หลังจากเที่ยวชม นิทรรศการพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปเมื่อตอนก่อน เช้าวันที่สองของการเดินทาง วันนี้ตื่นมาพร้อมกับความสดชื่นของทะเลยามเช้า และอาหารมื้อเช้าที่หลากหลาย บุฟเฟต์มื้อเช้า ของ เชอราตัน รีสอร์ทแอนด์สปา หัวหิน เป็นที่รู้จักกันดีในบรรดาสายแข็งที่ชอบทานอาหารบุฟเฟต์โรงแรม เพราะความหลากหลายของอาหารในแต่ละวัน จะมีการปรับเปลี่ยนตลอด มีเมนูเพิ่ม มีเมนูเสริม ทำให้อาหารการกินที่นี่ ไม่น่าเบื่อค่ะ มื้อเช้าวันนี้จึงขอเติมพลังด้วย ข้าวซอย สลัดผัก เติมพลังกันให้เต็มที่ แล้วออกไปสำรวจแหล่งท่องเที่ยวที่ทิ้งท้ายในตอนที่แล้ว
วันนี้แอดมินจะพาคุณผู้อ่านทุกคนไปรู้จักกับ วัดโบราณ ๒ แห่ง ที่ต้องตั้งใจไป เพราะถ้าไม่ตั้งใจ ก็อาจจะทำให้เราขับรถเที่ยวแล้วผ่านเลยไปได้ค่ะ
วัดสระบัว วัดแห่งแรกที่เราจะไปเยือน อยู่ในตัวเมืองเพชรบุรี
ไม่ไกลจากพระจอมเกล้าฯ บรมราชานิทัศน์
ที่แนะนำให้ทุกท่านไปชมในตอนที่แล้ว วัดนี้มีชื่อว่า วัดสระบัว วัดโบราณหลังเล็ก แต่เป็นเพชรเม็ดงามที่อยู่คู่เมืองเพชรบุรีมานานถึง ๓ สมัย เริ่มตั้งแต่ สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ วัดโบราณหลังเล็กแห่งนี้ มีความพิเศษที่เห็นได้ชัดเจน ตั้งแต่ภายนอก ด้วยลักษณะทางสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ฐานของอาคารอุโบสถเป็นฐานเขียงและฐานบัว รูปแบบสมัยอยุธยา มีความอ่อนช้อยและอ่อนโค้งที่งดงามมาก ผนังด้านนอกโดยรอบมีเสาอิงประดับ มีงานปูนปั้นประดับอยู่ตามมุมต่างๆ ลักษณะของหลังคาก็มีความอ่อนช้อยสวยงาม สอดรับกับตัวอาคารได้อย่างลงตัว
นอกจากนี้สิ่งที่เห็นเป็นอัศจรรย์และชวนให้ทึ่ง คือ ใบเสมาของวัดสระบัว โดดเด่นไม่เหมือนใคร ด้วยลักษณะของใบเสมาหินทรายแดง เป็นเสมาคู่ที่ตั้งอยู่บนฐานอีกชั้นหนึ่ง และฐานที่ว่านี้ ยังประดับไปด้วยลวดลายงานปูนปั้นที่งดงามมากๆ โดยเฉพาะฐานเสมาเอกของวัด เพราะมีลักษณะเป็นฐาน ๘ เหลี่ยม มีลวดลายประดับ ๓ ชั้น โดยชั้นล่างสุดเป็นงานปูนปั้นรูปยักษ์แบก ชั้นที่ ๒ เป็นครุฑและนรสิงห์แบก และชั้นที่ ๓ เป็นบัวกลุ่มที่ประณีตมาก เป็นฐานให้กับใบเสมาเอก พระปรางค์คู่ที่อยู่ด้านหน้า ยังเป็นลักษณะงานสมัยอยุธยาย่อมุมไม้ยี่สิบที่เป็นเอกลักษณ์ พระปรางค์ทรงกลีบขนุนและมียอดนภศูลที่อยู่บนสุด พระปรางค์ทั้ง ๒ องค์ ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นที่งดงาม
หลังชมวัดโบราณอายุกว่า ๔๐๐ ปีไปแล้ว กองทัพต้องเดินด้วยท้องอีกเช่นเคยค่ะ มื้อกลางวันสำหรับทริปวันนี้ แอดมินเลือกร้านอาหารแบบท้องถิ่นสุดๆ คนเมืองเพชรนิยมทานร้านไหน แอดมินก็จะตามไปร้านนั้นค่ะ และทานทุกครั้งที่เดินทางมา ร้านอาหารท้องถิ่นนี้ มีชื่อว่า พวงเพชร อยู่ไม่ไกลจากเขาวังนัก รสชาติจัดจ้าน อร่อยได้มาตรฐานทุกครั้งที่มาชิม พิกัดอยู่ใกล้ โรงแรมรอยัล ไดมอนด์ หาไม่ยากค่ะ ตัวร้านอาหารเป็นอาคาร ๒ ห้อง มีส่วนที่ทานอาหาร ๒ ชั้น ชั้นบนเป็นห้องแอร์ค่ะ
“พวงเพชร” ร้านอาหารท้องถิ่นเมืองเพชรบุรี
อยู่ไม่ไกลจากเขาวังนัก รสชาติจัดจ้าน
เมนูที่แอดมิน อยากแนะนำเพราะเป็นจานเด็ดแนะนำของร้านนั่นก็คือ ปลาดุกทะเลผัดฉ่า รสชาติเครื่องเคราถึงจริงๆ เผ็ดร้อนสุดๆ ทานแล้วเตรียมน้ำดื่มเย็นรอเลยค่ะ แต่เสียดายที่ครั้งนี้ที่แอดมินไป ปลาดุกหมด ก็เลยลองสั่งเป็น ปลากระพง มา รสชาติดีไม่แพ้กันค่ะ เพราะปลาสดทำอะไรก็อร่อย ปรุงกับเครื่องผัดฉ่าที่มีรสเด็ดจัดจ้านอยู่แล้ว อร่อยแบบไม่ต้องบรรยาย
นอกจากนี้ยังมี ผัดโป๊ยเซียน ไข่เจียวปู/กุ้ง ฟูกรอบอร่อย ปูสดกุ้งสด ต้มยำปลากระพงรวมไปถึงหอยจ๊อ ก็รสชาติดี ทางร้านยังมีอีกหลายเมนูที่น่าทาน ราคาไม่แพง แถมคุณภาพความอร่อยมาตรฐานไม่ตก การันตีความอร่อย คุณผู้อ่านที่มาเที่ยวเมืองเพชร ลองแวะไปฝากท้องกันได้ค่ะ
หลังจากเติมพลังกันเต็มที่แล้ว เราจะไปเที่ยววัดกันต่อค่ะ ที่นี่เป็นวัดโบราณอีกแห่งหนึ่ง ที่หากมาเยือนเมืองเพชรบุรี แล้ว ควรต้องแวะอย่างยิ่ง
วัดไผ่ล้อม วัดโบราณที่ยังคงทิ้งชิ้นงานอันวิจิตรให้ชม
แม้จะชำรุดทรุดโทรมไปมาก
หลังจากเติมพลังกันเต็มที่แล้ว เราจะไปเที่ยววัดกันต่อค่ะ ที่นี่เป็นวัดโบราณอีกแห่งหนึ่ง ที่หากมาเยือนเมืองเพชรบุรี แล้ว ควรต้องแวะอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ ท่านที่ชื่นชอบงานสายศิลปะไทย เพราะที่นี่มีชิ้นงานปูนปั้นที่สวยงามมากๆ เป็นชิ้นงานทรงคุณค่า ที่ทำให้เราได้ทราบว่า ฝีมืองานช่างสกุลเพชรบุรีสมัยอยุธยา มีความเป็นเลิศเพียงใด วัดแห่งนี้ คือ วัดไผ่ล้อม วัดโบราณที่ยังคงทิ้งชิ้นงานอันวิจิตรให้ชม แม้จะชำรุดทรุดโทรมไปมาก แต่ทางกรมศิลปากรก็ได้เข้ามาดูแลเพื่อไม่ให้ตัวอาคารหรืออุโบสถเสียหายไปกว่านี้
อุโบสถร้างของวัดไผ่ล้อม มีความสวยงามของงานปูนปั้น สกุลช่างเมืองเพชรบุรี ที่หาชมที่ไหนไม่ได้ หากเราลองนึกย้อนเวลากลับไป ชมวัดไผ่ล้อมในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ช่วงเวลาที่สันนิษฐานว่าสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นมา งานปูนปั้นที่เราเห็นจะต้องวิจิตรและมีความงดงามอย่างที่สุด เพราะแม้เวลาจะผ่านไป ๔๐๐ กว่าปีแล้ว ร่องรอยงานประณีตศิลป์ก็ยังหลงเหลือให้เราได้จินตนาการต่อได้ไม่ยากค่ะ
ภายในอุโบสถหรือวิหารหลังนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย ขนาดใหญ่ รวมถึงพระรองพระประธานอีกองค์ที่อยู่ด้านหน้า โครงสร้างเสาเป็นไม้ย่อมุมไม้สิบสอง และหัวเสามีชิ้นงานปูนปั้นเป็นรูปบัวแวง
ส่วนที่เป็นไฮไลท์ ความจริงมีทั่วทุกมุมของอุโบสถเลยค่ะ และโดยเฉพาะด้านในอาคารหลังพระประธานซึ่งเป็นห้องโล่ง บริเวณผนังมีการประดับงานปูนปั้นเต็มพื้นที่ ทั้งในส่วนของหน้าบันซึ่งประดับลายปูนปั้นรูปนารายณ์ทรงครุฑ และเรื่องราวของการเดินทางของพระพุทธโฆษาจารย์ เพื่อไปนมัสการพระพุทธบาทที่ลังกา แม้ชิ้นส่วนหรือรายละเอียดจะเสียหายไปมาก แต่เราก็สามารถที่จะมองและจินตนาการในส่วนของงานปูนปั้นที่ยังคงทิ้งร่องรอยไว้ได้ค่ะ
ส่วนที่งดงาม มีความประณีตและอ่อนช้อย หาชมความสมบูรณ์ และลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ในเชิงศิลป์สมัยอยุธยาที่ไหนไม่ได้อีกจุดหนึ่ง คือ บริเวณด้านนอกวิหาร ฝั่งทิศตะวันตก ซึ่งประดับลายปูนปั้นเป็นรูปคล้ายแพนหางนกยูง สวยงามเหนือคำพรรณนา เพราะโดยส่วนตัว แอดมินเองก็ไม่เคยเห็นงานเช่นนี้ที่ไหนค่ะ
นอกจากสถานที่อีกที่ซึ่งอาจจะมีความเชื่อมโยงไปตั้งแต่สมัยที่ชาวกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย และกองทัพของพม่าซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าซินพยูชิน หรือ พระเจ้ามังระ กวาดต้อนชาวกรุงศรีอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นช่างฝีมือ นักฟ้อน นักรำ จิตรกรเอก ไปยังกรุงอังวะ รูปแบบงานจิตรกรรมฝาผนังบางส่วนของที่นี่จะคล้ายกับที่วัดไผ่ล้อม วัดนั้นมีชื่อว่า วัดมหาเตงดอจี ในเมืองสะกาย ประเทศเมียนมาร์
เมื่อเห็นภาพแล้ว จะอดคิดไม่ได้จริงๆ ค่ะว่า บรรพบุรุษคนไทย ชาวกรุงศรีอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปในสมัยนั้น ก็ยังคงรักษารูปแบบงานจิตรกรรมที่สวยงามและสมบูรณ์ได้อย่างน่าชื่นชม เป็นสิ่งที่ถูกจารึกเอาไว้ว่า ชาวกรุงศรีอยุธยา แม้ตัวจะจากไปไกล แต่หัวใจและความคิดคำนึงถึงแผ่นดินถิ่นเกิด ก็ไม่เคยลดน้อย หรือหายไปจากความทรงจำแม้แต่น้อย ภูมิปัญญาและงานฝีมือแบบราชสำนัก รวมถึงชิ้นงานประณีตศิลป์ทุกอย่าง ทุกแขนงอยู่ในสายเลือดและจิตวิญญาณของชาวโยเดีย หรือชาวกรุงศรีอยุธยาตลอดเวลา
แอดมินนำภาพจิตรกรรมฝาผนังบางส่วนมาให้ยล เพื่อที่คุณผู้อ่านจะได้เปรียบเทียบให้เห็นว่าใช่หรือไม่จริง อย่างที่แอดมินได้กล่าวถึงหรือเปล่า ต้องขอบอกก่อนว่าผลงานจิตรกรรมเหล่านี้ เป็นภาพที่สเก็ตช์ขึ้นโดยทีมงานและเหล่าคณะครูบาอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญในงานศิลปะและจัดแสดงขึ้น ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในช่วงการจัดงานเสวนาวิชาการครบรอบ ๗๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-เมียนมาร์ เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมาค่ะ
โดยคณะทีมงานของไทยเอง ซึ่งบางส่วนมีทีมงาน และผู้เชี่ยวชาญจาก สารคดี โยเดียที่คิดไม่ถึง ได้นำเสนอความสวยงามและมากไปด้วยคุณค่าต่อจิตใจ ทางช่องไทยพีบีเอส ด้วยค่ะ คณะทีมงานเหล่านี้ได้มองเห็นคุณค่า ผลงานชิ้นสำคัญที่สะท้อนให้เห็นภูมิปัญญา และเป็นมรดกศิลป์ของชาวกรุงศรีอยุธยา
จึงได้เปิดรับเงินบริจาคส่วนหนึ่งเพื่อนำไปบูรณะปฏิสังขรณ์วัดมหาเต็งดอจีร่วมด้วย และในการสเก็ตช์ภาพจิตรกรรมจากสถานที่จริงทั้งหมดครั้งนี้ ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่ามรดกทางศิลปะของชาวโยเดียนั้นน่าทึ่งเพียงใด การผสมสี การใช้สี กระประยุกต์งานศิลปะให้เข้ากับรูปแบบท้องถิ่น ช่างชาวโยเดียมีความสามารถขนาดไหน ผลงานเหล่านี้นับได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกันของชาวไทยและชาวเมียนมาร์ที่จะต้องช่วยกันดูและรักษาไว้เท่าที่จะทำได้อย่างเต็มที่ เพราะเกรงว่าวันเวลา ผลงานอันทรงคุณค่าเหล่านี้อาจจะหายไปและไม่มีวันหวนคืนให้เราได้ชื่นชมอีก
คำว่าศิลปะ ไม่มีการแบ่งชนชาติ ทุกชาติเรามีศิลปะร่วมกัน
หากคุณรักศิลปะ เห็นความสำคัญของชิ้นงานที่มากด้วยคุณค่าต่อเราเอง
นับเป็นโชคดีของแอดมินที่ได้ชม ขนาดภาพสเก็ตช์ยังงามขนาดนี้ ของจริงจะงามขนาดไหน และของจริง งานลวดลายปูนปั้นที่เราเห็น ณ วัดไผ่ล้อม แม้จะเป็นศิลปะคนละแขนง แต่ก็นับได้ว่ามีเรื่องราวที่สอดคล้องกันอย่างเหลือเชื่อ ทำให้เราสามารถต่อจิ๊กซอว์ภาพงานศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาได้อย่างแจ่มชัดขึ้น และยังต่อยอดในการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลป์ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มากขึ้นอีกด้วยค่ะ หากคุณผู้อ่านมีจิตศรัทธา อยากร่วมด้วยช่วยกันรักษามรดกของชาติ ผลงานของบรรพบุรุษเรา สามารถสอบถามได้ที่ทาง ไทยพีบีเอส ค่ะ อย่าลืมนะคะว่า คำว่าศิลปะ ไม่มีการแบ่งชนชาติ ทุกชาติเรามีศิลปะร่วมกัน หากคุณรักศิลปะ เห็นความสำคัญของชิ้นงานที่มากด้วยคุณค่าต่อเราเอง ต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อโลกใบนี้ ไม่ว่ารูปแบบศิลปะนั้นจะเป็นของชนชาติใด แต่ต้องจำให้ขึ้นใจว่า ศิลปะไม่เคยมีพรมแดนขีดกั้นความรู้สึกระหว่างกัน
หลังจากการไปชมวัดโบราณสมัยอยุธยา ทั้ง ๒ วัด ทำให้แอดมินเข้าใจและรับรู้ได้ทันทีว่า คุณค่าของงานศิลปะไม่ได้อยู่ที่ว่าผู้สร้างคือใครเท่านั้น แต่อยู่ที่ว่าเรามองเห็นอะไรจากชิ้นงานเหล่านี้บ้าง ลึกลงไปในรายละเอียด บางภาพมีเรื่องเล่า ไม่จำเป็นที่เราจะต้องศึกษาประวัติศาสตร์จากตัวอักษรหรือจารึกเท่านั้น แต่ผลงานภาพจิตรกรรมก็สามารถบอกเรื่องราว เรื่องเล่าได้เป็นอย่างดีเช่นกันค่ะ
ทริปวันที่ ๒ ของวันนี้ จึงเป็นการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ แบบได้ความรู้ในเชิงงานศิลป์ สำหรับในตอนหน้าแอดมินจะพาไปเที่ยวชม โครงการพระราชดำริแห่งแรกของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ร่วมกันน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ และชมวัดสวยๆ ใกล้กับโครงการของพระองค์กันค่ะ
บทความโดย : เอกชฎา ศรีสุวรรณ์