“ท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋ไม่เหมือนกัน” แนวคิดท่องเที่ยววิถีไทยของปีนี้ ช่างตรงกับกิจกรรมท่องเที่ยวในวันหยุด ต้อนรับวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2559 เสียจริงค่ะ จะมีใครสักกี่คนทราบบ้างว่า ย่านใจกลางเมือง บนถนนเจริญกรุง ถนนสายแรกของประวัติศาสตร์ไทย มีตลาดชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งแอบซ่อนอยู่ ตลาดแห่งนี้ยังมีที่มาที่ยาวไกล เป็นชุมชนย่านเก่าครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ตลาดชุมชนสวนหลวง 1 ซึ่งมีทำเลที่ตั้งอยู่ย่านเจริญกรุง 103 ค่ะ ไม่ไกลจากเอเชียทีค แหล่งชิลล์เอาท์ที่เป็นที่รู้จักของประเทศไทยและชาวต่างชาติ
ก้าวแรกที่เข้ามาในชุมชม เราจะสัมผัสได้ถึงความเงียบสงบ ความเป็นระเบียบชองชุมชนแห่งนี้ นับเป็นพื้นที่ชุมชนเข้มแข็งอีกแห่งของกรุงเทพมหานคร ที่มีรูปแบบในการพัฒนาตนเอง มีนโยบายการสร้างตลาดชุมชนที่น่าสนใจ เรียบง่าย ไม่หวือหวา แต่ยังคงความเป็นธรรมชาติได้อย่างดีค่ะ ตลาดนัดฮาราล จึงเป็นอีกหนึ่งความคิดที่ทำให้ชุมชนแห่งนี้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวยิ่งขึ้น ที่สำคัญยังช่วยสร้างรายได้ให้เกิดกับชาวบ้านในชุมชนอีกด้วย
ภายในตลาดแห่งนี้ ทุกวันอาทิตย์แรกของเดือน เหล่าพ่อค้าแม่ค้าจะระดมพลกันมาเปิดร้านอาหาร จำหน่ายทั้งของคาว ของหวาน อาหารฮาราล และอาหารโบราณที่น่าทานและอร่อยหลายอย่างค่ะ บางเมนูนั้นเป็นเมนูอาหารโบราณ หน้าตาดูแปลกตา ไม่ว่าจะเป็น ยำทวาย ข้าวหมกสามสี ส้มตำมาเลย์ คั่วเครื่องในทอด แกงกระหรี่ปลาโอ ข้าวมันส้มตำ ขนมปูตู ขนมหัวเราะ ขนมดอกโสน โรตีโรย ขนมซูยี เป็นต้น ตลอดเส้นทางของชุมชน ที่เลียบคลองสายเล็กๆ จะมีบ้านเรือนของชาวชุมชนตั้งอยู่ 2 ฝั่ง มีร้านค้า สภากาแฟให้บริการนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนอยู่ตลอดเส้นทางเลยค่ะ
เกร็ดประวัติศาสตร์
ตามประวัติศาสตร์ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้บอกเล่าไว้ว่า บรรพบุรุษชาวชุมชนของที่นี่เป็นชาวมุสลิมที่ถูกกวาดต้อนมาจากจ.ปัตตานี และเป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลเซียเป็นส่วนใหญ่ ผู้คนในย่านนี้จึงมีทั้งชาวพุทธ ชาวจีน และชาวมุสลิม ประกอบอาชีพทำสวนทำไร่ และทำประมง เนื่องจากมีถิ่นฐานที่ตั้งอยู๋ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมีอาชีพทางเกษตรกรรม และประมงร่วมกันเป็นส่วนใหญ่ ในย่านนี้จึงมีสวนผลไม้มากมายหลายชนิดให้เลือกสรร พื้นที่ในชุมชนแห่งนึ้จึงเป็นท้องร่องเสียเป็นส่วนใหญ่…..
ครั้งหนึ่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พื้นที่แห่งนี้ได้กลายเป็นที่หลบภัยของชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง เนื่องจากเป็นสวนผลไม้ และมีท้องร่องให้หลบภัยได้ จึงมีชาวบ้านจำนวนมากย้ายเข้ามาอยู่ ณ เวลานั้น จนกระทั่งเหตุการณ์สงครามโลกได้ผ่านพ้นไป จึงได้มีการปรับปรุงพื้นที่ครั้งใหญ่ โดยทางการเคหะแห่งชาติ ได้เข้ามาสร้างทางเท้าจากเดิมที่เป็นเพียงไม้กระดาน ให้กลายเป็นทางเท้าคอนกรีต ชุมชนสวนหลวง 1 จึงเป็นชุมชนแรกของกรุงเทพมหานคร ที่มีทางเท้าเป็นคอนกรีตเช่นที่เราเห็นทุกวันนี้ค่ะ
กลับมาที่ ตลาดชุมชนสวนหลวง 1
พ่อค้าแม่ค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมรวมถึงชาวพุทธส่วนหนึ่ง อัธยาศัยดี พูดคุยทักทายกับแขกผู้มาเยือนเสมือนเป็นเพื่อนบ้านกัน เป็นอีกบรรยากาศหนึ่งที่อบอุ่นและน่ารัก ทำให้แขกผู้มาเยือนอย่างฉันรู้สึกว่า เราคือส่วนหนึ่งของชุมชนนี้จริงๆ ทุกคนพูดคุย ทักทายและรู้จักกันหมด เป็นบรรยากาศที่ให้อารมณ์และความรู้สึกเหมือนอยู่ต่างจังหวัดมากกว่าอยู่ในกรุงเทพมหานคร มาแล้วไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีที่นั่งทานนะคะ เพราะทางชุมชนเขาจัดสถานที่ไว้ตลอดเส้นทาง นั่งทานกันสบายๆ ไม่ร้อนด้วยค่ะ ใครอยากรู้จักชุมชนนี้มากขึ้น ทางชุมชนมีไกด์เยาวชนคอยให้ความช่วยเหลือ แนะนำนักท่องเที่ยวด้วยนะคะ แม้จะเป็นเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ แต่รอยยิ้มของเหล่ายุวไกด์ในพื้นที่ก็สร้างความสุขให้กับผู้มาเยือนได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ
ตลาดฮาราล ชุมชนสวนหลวง 1 จะเปิดทำการแค่เฉพาะอาทิตย์แรกของเดือนเท่านั้นนะคะ รอบต่อไป คือวันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน 2559 ลองไปสัมผัสกับตลาดฮาราล ตลาดชุมชนเข้มแข็งแห่งนี้กันดูค่ะ จะได้ไม่ตกยุค ท่องเที่ยววิถีไทย กัน แล้วจะเข้าใจและเข้าถึงความเป็นวิถีชุมชน วิถีไทยที่ไม่มีใครเหมือน กัน และไม่เหมือนใครค่ะ ^^
ติดตาม แฟนเพจ
https://www.facebook.com/suanluang1market/
แผนที่ตลาดชุมชนสวนหลวง1