พระเจ้าอยู่หัวฯ ท่านทรงหวังให้เปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังเช่น การเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ห้า ที่สำเร็จอย่างนุ่มนวล ปราศจากการขัดแย้งนองเลือด เรื่องการเปลี่ยนระบอบของไทย ไปเป็นประชาธิปไตยนั้น คนระดับชั้นปกครองของประเทศ ทราบดีอยู่ว่า ยังไงๆ ก็เปลี่ยนแน่ จะเมื่อไหร่เท่านั้น ?
ดังนั้น การที่พระองค์บวรเดช จะทรงหลุดๆ ในเรื่องปฏิวัติบ้าง เจ้านายท่านจึงไม่อยากจะถือ ทรงทราบๆ กันดีว่า ท่านกำลังทรง “อกหัก” เรื่องการงาน ส่วนพวกผู้ก่อการฯ เขาก็ไม่เอาด้วย เหตุด้วย ความเป็นเจ้าอย่างพระองค์บวรเดช ที่เป็นจุดอ่อน ด้วยนิสัยความเป็นเจ้าคนนายคน ( เจ้ายศเจ้าอย่าง :admin ) ของท่านเอง …
ท่านสรศัลย์ เขียนเล่าเหตุการณ์ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในเช้าวันเดียวกันนั้นว่า
“มี …..พลเอกท่านหนึ่งที่คณะราษฎรไม่เอ่ยถึง ทั้งๆ ที่เคยเป็นถึงเสนาดีกระทรวงกลาโหม แต่ไม่มีการจับมาเป็นตัวประกัน ?? ท่านมาถึงลานพระบรมรูปทรงม้า ในชุดกีฬาสมัยนั้น คือ เสื้อเชิ้ตแขนยาว กางเกงขาสั้น หมวกกะโล่ สวมถุงน่อง รองเท้า คาบกล้องยาเส้น เข้ามาพบนายทหารรักษาการณ์ ขอพบหัวหน้าคณะราษฎร และท่านก็ได้พบเจ้าคุณพหลฯ ท่านผู้นั้นก็คือ พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ที่ประทานแผนจับตัวประกันให้เจ้าคุณพหลฯ” แต่เมื่อไม่มีใครให้ความสนใจท่าน สักครู่ก็ทรงจากไป …..
สรุปว่า ใคร ? เป็นผู้ให้ความคิด
เรื่องจับเจ้านายมาเป็นประกัน ?
ยังขัดแย้งกันอยู่ แต่เรื่องนี้ รัฐบาลจะเขียนว่า คณะราษฎร รับความคิดของพระองค์เจ้าบวรเดช มาปฏิบัติได้อย่างไร เสียเหลี่ยมลูกกำนันแย่ !!
ดังนั้น เมื่อเกิดการปฏิวัติขึ้น พระเจ้าอยู่หัว จึงไม่ทรงมีพระราชประสงค์ ที่จะต่อต้าน ทั้งๆ ที่ทหารหัวเมือง ทั้งหลายเตรียมพร้อม รอฟังแต่พระราชกระแสรับสั่งจากจอมทัพเท่านั้น ….
*ผมขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ตรงนี้ หากพระเจ้าอยู่หัวทรงคิดว่า “แพ้ไม่ได้” เหมือนบางคน ที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประเทศชาติแล้ว แน่นอนว่าคนไทย คงได้ปะทะกันเลือดนองแผ่นดิน ประชาชนทั้งหลายจะพลอยรับเคราะห์บาดเจ็บล้มตาย ทรัพย์สินวินาศสันตะโร ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกยุคทุกสมัย รวมถึงที่ผ่านไปไม่กี่ปีมานี้ด้วย …
เสือหลายตัวในถ้ำเดียว
เป็นความจริงที่ว่า การปฏิวัติยึดอำนาจนั้นไม่ยาก …ที่ยากคือ จะทำอย่างไรจะให้บรรลุอุดมการณ์ของการปฏิวัติได้ …
ใช่ครับ… อุดมการณ์ มีองค์ประกอบด้วยกิเลศของมนุษย์ ตั้งแต่ตัวละเอียด เช่น ฉันอยากให้มันดี อย่างนั้นอย่างนี้ ตัวกลางๆ ก็เช่น ฉันเก่ง ฉันดีกว่าแก ฉันเหมาะสมกว่าใครๆ ไปจนถึง ตัวหยาบๆ เช่น ฉันอยากเด่น อยากรวย อยากมีอำนาจ อย่างมีอนุสาวรีย์ติดอยู่ในโลก
และกิเลสมนุษย์ในกลุ่มนักการเมืองนี่แหละครับ ที่เป็นตัวบั่นทอนความสงบสุขของมนุษยชาติ !!!
“ลอบประชุม”
เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ ได้เพียงเดือนเดียว พระยาทรงสุรเดช ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการ ( จะเป็นรอง ก็เฉพาะพระยาพหลฯ ซึ่งเป็นตัวผู้บัญชาการคนเดียวเท่านั้น ) ก็ได้เรียกประชุมนายทหารใต้บังคับบัญชาของตน ที่วังปารุสกวัน ซึ่งยึดจากพระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวง พิษณุโลกประชานาถ มาเป็นกองบัญชาการทหาร
แต่ถูกฝ่ายหลวงพิบูลฯ หัวหน้ากลุ่มทหารหนุ่ม เรียกการกระทำนั้นว่าเป็นการ “ลอบประชุม” เพื่อจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกองทัพบก โดยมิให้ พระยาพหลฯ รู้เห็น …
แต่แล้ววันหนึ่ง พระยาพหลฯ ลงไปรับแขกชั้นล่าง จะกลับขึ้นไปห้องทำงานข้างบน ขณะพระยาทรงฯ กำลังประชุมอยู่ ทหารยามเฝ้าบันไดทำท่าเตรียมแทง แล้วห้ามไม่ให้ขึ้น พระยาพหลฯ จึงร้องตะโกนเรียกพระยาทรงฯ ให้ลงมาดู พระยาทรงฯ ออกรับแทนทหารชั้นผู้น้อยว่า ยังไม่รู้จักผู้บังคับบัญชาคนใหม่ แต่พระยาพหลฯ สงสัยแล้วว่าเพื่อนกำลังประชุมอะไรกันอยู่ โดยที่ตนไม่รู้ จึงเริ่มจะผูกใจว่าพระยาทรงคิดไม่ซื่อเสียแล้ว ….
พระยาทรงสุรเดช นั้น นิสัยใจคอจริงๆแล้วไม่ชอบเรื่องการเมือง…
แต่ในฐานะนักวิชาการทหาร เคยคิดอยากจะรื้อโครงสร้างกองทัพบกสยาม ให้เล็กลง เหมือนสวิตเซอร์แลนด์ โดยการยกเลิกยศนายพล เหลือยศสูงสุดแค่พันเอกมานานแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาส
ก่อนปฏิวัติ เคยแย้มความคิดนี้ในที่ประชุมผู้ก่อการแล้ว ก็เลยทะเลาะกับหลวงพิบูลฯ จนฝ่ายหลังประท้วงด้วยการวอร์คเอ้าท์กลับบ้านไปเฉยๆก็ทีนึง มีอย่างที่ไหน กองทัพเล็กงบประมาณก็เล็กตามซิครับ อาชีพทหารก็ลำบากยากจนกันแย่ … ต่อมาปรับความเข้าใจกันได้นึกว่าจะไม่เอาอีก แต่กลับเป็นว่า พออำนาจอยู่ในมือ ก็รีบดำเนินการตามความคิดนั้นทันที คงกลัวว่าถ้าใจเย็นไปแล้วอาจจะไม่ทันการ …
ความลับครั้งนี้ปิดไม่มิด
ทหารหนุ่มสายหลวงพิบูลฯ รู้เข้า ก็รายงานให้เพื่อนฟังว่า พระยาทรงสุรเดช คิดจะย้ายหลวงพิบูลฯ ไปอยู่ตำแหน่งผู้ช่วยรบ เพื่อจะได้ไม่มีสิทธิ์บังคับบัญชาควบคุมกำลังทหาร หลวงพิบูล ฉุนจัด จึงจะไปขอเข้าพบเพื่อสอบถาม แต่ทหารยามเอาดาบปลายปืนกั้นไว้หน้าบันได เผอิญพระยาทรงเห็นเข้าแล้วร้องห้ามไว้ เมื่อคุยกันแม้พระยาทรงจะปฏิเสธว่าไม่จริง แต่เมื่อคำสั่งออกมาแล้ว ถึงตัวหลวงพิบูล จะอยู่ที่ตำแหน่งเดิม แต่พรรคพวกถูกย้ายออกจากสายคุมกำลังหมด โดยมีนายทหารลูกน้องพระยาทรงเข้ามาเสียบแทน …
ที่เลวร้ายก็คือ การสั่งการโยกย้ายทหารครั้งนั้น กระทำอย่างสายฟ้าแลบ เมื่อหน่วยเหนือเข้าไปในที่ตั้งกองทหารใด ก็สั่งให้เป่าแตรเรียกแถว เรียกออกมาชี้ตัวให้ขึ้นรถ แล้วออกเดินทางไปต่างจังหวัดทันที ครอบครัวให้ติดตามกันไปเองทีหลัง เรื่องนี้ทำให้หลวงพิบูลของขึ้นมาก !!! เพราะลูกน้องโดนเข้าไปด้วยหลายคน เพื่อนฝูงต้องคอยดึงไว้ให้ใจเย็นๆ พระยาทรงสุรเดช ทำอย่างนี้ไปแล้วก็ระวังตัวเต็มที่ สั่งตั้งบังเกอร์รังปืนกลล้อมรอบวังปารุสก์ฯที่ทำงานของตนอย่างแน่นหนา ….
หลังเกิดเรื่องนี้แล้ว หลวงพิบูลฯ จึงปักใจเชื่อว่า พระยาทรงต้องการจะคุมอำนาจทหารไว้ฝ่ายเดียว โดยจะบั่นทอนอำนาจของหลวงพิบูล และพวกให้หมดสิ้นไป ด้วยวัตถุประสงค์แอบแฝงทางการเมือง
ตั้งแต่นั้นมา ทั้งคู่ก็ไม่ถูกกัน แล้วพระยาทรง ยังเสียแนวร่วมมากขึ้นไปอีก เพราะกระทำแหวกแนว ด้วยการตั้งคณะกรรมการเลือกผู้บังคับบัญชาขึ้นแบบประชาธิปไตยจ๋า ทำเอาวงการทหารปั่นป่วน ถูกกล่าวหาเป็นการทำลายระเบียบการปกครอง และทำร้ายจิตใจของทหารอย่างที่สุด …
อุดมการณ์ที่ขัดแย้ง สมัยเมื่อ หลวงประดิษฐิ์มนูธรรม ยังเป็น นายปรีดี พนมยงค์ นักเรียนทุนหลวง ศึกษาวิชากฏหมายอยู่ที่ฝรั่งเศสนั้น ได้เกิดเหตุการณ์ กระทบกระทั่งระหว่างนักเรียนไทย กับพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร เอกอัครราชทูตสยาม หลายครั้ง และเมื่อท่านทูต ทรงมีคำสั่งห้ามนักเรียนไทยในฝรั่งเศส ไปร่วมประชุมกับสมาคมนักเรียนไทยในอังกฤษ โดยการไม่ออกหนังสือเดินทางให้ นักเรียนเหล่านั้นก็ส่งร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี เป็นผู้แทนไปร่วมประชุมเพียงคนเดียว โดยเดินทางไปประเทศเบลเยี่ยมก่อน แล้วขอวีซ่าจากประเทศเบลเยี่ยม เข้าประเทศอังกฤษ การเดินทางครั้งนั้น หน่วยข่าวกรองทางการเมืองของอังกฤษทราบ และได้แจ้งรัฐบาลสยามผ่านสถานทูต จึงเป็นเหตุให้พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ ไม่พอพระทัย …
ประกอบกับ ช่วงเวลาเดียวกัน นายปรีดี พนมยงค์ ประธานนักเรียนไทย ได้ทำหนังสือเข้าชื่อกัน ขอรับเงินค่าใช้จ่าย ที่รัฐบาลส่งมาให้นักเรียนทุนรัฐบาล เป็นสกุลเงินปอนด์ ตามที่ส่งมาเลย ไม่ต้องไปแลกเป็นเงินฟรังค์ก่อน แล้วจึงเอามาให้ … ทั้งนี้เพราะท่านทูตทรงใช้อัตราเดิม คือ ๑ ปอนด์เท่ากับ ๖๐ ฟรังค์ ทั้งๆ ที่ค่าเงินฝรั่งเศสลดต่ำลงจน ๑ ปอนด์ มีค่า๑๔๐ ถึง ๑๗๐ แฟรงค์แล้ว ค่าครองชีพในฝรั่งเศสสูงขึ้น จนนักเรียนไทยเดือนร้อนมาก …. แต่ท่านทูตกลับทรงเห็นว่า นักเรียนไทยที่ร่วมกันเขียนหนังสือร้องเรียนนี้ หัวรุนแรง จึงมีหนังสือมายังกระทรวงฯ ขอให้เรียกตัว นายปรีดีกลับ ด้วยเหตุผลว่า “เป็นหัวหน้าสหบาล ชักนำนักเรียนไทยขัดคำสั่งทูต และฝักใฝ่ในระบอบคอมมิวนิสต์ อันจะเป็นภัยต่อพระราชบัลลังก์” นายปรีดี ทราบเข้า ก็ได้โทรเลขกล่าวหาว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ มีเรื่องเงินๆทองๆ เข้ามาเช่นกัน พอเรื่องนี้ ถึงกระทรวงแล้ว มีคำสั่งให้นายปรีดี เดินทางกลับสยามทันที..
แต่ยังมิทันจะได้จัดกระเป๋าเดินทาง บิดา นายปรีดี พนมยงค์ ได้ทูลเกล้าถวายฏีกา ขอให้เลื่อนเวลาเรียกตัวนายปรีดีกลับ เป็นหลังการสอบไล่ปริญญาดุษฏีบัณฑิต ทางกฏหมายแล้ว ทั้งยังได้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)สนับสนุน กราบบังคมทูลขอให้เลื่อนเวลา จนเรียนจบก่อนเช่นกัน พระเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าตามที่ขอนั้น โดยมีเงื่อนไขว่า นายปรีดี พนมยงค์จะต้องทำหนังสือขอขมา และให้สัญญาว่าจะเชื่อฟังคำสั่งของพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ด้วย .
“ทุกสรรพสิ่งล้วนเกิดจากเหตุ”
ความโกรธแค้น ซึ่งกลายมาเป็นความเกลียดของนายปรีดี ***คนอ่านก็น่าจะพอเข้าใจได้ และควรเข้าใจลึกไปถึง สัจธรรมคู่กับโลกย์ที่ว่า “ทุกสรรพสิ่งล้วนเกิดจากเหตุ” การที่พวกเจ้า ในสมัยนั้น ถูกเกลียดชังจนกระทบกระเทือนไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เพราะ การกระทำของพวกเจ้า เช่นนี้เอง นี่ผมไม่ได้สรุปว่าพวกเจ้าไม่ดีนะครับ พวกเจ้าก็เป็นมนุษย์ ที่มีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดีเช่นเดียวกับกลุ่มคนทั้งหลาย แต่ปลาเน่าตัวเดียว ก็ทำให้ปลาเป็นเหม็นไปทั้งข้องได้
ผลก็คือ นักเรียนฝรั่งเศสรวมทั้งนักเรียนนายทหาร อย่างเช่นร้อยโทแปลก และร้อยโทประยูร จึงสัญญากันว่า
“เมื่อกลับสยามแล้ว จะหาโอกาสเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง
โค่นล้มระบอบเจ้าให้ได้ …!!!”
นายปรีดี กลับมารับราชการก็เจริญก้าวหน้าดี ไม่นาน ก็ได้เป็นถึง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม แต่ความต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และปฏิวัติสังคม ยังคงคุกรุ่นอยู่ … เมื่อมีโอกาสเป็นถึงหัวหน้าผู้ก่อการคณะราษฎรสายพลเรือนแล้ว หลวงประดิษฐ์ จึงไม่รอช้า ที่จะนำแนวทางที่ตนเชื่อว่า ดีที่สุดสำหรับสยาม ออกมานำเสนอทันที…
พระยาทรงสุรเดช กับ หลวงประดิษฐ์
มีความเห็นไม่ตรงกัน มาตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติ
พระยาทรงสุรเดช เคยขอพบ เพื่อปรึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่ถูกหลวงประดิษฐ์ พยายามพูดชักจูง ให้เห็นความจำเป็น ที่จะต้องทำการปฏิวัติ ให้ครบทุกรูปแบบ ทั้งด้านการปกครอง สังคมและเศรษฐกิจ แล้วสาธยาย หลักการและแนวเศรษฐกิจของลัทธิสังคมนิยมอย่างพิสดาร ?!!
พระยาทรงสุรเดช “ทนฟังอยู่ครู่ใหญ่” แล้วก็ตัดบทว่า ที่มาพบวันนี้ เพราะต้องการฟังเรื่องหลักการของร่างรัฐธรรมนูญ…. ขอให้งดเว้นเอาเรื่องอื่น มาพัวพัน เพราะการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ จะมีจุดมุ่งหมายเพียงต้องการสร้างรัฐธรรมนูญ ขึ้นมา เพื่อให้เป็นกฎหมายสูงสุดในการบริหารประเทศ ส่วนเรื่องการเศรษฐกิจการสังคม เป็นเรื่องของการเมือง เป็นภาระหน้าที่ของผู้แทนราษฎร ที่จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาลหลังจากนั้น…. ที่จะต้องคิดต้องกระทำตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญต่อไป ไม่ใช่หน้าที่ของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง …จึงไม่สมควรจะมากำหนดบีบบังคับไว้ล่วงหน้า และได้ย้ำก่อนจะลากลับว่า ….
“…. ให้ร่างรัฐธรรมนูญ ตามแนวของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะเช่นประเทศอังกฤษก็แล้วกัน …..”
นี่คือมุมมอง แบบทหารแท้ ที่เห็นว่า เมื่อมีเหตุอันสมควร ที่จะต้องออก จากกรมกองมาปฏิบัติการเพื่อชาติแล้ว ก็พึงกระทำไปตามหน้าที่ของทหารให้สำเร็จ…
หลังจากนั้น ก็ให้เป็นหน้าที่ของนักการเมือง ในการแก้ปัญหาต่อ ทหารต้องกลับกรมกอง หาควรมาเป็นนักการเมืองเสียเองไม่ แต่ทฤษฎีนี้ ก็ไม่แน่ว่าจะถูกนะครับ…. เพราะนักการเมือง ก็ชอบเล่นแบบตะกรุมตะกราม ทหารต้องออกมาไล่ไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนประชาธิปไตยแบบไทยๆเละเทะหมดแล้ว …
ความไม่ชอบของพระยาทรงสุรเดช ต่อ หลวงประดิษฐ์ นี้มาถึงที่สุด ในวันที่ พร้อมกันไปที่พระราชวังไกลกังวล เพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นครั้งแรก หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง …. พระยาทรงสุรเดช ได้เป็นหัวหน้าคณะ แทนพระยาพหลฯ (ที่ไม่กล้าไปเฝ้า เพราะเพิ่งโดนพันเอก พระยาสุรเดชรณชิต (ชิต ยุวนะเตมีย์) เพื่อนนักเรียนนายร้อยเยอรมันร่วมรุ่นอีกคนหนึ่งถามซึ่งๆหน้าว่า “ไอ้พจน์ มีทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ชาติไหนมั่งวะ ที่กบฎต่อพระเจ้าแผ่นดิน ? )
พระยาทรงสุรเดช นำคณะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบขอพระราชทานอภัยโทษ เมื่อพระองค์โปรดเกล้า ให้หลวงประดิษฐ์ นำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าถวายแล้ว ทรงอ่านข้อความในรัฐธรรมนูญเสร็จ ก็ตรัสถามพระยาทรง ว่า
“ได้อ่านมาแล้วหรือยัง ? ” พระยาทรงกราบทูลว่ายังไม่ได้อ่าน … ทรงหันมาถามร้อยโทประยูร ว่า “ได้อ่านหรือยัง ? ” ร้อยโทประยูรกราบทูลตอบว่า ไม่ได้อ่าน เพราะไม่มีหน้าที่โดยตรง แต่ได้ทราบว่า พระยาทรงสุรเดช ได้กำชับหลวงประดิษฐ์ ไว้มั่นคงแล้วว่า ให้ร่างแบบอังกฤษที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ …
พระเจ้าอยู่หัวตรัสตอบว่า ทรงต้องการให้เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน แต่…..
ทำไมต้องใช้คำแทนเสนาบดีว่า
“คณะกรรมการราษฎร” แบบรัสเซีย ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ !!??
พระยาทรงสุรเดช อึ้ง อยู่ชั่วครู่จึงกราบบังคมทูลว่า
” ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานสารภาพรับผิดที่ไม่ได้อ่านมาก่อน ขอพระราชทานอภัยโทษและขอถวายสัตย์ว่าจะไปร่างมาใหม่ ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ทุกประการ”
ทรงตรัสว่า
“ถ้าพระยาทรงฯ รับรองว่า จะไปแก้ไขกันใหม่ ฉันก็จะยอมเชื่อพระยาทรง แต่อย่างไรก็ตาม วันนี้หัวเด็ดตีนขาด ฉันก็ไม่เซ็น”
ทรงรับสั่ง ให้กลับไปแก้ไข แล้วนำมาเสนอใหม่ในอีกสองวันข้างหน้า แล้วจึงเสด็จขึ้น พวกเข้าเฝ้าก็ตกตะลึง ทำอะไรไม่ถูก ทยอยเดินออกมายืนที่ลานหน้าพระตำหนัก พระยาทรงฯ โกรธมาก ถึงกับชี้หน้าหลวงประดิษฐ์แล้วพูดว่า “คุณหลวงทำป่นปี้ ไม่ทำตามที่บอกกล่าวกันไว้ ทำอะไรไปนอกเรื่อง ฉิบหายหมดแล้ว”
เมื่อแสดงความแค้นเคืองแล้ว พระยาทรงก็เดินขึ้นรถไป หลังจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระยาทรงสุรเดช กับ หลวงประดิษฐ์ ก็ไม่ดีขึ้น ทั้งสองฝ่ายไม่ยอมปรับความเข้าใจกัน จนเลวร้ายกว่าเรื่องของหลวงพิบูลฯ เสียด้วยซ้ำ ….
บทความ |เรียบเรียง
โดย : ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน
อ่านเพิ่มเติม
ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์ ตอนที่ 1-16
หนังสือแนะนำ
หนังสือ : ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕
สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ฉบับรวมเล่ม