เมื่อพูดถึงน้ำหอมแล้ว น้อยคนนักจะทราบว่า น้ำหอมไทย มีมานานตั้งแต่ประเทศไทยยังคงนามว่า สยาม แต่โบร่ำโบราณมา น้ำหอมไทยแท้ ได้ชื่อว่า เป็นกลิ่นน้ำหอมที่หอมที่สุด เป็นกลิ่นธรรมชาติที่ไร้การแต่งแต้มจากสารเคมี
จวบจนกาลปัจจุบัน แม้ น้ำหอมไทย แบบดั้งเดิมจะไม่มีแพร่หลาย แต่ก็ใช่ว่าจะสูญหายไปจากสังคมและวัฒนธรรมของไทยเราค่ะ หากแต่ว่าด้วยเอกลักษณ์และความพิถีพิถันในการกลั่นเอาความหอมจากดอกไม้ไทยโบราณยังคงอยู่ สิ่งนี้เองเลยทำให้น้ำหอมแบบไทยๆ ยังคงได้รับความนิยม
เสน่ห์น้ำหอมไทย แต่โบราณนาม “น้ำปรุง”หอมจรุงจิตจรุงใจจากอดีต ถึง ปัจจุบัน ตอนที่ ๑
น้ำหอมไทย ฉบับโบราณ ในที่นี่จะขอเรียกว่า “น้ำปรุง” นะคะ น้ำปรุง จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องหอมไทยที่มีมายาวนาน เป็นหนึ่งในบรรดาเครื่องหอมไทย ที่สาวชาววัง นิยมนำมาประพรมตัวให้หอมกรุ่นมีทั้ง น้ำอบไทย แป้งร่ำ แป้งพวง น้ำปรุง (น้ำหอมไทย) น้ำดอกไม้สด เป็นต้น เครื่องหอมไทยเหล่านี้ จัดได้ว่าเป็นของประจำกายสาวชาววัง ประจำม้าเครื่องแป้ง หรือ ตั่งทรงสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่ใช้สำหรับการวางกระจกบานเล็กๆ พร้อมเครื่องประทินโฉมที่สาวชาววังทุกคนต้องมีประจำเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ เป็นช่วงที่ น้ำปรุง ได้รับความนิยมสูงสุด ในแต่ละพระตำหนักสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ขึ้นชื่อในเรื่องของงานฝีมือ ทั้งงานดอกไม้สด แกะสลัก อาหารคาวหวาน รวมไปถึง น้ำอบน้ำปรุง ซึ่งแต่ละพระตำหนักก็จะมีสูตรน้ำปรุง และเครื่องหอมเฉพาะ ต่างกลิ่น ต่างหอมรัญจวนใจแตกต่างกันออกไป แต่กรรมวิธีในการปรุงจะคล้ายๆ กัน
พระตำหนักในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ พระขนิษฐาในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ เป็นหนึ่งในพระตำหนักที่ขึ้นชื่อในเรื่องเครื่องหอมไทย เนื่องด้วยเป็นพระตำหนักที่มีหน้าที่ในการทำเครื่องหอมโดยตรง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ทรงมีฝีพระหัตถ์ในการปรุงพระสุคนธ์ และทรงมีหน้าที่ปรุงพระสุคนธ์ให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยตรง นอกจากน้ำปรุง น้ำอบ แล้ว ยังทรงปรุงแป้งร่ำ กระแจะ แป้งพวง แป้งสด ไว้จำหน่ายในวังอีกด้วยค่ะ
น้ำปรุง น้ำอบ เป็นเครื่องหอมไทยที่ได้รับความนิยมอย่างมากในวังหลวง และเป็นที่นิยมชมชอบของสาวชาววังเป็นอย่างมาก นับเป็นภูมิปัญญาของคนไทยในอดีต ที่รู้จักสรรหาวัตถุดิบจากธรรมชาติรอบตัว นำมาคิดค้นกรรมวิธีในการผลิตเครื่องหอมด้วยตนเอง จึงได้เกิดเป็น น้ำปรุง หรือน้ำหอมไทย ไว้สำหรับใช้เอง “น้ำปรุง”จึงจัดเป็นเครื่องหอมไทยแท้ ที่มีต้นกำเนิดมาจากวังหลวง อีกทั้งมากประโยชน์ เพราะนอกเหนือจากการใช้ประพรมร่างกายให้หอม แต่สำหรับการใช้งานในวังหลวง พนักงานพระสุคนธ์ ผู้รับผิดชอบดูแลเครื่องหอมและดูแลเจ้านายฝ่ายในยังนำไปใช้ในการอบพระภูษา ผสมในน้ำสำหรับสรง ทำน้ำพระพุทธมนต์ อบรำเครื่องนอนพระบรรทมให้หอมตลอดเวลา อีกด้วยค่ะ
น้ำปรุง เอกลักษณ์ของการนำความหอมจากธรรมชาติมาผสมกันจนทำให้เกิดกลิ่นหอมที่ติดทนทาน ไม่แพ้น้ำหอมฝรั่งที่นิยมกันในปัจจุบัน
น้ำปรุง ส่วนผสมหลักๆ จะมาจากมวลหมู่ดอกไม้ไทยสารพัดชนิด ไม่ว่าจะดอกมะลิ ดอกแก้ว ดอกปีบ ดอกชมนาด ดอกสายหยุด ฯลฯ นำมาผสมกันกับสมุนไพรไทย เช่น ผิวมะกรูด ใบเตย เป็นต้น ในขั้นตอนของการปรุงและจรุงกลิ่น ยังถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาไทยแท้แต่โบราณ ที่มีเฉพาะแต่ละคน เป็นเอกลักษณ์ของการนำความหอมจากธรรมชาติมาผสมกันจนทำให้เกิดกลิ่นหอมที่ติดทนทาน ไม่แพ้น้ำหอมฝรั่งที่นิยมกันในปัจจุบันค่ะ น้ำปรุงของไทย ยังมากประโยชน์กว่าน้ำหอมจากต่างประเทศ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น นอกจากจะทำอบผ้าให้หอมกรุ่นแล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกแง่มุมหนึ่ง คือ ยังช่วยป้องกันแมลงกัดกินเนื้อผ้าได้อีกด้วยค่ะ
ปัจจุบัน น้ำอบน้ำปรุงจากวังต่างๆ ยังคงมีจัดจำหน่าย แต่จะจัดทำเป็นช่วงฤดูกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อน เทศกาลสงกรานต์ จะนิยมทำน้ำอบ น้ำปรุงมากที่สุด การทำน้ำปรุงจึงนับเป็น ภูมิปัญญาที่ฉลาดล้ำของสตรีไทยในสมัยก่อนที่รู้จักนำพรรณไม้ต่างๆ มาปรุงเป็นเครื่องสำอางด้วยตนเองด้วยกรรมวิธีที่ซับซ้อนแต่ได้ผลอย่างน่าอัศจรรย์ เกิดเป็นเครื่องหอมไทยที่ยังทรงคุณค่าตราบจนถึงปัจจุบัน และหากอยากทราบว่า กว่าจะมาเป็นน้ำปรุงได้นั้น เราสามารถใช้พรรณไม้ส่วนใดได้บ้าง ไว้ติดตามต่อในตอนหน้านะคะ ….
โปรดติดตาม
น้ำปรุง หอมจรุงจิตจรุงใจจากอดีต ถึงปัจจุบัน ตอนที่ ๒