เมื่อพูดถึง พดชมโร เชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่รู้จัก แต่หากพูดถึงอำเภอทุ่งสง บางท่านก็คงจะพอคุ้นหูอยู่บ้าง แต่ก็อาจจะนึกไม่ออกว่า อำเภอนี้อยู่ที่ไหน อำเภอทุ่งสง หรือที่เรียกกันติดปาก อีกชื่อหนึ่งว่า ชุมทางทุ่งสง
อำเภอทุ่งสง คือ ๑ ใน อำเภอที่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดอีกอำเภอหนึ่งของ จังหวัดนครศรีธรรมราช อดีตอาณาจักรดามพรลิงค์ หัวเมืองทางปักษ์ใต้ที่มีระบุในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมาตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยา เหตุที่เรียกว่า ชุมทางทุ่งสง นั้นเป็นเพราะอำเภอทุ่งสง เป็นเส้นทางรถไฟสายใต้ที่สำคัญอีกสาย ซึ่งมีบันทึกไว้เมื่อครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดให้คณะวิศวกรสร้างเส้นทางรถไฟ และในจุดทางแยกที่ไปตรังให้ระบุและปักหมุดไว้ว่า ชุมทางทุ่งสง ปัจจุบันอำเภอทุ่งสงแทบจะเรียกได้ว่าเป็น ศูนย์กลางการเดินทางรถไฟในภาคใต้ตอนกลาง ก่อนลงไปภาคใต้ตอนล่าง ทุกๆ การเดินรถไฟ จะต้องผ่านชุมทางทุ่งสงเพื่อเป็นจุดเปลี่ยน/ ผลัดเวรพนักงานการรถไฟ จุดพักระหว่างการเดินทาง จุดเชื่อมต่อที่สำคัญของการเดินทางโดยรถไฟ จุดเติมน้ำมันหัวรถจักร เติมน้ำประปา และสิ่งอำนวยความสะดวก สาธรณูปโภคต่างๆ นอกจากนี้ ที่สำคัญ ยังเป็น จุดขนถ่ายกระจายสินค้า และศูนย์กลางการบริการรถไฟที่สำคัญอีกหลายๆ อย่าง
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองเก่าแก่ อายุถึง ๑๒๑ ปี นี้ มีเรื่องราวความเป็นมามากมายตั้งแต่สมัยโบราณ โดยปรากฎว่า ทางกรมศิลปากรได้มีการขุดพบหลักฐานทางโบราณวัตถุ เช่น ลูกปัดหิน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องสำริด ถ้วยชามมากมาย และต่อเนื่องมาในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ชื่อเมืองเก่าแก่ของอำเภอทุ่งสง มีระบุอยู่ในจดหมายเหตุอยุธยาตอนปลาย ว่า “ที่พดชมโร–ทุ่งสง” ซึ่งพื้นที่เมืองโบราณดั้งเดิมตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตลาดใน บริเวณเทศบาลตำบลปากแพรกในปัจจุบันค่ะ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิรูปการปกครองใหม่ และจัดตั้งเมืองนครศรีธรรมราช ขึ้นเป็น มณฑลเมืองนครศรีธรรมราช จึงได้กำหนดชื่อใหม่ให้เป็นอำเภอทุ่งสงในปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ เป็นต้นมา รูปแบบการบริหารการปกครองเป็นแบบท้องถิ่น มีตำแหน่งขุน ๔ ท่าน หลวง ๔ ท่าน และพระ อีก ๒ ท่าน ซึ่งเป็นยศสูง นับเป็นยศตำแหน่งในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ครั้งต้นกรุงศรีอยุธยา เมื่ออำเภอทุ่งสงได้รับการกำหนดชื่อในปี พุทธศักราช ๒๔๔๐ จึงได้มีนายอำเภอคนแรก มีนามว่า หลวงพำนักนิคมคาม หรือ ท่านเที่ยง ณ นคร
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ชาวอำเภอทุ่งสงได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โดยพระองค์โปรดเลือกให้เป็นสถานที่เสด็จแปรพระราชฐานเพื่อความปลอดภัย เนื่องในช่วงระยะเวลานั้น ปีพุทธศักราช ๒๔๕๗–๒๔๖๑ เป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ แม้การสู้รบจะเกิดขึ้นในภาคพื้นยุโรปมากกว่าทางเอเชีย แต่ทรงคำนึงถึงความปลอดภัยของราษฎร และทรงมีพระราชประสงค์ให้หัวเมืองทางปักษ์ใต้มีเสถียรภาพ และความมั่นคงในราชการแผ่นดินมากขึ้น ทุกครั้งที่พระองค์ทรงเสด็จมาซ้อมรบเสือป่าที่จ.นครปฐม จ.เพชรบุรี หรือ จ.ราชบุรี พระองค์มักจะเสด็จเป็นการส่วนพระองค์มาประทับ ณ มณฑลนครศรีธรรมราช ทุกครั้ง และโปรดเสด็จพระราชดำเนินประพาสภาคใต้ด้วยเรือพระที่นั่งไปยังจังหวัดต่างๆ ในละแวกใกล้เคียงอีกด้วยค่ะ ทรงเคยมีพระราชดำริอยากสร้างพระราชวังที่มณฑลนครศรีธรรมราช โดยโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำรวจเส้นทางและพื้นที่เป็นความลับ โดย เส้นทางที่ได้รับการสำรวจเป็นเส้นทางโบราณ ที่อยู่ในเขตจ.นครศรีธรรมราช ได้แก่
- น้ำตกเขาช่อง จ.ตรัง รอยต่อกับจ.นครศรีธรรมราช เป็นเส้นทางโบราณกะปาง
- น้ำตกกระโรม กิ่งอำเภอเขาแก้ว จ.นครศรีธรรมราช เส้นทางโบราณ อ.ฉวาง ที่สามารถเดินทางทะละผ่านอ.ลานสกา อยู่กึ่งกลาง เทือกเขาหลวงที่สูงและอุมดสมบูรณมากที่สุดแห่งหนึ่งของปักษ์ใต้
- บริเวณค่ายศรีนครินทร์ ถึงน้ำตกโยง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เส้นทางโบราณออกแม่น้ำกันตังและแม่น้ำตาปี
ทั้ง ๓ สถานที่เป็นสถานที่ตั้งซึ่งมีสภาพภูมิอากาศที่ร่มรื่น อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้และพรรณไม้นานาพันธุ์ อีกทั้งมีอุณหภูมิที่เย็น สบายตลอดทั้งปี แต่ด้วยเหตุผลส่วนพระองค์ในบางประการ พระราชวังที่พระองค์โปรดจะให้สร้างไม่สามารถสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ แต่พระองค์ก็ยังเสด็จประพาสมายังน้ำตกโยง และทรงพระเกษมสำราญกับการประพาสน้ำตกโยงเป็นอย่างยิ่ง โดยมีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า พระองค์เสด็จประพาสน้ำตกโยงเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ปีพุทธศักราช ๒๔๕๘ และเสด็จไปทอดพระเนตรประเพณีการจับช้างป่าที่เมืองนครศรีธรรมราชในวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ปีเดียวกัน
ต่อมาในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชื่อของอำเภอทุ่งสง ยังได้มีปรากฎอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การสู้รบอีกครั้งในปีพุทธศักราช ๒๔๘๔ เนื่องจากอำเภอทุ่งสง เป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญของภาคใต้ ลักษณะของเมืองเป็นแอ่งกะทะ ล้อมรอบด้วยภูเขา เมืองแห่งนี้จึงตกเป็นเป้าหมายการโจมตีอีกครั้งจากทั้งฝ่ายอักษะ และฝ่ายสัมพันธมิตร โดยญี่ปุ่นได้ยึดเมืองทุ่งสงไว้เพื่อเป็นกองบัญชาการในการขนส่งเสบียง รวมถึงการส่งกำลัง และขยายแนวรบไปยังพม่า ทหารญี่ปุ่นในสมัยนั้นได้เกณฑ์แรงงานชาวทุ่งสงในการสร้างจุดยุทธศาสตร์การรบ และสร้างสนามบินทุ่งชนบริเวณภูเขาโคกหม้อ โดยร่องรอยจากการสู้รบในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยังมีปรากฎให้เห็นบริเวณด้านหลังที่ว่าการอำเภอ ใกล้สถานีรถไฟมีร่องรอยกระสุน และมีการเก็บกู้ระเบิดได้ด้วย อำเภอทุ่งสง นับได้ว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์การรบที่สำคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒
สถานที่ท่องเที่ยวในอำเภอทุ่งสง แม้จะไม่ได้มีมากมาย แต่ก็มีความหมายในแง่ของประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่น เมืองทุ่งสงมีความเจริญเติบโตเรื่อยมา ด้วยความเป็น ชุมทางทุ่งสง ระบบคมนาคมแสนสะดวก เดินทางง่ายและเป็นจุดเชื่อมต่อทางการค้าและความเจริญ ปัจจุบันอำเภอทุ่งสงจึงเป็นเมืองใหญ่อีกเมืองที่กำลังมีการพัฒนาและต่อยอดด้านการท่องเที่ยว การรณรงค์ทุ่งสงให้เป็นชุมทางลดโลกร้อน เป็นเมืองสีเขียวที่ร่มรื่น สอดคล้องกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรม ประเพณีที่น่าสนใจ
เมืองทุ่งสง ถือได้ว่าเป็นอีกอำเภอที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งธรรมชาติรายล้อม เทือกเขาสูงสลับล้อมรอบตัวเมือง ทำให้อำเภอทุ่งสง มีลักษณะทางภูมิประเทศคล้ายแอ่งกระทะ ทัศนียภาพสวยงาม และเป็นที่ตั้งของ อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง อุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ ๖๔ ของประเทศไทย ( Google Map ) เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวจากจังหวัดใกล้เคียงเสมอ
ถนนคนเดิน “หลาดชุมทางทุ่งสง”
ซึ่งอุดมไปด้วยอาหารพื้นเมือง ขนมท้องถิ่น
หากท่านมาเยือนทุ่งสงในช่วงสุดสัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันอาทิตย์ตั้งแต่เวลา ๑๕.๐๐น. เป็นต้นไป บริเวณใกล้หอนาฬิกา สถานีรถไฟตั้งแต่สี่แยกไฟแดงหลัก ตลอดความยาวของถนนประมาณ ๒๐๐ เมตร จะมีถนนคนเดิน ตลาดวัฒนธรรมวิถีใต้ บนถนนชัยชุมพล มีชาวทุ่งสงทุกคนเป็นเจ้าของ ซึ่งอุดมไปด้วยอาหารพื้นเมือง ขนมท้องถิ่น ทางเทศบาลทุ่งสงได้มีโครงการทำถนนคนเดิน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในตัวอำเภอเมืองให้คึกคักขึ้น และสร้างเป็นจุดท่องเที่ยวอีกแห่งให้นักท่องเที่ยวได้รู้จัก
หรือ ใครที่มองหาขนมพื้นเมืองแบบปักษ์ใต้อร่อยๆ มาเดินเล่นที่นี่ รับรองไม่ผิดหวังค่ะ เพราะขนม อาหารท้องถิ่น หลายเมนู เราอาจจะไม่เคยรู้จักหรือเคยเห็น หรืออาจจะหาทานได้ยาก เพราะบางอย่างอาจจะมีจำหน่ายเฉพาะช่วงงานประเพณีเท่านั้น อาหารอร่อยๆ รสชาติปักษ์ใต้ อย่าง ไตปลาคั่วแห้งกับเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ผักพื้นเมืองปักษ์ใต้ พืชผลทางการเกษตรปลอดสารพิษ ทอดมันกุ้งแบบปักษ์ใต้ ใส่กุ้งเป็นตัวๆ , ปลาจับหลัก , หัวล้านเบญจรงค์ , หมูแกว่ง , ห่อหมกย่างปลาฝักถั่ว , ขนมโคไส้ถั่ว ขนมขี้มอดโบราณ และอีกมากมาย ที่เห็นแล้วอดใจไม่ไหว ต้องซื้อมาชิมให้ทุกร้านไปเลยค่ะ พ่อค้าแม่ค้ายังใจดี พูดจาไพเราะ นอกจากขนม อาหารแปลกตาแล้ว ถนนคนเดินหลาดทุ่งสงยังมีกิจกรรมการแสดงทางศิลปะ วัฒนธรรม ไม่ว่าจะรำมโนราห์ การแสดงดนตรีไทย ขับร้องเพลงไพเราะทั้งเพลงร่วมสมัย และเพลงไทยสากลที่ไพเราะอีกด้วย
ในอนาคตข้างหน้า เมืองทุ่งสงจะมี พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเกิดขึ้น ซึ่งจะรวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เมือง พดชมโร แห่งนี้ให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น แม้ว่าเมืองกำลังอยู่ในช่วงขยายตัว แต่การดำรงไว้ซึ่งประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม ยังคงปรากฎให้เห็นในทุกเทศกาลงานประเพณี สุวรรณภูมิ ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทยทุกพื้นที่ คือ สิ่งที่เราควรรักษาและหวงแหนไว้ เป็นความภาคภูมิใจในแผ่นดินถิ่นเกิด เพราะสิ่งเหล่านี้มีคุณค่าต่อจิตใจ และต่อการดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ตลอดไป
เรียบเรียงโดย : เอกชฎา ศรีสุวรรณ์
อ้างอิง
อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง http://park.dnp.go.th/visitor/nationparkshow.php?PTA_CODE=1064
ทุ่งสง ๑๐๐ ปี ชาลี ศิลปรัศมี โรงเรียนวัดจันดี
เทศบาลทุ่งสง www.tungsong.com
Facebook: ทุ่งสงบ้านเรา https://www.facebook.com/my.thungsong
ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๓: ทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช สมัยรัชกาลที่ ๒ ลำดับที่ ๔๕ https://th.wikisource.org/wiki/ประชุมพงศาวดาร_ภาคที่_๗๓