หากคุณไปท่องเที่ยว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในช่วงเวลานี้ และได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมชิ้นงานมาสเตอร์พีซ ของประเทศไทย ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน คุณจะต้องแปลกใจ ตั้งแต่แรกก้าวเข้าไปในพระที่นั่ง เมื่อพบกับชิ้นงานศิลปวัตถุระดับยอดเยี่ยมของประเทศไทยทั้ง ๑๑๑ ชิ้น ซึ่ง ประเมิณคุณค่าไม่ได้เลย แต่ที่สะดุดตามากที่สุด เห็นจะเป็น เศียรพระพุทธรูป ขนาดใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางพระที่นั่งด้านในสุด และแน่นอน เมื่อคุณได้ไปยืนชมเศียรพระพุทธรูปองค์นี้ คุณจะไม่รู้สึกตะลึงกับความงดงามและความสงบในพระพักตร์ที่คุณเห็น ยิ่งพิศ ยิ่งพินิจ ใจเรายิ่งค้นพบความสงบ เสมือนว่า เรากำลังอยู่ในสายพระเนตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเหมือนต้องมนต์แห่งธรรมสะกด จนไม่อยากละสายตาไปจากพระพักตร์และสายพระเนตรของพระองค์เลย
สิ่งที่แปลกใจ และชวนให้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม เมื่อฉันได้ดูในรายละเอียดของป้ายกำกับหน้าพระเศียร ได้ระบุว่า เป็น พระเศียรที่ถูกค้นพบ ณ วัดพระศรีสรรเพ็ชญ โบราณสถานอันเลื่องชื่อแห่งอโยธยาศรีรามเทพนคร และได้เกิดเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อนักวิชาการได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า น่าจะเป็น เศียรของพระศรีสรรเพชญดาญาณ เป็นแน่แท้ เมื่อมีความคิดเห็นเช่นนี้เกิดขึ้น ข่าวนี้จะได้แพร่สะพัดออกไป จนมีการจัดงานเสวนาว่าด้วยเรื่องนี้ขึ้นโดยเฉพาะ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๙ มีนาคม พุทธศักราข ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา งานเสวนาในครั้งนี้ เป็นการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่น่าสนใจหลากหลายประการค่ะ ซึ่งมีนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ และประชาชนสนใจทั่วไปกว่าร้อยท่าน มาร่วมพูดคุย แสดงความคิดเห็นกัน
สิ่งที่ฉันรับทราบมาก่อนที่จะไปรับฟังเสวนาในครั้งนี้ เท่าที่ทราบ คือ องค์พระศรีสรรเพชญดาญาณ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งปฐมราชวงศ์จักรี ทรงคิดที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์ แต่เนื่องด้วยองค์พระ มีความชำรุดทรุดโทรมยากเกินกว่าจะบูรณะให้คืนสภาพดังเดิมทั้งหมด และด้วยความคิดเห็นจากสมเด็จพระสังฆราชที่ทรงเห็นสมควรเช่นเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงได้ทรงอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดพระเชตุพนวิมลมคลาราม หรือวัดโพธิ์ โดยมีการสร้างเจดีย์ครอบไว้ และพระราชทานนามว่า “พระมหาเจดีย์พระศรีสรรเพชญดาญาณ” ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
สำหรับพระศรีสรรเพชญดาญาณ นั้นเป็นพระพุทธรูปที่สร้างในปี พ.ศ. ๒๐๔๓ โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ โปรดให้สร้างขึ้นหลังจากการสร้างพระวิหารหลวงในปี พ.ศ. ๒๐๔๒ ครั้นถึงปีต่อมาก็ทรงหล่อพระพุทธรูปยืนสูง ๘ วา (๑๖ เมตร) พระพักตร์ยาว ๔ ศอก (๒ เมตร) กว้าง ๓ ศอก (๑.๕ เมตร) พระอุระกว้าง ๑๑ ศอก (๕.๕ เมตร) ใช้ทองสำริด หล่อเป็นแกนในน้ำหนัก ๕,๘๐๐ ชั่ง (๓,๔๘๐ กิโลกรัม) หุ้มทองคำน้ำหนัก ๒๘๖ ชั่ง (๓๔๗.๗๗๖ กิโลกรัม) แล้วถวายพระนามว่า พระศรีสรรเพชญดาญาณ โดยทองคำ ที่ใช้หุ้มองค์พระนั้น ด้านหน้าเป็นทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา ด้านหลังองค์พระเป็นทองเนื้อหกน้ำสองขา (สมัยนั้นถือว่าทองนพคุณเก้าน้ำหรือทองเนื้อเก้าเป็นทองคำบริสุทธิ์กว่าทองเนื้ออื่นน้ำอื่น)
จนกระทั่งเมื่อครั้งสิ้นกรุงศรีอยุธยา ในปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ มีบางข้อมูลได้บอกเล่าว่าพม่าได้เข้ามาเผาทำลายเมือง รวมถึงการเผาลอกเอาทองคำจากพระศรีสรรเพชญดาญาณไปด้วยในครั้งนั้น แสงเพลิงเผาผลาญกรุงศรีอยุธยาจนสิ้น ใช้เวลารวมทั้งหมดถึง ๑๕ วัน อาณาจักรจึงล่มสลาย
ในงานเสวนาครั้งนี้ มีนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์มาพูดคุยถึงความเป็นไปได้ของพระเศียรที่ค้นพบ ซึ่งก็มีหลายประเด็นที่ฉันเห็นพ้องด้วย อาทิเช่น ความคิดเห็นของ ศ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ และ คุณประทีป เพ็งตะโก ผู้อำนวยการสำนักกรมศิลปากรที่ ๓ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ให้ความคิดเห็นไว้ว่าไม่มีหลักฐานใดๆ ที่สามารถจะยืนยันได้ชัดเจนว่าเป็นพระเศียรของพระศรีสรรเพชญดาญาณ เนื่องจากยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเมื่อครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงบรรจุองค์พระเข้าไปในพระมหาเจดีย์นั้น มีพระเศียรด้วยหรือไม่ อีกทั้งในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าพระเศียรดังกล่าวเป็นของพระศรีสรรเพชญดาญาณอย่างแท้จริง ทั้งๆ ที่ในสมัยนี้มีนักประวัติศาสตร์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระยาโบราณ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ รวมถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงสนพระทัยและเอาใจใส่ในประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง ฉันเห็นด้วยกับความคิดเห็นนี้เป็นอย่างมาก เพราะพระเศียรขนาดใหญ่ และยังเคยเป็นถึงพระพุทธรูปสำคัญประจำวังหลวง หากใช่จริง เหตุใดเลยจึงไม่มีปรากฎความชัดเจนว่าเป็นพระเศียรของพระศรีสรรเพชญดาญาณ เป็นความแปลกอีกอย่างที่ไม่มีข้อมูลหลักฐาน เนื่องจากพระเศียรองค์นี้ก็เคยถูกเก็บรักษาในพระราชวังจันทรเกษม แต่ไม่มีข้อมูลระบุว่าเป็นเศียรพระของพระศรีสรรเพชญดาญาณ
ในอีกแง่มุมหนึ่งของ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ซึ่งมั่นใจว่ามีความเป็นไปได้ว่าใช่ ได้ให้ข้อคิดเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อาจจะบูรณะซ่อมแซมได้ เฉกเช่นเดียวกับการบูรณะองค์พระอัฐถารสที่ค้นพบในที่เดียวกัน นอกจากนี้ยังมีมุมมองในเชิงช่างสิบหมู่ไว้ให้เป็นข้อสังเกตและศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไป
ในขณะที่ประชาชนผู้สนใจทั่วไป ต่างให้ความเห็นกันหลากหลายทั้งมั่นใจว่าใช่ และไม่น่าจะใช่ รวมถึงความคิดเห็นที่ดูจะเป็นไปได้ยาก แต่ก็ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นไปได้ คือ การนำเทคโนโลยีในปัจจุบันสแกนองค์พระในพระมหาเจดีย์ดังกล่าว ซึ่งก็เป็นอีกมุมมองที่น่าสนใจ หากข้อสรุปนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ชัด และยังมีข้อถกเถียงกันอยู่
สำหรับฉันแล้ว โดยส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่พระเศียรของพระศรีสรรเพชญดาญาณ แต่อาจจะเป็นพระเศียรของพระพุทธรูปธรรมิกราชอีกองค์ ซึ่งอาจจะหล่อขึ้นไว้สำหรับบูชาก็เป็นไปได้ เพราะเค้าโครงพระพักตร์คล้ายกันมากนัก แต่นั่นก็เป็นแค่มุมมองส่วนตัวของฉันที่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้พอๆ กับงานเสวนาครั้งนี้ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ไม่ว่าพระเศียรองค์นี้จะใช้พระศรีสรรเพชญดาญาณหรือไม่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การตระหนักถึงความสำคัญของโบราณวัตถุชิ้นเอกอุ ที่งดงามและเป็นทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน ที่คนไทยทุกคนควรรักษา ดูแล และช่วยกันทำนุบำรุงเต็มความสามารถ
ทุกชิ้นงานที่จัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทรงคุณค่าและสำคัญมากกว่าการหาข้อเท็จจริงว่าใช่หรือไม่ใช่ค่ะ เศษอิฐหรือเศษปูน ย่อมมีคุณค่าและบ่งชี้ถึงรากเหง้าความเป็นไทยได้สมบูรณ์ หากคุณยังไม่เคยเยี่ยมชม ฉันอยากแนะนำว่า งานจัดแสดงครั้งนี้เป็นสิ่งที่ต้องห้าม…พลาด ด้วยประการทั้งปวง เป็น Unseen ฉบับประเทศไทย ที่ไม่ได้หาชมง่ายๆ ดูงานศิลป์แล้วมองย้อนดูตน แล้วคุณจะมองเห็นถึงรากเหง้าที่มาของคุณได้ชัดเจน
งานจัดแสดงศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยมของประเทศไทยทั้ง ๑๑๑ ชิ้น
จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สามารถเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น.
เปิดทำการวันพุธ ถึงวันอาทิตย์ หมายาเลขโทรศัพท์ ๐๒ ๒๒๔ ๑๔๐๒
ข้อมูลอ้างอิง Wikipedia:
ภาพต้นฉบับ cr: อนุสรณ์สถานแห่งชาติ
หาความรู้เพิ่มเติม
พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก
พระศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยา ประวัติศาสตร์ไทยบอกว่าถูกไฟครอกเเผาทำลายย่อยยับ เมื่อกรุงแตก พ.ศ.2310 (250 ปีมาแล้ว) แต่ได้พบหลักฐานใหม่ว่ากองทัพอังวะ ไม่ได้เอาไฟเผาลอกทองพระศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยา เพราะเศียรพระศรีสรรเพชญ์มหึมาตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่ง “ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล” ได้พยายามวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูล จนประจักษ์ชัดว่า พระเศียรดังกล่าวคือ พระศรีสรรเพชญ์ แห่งวัดพระศรีสรรเพชญ์ จ.พระนครศรีอยุธยา หลักฐานแท้จริงเป็นอย่างไร? ทางการไม่เคยแบ่งปันเผยแพร่สู่สาธารณชน แต่หนังสือเล่มนี้มีเปิดเผยแบ่งปันมากที่สุด!
สารบัญ
2. พระศรีสรรเพชญ์ หลังสงครามเสียกรุง
3. พระศรีสรรเพชญ์สมัยธนบุรี-รัตนโกสินทร์
4. เศียรพระศรีสรรเพชญ์ที่พระที่นั้งศิวโมกขพิมาน
ISBN | : 9789740215431 (ปกอ่อน) 184 หน้า |
ขนาดรูปเล่ม | : 143 x 204 x 10 มม. |
น้ำหนัก | : 250 กรัม |
เนื้อในพิมพ์ | : คละสี |
ชนิดกระดาษ | : กระดาษปอนด์ |
สำนักพิมพ์ | : มติชน, สนพ. |
เดือนปีที่พิมพ์ | : 2/2017 |