Thai Book Review แนะนำหนังสือ, Uncategorized

อรุณรุ่งที่ … วัดแจ้ง “The Temple of Dawn” ตอนที่ ๒

อรุณรุ่งที่ … วัดแจ้ง หมุดหมายเมืองสำคัญของประเทศไทย

“The Temple of Dawn” ตอนที่ ๒

        หลังจากที่ทำความรู้จักกับความงดงามของ วัดแจ้ง ความหมาย ที่มา ภูมิสถาปัตย์ และหลักการสร้างพระปรางค์ประธานในคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิกถาแล้ว ในตอนที่ 1 สำหรับในตอนที่ 2 นี้ ฉันจะพาเที่ยววัดแบบสบายๆ เชิงโบราณคดีสัญจร  ก็ไม่ใช่เที่ยวเล่นสนุกสนานอย่างเดียวก็ไม่เชิงค่ะ แต่อยากให้ผู้อ่านที่ได้มีโอกาสไปเที่ยววัดอรุณราชวรารามในครั้งหน้า ได้เที่ยวและชมวัดให้ได้มากกว่าการถ่ายภาพคู่พระปรางค์ประธานเท่านั้น เพราะในวัดมีสิ่งอื่นๆ ที่น่าสนใจ น่าชมและศึกษามากมายค่ะ

 

        วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) คือ วัดประจำรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งทุกท่านคงทราบ และรู้จักกันดีอยู่แล้วนะคะ เมื่อมาถึง วัดอรุณราชวราราม สิ่งแรกที่ควรทำคือ การกราบสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๒ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาค่ะ เพราะวัดนี้เป็นวัดประจำในรัชกาลของพระองค์ เป็นวัดสำคัญยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีศรัทธาอย่างแรงกล้าให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพระมหาธาตุประจำพระนคร แม้ในการสร้าง บูรณะวัดนั้นมิอาจเสร็จทันในรัชกาลของพระองค์ แต่พระราชโอรส พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงเอาพระทัยใส่ในการสร้างต่อจากพระชนกนาถอย่างเต็มที่ ด้วยทรงทราบดีถึงพระราชศรัทธาในพระชนกนาถที่ทรงอุทิศพระองค์และเอาพระทัยใส่ต่อการสร้างและบูรณะวัดอรุณราชวราราม ให้สมกับเป็นพระมหาธาตุประจำพระนคร


 

       บริเวณโดยรอบพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ มีสิ่งน่าสนใจที่อยากให้ทุกท่านได้เรียนรู้ นั่นคือ ประติมากรรมช้างเผือกประจำรัชกาลที่ ๒ ถึง ๓ ช้าง ด้วยกัน ได้แก่ ช้างเผือกจากเมืองน่าน ช้างเผือกเมืองโพธิสัตว์ และช้างเผือกเมืองเชียงใหม่ และบริเวณใกล้กับท่าเรือโดยเสด็จ ซึ่งมีไว้สำหรับรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีและพระบรมวงศานุวงศ์ ไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ ซึ่งเราจะได้เห็นการใช้งานทุกครั้งเมื่อมีกฐินพระราชทานประจำปีในช่วงเทศกาลออกพรรษา หรือโดยพระราชกรณียกิจอื่นๆ ค่ะ

ท่าเรือโดยเสด็จ

 

ศาลาเปลื้องเครื่อง

 

ศาลาเปลื้องเครื่อง

    บริเวณเดียวกันนี้ยังมี ศาลาเปลื้องเครื่อง ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบเก๋งจีน ๒ หลัง เป็นสถานที่ส่วนพระองค์ไว้สำหรับพระมหากษัตริย์ไว้ทรงเปลื้องเครื่องทรง ฉลองพระองค์ เครื่องราชูปโภคต่างๆ หรือแม้แต่เครื่องราชกกุธภัณฑ์ อย่างเช่น พระมหาพิชัยมงกุฎ โดยจะมีแท่นประดิษฐานอยู่ในศาลาให้เห็นเป็นสังเกตค่ะ โดยส่วนใหญ่แล้ว นักท่องเที่ยวมักไม่ได้ใส่ใจในส่วนนี้ และอาจจะไม่ทราบถึงความสำคัญเช่นที่ได้อรรถาธิบายไปก่อนหน้า จึงมักจะเดินผ่านเลย และเข้าพระอุโบสถไปโดยไม่ได้หยุดชม

 

ทวารบาลเป็นยักษ์ ๒ ตน

ยักษ์ คือ ทวารบาลที่ทำหน้าที่เป็นเทพรักษาและปกป้องพระพุทธศาสนา

 

ทศกัณฐ์ ยักษ์ที่มีกายสีเขียว
http://www.dhammajak.net

          จากศาลาเปลื้องเครื่อง เมื่อหันหน้าเข้าหาพระอุโบสถ มีทวารบาลเป็นยักษ์ ๒ ตน เป็นจุดที่ทุกคนรู้จักและมักถ่ายภาพเก็บเป็นที่ระลึกอยู่เสมอ บ้างก็เอาน้ำแดงไปบูชา ท่านใดที่นับถือทศกัณฐ์ ก็มักจะไปลูบกระบอง ลูบเท้าบ้าง ในส่วนนี้ฉันอยากแนะนำว่า อย่าทำเลยค่ะ กรรมดีเกิดจากการกระทำ มิได้เกิดจากการขอ และศิลปะวัตถุทุกชิ้นในบ้านเรา ทุกคนควรช่วยกันดูแลและบอกกล่าว ตักเตือนผู้ที่ละเมิดค่ะ ดังที่กล่าวไว้ นายทวารบาลทั้งคู่: ทิศใต้-มียักษ์นามว่า สหัสเดชะ มีกายสีขาว และทิศเหนือ-ยักษ์มีนามว่า ทศกัณฐ์ ยักษ์ที่มีกายสีเขียว ทั้งสหัสเดชะและทศกัณฐ์ ต่างเป็นยักษ์ที่มีทั้งอำนาจ บารมี และพลังมหาศาล ยักษ์ ๒ ตน เป็นงานประติมากรรมของเก่ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ และเป็นยักษ์ที่มีในตำนานเล่าถึงการตีกันระหว่าง ยักษ์วัดแจ้ง และยักษ์วัดโพธิ์ นั่นเอง

 

ยักษ์ทั้ง ๒ ตน ยังเป็นต้นแบบของยักษ์ในวัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในเวลาต่อมา ด้วยคติความเชื่อว่า ยักษ์ คือ ทวารบาลที่ทำหน้าที่เป็นเทพรักษาและปกป้องพระพุทธศาสนา เราจึงจะสังเกตเห็นได้ว่าในเวลาต่อมา นอกจากวัดพระแก้วที่มียักษ์ทำหน้าที่เฝ้าประตูแล้ว ก็ยังปรากฎว่ามีวัดอื่นๆ สร้างตามความเชื่อนี้ต่อมาเช่นกัน

     ประตูซุ้มทางเข้าพระอุโบสถของวัดอรุณราชวราราม ยังมีลักษณะพิเศษ เป็นซุ้มยอดมงกุฎ ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อสื่อถึงลำดับการครองราชย์ในรัชกาลต่อไป คือ เจ้าฟ้ามงกุฎ หรือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

 

วัดแจ้ง

      โดยที่ทราบกันดีแต่แรกว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓  ไม่ได้โปรดจะครองราชย์แต่คราวแรกแล้ว แต่เนื่องด้วย ณ เวลานั้นเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งเป็นรัชทายาทลำดับต่อจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ยังทรงพระเยาว์นัก บรรดาเสนาเหล่าอำมาตย์ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ควรทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ เพื่อบริหารราชอาณาจักรไปก่อน เนื่องด้วยทรงทราบกิจการงานต่างๆ เป็นอย่างดี ทรงถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทในรัชกาลที่ ๒ อยู่เป็นนิจ พระองค์จึงจำเป็นต้องรับพระราชภาระดังกล่าวไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทรงมีพระวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่งในการบรืหารราชการแผ่นดิน ดูแลทุกข์สุขราษฎร ไม่เคยขาดตกบกพร่องแม้แต่น้อย จนเสด็จสวรรคต

 

ประตูซุ้มยอดมงกุฎ

       ประตูซุ้มดังกล่าวนี้ มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ คือ เป็นทรงจตุรมุข ซุ้มยอดมงกุฎทีประดับไปด้วยกระเบื้องเคลือบจีน มีความงดงาม สีสันสวยงาม ไม่ว่าจะ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ กระเบื้องมุง หน้าบัน ต่างประดับไปด้วยเครื่องถ้วยจีนสลับสีได้อย่างงดงามและลงตัว แม้แต่ในการบูรณะวัดอรุณราชวรารามครั้งใหญ่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ก็ทรงกำชับให้ช่างในพระราชสำนักบูรณะให้ได้เช่นเดิมทั้งหมด

 

ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์

     

นายเรือง และ นายนก

      และก่อนที่เราจะเดินผ่านซุ้มประตูยอดมงกุฎเข้าไปพระอุโบสถด้านในนั้น หลังนายทวารบาล ยักษ์ผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง ๒ ตนนั้น ยังมีรูปปั้นบุคคลสำคัญครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่น่าเลื่อมใสอีก ๒ ท่าน อยู่ในศาลาเล็กที่ควรกล่าวถึงในที่นี้ คือ นายเรือง และ นายนก ทั้ง ๒ ท่านเป็นผู้ที่เลื่อมใสและศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ด้วยการเผาตัวตายเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แม้ว่าการเผาตัวตายจะไม่ใช่หลักธรรมคำสอน หรือความเชื่อในทางพุทธศาสนา แต่ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ การแสดงออกด้วยวิธีการเช่นนี้เป็นที่เลื่อมใสและเคารพต่อชาวบ้านเป็นอย่างมาก หลังจากการสิ้นชีวิตของทั้ง ๒ ท่านในช่วงเวลาต่างกัน ชาวบ้านได้ร่วมกันทำบุญ และบังสกุล อุทิศส่วนกุศล และเก็บอัฐิทั้ง ๒ ท่านไว้ที่ศาลาเปรียญเก่าของวัด ตามที่มีจารึกไว้ใต้ฐานรูปปั้นของท่านทั้งสอง

นายเรือง และ นายนก

 

        เมื่อผ่านประตูซุ้มยอดมงกุฎ ใต้ยอดพระมงกุฎ ถ้าท่านแหงนหน้ามองขึ้นไป ยังมีกระเบื้องเคลือบประดับเหนือประตูที่มีรูปเทวดาจีนประดับ มีความสวยงามและเป็นของเก่าแก่แต่ดั้งเดิมเช่นกันค่ะ งานเครื่องเคลือบในวัดอรุณราชวรารามนับเป็นงานช่างที่สำคัญ และเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๓ อย่างเห็นได้ชัด

 

       นอกจากงานกระเบื้องเคลือบจีนแล้วยังมีการผสมผสานในเรื่องของความเชื่อ ค่านิยมแบบจีนเช่นกัน อย่างที่เห็นกันได้ชัดกับเสาบูชาในประตูชั้นในก่อนถึงพระอุโบสถ ที่เป็น  เสาหิน มีมังกรเลื้อยพันรอบ มีไก่ฟ้า สัตว์มงคล เสาลักษณะนี้ ตามศาลเจ้าทั่วไป เราก็มักจะพบเห็นเป็นประจำในด้านหน้าก่อนเข้าศาลเจ้าค่ะ และงานช่างเครื่องไม้ที่ไม่ควรพลาดชม ณ จุดนี้ คือ หน้าบันที่เป็นงานแกะสลักไม้ทั้งสองด้าน เป็นงานแกะสลักไม้ลงรักปิดทอง ประดับกระจก ลักษณะการแกะสลักไม้ เป็นรูปเทวดายืนถือพระขรรค์อยู่ในปราสาท มีสังข์และคนโทน้ำวางอยู่ในพานข้างละพาน ประดับลายกนกลงรักปิดทอง วิจิตรงดงาม งานฝีมือประณีตและละเอียดอ่อนที่สุด เป็นจุดสายตาที่หลายๆคน มักจะมองผ่าน เพราะจดจ่ออยู่กับการเดินเข้าพระอุโบสถ ทั้งๆที่งานหน้าบันตรงนี้เป็นง่านช่างศิลป์ที่ห้ามพลาดชมค่ะ

มังกรเลื้อยพันรอบ มีไก่ฟ้า สัตว์มงคล

 

พระพุทธนฤมิตร

      ภายในระเบียงชั้นใน ก่อนเข้าพระอุโบสถยังมีสิ่งสำคัญอีกประการที่ควรชม อยู่ระหว่างทางขึ้นลงพระอุโบสถ นั่นคือ พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีลักษณะจำลองมาจากพระพุทธรูปฉลองพระองค์ ที่ประดิษฐานอยู่ในหอพระสุราลัยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง มีความงดงามด้วยฝีมือช่างต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และมีพระนามว่า พระพุทธนฤมิตร

พระพุทธนฤมิตร

“พระพุทธธรรมิศราชโลกธาตุดิลก”

        เมื่อก้าวเท้าเข้ามาในพระอุโบสถ สิ่งแรกที่สะดุดตาที่สุด เห็นจะเป็นพระประธานที่มีพระพักตร์อิ่มเอิบและงดงามมหัศจรรย์ เป็นงานฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ทำให้เราได้เห็นชัดและประจักษ์แจ้งในพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ด้วยทรงปั้นพระพักตร์ของพระประธานด้วยพระองค์เอง พระประธานองค์นี้ มีนามว่า “พระพุทธธรรมิศราชโลกธาตุดิลก” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ภายในพระพุทธอาสน์ บริเวณผ้าทิพย์บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และจิตรกรรมฝาผนังฝีมือชั้นครูในยุคสมัยเดียวกันนี้ มีเรื่องราวพุทธประวัติ และเรื่องราวของพระมหาชนก ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในเวลาต่อมา

 

 พระประธานองค์นี้ มีนามว่า “พระพุทธธรรมิศราชโลกธาตุดิลก”
พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

     ถัดจากพระอุโบสถ ข้างกันๆ เป็นพระวิหารที่ประดิษฐานของพระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร และพระแจ้ง หรือ พระอรุณ อีกด้วยค่ะ ให้สังเกตว่าพระแจ้งจะประดิษฐานอยู่หน้าพระประธานของวิหาร ซึ่งประวัติของพระแจ้ง มีที่มาว่าแรกเริ่มเดิมทีประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ย้ายมาประดิษฐาน ณ วัดอรุณราชวราราม หรือ วัดแจ้ง ด้วยมีชื่อสอดคล้องกันกับชื่อวัด

ประชาสัมพันธ์


 

พระแจ้ง
พระแจ้ง (ພຣະແຈ້ງ) หรือ พระอรุณ (ພຣະອາລຸນ) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะลาว

 

พระแจ้ง หรือ พระอรุณ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะลาว รัชกาลที่ ๔ ได้อัญเชิญมาจากนครเวียงจันทน์ ประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ณ เวลาหนึ่ง และโปรดให้ย้ายมายังวัดอรุณราชวราราม ดังที่ได้กล่าวไว้ ซึ่งมีหลักฐานระบุในพระราชหัตถเลขาว่า

“…ยังมีพระที่มีชื่อเอามาแต่เมืองเวียงจันทน์อีกสองพระองค์ พระอินแปลงน่าตัก 2 ศอกเศษ พระอรุณน่าตักศอกเศษ พระอรุณนั้น ฉันคิดว่าจะเชิญลงมาไว้ในพระวิหารวัดอรุณ เพราะชื่อวัดกับชื่อพระต้องกันสมควรแต่จะให้จัดแจงที่ฐานเสียให้เสร็จก่อน แล้วจึงจะเชิญลงมาต่อน่าน้ำ…”

 

 

 

         สำหรับสิ่งก่อสร้างและงานสถาปัตยกรรมที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น พระอุโบสถ พระวิหาร ฯลฯ ล้วนแล้วแต่สร้างขึ้นเพิ่มเติม และบูรณะในช่วงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา ส่วนในกรณีของโบราณสถานแต่แรกเริ่มในสมัยกรุงศรียุธยา นอกเหนือจากพระปรางค์ประธานองค์เดิมที่มีความสูงเพียง ๑๖ เมตร แล้วนั้น ยังมี วิหารน้อย โบสถ์น้อย ซึ่งประดิษฐานพระแท่นของ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระบรมรูปหล่อพร้อมฐานสถิตย์ดวงพระวิญญาณของพระองค์

       ในทุกๆ วัน จะมีประชาชนที่เลื่อมใสและศรัทธาในวีรกรรมอันกล้าหาญของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เดินทางมากราบไหว้ แน่นทุกวันไม่ขาดสาย ยิ่งในช่วงเทศกาลตรุษจีน และ ช่วงวันที่ ๒๘ ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี ที่นี่จะมีการบวงสรวงดวงพระวิญญาณของพระองค์เป็นประจำ ประชาชนสามารถเข้าร่วมพิธี น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงกอบกู้บ้านเมืองได้ และสามารถชมพระราชวังเดิม ที่โดยปกติจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมเพียงปีละครั้งเท่านั้น คือ วันปราบดาภิเษก ๒๘ ธันวาคม และกรณีพิเศษอื่นๆ แล้วแต่ทางพระราชวังเดิมจะประกาศเป็นครั้งคราว ในกรณี่ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ก็สามารถติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  

FB: มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานพระราชวังเดิม  https://www.facebook.com/wangdermpalace/

 

“The Temple of Dawn”

วัดอรุณราชวราราม หรือวัดแจ้งจึงมีสิ่งสำคัญมากมายดังที่ฉันยกตัวอย่างให้ชม แน่นอนว่าไม่ได้มีเพียงพระปรางค์ประธานให้ชมเท่านั้นนะคะ สิ่งน่าสนใจมากมายภายในวัดยังสามารถบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของแต่ละสิ่งได้อีกไม่รู้จบค่ะ เพราะวัดนี้ไม่ได้เป็นเพียงวัดประจำรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือ วัดหลวงในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เท่านั้น วัดแจ้งหรือวัดอรุณราชวราราม แห่งนี้ยังเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระบาง ก่อนที่จะมีการอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วในพระบรมมหาราชวัง และอัญเชิญพระบางกลับไปยังเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาวในเวลาต่อมาอีกด้วย อีกทั้งเป็นหมุดหมายสำคัญจนถึงปัจจุบัน ที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต่างแห่แหนและปรารถนามาชมพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม พระปรางค์ทรงจอมแหที่งดงามที่สุดในโลกในชื่อที่คนทั้งโลกนี้รู้จักว่า

“The Temple of Dawn”

วัดแจ้ง The Temple of Dawn

 

 

แนะนำหนังสือน่าอ่าน ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม

หนังสือ ตามรอยพระเจ้าตากสิน
หนังสือ”ตามรอยสมเด็จพระเจ้าตากสินและขุนนางคู่พระทัย ใครเป็นใครในวันยึดกรุงธนบุรี” เล่มนี้ ได้ถูกรังสรรค์ขึ้นโดยศึกษาวิเคราะห์จากพระราชพงศาวดาร เอกสารทางประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าและตำนาน จากลูกหลานของบุคคลผู้เคยสนองพระเดชพระคุณ และมีความใกล้ชิดกับสมเด็จพระเจ้าตากสินในรัชสมัยกรุงธนบุรี เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลอง 250 ปี แห่งการประกาศเอกราชของสมเด็จพระเจ้าตากสิน

<< สั่งซื้อหนังสือ ทางออนไลน์ >>

 



Cultures of Fermented 
by Scoby Doit
Previous ArticleNext Article