สำหรับงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ประจำปี 2559 เป็นการจัดงานครั้งที่ 30 แล้ว คนร่วมงานดูคึกคัก แม้แดดยามเที่ยงจะค่อนข้างร้อนมาก แต่ผู้คนก็ยังทยอยเดินเข้าไปชมความงดงามของวังไม่ขาดสาย
ภายในงานมีทั้งตลาดย้อนยุคที่แสนจะคลาสสิค หากคุณมีเงินมา ก็ไม่สามารถใช้เงินซื้อของคาวหวานทานได้ นั่นเป็นเพราะตลาดย้อนยุคของที่นี่มีเอกลักษณ์ตรงที่การใช้เงินค่ะ แนวคิดการแลกเงินพดด้วงถูกนำมาใช้ในการจับจ่ายซื้อของอร่อยๆ ทาน ซึ่งมูลค่าเงินพดด้วงก็ไม่ยากแก่การจดจำเพราะมีมูลค่าเพียง 5 บาท 10 บาท และแบบ 20 บาท และนักท่องเที่ยวก็ไม่ต้องกลัวว่าจะหลงหรือมึนงงกับการใช้เงินนะคะ เพราะร้านค้าทุกร้านมีป้ายแนะนำบอกครบ แถมแม่ค้า พ่อค้าก็ใจดี๊ใจดีคอยให้คำแนะนำตลอดค่ะ
ของกินในตลาดย้อนยุคมีความหลากหลาย ทั้งขนมไทยๆ น้ำแข็งไส ขนมถ้วย ขนมตาล ชากาแฟ ผัดไทย ก๋วยเตี๋ยว ส้มตำ ฯลฯ เสนอราคาก็ไม่แพง มีแคร่ให้นั่งสบายๆ ถึงจะร้อนไปหน่อย แต่หากได้เห็นรอยยิ้มของผู้คนที่แต่งองค์ทรงเครื่องไทยไปร่วมงานแล้ว ก็ช่วยให้บรรยากาศคลายร้อนไปได้เยอะเลยค่ะ
นอกจากของกินแล้ว ยังมีกิจกรรม งานออกสลากกาชาด ร้านค้า สินค้า OTOP เวทีการแสดงศิลปะ วัฒนธรรม นิทรรศการย่อยเกี่ยวกับสมเด็จพระนารายณ์ และร้านค้าชุดไทยก็มีมากมายทั้งให้เช่าและจำหน่ายในราคาที่ไม่แพงค่ะ ฉันเดินลัดเลาะเข้าไปในวังจนถึงพระราชฐานชั้นใน ซึ่งปัจจุบันได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ที่น่าสนใจ ฉันเดินชมโบราณสถานภายในอย่างรู้สึกตื่นตาตื่นใจ ด้วยเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ดูแปลกตาและน่าชมเป็นอย่างยิ่ง ที่นี่มีความหลากหลายของศิลปะทั้งของอยุธยา รัตนโกสินทร์ และย้อนกลับไปในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งมีกลิ่นอายของงานตะวันตกให้ชม ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ สามารถแบ่งออกได้เป็นเขตพระราชฐานชั้นนอก ได้แก่ ตึกพระเจ้าเหา อาคารสิบสองท้องพระคลัง โรงช้างหลวง ตึกเลี้ยงแขกเมือง และอ่างเก็บน้ำ เขตพระราชฐานชั้นกลาง มีพระที่นั่งจันทรพิศาล พระที่นั่งดุสิตสวรรคธัญญมหาปราสาท หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎและทิมดาบ สุดท้ายคือ เขตพระราชฐานชั้นใน ซึงมีพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ สถานที่ประทับส่วนประองค์ และเป็นที่ที่พระองค์เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2231 รวมถึงหมู่ตึกพระประเทียบ 8 หลัง
ภายในเขตพระราชฐานชั้นใน มีรั้วกำแพงโดยรอบ ตลอดความยาวของกำแพง มีเอกลักษณ์คือ ช่องกำแพงที่ถูกเจาะเพื่อวางเทียน หรือ ประทีป มีความสูงใหญ่และโอ่อ่าเป็นอย่างมาก เปรียบเทียบกับต้นไม้แต่ละต้นที่สูงใหญ่ ดูๆแล้วมีอายุนานหลายทศวรรษ หรือบางต้นอาจจะร่วมร้อยปี ความสวยงามที่เหลืออยู่แม้จะเป็นซากโบราณสถาน แต่ฉันก็พอจะจินตนาการได้ว่าพระราชวังของพระองค์นั้น งดงามและร่มรื่นเพียงใด เป็นความประทับใจที่ฉันอยากจะบอกต่อหลายๆท่านที่ยังไม่เคยไปเยือนเมืองลพบุรีและพระราชวังแห่งนี้ ลองบรรจุโปรแกรมการท่องเที่ยวของท่าน และเส้นทางมายังเมืองเก่าแก่นามลพบุรีบ้าง เพราะความสวยงามของที่นี่มีอะไรให้ชมมากกว่าที่คิดค่ะ
“วังนารายณ์คู่บ้าน ศาลพระกาฬคู่เมือง ปรางค์สามยอดลือเลื่อง เมืองแห่งดินสอพอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แผ่นดินทองสมเด็จพระนารายณ์”
ยิ่งในยามเย็นที่ชาวเมืองลพบุรีต่างแนะนำฉันว่า ควรไปเที่ยววังอีกครั้งในยามเย็น เพราะจะได้สัมผัสกับความสวยงาม อีกทั้งยังได้ชมการแสดงที่ตื่นตาตื่นใจ ฉันไม่รีรอตกปากรับคำ เพราะแน่นอนว่าการเที่ยววังในยามค่ำคืนช่วงเทศกาลงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ เป็นสิ่งที่ต้อง…ห้ามพลาดอย่างแท้จริง
–##– ก่อนจะแวะไปเที่ยววังในยามค่ำคืน ฉันตัดสินใจเดินทอดน่องเข้าตลาด และแวะไปเยี่ยมสถานที่สำคัญอีกแห่งของจังหวัด นั่นคือ บ้านวิชาเยนทร์ หรือ บ้านหลวงรับราชทูต บ้านหลังนี้มีความโอ่โถง และสมกับเป็นที่พักอาศัยของ ชาวกรีกที่ได้เข้ามารับราชการและพึ่งบรมโพธิสมภารในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้มีนามว่า คอนแสดนติน ฟอลคอน หรือ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ผู้ซึ่งรับราชการสนองพระเดชพระคุณ และได้รับความดีความชอบมากมายจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภรรยาของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ คือ นางมารี กีมาร์ หรือที่เรารู้จักกันในนามว่า ท้าวทองกีบม้า ผู้ที่สร้างอิทธิพลแห่งวงการขนมไทยให้เป็นที่รู้จัก เพราะท่านนำขนม สูตรต่างๆ จากโปรตุเกสเข้ามาเผยแพร่ เป็นขนมแสนสวย หน้าตาดีและอร่อย เช่น ทองหยอด ฝอยทอง ทองหยิบ สัมปันนี ลูกชุบ ทองโปร่ง ขนมผิง เป็นต้น ลักษณะของบ้านวิชาเยนทร์ ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมตะวันตกในสมัยเรเนซองส์ หรือ สมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ ผสมผสานกับงานสถาปัตยกรรมงานศิลป์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หากสังเกตุให้ดี ก็ยังคงปรากฎลวดลายงดงามบนกรอบหน้าต่าง ช่องประตูอยู่ให้เห็น ฉันใช้เวลาเดินเล่น ชมอาคารบ้านเรือนของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ พร้อมๆ กับรอชมขบวนแห่ในยามเย็น ซึ่งนักแสดงกำลังตระเตรียม และซักซ้อมขบวน
จวบจนกระทั่งได้เวลาเย็นจนพลบค่า ฉันจึงได้สังเกตเห็นว่าชาวเมืองลพบุรีต่างพร้อมใจกันแต่งชุดไทย สวยงามและดูสง่าทั้งชายหญิง มาร่วมงานของจังหวัดกันมากขึ้น เป็นความตื่นตาตื่นใจอีกรูปแบบที่ฉันไม่เคยพบเห็น ฉันเองเป็นนักเดินทางที่ท่องเที่ยวไปหลายที่ แต่ไม่มีที่ใดที่ชาวเมืองจะพร้อมใจกันแต่งไทยได้งดงามเช่นนี้เลยค่ะ ทั้งเด็กเล็ก เด็กน้อย ผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย แต่งองค์ทรงเครื่องได้สวยงามจับตา ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่สวมเครื่องแบบย้อนยุคได้เท่สุดๆ ค่ะ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ในยามค่ำคืน สวยงามผิดหูผิดตาจากตอนกลางวันที่ฉันเห็น ด้วยไฟประดับโดยรอบส่องแสงเป็นประกาย งดงามราวกับพระราชวังฟื้นคืนชีวิต ชาวเมืองลพบุรี รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศมีหนาแน่น ทุกพื้นที่คราคร่ำไปด้วยผู้คนที่แต่งชุดไทย มองไปทางไหน ก็เห็นแต่ความสวยงามของเครื่องแบบไทยๆ เป็นความสง่า และครบเครื่องอย่างแท้จริง อีกทั้งการแสดง แสง สี และเสียงครบเครื่องเกินคาด นักแสดงแต่ละท่านสวมบทบาทได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
หากคุณผู้อ่านไม่รู้จักเมืองลพบุรี หรือไม่คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ เพียงแค่คุณชมการแสดง 2 องค์ คุณจะเข้าใจในประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองนี้ได้ในทันที ลพบุรี คงไม่ใช่แค่เมืองสำหรับผ่านเลยอีกต่อไป แต่เป็นเมืองที่ต้องแวะทันทีเลยเสียมากกว่า นอกจากทุ่งทานตะวันแล้ว ยังมีโบราณสถาน พระราชวังที่สวยงาม ให้ชม สมกับคำขวัญประจำจังหวัด
“วังนารายณ์คู่บ้าน ศาลพระกาฬคู่เมือง ปรางค์สามยอดลือเลื่อง เมืองแห่งดินสอพอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แผ่นดินทองสมเด็จพระนารายณ์”